คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ : สหกรณ์เป็นของใคร? ใครคือฆาตกรสหกรณ์ตัวจริง?

ในขณะที่อีกไม่เกิน 16 ปีข้างหน้า นักอนาคตคาดว่าจะมีหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) ประมาณ 1,000 ล้านตัว กระจายไปทั่วโลกและจะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ และในขณะที่ปัจจุบัน เรื่องของ IOT (Internet of Things) ทะลุทะลวงไปในเกือบจะทุกวงการ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันอย่างมากมาย แต่วงการสหกรณ์ของไทยยังคงมะงุมมะงาหรา ติดกับดักอยู่กับวังวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแบบผิดฝาผิดตัว ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราเงินปันผล สมาชิกสมทบ สัดส่วนการลงทุนของสหกรณ์
การรายงาน…ซึ่งทั้งหมดรวมเรียกว่า “เกณฑ์กำกับ” โดยหวังว่าจะควบคุมและป้องกันปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ส่งผลกระทบมายังปัจจุบัน มากกว่าการสร้าง การแสวงหา การพัฒนาเกณฑ์และมาตรการในการ “ส่งเสริม” และ “พัฒนา” เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับสหกรณ์แต่ละแห่ง ในทุกขนาดของสหกรณ์แต่ละประเภท
การอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานทางการเงิน การบัญชี การบริหารความเสี่ยง…แล้วนำมาเป็นต้นแบบในการออกประกาศ คำสั่ง เกณฑ์กำกับ บังคับใช้กับสหกรณ์ โดยมิได้คำนึงถึงหลักการ อุดมการณ์ และจิตวิญญาณสหกรณ์อย่างถ่องแท้ ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการสหกรณ์ และสร้างความสับสน ปั่นป่วน ในขบวนการสหกรณ์เป็นอย่างมาก ข้อมูล ข่าวสารเชิงลบที่ออกมาจากภาครัฐผู้กำกับดูแลสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของสมาชิกสหกรณ์โดยรวม และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสหกรณ์ในวงกว้าง
หยุด… ใคร่ครวญ ทนทวนอย่างรอบคอบ รอบด้านก่อนจะดีใหม?
สหกรณ์เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกลุ่ม ไม่เหมือนกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจเช่นเดียวกับธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และที่ชัดเจนคือไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การนำเกณฑ์ มาตรฐาน หรือมาตรการทางการเงินการบัญชีที่ใช้กับสถาบันการเงินทั่วๆ ไปมาใช้กับสหกรณ์จึงไม่น่าจะถูกต้อง ไม่เหมาะสม เพราะจุดเริ่มต้น และจุดมุ่งหมายของการรวมตัวกันของกลุ่มคน ก่อตั้งเป็นสหกรณ์ เป็นสถาบันการเงิน มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสถาบันการเงินทั่วๆ ไป หลักและแนวปฏิบัติก็ย่อมต้องแตกต่าง
เมื่อสหกรณ์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสมาชิก เพื่อนสหกรณ์ และสังคมโดยรวม การดำเนินงานของสหกรณ์จึงเน้นที่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างยืดหยุ่น มีคุณธรรม มีความเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ ตามศักยภาพของสหกรณ์แต่ละแห่ง
โดยนัยนี้ การบริหารของสหกรณ์จึงเป็นการบริหารความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้รับความช่วยเหลือสามารถก้าวผ่านปัญหาทางการเงินและการดำเนินชีวิตที่เผชิญอยู่ไปได้ เป็นการบริหารที่เอื้อให้สมาชิก หรือเพื่อนสหกรณ์ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่การบริหารความเสี่ยงตามนัยที่ใช้กันในระบบการบริหารกระแสหลักในสถาบันการเงินทั่วๆ ไป
ดังนั้น เกณฑ์กำกับและมาตรการที่หน่วยงานของรัฐที่ออกมา รวมถึงที่กำลังคิดจะออกมาใช้และดำเนินการกับสหกรณ์ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ว่ามีส่วนไปสกัดกั้นไม่ให้สหกรณ์ช่วยเหลือกันตามศักยภาพ ตามความถูกต้องเหมาะสม ตามหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์หรือไม่?
ผู้บริหารสหกรณ์ผิดก็ควรดำเนินการกับผู้ผิด ไม่ใช่ไปปิดสหกรณ์ เพราะการปิดหรือยุบเลิกสหกรณ์เป็นการลงโทษสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์และเครือข่ายสหกรณ์ที่รุนแรงและผิดฝาผิดตัว
สหกรณ์ที่มั่นคงแข็งแรงกว่า มีเจตนาดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนสหกรณ์ที่กำลังประสบปัญหาเพื่อให้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ กลับถูกลงโทษด้วยการบังคับให้ต้องตั้งค่าเผื่อหนี้/เงินฝากสงสัยจะสูญ (NPL) ตามหลักความระมัดระวัง ส่งผลให้สหกรณ์ที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลหรือจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกได้น้อยลง
คำสั่งและเกณฑ์กำกับเชิงลงโทษดังกล่าว บังคับให้เราทำได้แค่ยืนดูเพื่อนด้วยความห่วงใย เอามือทั้งสองข้างเก็บไว้ในกระเป๋า ไม่สามารถเอื้อมมือออกไปช่วยเหลือเพื่อนสหกรณ์ด้วยกันได้
ใครทำให้จิตสำนึกสาธารณะเลือนหาย จิตวิญญาณสหกรณ์สลายลง คงเหลือไว้แต่เพียงสถาบันการเงินเชิงธุรกิจล้วนๆ !!!
ขอฝากทางภาครัฐ และหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลสหกรณ์ ช่วยกรุณาพิจารณาอย่างจริงจังว่าท่านควรจะเข้ามาควบคุม กำกับดูแลสหกรณ์หรือไม่? ในเรื่องใด? อย่างไร? และมากน้อยแค่ไหน?
อย่าลืมว่า สหกรณ์มีสมาชิกเป็นเจ้าของ ผู้บริหารสหกรณ์ได้รับการสรรหา/เลือกตั้งมาจากสมาชิก ไม่มีเงินเดือน บางแห่งมีโบนัสและสวัสดิการบ้าง บางแห่งไม่มีแม้กระทั่งเบี้ยประชุมกรรมการ เป็นจิตอาสาล้วนๆ
สหกรณ์โดยเนื้อแท้และจิตวิญญาณเป็นองค์กรที่เป็นมิตร (Friendly Organization) ถ้าเป็นสถาบันการเงินก็มีธรรมชาติและลักษณะที่เรียกว่า “สถาบันกัลยาณมิตรทางการเงิน” (Amicable Financial Institutions) ที่มีจุดเริ่มต้น วิธีการ และจุดหมายร่วมกันในเรื่องของการช่วยเหลือ ใส่ใจเอื้ออาทร และแบ่งปันกัน นำไปสู่การกินดีอยู่ดี มีความสุข สงบ และสันติอย่างพอเพียง
หากรัฐและหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลสหกรณ์มีความรู้ ความเข้าใจและศรัทธาในปรัชญาสหกรณ์อย่างแท้จริง รัฐและหน่วยงานของรัฐก็จะเปลี่ยนความคิด และการปฏิบัติต่อสหกรณ์ จะไม่คิดและทำในลักษณะของผู้มี “อำนาจเหนือ” ในการควบคุมและกำกับสหกรณ์ แต่จะคิดและทำในลักษณะผู้ร่วมเดินทาง แต่มีหน้าที่สำคัญที่ท้าทายมากในการส่งเสริม เอื้ออำนวย และกำกับให้สหกรณ์ดำเนินการไปได้ด้วยดีมีประสิทธิภาพตามหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์
เกณฑ์กำกับ ประกาศ ข้อบังคับ หรือมาตรการ
ใดๆ ที่ประกาศใช้แล้ว หากมีผลกระทบทางลบมากกว่าทางบวก ก็ควรมีการทบทวนแก้ไข อย่าคิดว่าเป็นการ “เสียหน้า” เพราะคนเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ารัฐและหน่วยงานของรัฐมีเจตนาดีในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับนำมาใช้กับสหกรณ์ แต่เจตนาดีอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย เพื่อจะได้ไม่เกิดสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “Destructive Helping…” หรือการมีเจตนาดีที่จะช่วยแต่กลับกลายเป็นการทำร้ายต่อสหกรณ์
ที่สำคัญคือการเปลี่ยนความคิดจากการเน้นการ “แก้” ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายเดียว มาเป็นการร่วมกัน “สร้าง” ความสำเร็จ กล่าวคือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ สมาชิกสหกรณ์ ผู้บริหารสหกรณ์ เครือข่ายสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ ในขณะที่แต่ละฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ไม่มุ่งเน้นการจับผิดหรือหาแพะรับบาป
ที่เขียนมาทั้งหมด เพราะไม่อยากเห็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และหน่วยเหนือขึ้นไปที่เกี่ยวข้องผลักดันและออกมาตรการ
คำสั่ง หรือเกณฑ์กำกับมาทำร้ายหรือทำลายจิตวิญญาณสหกรณ์ จิตสำนึกแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของสหกรณ์ และในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเห็นสหกรณ์มีมุมมองและทัศนคติทางลบต่อหน่วยงานภาครัฐ
ที่สำคัญคือไม่อยากเห็นใครถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกรสหกรณ์ตัวจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image