แนวประยุกต์การเรียนการสอน ตามแนวคิด Monozukuri ใน KOSEN กับระบบอาชีวศึกษาไทย : โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

การศึกษาเป็นหัวใจของชาติ เป็นการสร้างและพัฒนาเพื่ออนาคตของประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยภาพรวมของการศึกษาไทยในปัจจุบันยังเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะภาพสะท้อนคุณภาพของเด็กไทย เป็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบการศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อสร้างคนไทยและสังคมไทยให้เข้มแข็ง มีคุณภาพ

โดยการจัดการศึกษา สามารถจัดได้หลายๆ รูปแบบ หลายๆ แนวทางให้เป็นกลไกของการแสวงหาความรู้สิ่งต่างๆ และบ่มเพาะให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้ตลอดชีวิต

หลักสูตรการศึกษาควรต้องปรับปรุง พัฒนาและนำไปใช้ให้เกิดผลผลิตตรงตามเป้าหมาย โดยหลักสูตรแต่ละระดับตั้งแต่เล็กจนโต ควรให้มีความต่อเนื่องกัน ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาแล้วมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้

หลักสูตรการศึกษาควรกำหนดวิชาเรียน ให้น้อยลงให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก เน้นการเรียนที่มีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ มุ่งการผลิตกำลังคนสายอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เน้นการสร้างคนให้มีความสามารถ มีทักษะในการทำงาน สร้างอาชีพและรายได้ จูงใจให้คนเข้าสู่ระบบการศึกษาและหันมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ปรับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาให้ได้รับการยอมรับ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำข้อตกลงความร่วมมือจัดการศึกษาแบบทวิภาคี หรือสหกิจศึกษา ปฏิรูปการอุดมศึกษาในด้านการผลิตกำลังคนของประเทศ ที่นำไปสู่คุณภาพของคนให้ชัดเจน

Advertisement

มหาวิทยาลัยทั้งในระบบและนอกระบบควรวางแผนการผลิตกำลังคนในแต่ละปี ตามปริมาณและสาขาความต้องการของตลาดแรงงาน แต่ละแห่งควรมีอัตลักษณ์หรือมีความเข้มแข็งทางวิชาการและวิชาชีพที่เป็นเรื่องเฉพาะ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีในวิชาชีพต่างๆ เข้ามาใช้ในการจัดการศึกษา

ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาต่อยอดให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกระดับการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

การจัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษาของประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้ระบบการจัดการศึกษาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ แต่เงื่อนไขและแนวทางการดำเนินการบางอย่างของประเทศไทย ยังประสบปัญหาและยังไม่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนทางด้านอาชีวศึกษา ที่ต้องประสบปัญหาในการผลิตนักเรียนอาชีวศึกษา ที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการเรียนการสอนอาชีวศึกษาที่มุ่งผลิตผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ มีสมรรถนะและเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม

Advertisement

ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Technology : NIT) จึงได้มีความร่วมมือโดยได้เปิดศูนย์ KOSEN Liaison Office เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานของสถาบันโคเซ็น (KOSEN) เพื่อใช้เป็นสำนักงานประสานงานและส่งเสริมการศึกษาแบบโคเซ็น (KOSEN) ในประเทศไทย เช่น การพัฒนาครู เทคนิคการสอน และรูปแบบการสอนแบบโมโนซูคูริ (Monozukuri) ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาบูรณาการกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เลือกพัฒนาต้นแบบที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ และวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ มาระยะหนึ่งแล้วนั้น

จึงเป็นที่น่าศึกษาว่า รูปแบบที่ดำเนินการสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยหรือไม่ เพราะรูปแบบการจัดการศึกษา KOSEN ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเน้นผู้เข้ารับการศึกษาต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี

แต่จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ในประเทศไทยนักเรียนอาชีวศึกษามีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาในการนำรูปแบบ KOSEN มาใช้ในประเทศไทย ว่าจะต้องมีการประยุกต์อย่างไรให้สอดคล้องกับบริบทการจัดการศึกษาระบบอาชีวศึกษาของไทยในอนาคต

แนวทางประยุกต์รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิด Monozukuri ในระบบ KOSEN ของประเทศญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับระบบอาชีวศึกษาของไทยนั้น มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่สำคัญอันนำไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนระบบการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพและสามารถผลิตกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1) กระทรวงศึกษาธิการควรส่งเสริมสถานศึกษาที่มีความพร้อมและมีความตั้งใจที่จะนำแนวคิดโมโนซูคูริ (Monozukuri) ในระบบ KOSEN ของญี่ปุ่นมาใช้เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางด้านช่างอุตสาหกรรม เช่น สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ฯลฯ โดยต้องสนับสนุนทั้งบุคลากรและงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม

2) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรปรับปรุงการจัดการศึกษา โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม โดยนำแนวคิดโมโนซูคูริ (Monozukuri) ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทักษะ มีคุณธรรมและจริยธรรม สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีคุณภาพ และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในเรื่อง Thailand 4.0 ได้

3) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ยึดมั่นในค่านิยมหลัก คือ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้ด้วยตนเองได้ มีใจรักและทุ่มเทในการสร้างผลงานที่ดีที่สุด มีการพัฒนาปรับปรุงผลงานอย่างต่อเนื่อง

4) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรมีกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าเรียนสาขาช่างอุตสาหกรรมของสถาบันอาชีวศึกษา โดยทดสอบพื้นฐานความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และกำหนดให้มีการเรียนปรับพื้นฐานสำหรับผู้มีความรู้น้อยก่อนเปิดภาคการศึกษา

5) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรพัฒนาสมรรถนะของครูผู้สอนทางด้านวิชาชีพ และครูผู้สอนทางสายสามัญ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนแบบ Problem Based Learning และ Project-Based Learning โดยครูผู้สอนต้องมีความสามารถในการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนร่วมกับการทำงานจริงได้

6) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรพัฒนาครูให้สามารถวัดและประเมินผลการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการประเมินสมรรถนะ มีรูปแบบการวัดและการประเมินผลที่มีความหลากหลาย ยืดหยุ่นตามลักษณะบริบทของงานที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสาขาอาชีพ ครูผู้สอนต้องมีความรู้ความสามารถในการประเมินผลการเรียนการสอน โดยกำหนดเกณฑ์ในการประเมินผลงาน/ชิ้นงาน ที่มีมาตรฐานและมีความชัดเจน เพื่อให้สามารถประเมินผลงานที่มีความหลากหลายได้อย่างยุติธรรม

7) ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนสนใจที่จะเข้าเรียน ควรมีการจัดหา วัสดุ ครุภัณฑ์ที่เหมาะสม และพอเพียงกับการใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน และสามารถนำไปประยุกต์กับการปฏิบัติงานจริงได้ และต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปฏิบัติงาน

8) ครูผู้สอนทางช่างอุตสาหกรรม ต้องตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสถานประกอบการ จึงต้องใส่ใจในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้และศึกษาในสิ่งใหม่ๆ มีความสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์

การจัดการศึกษา มีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับใด แต่ละรูปแบบพัฒนาขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดไปจนถึงการเมืองของประเทศนั้นๆ และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแบ่งการศึกษาเป็นสายสามัญและสายวิชาชีพ ก็เช่นเดียวกัน ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดมา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนของโครงสร้างการบริหาร ทำให้เกิดข้อข้องใจในคุณภาพการศึกษาของผู้ที่จบการศึกษาสาขาต่างๆ ตลอดมา รวมถึงขาดแคลนกำลังคนในบางสาขาวิชา เช่น อาชีวศึกษาทางด้านอุตสาหกรรม ฯลฯ

จึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างรีบด่วน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการกำลังคนรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศในโลกยุคดิจิทัลและการสื่อสารที่ไร้พรมแดน

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image