เศรษฐีไทยรวยขึ้นอีกครั้ง โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เศรษฐีไทยรวยขึ้นอีกครั้ง

ฟอร์บส์จัดอันดับ 50 เศรษฐีไทย ปี 2561 บอกว่า มูลค่าทรัพย์สินรวมของเศรษฐี 50 รายนี้ พุ่งสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 จากปีที่แล้ว

สื่อต่างๆ รายงานข้อมูลเหล่านี้เป็น “ข่าว” โดยแทบไม่มีข้อคิดเห็นหรือบทวิจารณ์อะไรมากนัก อาจเป็นเพราะว่าเราคุ้นเคยกับปรากฏการณ์ที่ว่า อภิมหาเศรษฐีไทยรุ่มรวยขึ้นมากกว่าคนทั่วไปอย่างมหาศาลทุกปีจนเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ข้อมูลจากฟอร์บส์โดดเด่นมากสำหรับปีนี้ การที่เศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยรวยมากขึ้นถึงหนึ่งในสามในเวลาเพียงหนึ่งปีนี่ก็น่าทึ่งแล้ว

Advertisement

เมื่อลงไปดูในรายละเอียดย้อนหลังพบว่ายังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินรวมของอภิมหาเศรษฐี 4 อันดับแรก คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจียรวนนท์ อยู่วิทยา และสิริวัฒนภักดี นั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงเวลาสี่ปีนับจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557

สำหรับประเภทธุรกิจของตระกูลใหญ่ๆ เหล่านี้ที่เด่นๆ ก็ได้แก่ธุรกิจค้าปลีก (รวมทั้งร้านสะดากซื้อ) ธุรกิจเกษตรแปรรูป อาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม โรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจความงาม การเงิน ประกันภัย พลังงาน และโลจิสติกส์

มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐี 50 อันดับที่พุ่งสูงในปีนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าฟอร์บส์สืบหาข้อมูลได้อย่างครอบคลุมและละเอียดลออมากขึ้น หรืออาจเป็นเพราะว่ามหาเศรษฐีไทยทำธุรกิจเก่งขึ้น

แต่ เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไปพบว่า มีปัจจัยอื่นที่อาจจะสำคัญมากกว่า

นั่นคือ ผลการประเมินของฟอร์บส์ มีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาลนับจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 เป็นอย่างมาก

ที่น่าสนใจคือนโยบายเหล่านี้เพิ่มความร่ำรวย เพิ่มอำนาจและบทบาทของกลุ่มตระกูลธุรกิจรวยระดับนำของไทย

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดอัตราภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีรายได้ระดับสูง หรือ นโยบาย “ช้อปช่วยชาติ”

หรือการที่สมาชิกครอบครัวของเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ติดอันดับอภิมหาเศรษฐีได้รับเชิญให้เข้าร่วมในคณะกรรมการระดับนโยบายต่างๆ ในกรอบแนวคิดประชารัฐของรัฐบาลทหารจนได้กระทบไหล่กับรัฐมนตรีสำคัญๆ เป็นประจำ

นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีนโยบายที่ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากเสียเปรียบจนขาดแหล่งทำมาหากิน เช่น นโยบายจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่ แผงลอย คนเร่ร่อน ไม่ให้มีการขายของบนทางเท้าบนถนน โดยรัฐบาลไม่ได้จัดหาแหล่งที่ค้าขายให้เป็นทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนดังเช่นในกรณีของศูนย์หาบเร่หรือ “Hawker Centres” ที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทำและการยกเลิกข้อตกลงระบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน โดยที่ฝ่ายชาวไร่ไม่มีส่วนร่วมเลย

ซึ่งทั้งสองนโยบายหลังนี้มีผลทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่งเทียบกับธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ

ดังนั้นเราจึงพบว่าขณะที่เศรษฐีใหญ่เข้าถึงศูนย์กลางแห่งอำนาจและการกำหนดนโยบาย โอกาสที่คนธรรมดาจะมีสิทธิส่งแรงกดดันต่อนโยบายในฐานะเป็นพลเมือง เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นกลับหดหายไป

ซึ่งตรงนี้เป็นผลของนโยบายที่ลดบทบาทของสถาบันประชาธิปไตย เช่น การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจากกลุ่มคนพวกเดียวกันเองที่อยู่ในวงแคบๆ โดยพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีบทบาทเลย

อีกทั้งการจำกัดสิทธิพลเมืองต่างๆ เช่น สิทธิการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การใช้มาตรา 44 ข่มขู่ประชาชน หรือเพื่อละเมิดกฎหมาย เช่น กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อการส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่โดยปิดกั้นสิทธิและบทบาทของผู้ผลิตขนาดเล็กขนาดย่อม ฯลฯ

เหล่านโยบายที่กล่าวมานี้ล้วนมีผลเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม เนื่องจากเป็นการส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มเศรษฐีใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น และซึ่งสะท้อนให้เห็นในตัวชี้แสดงความเหลื่อมล้ำของไทยที่พุ่งสูงขึ้นในปีสองปีนี้ ดังที่สถิติของทางการได้ประมาณการให้เห็น

หากย้อนกลับไปเมื่อสี่ปีที่แล้วเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการรัฐประหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็นนโยบายสำคัญอันดับแรกๆ ก็จะได้ข้อสรุปว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำเนินนโยบายตรงกันข้ามกับที่ได้ประกาศไว้อย่างสิ้นเชิง

และขณะนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์และกลุ่มของเขา ตั้งใจที่จะ “อยู่ยาว” หรืออีกนัยหนึ่งรักษาอำนาจของ คสช.ไว้ แม้ว่าการเลือกตั้งที่วางแผนไว้จะเกิดขึ้นก็ตาม

เช่นนั้นแล้วก็คาดได้ว่านโยบายแบบเดิมทั้งหลายดังที่กล่าวมาจะคงอยู่ต่อไป และผลลัพธ์ดังที่กล่าวมาก็จะยังคงอยู่ต่อไป

แต่นโยบายและผลลัพธ์เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องการหรือ

ก็ได้แต่หวังว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะนำเสนอนโยบายทางเลือกที่น่าพอใจกว่า

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image