ฟ้าลายเห็ดบด vs เมฆเกล็ดฟ้า : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ฟ้าลายเห็ดบด ภาพ : สุธาสินี อุศรีษะ

 

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องฟ้าฝนมีมากมาย จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องที่ผมประทับใจ เรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่ คุณสุธาสินี อุศรีษะ ได้โพสต์ภาพเมฆกระจายเต็มท้องฟ้าลงในชมรมคนรักมวลเมฆใน facebook และบอกว่าภาพดังกล่าวถ่ายที่หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลางเวียงเชียงใหม่

ภาพนี้มีเพื่อนๆ เข้าไป Like เข้าไปเมนต์มากมาย แต่มีอยู่คนหนึ่งคือ คุณมรกต มูลสาร ซึ่งอยู่ที่ อ.ทรายมูล จ.ยโสธร ได้ให้ข้อมูลสั้นๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ท้องฟ้าแบบนี้คนอีสานเรียกว่า “ฟ้าลายเห็ดบด” และเล่าเสริมว่า “คนแถวบ้านบอกว่า เห็ดมักออกถ้าฟ้ามีเมฆลายนี้ และมันก็จริงอย่างเขาว่า ไม่เชื่อลองดู…ไม่ได้ยกเมฆ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน”
คุณมรกตให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังว่า เห็ดบดนี้มักเกิดในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน คือราวๆ ปลายฝนต้นหนาวนั่นเอง
ผมลองนำคำว่า “ฟ้าลายเห็ดบด” ไปค้นเว็บ ก็พบว่าเว็บชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความซึ่งเขียนโดยคุณ “ปิ่นลม” ระบุว่า
“ส่วนช่วงสุดท้าย เป็นช่วงข้าวตั้งท้อง ฝนเริ่มขาด โคกเริ่มแห้งช่วงนี้ มีเห็ดกระด้าง เห็ดปลวกตาบ เห็ดขาว เห็ดบด เห็ดก้อนถั่ง ส่วนการดูว่าเห็ดเริ่มออกแล้วนั้น ชาวบ้านอาศัยท้องฟ้าเป็นผู้ทำนาย วันใดท้องฟ้ามีกลุ่มก้อนเมฆลอยเป็นลายดอกสร้อย เรียกว่า “ฟ้าลายเห็ดบด” ให้รีบเข้าป่าโคกได้เลย ไม่เคยผิดหวัง” (ความเห็นที่ 142)
หลายปีต่อมา เมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน 2557 ผมไปให้สัมมนาเรื่องเมฆ & ฝนฟ้าอากาศ ที่ จ.ยโสธร ตามโครงการอบรมครูของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ก็โชคดีที่ได้พบกับคุณมรกต ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งได้แวะมาเยี่ยมและร่วมฟังสัมมนา พอจบการสัมมนา คุณมรกต หรือ “หมอโจ๋” (ตามที่ชาวบ้านเรียก) ก็พาผมไปที่ตลาดแห่งหนึ่งในอำเภอทรายมูล และหาซื้อของไปทำกับข้าว
แน่นอนว่าวัตถุดิบอย่างหนึ่งคือเห็ดบด ซึ่งนำไปทำเป็นแกงเลียง (แซ่บหลายๆ) อย่างไรก็ดี เห็ดบดจากตลาดนี้เป็นเห็ดที่เพาะขึ้นมา ไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาตินะครับ

คุณมรกต มูลสาร
เห็ดบดของคนอีสาน

ขอบันทึกเกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับเห็ดบดของอีสานไว้สัก 3 เรื่อง ดังนี้ครับ
(1) คำว่า “บด” ในภาษาอีสาน หมายถึง ครึ้มๆ ลองนึกถึงคำว่าบดบังครับ
(2) หากเห็ดบดแห้ง คนอีสานจะเรียกว่า “เห็ดกระด้าง”
(3) ผมนำเรื่อง “ฟ้าลายเห็ดบด” ไปสอบถามจากคนอีสานหลายจังหวัด พบว่าถ้าเป็นจังหวัดยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุบลราชธานี จะรู้จักคำคำนี้เป็นอย่างดี แต่สำหรับบางจังหวัด เช่น เลย หรือสุรินทร์ ยังไม่พบว่ามีคนรู้จักคำคำนี้ ประเด็นนี้จึงขอฝากไว้ให้ตรวจสอบกันต่อไปครับ (เป็นไปได้ว่าอาจมีคนในจังหวัดเลยหรือสุรินทร์หลายคนรู้จัก แต่ผมยังไม่พบ)
ส่วนคนเหนือ พอเห็นภาพ “เห็ดบด” ของอีสาน ก็จะเรียกออกมาทันทีว่า “เห็ดลม” และแถมความรู้ทางภาษาให้ด้วยว่า คนเหนือมีสำนวน “ขายเห็ดลม” หมายถึง เมาธ์
กระจาย! 😀
กลับมาเรื่องเมฆกันต่อ คราวนี้ขอชวนลงใต้กันบ้าง ผมเคยไปให้สัมมนาที่ จ.สงขลา แล้วเล่าเกร็ดเกี่ยวกับ “ฟ้าลายเห็ดบด” ในการสัมมนา ปรากฏว่าครูคนใต้บอกว่าท้องฟ้าแบบนี้ คนใต้ก็มีชื่อเรียกและออกเสียงที่หูผมได้ยินว่า “แกล๊ดฝ่า” (บางคนออกเสียงเป็น “แกล็ดฟา” ก็มี)
พอเห็นผมทำหน้างงๆ ครูอีกท่านจึงช่วยเฉลยว่า คำคำนี้ก็คือ “เกล็ดฟ้า” นั่นเอง
คนใต้ยังมีเกร็ดน่ารักๆ อีก 2 เรื่อง เรื่องแรกบอกว่าเด็กผู้ชายที่ซนๆ อาจถูกผู้ใหญ่จับกล้อนผมเป็นผมทรงนี้ หรือไม่ก็ถ้าเจ้าเด็กนั่นไม่นั่งนิ่งๆ ขณะตัดผม ก็จะทำให้ทรงผมออกมาเป็นลายนี้ แต่ไม่ว่าแบบไหน ผู้ใหญ่จะเรียกเด็กคนนั้นว่า “ไอ้หัวแกล๊ดฝ่า” คือ ไอ้เด็กหัวลายเมฆเกล็ดฟ้า!
เกร็ดอีกเรื่องหนึ่งเรียกท้องฟ้าลักษณะนี้ว่า “เมฆเกล็ดปลา” และบอกว่าถ้าท้องฟ้าเป็นเมฆเกล็ดปลา หนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอกัน แต่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายไม่ยินยอม จะพากันหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามกันไป เรื่องนี้ ดร.ศราวุธ
เจ๊ะโส๊ะ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้เล่าให้ผมฟัง
ท้องฟ้าลักษณะเดียวกัน แต่ต่างวัฒนธรรมกัน ก็มีเรื่องเล่าสนุกๆ ได้หลายมิติ คราวหน้าหากคุณผู้อ่านเห็นท้องฟ้ามีเมฆลายๆ แบบนี้ แล้วจะชวนใครไป “เก็บเห็ด” หรือ “หนีตามกันไป” ก็สุดแท้แต่สถานการณ์นะครับ…อิอิ

Advertisement

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชมภาพฟ้าลายเห็ดบดได้ในเว็บชมรมคนรักมวลเมฆ
ที่ www.CloudLoverClub.com
แล้วค้นคำว่า “ฟ้าลายเห็ดบด”


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image