ไทยพบพม่า : คอร์รัปชั่นในพม่า : โดยลลิตา หาญวงษ์

อู อ่อง จี (ขวา) ประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นคนปัจจุบัน (ภาพจาก Reuters/Frontier Myanmar)

คอร์รัปชั่นในพม่า

ในปี 2017 ที่ผ่านมา องค์การ Transparency International ที่จัดทำดรรชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชั่นของทุกประเทศทั่วโลกจัดให้พม่าเป็นประเทศที่มีคะแนนการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ 30 คะแนน อยู่อันดับที่ 130 จากประเทศในดรรชนีทั้งหมด 180 ประเทศ โดยประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุด หรือมีการทุจริตน้อยที่สุดคือนิวซีแลนด์ (89 คะแนน) และประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือโซมาเลีย ที่ 9 คะแนน คะแนนของพม่าเพิ่มเป็นสองเท่าจากปี 2012 (พ.ศ.2555) ปีที่พม่าจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ ในปี 2011 (พ.ศ.2554)

พม่าถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก เป็นรองแค่เพียงเกาหลีเหนือและโซมาเลีย แต่การขยับขึ้นมาจากกลุ่มประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดบอกอะไรเราได้บ้าง? หากพิจารณาจากประเทศที่อยู่ท้ายตาราง 10 อันดับสุดท้ายในปี 2017 แทบทุกประเทศอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม หรือกำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืองทั้งสิ้น ยกตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน เยเมน ซูดาน เกาหลีเหนือ หรือเวเนซุเอลา

ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าระบอบเผด็จการ อำนาจนิยม หรือการเกิดขึ้นของ “รัฐล้มเหลว” ล้วนกรุยทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง เพราะประชาชนไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลหรือผู้ปกครองได้ และอำนาจเบ็ดเสร็จยังสร้างเครือข่ายการทุจริตเพิ่มขึ้น แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยในพม่าลดความรุนแรงของการ
ทุจริตคอร์รัปชั่นได้จริง คำตอบคือประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้การทุจริตทั้งในระบบราชการและโดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์หมดไป แต่บีบให้ภาครัฐเปิดเผยตัวเลขและข้อมูลของตนมากขึ้น และเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอก ตลอดจนภาคประชาสังคมร่วมกันตรวจสอบภาครัฐได้มากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

Advertisement

สิ่งเหล่านี้มิได้ทำให้ความถี่และความรุนแรงของการทุจริตน้อยลง ในช่วงการหาเสียงก่อนการ เลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญในปี 2015 (พ.ศ.2558) ออง ซาน ซูจี กล่าวว่าภารกิจหลักของพรรคเอ็นแอลดีคือการบริหารรัฐบาลที่ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเธอเห็นว่าการทุจริตคือศัตรูตัวร้ายของการพัฒนาในทุกด้าน รวมทั้งเป็นภัยกับประชาชนด้วย มาตรการแรกๆ ที่รัฐบาลเอ็นแอล ดีนำมาใช้คือการปฏิรูปคณะกรรมการป้องการการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ประธาน ป.ป.ช.ของพม่าจะเป็นอดีตนายทหารและเคยเป็นรัฐมนตรีในยุคประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

ตลอดสองปีเศษที่พรรคเอ็นแอลดี ภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี เข้ามาบริหารงาน กลับมีข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นในพม่าเพิ่มขึ้น จริงอยู่ว่าตัวเลขที่สูงขึ้นอาจมาจากความพยายามของภาครัฐที่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตเพิ่มขึ้น ระหว่างเดือนเมษายน 2017 ถึงมีนาคม 2018 กระทรวงศึกษาธิการเพียงกระทรวงเดียวเอาผิดกับข้าราชการในกระทรวงมากถึง 527 คน ไม่มีการเปิดเผยว่าข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ส่วนใหญ่เป็นครูในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทำผิดในข้อหาใด แต่ประเภทการทุจริตที่พบได้บ่อยที่สุดในพม่าคือการติดสินบน โดยเฉพาะการติดสินบนเพื่อแลกกับตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือการเรียกเงินจากผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งนี้ เป็นเพราะระบบราชการในพม่าที่ถูกแช่แข็งมาหลายสิบปี ไร้ประสิทธิภาพขนาดหนัก เริ่มตั้งแต่ที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงงานในสายอาชีพอื่น และเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมากในพม่า ค่าครองชีพของข้าราชการประเภทครูในโรงเรียน ตำรวจชั้นสัญญาบัตรบางนาย และข้าราชการในกระทรวงต่างๆ มีเงินเดือนเพียงราว 2 แสนจ๊าด หรือ 6 พันกว่าบาทเท่านั้น การรับเงินใต้โต๊ะ และการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความพยายามขึ้นเงินเดือนข้าราชการพม่ามาโดยตลอด

รัฐบาลพม่าเชื่อว่าความโปร่งใสและความมีประสิทธิภาพของระบบราชการจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา เพื่อพัฒนาประเทศในองค์รวม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกระดับ ในต้นปี 2016 รัฐบาลของซูจีจึงออกกฎห้ามข้าราชการระดับสูงรับของกำนัลที่มีมูลค่าสูง และแก้กฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายมาตรา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ระบบราชการพม่ามีประสิทธิภาพขึ้นอย่างที่เอ็นแอลดีต้องการ

Advertisement

จากการสำรวจของ Transparency International ซึ่งเพิ่งออกมาในเดือนมีนาคม 2017 ชี้ให้เห็นว่าการรับสินบนโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งในพม่า ผู้ถูกสัมภาษณ์ที่เคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 49 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อทำเรื่องขอบัตรประชาชน (ในพม่าการขอบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และใช้เวลานาน) และผู้ที่เคยขึ้นศาล 39 เปอร์เซ็นต์ เคยจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ในศาล

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ว่าประชากรที่เคยติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่รัฐถึง 1 ใน 3 มีประวัติติดสินบนเจ้าหน้าที่มาก่อน แม้ตัวเลขจะดูสูง แต่พม่ายังเป็นรองเวียดนาม (คนเวียดนามโดยเฉลี่ย 61 เปอร์เซ็นต์ เคยติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ) กัมพูชาและไทย (37 และ 33 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ)

ในทางธุรกิจ การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “สิ่งจำเป็น” ของการอยู่รอดสำหรับกลุ่มธุรกิจในพม่า กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับทุกภาคส่วน ทั้งระบบราชการ ฝ่ายการเมือง และกองทัพ เราจึงเห็นนักธุรกิจคนสำคัญๆ หรือที่เรียกว่า “โครนี่” มีรูปออกงานกับคนในกองทัพ และคนจากพรรคเอ็นแอลดีไปพร้อมๆ กัน จากการสำรวจอันเดียวกันนี้ นักธุรกิจในพม่าเกินครึ่งเห็นพ้องต้องกันว่าการติดสินบนเป็นอุปสรรคที่หนักหนาที่สุดสำหรับการดำเนินธุรกิจในพม่า ในอดีต รัฐบาลเผด็จการพม่ามีประวัติ “ล้มกระดาน” นักธุรกิจหลายครั้ง ตั้งแต่การประกาศลดค่าเงิน การไม่ต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และการกำจัดนักธุรกิจบางกลุ่มที่เป็นศัตรูทางการเมืองและเศรษฐกิจออกไป

ในแบบสอบถามนี้ยังแสดงให้เห็นทัศนคติของผู้คนในพม่า ทั้งที่เป็นคนธรรมดาและนักธุรกิจว่ารัฐบาลไม่สามารถกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นออกไปได้ และสำหรับประชาชนเอง ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก และ
จำต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับความสะดวกสบายและหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง จึงทำให้มีประชาชนจำนวนน้อยมากที่กล้าเปิดเผยเรื่องการติดสินบน การทุจริตคอร์รัปชั่นนี้เป็นตัวแสดงความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลได้อย่างดี สำหรับพม่า แม้ว่าดรรชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชั่นจะดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความการทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไป แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปโฉมไปมาก จนทำให้พรรคเอ็นแอลดี
และออง ซาน ซูจี เองก็ตกเป็นจำเลยของสังคมไปด้วย ด้วยสายสัมพันธ์ที่พรรคและหัวหน้าพรรคมีกับนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่หลายคน

การปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่กำจัดระบบอุปถัมภ์และวัฒนธรรมที่เป็นฐานรากให้กับระบบอุปถัมภ์ออกไปเสียก่อน

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image