สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลิงของเจ้าฟ้ากุ้ง

๏ หัวลิงหมากลางลิง ต้นลางลิงแลหูลิง

ลิงไต่กะไดลิง ลิงโลดคว้าประสาลิง

๏หัวลิงหมากเรียกไม้ ลางลิง

ลางลิงหูลิงลิง หลอกขู้

ลิงไต่กะไดลิง ลิงห่ม

Advertisement

ลิงโลดฉวยชมผู้ ฉีกคว้าประสาลิง

ลิงในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง ของเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งผู้นิพนธ์เลือกใช้กลบททางวรรณศิลป์มาแต่งตรงนี้ เพื่อแสดงกิริยาอาการซุกซนตามธรรมชาติของลิง

นิราศธารทองแดง แต่งเมื่อเสด็จจากอยุธยาไปพระพุทธบาท (สระบุรี)

Advertisement

ธารทองแดง เป็นชื่อลำธาร มีน้ำจากภูเขาธารทองแดงไหลผ่านพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา [ทองแดง มีผู้รู้สันนิษฐานว่าเป็นท่อน้ำทำจากโลหะทองแดง ชักน้ำจากลำธารเข้าพระตำหนัก]

นิราศธารทองแดง เป็นวรรณกรรมแสดงลักษณะปัจเจก (แบบตะวันตก) โดยลดศาสนา เข้าหาความเป็นมนุษย์มากขึ้น จึงมีกาพย์ห่อโคลงพรรณนาสิงสาราสัตว์ต่างๆ (นอกเหนือจากลิง) และธรรมชาติอื่นๆ ที่มีในดงสองข้างทางเสด็จผ่าน

ลักษณะอย่างนี้เหมือนกาพย์กลอนขนบเดินดงที่มีมาก่อน แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์พรรณนาใหม่ด้วยความรู้สึกนึกคิดใหม่ที่ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งต่างจากวรรณกรรมยุคก่อนๆ ที่เน้นศาสนา-การเมือง [แต่ไม่ทิ้งศาสนาอย่างสิ้นเชิง เพราะเจ้าฟ้ากุ้งแต่งนันโทปนันทสูตรคำหลวง]

สำนึกปัจเจกแบบตะวันตก แผ่ไปในหมู่คนชั้นนำในราชสำนักอยุธยาช่วงหลังพระนารายณ์ จนถึงตอนปลาย แล้วกรุงแตก

มีวรรณกรรมแสดงออกให้เห็น เช่น เพลงยาวนิราศหม่อมพิมเสน (ยุคปลายอยุธยา) นิราศกวางตุ้ง (ยุคกรุงธนบุรี) เป็นต้น แล้วส่งอิทธิพลถึงเพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง (ของ ร.1) ในที่สุดส่งถึงวรรณกรรมของสุนทรภู่

ระบบราชการกรุงศรีอยุธยาและอื่นๆ ปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่ถาโถมโจมเข้าใส่อยุธยา ตั้งแต่ยุคปราสาททองและพระนารายณ์ ถึงพระเจ้าบรมโกศ

ในที่สุดก็ กรุงแตก ยศล่มแล้ว พ.ศ. 2310 เพราะระบบภายในปรับไม่ทันกับโลกภายนอก

โลกวันนี้เขาว่า 4.0 แต่รัฐราชการไทยปัจจุบันย้อนยุคอย่างภาคภูมิอยู่วัดไชยวัฒนารามของพระเจ้าปราสาททอง ด้วยลำพองใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image