พระยาตาก (สิน) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

คนไทยได้มีโอกาสเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือสังคมศึกษารายวิชา ส 306 “ประเทศของเรา 4” (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533) เรียบเรียงโดย ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และคณะ) ซึ่งเป็นการเขียนถึงประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์เพื่อปลูกฝังความคิดที่มีต่อประเทศชาติอย่างฉลาด และสามารถแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งส่งผลให้ “พวกเราคนไทยด้วยกันในยุคปัจจุบัน” ว่าบรรพบุรุษท่านเพียรพยายามในการทำนุบำรุงและพัฒนาชาติ เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งต้องร่วมมือกันรักษาชาติไทยของเรา
ซึ่งทุกคนต้องคำนึงถึงการศึกษาสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองดี ตามระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราฐานะเป็นคนไทยด้วยกันจะได้ตระหนักรับรู้และปฏิบัติตนตามบทบาทของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย อันมีหลักธรรมของพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่สามารถนำมาปฏิบัติและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างมีความสุข สันติภาพ และเสมอภาคกันถ้วนหน้า

การเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 : ก่อนที่จะมีการสถาปนา “กรุงธนบุรี” เป็นราชธานีใน พ.ศ.2310 นั้น กรุงศรีอยุธยาได้ถูกกองทัพพม่าบุกเข้าโจมตีและยึดครองเอาไว้ได้ในที่สุด สาเหตุที่ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ.2310 พอสรุปได้ 5 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ผู้นำของไทยก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้มีผลทำให้เกิดการสูญเสียกำลังคน กำลังอาวุธ กำลังความคิดและทรัพย์สินไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะ “สงครามกลางเมือง” แย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ พระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระฝ่ายหนึ่งกับพระบัณฑูรน้อย (ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติทรงพระนามว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) พระมหาอุปราชาในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2275 ทำให้เกิดความอ่อนแอภายในของไทย

2.การที่ไทยเว้นว่างสงครามมานาน นับตั้งแต่ไทยได้รบกับเขมรในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อ พ.ศ.2270 เป็นต้นมา ทำให้เกิดความประมาทในการป้องกันราชอาณาจักร ขาดการฝึกปรือกำลังทัพและการวางแผนการยุทธวิธี ทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการทำสงครามป้องกันพระนคร เมื่อพม่ายกกำลังมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนจะเสียกรุงใน พ.ศ.2310

Advertisement

3.พม่าเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ไปจากเดิม คือ ยกทับกวาดต้อนผู้คน สะสมเสบียงอาหารลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ และขึ้นมาจากหัวเมืองฝ่ายใต้ ตัดขาดหัวเมืองรอบนอกมิให้คิดช่วยเหลือจากราชธานีได้ และพร้อมที่จะรบตลอดทั้งปี โดยไม่คำนึงว่าเป็นฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ต่างไปจากเดิมซึ่งมักจะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และมักเข้ามาทางเดียว และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากลงมาท่วมก็ยกทัพกลับ ทำให้ไทยวางแผนการตั้งรับผิดพลาดไปหมด

4.ผู้นำของกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นไม่มีความเข้มแข็งในการทำสงคราม ดังจะเห็นได้จากการที่ “พระเจ้าเอกทัศน์” ได้โปรดให้ไปอัญเชิญกรมขุนหารพินิตหรือพระเจ้าอุทุมพร พระอนุชา ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุให้ทรงลาผนวช แล้วมอบราชสมบัติให้ครอบครองบัญชาการรบแทนพระองค์ ขณะที่ทัพมาประชิดพระนคร

5.กรุงศรีอยุธยาถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยกองทัพพม่า ทั้งจากทางเหนือและทางใต้รวมทั้งการต้องทำศึกระยะยาวนานนับปี ทำให้เกิดความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลเสียทำให้เกิดความอ่อนแอต่อกำลังทัพและผู้คนของไทย

Advertisement

การกู้อิสรภาพของพระเจ้าตากสิน (สิน) และการสถาปนา “กรุงธนบุรี” เป็นราชธานี : ประวัติเดิมของพระยาตาก (สิน) ภายหลังกรุงศรีอยุธยาสูญเสียอิสรภาพใน พ.ศ.2310 หลังจากนั้นไม่นาน “พระยาตาก” ก็เป็นผู้นำในการกู้อิสรภาพได้เป็นผลสำเร็จ “พระยาตาก” มีนามเดิมว่า “สิน” บิดาเป็นชาวจีน ชื่อ “ไหฮอง” ตำแหน่งขุนพัฒน์ นายอากรบ่อนเบี้ย มารดาชื่อ นางนกเอี้ยง เมื่ออายุยังน้อย บิดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของ “พระยาจักรี” เพื่อถวายตัวเข้ารับราชการ จนมีความดีความชอบได้เป็นเจ้าเมืองตาก ในแผ่นดินขุนหลวงสุริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์

ต่อมาใน พ.ศ.2308 พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตากได้ถูกเกณฑ์มาช่วยรักษาพระนคร และได้แสดงฝีมือในการรบพุ่งอย่างเข้มแข็ง จึงมีความดีความชอบได้รับการแต่งตั้งเป็น…“พระยาวชิรปราการ” เจ้าเมืองกำแพงเพชรในเวลาต่อมา แต่ก็ยังมิได้ขึ้นไปปกครองเมืองกำแพงเพชร เพราะติดราชการสงครามอยู่กับพม่าที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2309 ผู้คนก็ยังนิยมเรียกชื่อพระองค์ว่า พระยาตากเหมือนเดิม

สาเหตุของการหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกันอยู่นั้น พระยาตาก (สิน) เกิดความท้อใจ และมองไม่เห็นหนทางที่จะเอาชนะข้าศึกได้เลย ทั้งนี้ เพราะพระยาตาก (สิน) ขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจ ดังเช่นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขันจำเป็นต้องยิงปืนใหญ่ทำลายข้าศึกก็ต้องขออนุญาตเสียก่อน เพราะนโยบายประหยัดกระสุนดินดำ และเมื่อพระยาตาก (สิน) ต้องการความรวดเร็วด้วยการสั่งยิงปืนใหญ่โดยมิได้รับอนุญาตก็ได้รับคาดโทษ พระยาตาก (สิน) คงเล็งเห็นด้วยสติปัญญาแล้วว่า สถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยาที่ตกอยู่ในวงล้อมของกองทัพพม่ากำลังวิกฤตหนัก ถึงสู้รบไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด แต่ถ้าหนีไปตั้งหลักที่อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากกองทัพข้าศึกอาจมีโอกาสกลับมาแก้ไขสถานการณ์ได้ ด้วยเหตุนี้พระยาตาก (สิน) จึงรวบรวมกำลังคนประมาณ 500 คน หลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปก่อนหน้าที่กองทัพพม่าจะเข้าเมืองได้

ผลดีของการใช้เส้นทางเดินทัพกรุงศรีอยุธยา-จันทบุรี ของพระยาตาก (สิน) พระยาตาก (สิน) เลือกเส้นทางหลบหนีกองทัพพม่าจากกรุงศรีอยุธยาไปทางนครนายก ปราจีนบุรี และวกลงมาทางชายทะเลบริเวณพัทยา จอมเทียน (อยู่ในชลบุรี) ระยอง และจันทบุรี เส้นทางการหลบหนีเป็นผลดีต่อการกู้อิสรภาพของพระยาตาก (สิน) เพราะว่า

1) เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ปลอดจากการคุกคามของกองทัพพม่า กองทัพของพระยากตาก (สิน) จึงค่อนข้างปลอดภัยในขณะเดินทาง ถึงแม้ว่าจะพบกองทัพพม่าที่ติดตามมากวาดล้าง และต้อนผู้คนบ้าง ก็มีเพียงเล็กน้อยจึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ

2) พื้นที่ในบริเวณเส้นทางที่ผ่านไป ผู้คนทำมาหากินอยู่อย่างปกติสุข เพราะปลอดภัยจากการคุกคามของพม่า จึงเป็นผลดีต่อกองกำลังของพระยาตาก (สิน) เพราะสามารถสะสมเสบียงอาหารได้ง่าย

3) พระยาตาก (สิน) สามารถรวบรวมกำลังคนในบริเวณแถบนี้เพื่อเตรียมการกู้อิสรภาพของไทยจากพม่าไว้โดยสะดวก เพราะผู้คนเหล่านี้มิได้ผ่านการบอบช้ำจากการสู้รบกับพม่า

4) บริเวณหัวเมืองชายทะเลเหล่านี้ มีพ่อค้าสำเภาจีนไปมาค้าขายอยู่เป็นประจำ และมีจำนวนมากด้วย พระยาตาก (สิน) เองก็มีเชื้อสายจีนอยู่แล้ว ย่อมสามารถแสวงหาความร่วมมือทางด้านเสบียงอาหาร อาวุธ ทรัพย์สินเงินทอง จากพ่อค้าจีนเหล่านั้น เพื่อเป็นปัจจัยในการสู้รบเพื่อเอกราชและอิสรภาพของคนไทยในเวลาต่อมาได้

การที่พระยาตาก (สิน) ได้เลือกเมืองระยองและเมืองจันทบุรีไว้ในอำนาจ ทำให้บรรดาพ่อค้าสำเภาที่เคยแข็งข้อต่อพระยาตาก (สิน) ต้องยอมอ่อนน้อมในที่สุด ทำให้พระยาตาก (สิน) มีฐานทางเศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมที่จะกู้อิสรภาพให้กรุงศรีอยุธยาและคนไทย ทั้งปวงในโอกาสต่อมา พระยาตาก (สิน) จึงได้เตรียมสะสมเสบียงอาหาร กำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งต่อเรือรบเป็นจำนวน 100 ลำ ที่เมืองจันทบุรี เมื่อพร้อมแล้วก็ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา

ผลดีการใช้ทัพเรือจากจันทบุรีสู่กรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าตาก (สิน) 3 ประการ คือ 1) การเดินทางโดยกองทัพเรือ ช่วยให้ปลอดภัยจากการโจมตีของกองทัพพม่า ทำให้สามารถสะสมกำลังผู้คนเอาไว้ทำศึกใหญ่ได้เป็นอย่างดี 2) สามารถรวบรวมกำลังคน เสบียงอาหาร จากพ่อค้าจีนที่ยอมอ่อนน้อมได้อีกด้วย 3) กองทัพพม่าที่รักษาเมืองธนบุรีอยู่นั้นไม่มีโอกาสรู้ตัวล่วงหน้าได้เลยว่า กองทัพเรือของพระยาตาก (สิน) จะยกมาทางปากน้ำเป็นโอกาสให้กองทัพพระยาตาก (สิน) เอาชนะได้ไม่ยาก

ด้วยเหตุนี้เมื่อพระยาตาก (สิน) ยกกองทัพเรือ เข้าเมืองสมุทรปราการและเข้าโจมตีกองทัพพม่าที่ “เมืองธนบุรี” ได้ชัยชนะได้โดยง่าย พระยาตาก (สิน) ก็ยกทัพโจมตีกองทัพพม่าไปจนถึงค่ายโพธิ์สามต้นที่สุกี้ พระนายกองของพม่ารักษาการอยู่ และสามารถตีค่ายพม่าแตก ขับไล่พม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาได้

หลังจากตีค่ายโพธิ์สามต้นของสุกี้พระนายกองได้แล้ว “เมืองลพบุรี” ก็ยอมอ่อนน้อม ปรากฏว่าที่เมืองลพบุรีมีพระบรมวงศานุวงศ์ของพระเจ้าเอกทัศน์ลี้ภัยพำนักอยู่มาก พระยาตาก (สิน) จึงได้ให้คนไปอัญเชิญมาไว้ที่กรุงธนบุรี และกระทำการขุดพระศพของพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นมาถวายพระเพลิง

เหตุผลการย้ายที่ตั้งราชธานีใหม่ ภายหลังจากถวายพระเพลิง พระบรมศพของพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว พระยาตาก (สิน) ได้ตรวจสภาพทั่วไปของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมดแล้วก็เกิดความท้อถอย เพราะกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมมาก ถึงแม้ว่าจะตั้งใจฟื้นฟูทำนุบำรุง ฟื้นฟูอย่างไร ก็คงไม่สามารถที่จะให้คงสภาพเดิมต่อไปได้ พระยาตาก (สิน) จึงตัดสินใจหาทำเลที่ตั้งราชธานีใหม่ โดยมีเหตุผล 3 ประการ คือ 1) กรุงศรีอยุธยานั้นถึงแม้จะมีบริเวณที่มีชัยภูมิน้ำล้อมรอบเป็นเมืองป้อมปราการมั่นคงก็จริง แต่รี้พลพระยาตาก (สิน) ที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะรักษากรุงศรีอยุธยาและต่อสู้กับข้าศึกได้ เพราะขณะนั้นศัตรูยังมีมากทั้งพม่าและคนไทยก๊กอื่น อาจยกมาย่ำยีเมื่อใดก็ได้

2) กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในทางที่ข้าศึกจะมาถึงได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้ามีกำลังพลไม่พอรักษากรุงศรีอยุธยาก็คงจะเป็นอันตราย ประกอบกับพม่ารู้ชัยภูมิของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดีแล้ว แผนการป้องกันกรุงศรีย่อมไม่เป็นความลับสำหรับพม่าอีกต่อไป 3) กรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมจนยากที่จะฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ต้องใช้กำลังคน กำลังทรัพย์ และเวลาในการบูรณะซ่อมแซม เพราะเป็นเมืองใหญ่และถูกพม่าทำลายเสียหายหมด

ด้วยเหตุผล 3 ประการนี้ พระยาตาก (สิน) จึงเลือกเอาธนบุรีเป็นที่ตั้งของราชธานีแห่งใหม่ การที่พระยาตาก (สิน) ได้เลือกธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่เหตุผลสำคัญ 5 ประการ

1) การตั้งเมืองหลวงใหม่อยู่ที่ธนบุรีไม่ห่างไกลจากอยุธยา การอยู่ที่เมืองธนบุรีก็เหมือนมีอำนาจอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ฐานะย่อมไม่ต่างกัน 2) กรุงธนบุรีตั้งอยู่บริเวณที่มีลำน้ำลึกใกล้ทะเล แม้ว่าข้าศึกจะยกทัพมาทางบกหากไม่มีทัพเรือเป็นกำลังด้วยแล้ว ก็ยากที่จะมาตีเมืองธนบุรี 3) เมืองธนบุรีเป็นเมืองป้อมปราการและเป็นเมืองขนาดย่อม ย่อมพอเพียงกับกำลังทัพบกและทัพเรือของพระยาตาก (สิน) ที่จะรักษาไว้ได้ และกำลังรักษาเมืองไว้ไม่ได้จริงๆ ก็อยู่ใกล้ปากน้ำ อาจลงเรือถอยทัพกลับไปจันทบุรีได้โดยง่าย

4) เมืองธนบุรีตั้งปิดปากน้ำระหว่างเส้นทางที่หัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงจะติดต่อไปมากับต่างประเทศ จึงสามารถกีดกันมิให้หัวเมืองเหนือที่ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ ก๊กอื่นแสวงหาเครื่องศาสตราวุธจากต่างประเทศได้ แต่พระยาตาก (สิน) จะหาได้ง่ายกว่า 5) เมืองธนบุรีอยู่ติดทะเล บรรดาเรือสำเภาพ่อค้าเดินทางไปมาค้าขายอยู่เสมอ สะดวกต่อการสร้างสมกำลังทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ พระยาตาก (สิน) จึงได้พาผู้คนมาตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ธนบุรี และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระสรรเพชญ์” ใน พ.ศ.2310 นั่นเอง แต่ในหนังสือเล่มนี้ จะใช้พระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตามแบบอย่างของราชการไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image