“รถติดเพื่อชาติ” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หัวหน้า คสช.กล่าวขอโทษประชาชนที่การเดินประท้วงของกลุ่ม “อยากเลือกตั้ง” ทำให้รถติด

ปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างที่พวกเขาเคยชิน หวังว่าจะทำให้คนที่เดือดร้อนจากรถติด สะสมความไม่พอใจการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “อยากเลือกตั้ง” หากประสบความสำเร็จ ครั้งหน้าพวกเขาก็อาจใช้วิธีกดดันที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา โดยคนส่วนใหญ่อาจแซ่ซ้องสรรเสริญที่ช่วยป้องกันความเดือดร้อนจากรถติด… ซึ่งถึงอย่างไรก็ติดวินาศสันตะโรอยู่แล้ว

แม้กระนั้น ก็มีอะไรน่าคิดเกี่ยวกับปฏิบัติการจิตวิทยาตื้นๆ นี้

ไม่ว่าการจราจรของกรุงเทพฯ จะเลวร้ายอย่างไร แต่มันเป็นชีวิตปกติของคนกรุงเทพฯ จะเป็นปกติสุขหรือปกติทุกข์ก็ตาม แต่มันปกติครับ

Advertisement

ปกติเพราะชีวิตต้องรู้การณ์อนาคตในระดับที่ทำให้ปฏิบัติการได้ เช่นรถจะติดนานเท่าไรกว่าจะส่งลูกถึงโรงเรียน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกเดินทางจากบ้านสักกี่โมง สิ้นเดือนจะได้รับเงินเดือนเท่าไร จึงวางแผนการใช้จ่ายได้ และอีกจิปาถะปกติทำให้ทำอย่างนี้ได้ พรุ่งนี้ต้องไม่ต่างจากวันนี้จนเกินไป

ชีวิตปกติ (ไม่ว่าสุขหรือทุกข์) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งแก่ทุกคน หากชีวิตปกติสุขหรือทุกข์กำลังถูกเปลี่ยน ก็ต้องตัดสินใจว่ามันจะคุ้มหรือไม่กับความเปลี่ยนแปลง เช่นวันนี้มันเลวร้ายเสียจนไม่อยากให้พรุ่งนี้ซ้ำรอยวันนี้อีกเลยก็ได้

คนที่มีชีวิตปกติทุกข์ อาจพร้อมจะแลกได้ไวกว่าคนที่มีชีวิตปกติสุข เพราะวันนี้ของเขามันเลวร้ายมาก แต่อย่านึกว่า คนที่มีชีวิตปกติสุขไม่นึกยอมแลกกับความเปลี่ยนแปลงเสียเลย วันนี้ของใครๆ ก็อาจเลวร้ายลงได้ทั้งนั้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่คาดไม่ถึง

Advertisement

แท้จริงแล้ว มองย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนไทย คนที่มีชีวิตปกติทุกข์เองเสียอีก (เช่นแรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีงานทำตลอดปี) ที่มักไม่ค่อยนำหรือร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะเมื่อต้องมีชีวิตปกติทุกข์ ก็มักจะไม่มีโอกาสหรือความใส่ใจพอจะรวมตัวกันจัดองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว คนที่มีชีวิตปกติสุขเสียอีก (เช่นนักศึกษามหาวิทยาลัย) ที่มักนำและร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยกว่า เพราะโอกาสมีมากกว่า

ถ้านิยามคำว่าการเมืองอย่างเคร่งครัดในทางวิชาการ ทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตปกติสุขหรือปกติทุกข์ ล้วนต้องไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จนกระทั่งต้องถือว่า “การเมือง” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ เพราะการเมืองในความหมายนี้คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลูกนาต้องต่อรองกับเจ้านา แรงงานต้องต่อรองกับนายจ้าง แม่ค้าลูกชิ้นทอดข้างถนนต้องต่อรองกับเทศกิจ และเทศกิจต้องต่อรองกับผู้บริหารเทศบาล ฯลฯ ล้วนเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งนั้น

แต่การเมืองในความหมายที่ชาวบ้านเข้าใจนั้นเกี่ยวกับการบริหารกิจการสาธารณะ ใครเป็นผู้บริหารและบริหารอย่างไร ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ “การเมือง”อย่างนี้แหละที่คนทั่วไปคิดว่าไม่เกี่ยวกับชีวิตปกติของตนนัก ยกเว้นแต่สองกรณีคือ

1.การบริหารนั้นมีทีท่าว่าจะคุกคามชีวิตปกติของตน เช่นเคยได้รับเงินเดือนก็กลับจะถูกปลดออกจากงาน

2.การบริหารทำให้คนจำนวนมากเห็นว่า อนาคตที่ตนคาดหวังไว้นอกจากจะไม่เป็นไปตามคาดแล้ว ยังมีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงด้วย

(ที่จริงสองกรณีนี้แยกจากกันเด็ดขาดไม่ได้ เช่นเพราะชีวิตปกติถูกคุกคาม อนาคตย่อมไม่เป็นไปตามที่คาด หรือมีสำนึกว่าชีวิตปกติที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ถอยหลังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตนเองและสังคมหมดสมรรถนะที่จะตอบสนองอนาคต ซึ่งต้องมากับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแน่นอน แต่อาจให้น้ำหนักที่ข้อใดข้อหนึ่งมากกว่ากันก็ได้)

กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีลักษณะร้ายแรงมากๆ หรือทั้งสองกรณีเกิดขึ้นพร้อมกัน นั่นแหละที่จะทำให้คนจำนวนมากเห็นว่า การเมืองที่หมายถึงการบริหารสาธารณะเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตปกติของตน และปล่อยไว้ไม่ได้ ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

รัฐประหารของกองทัพหลัง 14 ตุลาฯ มักใช้กรณีที่หนึ่งเป็นข้ออ้าง คอร์รัปชั่นมาก, หมิ่นพระมหากษัตริย์, เกิดความแตกแยก, ฯลฯ และทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ภยันตรายต่อชีวิตปกติของผู้คน และ/หรือของชาติ หากคณะรัฐประหารทำให้คนจำนวนมากเชื่อได้ว่าชีวิตปกติของตนกำลังถูกคุกคามจากสภาพทางการเมืองที่เป็นอยู่ คณะรัฐประหารก็ไม่ต้องใช้กำลังอำนาจในการควบคุมประชาชนนัก แต่หากไม่สามารถทำให้คนจำนวนมากเชื่อถือเช่นนั้นได้ ก็ต้องอาศัยกำลังอำนาจในการควบคุมมากเสียจน ละเมิดกฎเกณฑ์ในสามัญสำนึกของคน และผู้คนเริ่มรับอำนาจคณะรัฐประหารได้น้อยลงไปเรื่อยๆ… อย่างที่ คสช.เผชิญอยู่เวลานี้

ตรงกันข้าม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนขนาดใหญ่ มักอ้างข้อสอง โดยเปิดเผยหรือโดยนัยยะก็ตาม

ตอน 14 ตุลาฯ แม้ไม่มีใครพูดถึงอนาคตโดยตรง แต่ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า ขืนปล่อยให้ประเทศไทยตกอยู่ใต้เผด็จการทหารต่อไป อนาคตของทุกคนย่อมถึงทางตัน นายทุนรู้แล้วว่า อุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะตลาดภายในอิ่มตัวอยู่แค่นั้น นักศึกษาห่วงใยกับตำแหน่งงานในอนาคตซึ่งกำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ทหารกลุ่มหนึ่งรู้ว่าตนไม่มีทางไต่เต้าในกองทัพไปได้อีกแล้ว เพราะมีการเตรียมสืบทายาทไว้ในตระกูลเรียบร้อยแล้ว ฯลฯ

พฤษภาคม 2535 คนชั้นกลางในเขตเมืองทั่วประเทศไทยเพิ่งได้อานิสงส์จากความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจส่งออกในช่วงที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้เห็นด้วยกับรัฐประหารของทหารในปีก่อนหน้านั้นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคุกคามอนาคตของตนด้วยการทุจริตที่อื้อฉาวหลายกรณี แต่นอกจากคณะรัฐประหารไม่อาจขจัดการทุจริตได้แล้ว นายทหารที่ร่วมการรัฐประหารยังเป็นเสือหิวที่เขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้า ซ้ำยังจะสืบทอดอำนาจต่อไปโดยร่วมมือกับนักการเมืองที่ล้วนมีประวัติด่างพร้อย คนชั้นกลางจึงมองไม่เห็นอนาคตที่มั่นคงของตนเอง

เมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเขตเมืองและชนบท มองเห็นว่าทางก้าวเดินสู่ความรุ่งเรืองของตนถูกขวางกั้นด้วย “อำมาตย์” อนาคตที่คาดหวังของพวกเขามี “ทักษิณ” เป็นบุคลาธิษฐาน ในฐานะผู้ถ่ายโอนทรัพยากรงบประมาณลงสู่ชนบทโดยตรงจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่าความเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางระดับล่างไม่อาจทำให้การเมืองต้องเปลี่ยนในทันที แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้พวกเขากลายเป็น “ผู้เล่น” สำคัญอีกฝ่ายหนึ่งบนเวทีการเมืองไทย ซึ่งหากจะดำเนินต่อไปอย่างสงบได้ ก็ต้องยอมรับ “น้ำหนัก” ของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น หลัง 14 ตุลาฯ เป็นต้นมา ฝ่ายทหารทำรัฐประหาร (ที่สำเร็จ) ทุกครั้ง ด้วยข้ออ้างจะหยุดหรือชะลอความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่ไว้วางใจอนาคต เกรงจะนำมาซึ่งความล่มสลายของ “ระเบียบ” สังคมที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมานาน (ลองนึกเปรียบเทียบกับทหารอินโดนีเซียด้วยว่า เมื่อยึดอำนาจได้ ก็ประกาศจะสถาปนา “ระเบียบ” ใหม่ – Ordre Baru น่าคิดนะครับว่าทำไม) ตรงกันข้าม ความเคลื่อนไหวใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายประชาชน กลับอ้างการสร้างอนาคตใหม่ โดยมี “ระเบียบ” สังคมที่เปลี่ยนไปมากบ้างน้อยบ้าง

จำเป็นต้องย้ำไว้ด้วยว่า ไม่ได้มีฉันทามติว่าอนาคตใหม่จะต้องมีลักษณะอย่างไร ฉะนั้นความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ประสบความสำเร็จ แม้มุ่งไปยังอนาคตใหม่ แต่ก็ไม่เสนอภาพที่ชัดนักว่าควรเป็นอย่างไร เพื่อรวบรวมความสนับสนุนของผู้คนให้กว้างขวางที่สุด การเคลื่อนไหวมวลชนครั้งสุดท้ายที่ไม่ประสบความสำเร็จของ นปช.ในปี 2552-2553 บอกให้รู้ว่าคนไทยจำนวนมากต้องการอนาคตใหม่ แต่อนาคตใหม่ของคนแต่ละกลุ่ม อาจมีลักษณะที่ต่างกันมาก

อย่าลืมว่าการชุมนุมของ กปปส.เรียกร้องการปฏิรูป ซึ่งก็คือการมุ่งมองไปยังอนาคตเช่นกัน เพียงแต่เป็นอนาคตที่ไม่ชัดนักว่าจะมีลักษณะอย่างไร นอกจากรักษาความมั่นคงของสถาบันหลักสองอย่างคือชาติและพระมหากษัตริย์, ขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และทำให้อำนาจตกอยู่ในมือของ “คนดี”

ความเคลื่อนไหวนี้จะมีการเมืองเบื้องหลังอย่างไรก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัว “อุดมการณ์” ของการเคลื่อนไหว ทำให้ได้ผู้สนับสนุนในหมู่คนชั้นกลางจำนวนมาก การรัฐประหารของ คสช.จึงรับเอาวาระอนาคต (การปฏิรูป) เข้ามาเสริมการมุ่งย้อนกลับไปสู่อดีต (รักษาความสงบ) อันเป็นวาระประจำของทหารไทยที่ทำรัฐประหารเสมอมา

4 ปีผ่านไปภายใต้ คสช.ที่พยายามรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์แบบเดิมไว้อย่างไม่ให้เปลี่ยนเลย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยกระจ่างชัดว่า อนาคตที่ตนมุ่งหวังต้องไม่เป็นรูปจำแลงของอดีตที่ คสช.วางเอาไว้ และพยายามจะรักษาให้ดำรงอยู่สืบไป โดยผ่านการเลือกตั้งที่จำกัดอำนาจของประชาชน

ด้วยเหตุดังนั้น การเรียกร้องการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว จึงไม่อาจดึงผู้คนที่ต้องการอนาคตใหม่เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวได้มากนัก แม้จะรู้ดีว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามจะขัดขวางมิให้ คสช.เดินไปตามแผนรักษาโครงสร้างอำนาจอดีตของตนได้สะดวก คงถึงเวลาแล้วที่การเคลื่อนไหวต้องวางอนาคตที่แจ่มชัดให้ปรากฏว่า เราจะออกจากกับดักอดีตที่ คสช.วางเอาไว้อย่างไร

ผมเชื่อว่าอนาคตที่แจ่มชัดดังกล่าวต่างหาก ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวขยายตัวขึ้นเป็นระดับมวลชนได้ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะเกิดความพร้อมใจร่วมเคลื่อนไหวกันทั้งสังคม เพียงแต่ว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวมีน้ำหนักในตัวของมันเองมากขึ้น

ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะถูกสกัดด้วยปฏิบัติการจิตวิทยาตื้นๆ ว่าทำให้รถติด, ทำให้เกิดความวุ่นวายจนไม่อาจจัดการเลือกตั้ง (ที่ไร้ความหมาย) ได้, หรือป่วนการเมืองโดยไร้จุดหมายหรือจุดหมายอันไม่ชอบธรรม ฯลฯ

แม้เป็นปฏิบัติการจิตวิทยาที่ตื้นเสียจนใครๆ ก็รู้ทัน แต่เขากลับวางเฉย แทนที่จะคิดว่ารถควรติดเพื่อชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image