ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อสายโลหิตไหลกลับมาเยือน…แม่กลอง (2) : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

10-12 พฤษภาคม 2561 ทายาทแฝดอิน-จัน หรือแฝดสยาม รุ่นที่ 5 จำนวน 14 คน จากอเมริกา มาเยือนบ้านเกิดของบรรพบุรุษ ที่แม่กลอง สมุทรสงคราม เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากแฝดหนุ่มตัวติดกัน (Cojoined Twins) ชื่อ อิน-จัน ออกจากแม่กลอง ลงเรือไปอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2372 (ในสมัยรัชกาลที่ 3)

กลุ่มทายาทของแฝดอิน-จัน ที่เดินทางมาแม่กลองค่อนข้าง เป็น “ผู้ใหญ่” สุภาพสตรีที่เดินทางมาจากอเมริกา เมื่อได้นั่งพัก ก็จะตั้งหน้าตั้งตาพัดให้ตัวเองเพื่อคลายร้อน ทุกคนคงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ที่สำคัญคือ Jet Lag หมายถึง ความอ่อนล้าจากเวลาที่แตกต่างกันระหว่างอเมริกากับประเทศไทย คิดหยาบๆ ว่าเวลาที่คณะทายาทแฝดมาถึงแม่กลองราวบ่าย 3 โมง มันคือเวลาประมาณตี 3 ในอเมริกาที่คนเหล่านี้ปกตินอนหลับ

อัมพวารีสอร์ท คือ ที่พัก ที่พบปะ ที่ประชุมหารือ ที่เป็นบรรยากาศเฉพาะตัวของเมืองแม่กลอง ซึ่ง นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เตรียมไว้ต้อนรับ

หลังจากพูดคุย แนะนำตัวกันพอหอมปากหอมคอ ก็แยกย้ายกันไปเข้าห้องพัก เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อเตรียมมาเข้าพิธีการต้อนรับเป็นทางการ

Advertisement

คุณป้าขี้ร้อนคนหนึ่ง เธอเดินบ่นว่า “พัดของเธอหายไปไหน ?” ผู้เขียนเลยเดินวนหาในห้องพบว่ามันตกอยู่ จึงรีบนำไปให้คุณป้า “ขอบคุณมาก ถ้าฉันไม่มีไอ้นี่ ฉันต้องตายแน่ๆ ฉันขาดพัดไม่ได้เลย” เป็นคำตอบจากคุณป้าขี้ร้อน ซึ่งอากาศในช่วงบ่ายวันนั้นร้อนอบอ้าวจริงๆ แม้ในห้องปรับอากาศ

เท่าที่ได้คุยคร่าวๆ เมื่อแรกพบกับกลุ่มทายาทของแฝดสยาม ทราบว่าทายาททั้ง 12 คนมาจาก 3 รัฐ คือ นอรธ์แคโรไลนา รัฐโคโรลาโด และจากรัฐฟลอริดา เป็นทายาทตระกูลบังเกอร์ 12 คน และเป็นญาติที่มาช่วยดูแล 2 คน รวมเป็น 14 คน และคนเหล่านี้แม้จะเป็นญาติกัน สืบสายโลหิตมาจากแฝด แยกย้ายกันอยู่ในอเมริกา ไม่ค่อยได้เจอกันบ่อยนัก จะเจอกันตอนเลี้ยงรวมญาติ (Family Reunion) ปีละครั้ง เดือนธันวาคม ทุกปี ที่เมืองเมาท์แอรี่ (Mt.Airy) รัฐนอร์ธแคโรไลนา

16.00 น. ทุกฝ่ายเข้าห้องรับรองเพื่อการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ทายาทแฝดทุกคนมีสีหน้าสดชื่นขึ้น คงได้อาบน้ำ อาบท่า เปลี่ยนเสื้อผ้าดูสดใส มีนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ผู้เขียน ผู้บังคับการตำรวจภูธรสมุทรสงคราม นายก อบต.แหลมใหญ่ นายพนม ศรีกำเนิด และหัวหน้าส่วนราชการในแม่กลองร่วมพิธีต้อนรับ

นายคันฉัตรพ่อเมืองแม่กลอง กล่าวต้อนรับ มีล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ และนาย Zack Worrel Blackmon Jr. ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ กล่าวตอบขอบคุณที่พ่อเมืองแม่กลองและบุคคลสำคัญในพื้นที่ให้การต้อนรับ รวมทั้งยืนยันในเจตนาดีที่จะร่วมมือกันสร้างมิตรภาพ ระหว่างทายาทกับเมืองแม่กลองต่อไป

มีพิธีลงนามใน “บันทึกความทรงจำ” (ตามภาพ) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ข้อความที่ผู้เขียนเรียบเรียง ก็น่ารักดี แล้วตามด้วยฉายวีดิทัศน์ประวัติของแฝดอิน-จัน ที่น่าประทับใจ

สายตาของกลุ่มทายาทแฝดอิน-จัน ผู้มาเยือนดูปลาบปลื้ม มีสีหน้ายิ้มแย้ม พึงพอใจและปีติกับความคุ้มค่าที่อุตส่าห์เดินทางมาค่อนโลก เพื่อมาเยี่ยมบ้านเกิดของปู่ทวดตนเอง ที่เป็นต้นกำเนิดของ “ตระกูล บังเกอร์” (Bunker)

เสร็จพิธีในห้องแล้ว เป็นเวลาที่ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ริมแม่น้ำแม่กลอง เจ้าภาพนำอาหาร ผัดไทย เครื่องดื่มพื้นเมืองของแม่กลองมาบริการ ทุกอย่างล้วนแปลกตาสำหรับชาวอเมริกัน

อากาศยังคงร้อนอบอ้าว ถึงแม้จะเป็นเฉลียงริมแม่น้ำที่เยือกเย็น

คุณป้าคนขี้ร้อนคนเดิม มานั่งร่วมโต๊ะกับผู้เขียน พร้อมทั้ง นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ดีกรีปราชญ์ชาวบ้านของเมืองแม่กลองที่รอบรู้ประวัติทุกซอกมุมของเมืองแม่กลอง

คุณป้าเริ่มพัดแก้ร้อนแล้ว พูดว่า “นี่คงเป็นแม่น้ำที่แฝดอิน-จันเคยว่ายน้ำเล่นเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว”

ตามบันทึกที่นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวสก๊อต ที่มาค้าขายใหญ่โตที่กรุงเทพฯ ที่ลงเรือมาดูตัวแฝดอิน-จัน ที่แม่กลองเพื่อจะนำตัวไป “แสดงตัว-เก็บเงิน” ในอเมริการะบุว่า

“มองเห็นเด็กแฝดว่ายน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ท่าทางสวยงาม สอดประสานกันในทุกท่วงท่า น่ารักยิ่งนัก”

เป็นความจริงทุกประการ เพราะแฝดอิน-จัน มีลำตัวติดกัน การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ เป็นอิริยาบถที่ทุกสายตา ประหลาดใจ ขำขัน และชื่นชมมาตั้งแต่แฝดคู่นี้ยังเด็ก

ทายาทกระจายกันเป็นกลุ่ม ผู้เขียนเลยถือโอกาสเข้าสอบถามข้อมูลแบบลงรายละเอียดว่า เป็นใครมาจากเมืองไหน ผัดไทยใส่กระทงเป็นอาหารที่ทุกคนไม่ปฏิเสธ น้ำมะพร้าวอ่อน เป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกหา พร้อมกับการถ่ายภาพ

ทายาทคนหนึ่งเล่าให้ฟังเรื่องแฝดอิน-จันในอเมริกาด้วยความภาคภูมิใจ ผู้เขียนอ่านประวัติมาอย่างละเอียด จึงสอบถามเรื่องที่แฝดอิน-จันเกือบล้มละลายขณะเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกา ลูกชายของแฝดอิน-จันต้องไปเป็นทหารในกองทัพฝ่ายใต้ ทางราชการเรียกเกณฑ์เอาทรัพย์สินของประชาชนฝ่ายใต้ ใช้ประชาชนเป็นแรงงานด้าน “ส่งกำลังบำรุง” ให้กองทัพฝ่ายใต้

ทายาทแฝดเล่าให้ฟังว่า “ระหว่างสงครามกลางเมืองในอเมริกา คนอเมริกันเสียชีวิตจำนวนมากและลำบากแสนสาหัส เมื่อฝ่ายใต้แพ้สงคราม แฝดอิน-จันที่อายุมากแล้ว ต้องฝืนใจออกไปแสดงตัวเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แฝดอิน-จันเป็นคนที่แสนจะอดทน ไม่เคยงอมืองอเท้า รักครอบครัว ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว”

สงครามกลางเมืองในอเมริกา (Civil War) มีผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านคน เกิดขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2404 ถึง พ.ศ.2409 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4 แฝดอิน-จันพร้อมครอบครัวอาศัยอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา เป็นพวกฝ่ายใต้ ลูกชายของแฝดอิน-จัน โดนเรียกเกณฑ์ไปเป็นทหารด้วย

ทายาทชาวอเมริกันทั้งหลายที่นั่งสูดอากาศริมแม่น้ำ ก็ถือโอกาสคุยกันเอง เพราะแต่ละคนก็ใช่ว่าจะรู้เรื่องแฝดอิน-จัน บรรพบุรุษตัวเองไปหมดทุกเรื่อง ทุกคนพูดถึงแม่น้ำแม่กลองที่แฝดอิน-จันเกิดบนแพ เคยหาปู ปลา รวมทั้งว่ายน้ำเล่นแบบ “คนคู่” ข้อมูลต่างๆ กำลังเลือนรางไป ทายาทรุ่นหลังๆ แทบไม่ทราบเรื่องของแฝดอิน-จัน ด้วยซ้ำ

เมื่อได้เวลาอาหารเย็น แบ่งโต๊ะ แบ่งกลุ่มกันนั่ง การแสดงที่จัดไว้แบบพื้นเมือง ดนตรีไทย โขนที่วิ่งไปมาตามโต๊ะอาหาร การแสดงที่ให้เด็กๆ พูดภาษาอังกฤษ เรียกเสียงเฮฮาที่สุด กระชับ รวดเร็ว น่าตื่นตาตื่นใจ ทุกอย่างเรียบง่ายแต่มีคุณค่าทางใจ

การแสดงทุกชุดมีคุณค่าโดยเฉพาะโขนชุดใหญ่

หลังทานอาหารเย็น นายคันฉัตรนำทายาทนั่งรถตู้ออกไปชมแสง สี เสียงบริเวณอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน ที่ปรับปรุงเป็นโฉมใหม่ แล้วกลับมาแยกย้ายพักผ่อนที่อัมพวารีสอร์ท

เช้าวันรุ่งขึ้น คือ 11 พฤษภาคม คือวันคล้ายวันเกิดของแฝดอิน-จัน ลูกคนที่ 5-6 ของนายตีอาย และนางนาก ที่ถือกำเนิดบนแพ ณ ชุมชนแหลมใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2354

คณะทายาท 14 คนออกจากอัมพวารีสอร์ท โดยรถบัสไปที่บริเวณอนุสรณ์สถานแฝดอิน-จัน ที่ตั้งอยู่ในเมือง นายคันฉัตร ตันเสถียร พ่อเมืองแม่กลอง และพี่น้องเมืองแม่กลอง รอต้อนรับคณะทายาทอย่างคึกคัก กระโจมขนาดใหญ่ 2 กระโจมร่มเย็น เป็นสถานที่สำหรับทำพิธีสงฆ์ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดให้ทุกคนใส่เสื้อ “สีฟ้า”

วันเกิดของแฝดสยามคนดังระดับโลกที่ไม่เคยมีการทำบุญวันเกิดมาก่อน อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2545 พร้อมสนามหญ้ากว้างใหญ่และองค์ประกอบอื่นๆ หากแต่ถูกปล่อยให้ร้างมาแสนนาน แต่วันนี้กลับสดชื่น มีสีสัน คึกคัก ประหนึ่งแฝดอิน-จันฟื้นคืนชีวิต

คณะทายาท 14 คนเข้านั่งประจำที่แถวหน้า เพื่อประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แฝดอิน-จัน สื่อมวลชนกรูกันเข้ามาถ่ายภาพของทายาท เป้าประสงค์ประการหนึ่งคือ ต้องการเพ่งมองว่าคนเหล่านี้ยังมีเค้าหน้าตาของปู่ทวดแฝดอิน-จัน เหลือบ้างมั้ย?

เท่าที่ผู้เขียนเพ่งมอง ยอมรับว่า แทบไม่เหลือเค้าโครงหน้าตาของแฝดแม่กลองแม้แต่น้อย เพราะผ่านมาถึงรุ่นที่ 5 พันธุกรรมต่างๆ ที่แบ่งปันกับคู่สมรสหลากหลายรุ่นต่อรุ่น ย่อมละลายหายไปหมด

ก่อนพระสวด เจ้าหน้าที่ของจังหวัดเดินเข้ามาหาทายาทแฝดทีละคน แล้วยื่นกระดาษเล็กๆ ให้ทายาทแต่ละคน เขียนว่า Monk No.1 เรียงหน้ากระดานไปเรื่อยถึง Monk No.9 ฝรั่งหันมองหน้ากันแบบงงๆ ผู้เขียนจึงอธิบายว่า “คุณจะต้องไปถวายของพระองค์ที่ 1 และ คนนี้องค์ที่ 2…ตามลำดับ” ทายาททุกคนมีสีหน้าสบายใจขึ้น

เริ่มพิธี จุดธูปเทียน ทายาทแฝดนั่งพนมมือฟังพระสวดไม่นาน ทายาทถามว่าสวดอะไร? ผู้เขียนตอบว่า เป็นการสวดอวยพรเพื่อให้แฝดอิน-จัน และให้พรต่อความดีงามของแฝดอิน-จันเมื่อมีชีวิตอยู่และแม้เมื่อเสียชีวิตแล้ว

พิธีกรประกาศให้ถวายของพระสงฆ์ ทายาททั้งหลายเดินออกไปหาพระสงฆ์ตามลำดับเบอร์ในกระดาษแผ่นน้อย

ทายาทสุภาพสตรีรีรอนิดหน่อยเมื่อพระต้องเอาผ้ารองของถวาย ทุกท่านสุภาพเรียบร้อย สำรวมกิริยามารยาท สื่อมวลชนเก็บภาพทุกขั้นตอน ทายาทนำคณะสื่อมวลชนมาทำสารคดีจากอเมริกาด้วยเช่นกัน

ถึงขั้นตอนการกรวดน้ำ ซึ่งผู้เขียนแนะนำการปฏิบัติและขอร่วมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลด้วยพร้อมๆ กัน ทุกคนมีสีหน้าปลื้มปีติที่วันนี้ ได้มาร่วมฉลลองวันเกิดให้ปู่ทวดที่เกิดเมื่อ 207 ปีที่แล้ว

นายพนม ศรีกำเนิด นายก อบต.ลาดใหญ่ มอบของที่ระลึก เป็นหุ่นปั้นดินเผา รูปแฝดสยามอิน-จัน สูงประมาณ 5 นิ้วให้กับทายาททุกคนนำกลับไปอเมริกา

เจ้าหน้าที่ในงานทำบุญ มีอารมณ์ครึกครื้น เปิดเพลงสากล แฮปปี้เบิรธ์เดย์ ฉลองวันเกิดของปู่ทวดอิน-จันครบ 207 ปี ผู้ร่วมพิธียิ้มน้อย ยิ้มใหญ่ตามกันพร้อมน้ำตาคลอเบ้า

ทุกคนเดินออกมาจากกระโจมพิธี เพื่อไปที่อนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน ทุกคนมีอาการสำรวม ยืนเพ่งพิศรูปหล่อแฝดอิน-จัน บนแท่นที่แสนสง่างาม ด้วยสายตาแบบฉงน สนเท่ห์ที่สื่อความหมายว่า

คนแฝดประหลาดคู่นี้น่ะหรือ คือต้นตระกูล ผู้ให้กำเนิดเราทั้งหลายและชาวบังเกอร์ อีกราว 1,500 คน?

ทายาทที่มาจากอีกซีกหนึ่งของโลก ใช้เวลาพอสมควร แล้วแยกกันไปปลูกต้นไม้ชื่อ อิน-จัน 2 ต้นในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นที่ระลึก “วันประวัติศาสตร์” ของตระกูลบังเกอร์

ผู้ร่วมงานไปยืนเรียงรายหน้าโต๊ะ เพื่อใส่บาตรพระสงฆ์ 63 รูป (แฝดอิน-จัน เสียชีวิตในอเมริกาเมื่ออายุ 63 ปี) นำโดย พระสมุทรวชิรโสภณ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม พิธีดำเนินไปด้วยความราบรื่น ฝรั่งทายาททั้งหมดใส่บาตรพระสงฆ์ตามที่เพื่อนคนไทยช่วยแนะนำ

แสงแดดแผดกล้า ไม่มีลมพัดแม้แต่น้อย ร่างกายทั้งไทยและฝรั่งต่างชุ่มไปด้วยเหงื่อ ผู้ว่าฯสมุทรสงครามนำคณะไปทำพิธีเปิดป้ายชื่อ “ถนน อิน-จัน” ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณอนุสาวรีย์

ต้องขอบคุณท่านผู้ว่าฯคันฉัตร ตันเสถียร ที่จัดให้มีพิธีเปิดป้ายชื่อถนนอิน-จัน ที่จะอยู่คู่บ้านเมืองไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน

ก่อนหน้าทายาทแฝดอิน-จันมาถึงแม่กลองราว 1 เดือน ผู้เขียนเสนอแนะให้หาถนนในเมือง 1 เส้นแล้วตั้งชื่อ “ถนนอิน-จัน” เพื่อเป็นกิจกรรมที่จะจารึกไว้ในความทรงจำตลอดไป เพราะที่เมืองเมาท์แอรี่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา มีสะพานเล็ก มีป้ายชื่อแฝดอิน-จัน ที่บอกเล่าผู้คนทั้งหลายและผู้มาเยือน ในเมืองแบรสท์ ประเทศฝรั่งเศส มีถนนสยาม ในกรุงเทพฯมีถนนอังรีดูนังต์ ลพบุรีมีถนนวิชาเยนทร์

พิธีเปิดป้ายถนนแฝดอิน-จัน เรียบง่าย ประทับใจมีความหมายต่อตำนานแฝดอิน-จัน ชาวแม่กลอง ผู้โด่งดังระดับโลก ถนนยาวประมาณ 1 กม. เชื่อมระหว่างถนนเอกชัยกับศูนย์ราชการสมุทรสงคราม

การต้อนรับทายาทแฝดผู้มาเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้ จัดขึ้นโดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ที่จัดกิจกรรมนี้ร่วมกับการฉลองความสัมพันธ์ 185 ปีไทยสหรัฐ

ในงานที่แม่กลองมีป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า 1st Official Homecoming, Visit of the Descendants of the Chang-Eng Siamese Twins, Samut Songkhram Peovince, 10-12 May 2018

ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า เรื่องราวของแฝดสยามอิน-จัน นี้ เป็นเรื่องจริง ที่เด็กแฝดตัวติดกันเป็นบุตรคนที่ 5-6 เกิดจากนายตีอาย นางนาก เด็กคู่นี้ เป็นคนขยันขันแข็ง ในสภาวะที่ “น่าจะเป็นอุปสรรคต่อชีวิต” แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า แฝดทั้งสอง ไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตแบบตัวติดกัน มีทะเลาะแว้งกันบ้าง แฝดอินจะเป็นฝ่ายโอนอ่อนผ่อนตามแฝดจันเสมอ

เด็กแฝดหนุ่มทั้ง 2 เคยได้เข้าเฝ้าในหลวง ร.3 ในพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ เมื่อตอนอายุ 18 ปี พ่อค้าชาวสก๊อตที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ร่วมกับกัปตันเรือสินค้าชาวอเมริกันมาขอซื้อตัวไปแสดงตัวเก็บเงินในอเมริกาในรูปแบบ “มนุษย์ประหลาด”

แฝดหนุ่มนักสู้ชีวิต กล้าเดินทางออกจากแม่กลอง ข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อขอไปผจญภัยใช้ชีวิตในอเมริกา ได้ท่องยุโรป จากที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ อดทน อดออม จนมีฐานะตั้งตัวได้ โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน แต่งงาน มีครอบครัว ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมืองอเมริกา เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 63 ปีในอเมริกา

กลับมาที่ทายาทของแฝด ซึ่งกำลังมาทัวร์แม่กลองครับ

โปรแกรมต่อไปคือ พาทายาทไปศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นหมู่บ้านยายแฟง อ.บางคนที พบกับ นายสงัด ใจพรหม จิตรกรผู้ปั้นอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน เกิดความตื้นตันด้วยใจถึงใจ นายสงัดมีน้ำใจล้นเหลือ ขอมอบรูปปั้นปูนดำแฝดอิน-จัน ปิดด้วยทองคำให้ทายาทบังเกอร์ ที่มาเยือนถึงถิ่น

ทายาทแฝดอิน-จัน เอ่ยปากชักชวนนายสงัดช่วยบินไปปั้นอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน บรรพบุรุษของบังเกอร์ ณ เมืองเมาท์แอรี่ (Mt. Airy) ในอเมริกา

คณะทายาทเดินทางต่อไปยังสวนมะพร้าวของนายประเสริฐ สายทองคำ กำนันตำบลยายแฟง เพื่อชมการประกอบอาชีพด้านมะพร้าว ที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือ การลำเลียงมะพร้าว โดยนำผลมะพร้าวตอกตะปู 3 นิ้วร้อยเข้ากับเชือกยาวประมาณ 100 เมตร ชาวสวนลากมะพร้าวในท้องร่อง ในคลองครั้งละมากๆ เพื่อขนส่งสู่ตลาด

เดินต่อไปที่บ้านสวนมะนาวโห่ ชมการแปรรูปมะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยมีนายศิริ เจริญช่าง และ นายทด เจริญช่าง นำชมกระบวนการผลิต แล้วเดินทางต่อไปยังอุทยาน ร.2

ประเด็นที่ผู้เขียนได้รับคำถามมาตลอดคือ ที่ ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง บ้านเกิดของแฝดอิน-จัน ยังคงมีทายาทแฝดหลงเหลือ ตกค้างบ้างมั้ย? พอจะควานหา ขุดค้นได้มั้ย?

นายอมรศักดิ์ ฉัตระทิน หรือน้าต๋อย นายก อบต.แหลมใหญ่ เจ้าของพื้นที่บ้านเกิด เคยสำรวจเรื่องเด็กแฝดมาแล้ว ข่าวดี คือ พบคนแฝด 10 คู่ ย้ายออกนอกพื้นที่ไป 1 คู่ เหลือ 9 คู่ มีชื่อเสียงเรียงนามครบถ้วน ไอ้ที่จะไปไล่เรียงจากนามสกุล ว่าใครเป็นทายาทอิน-จัน คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการใช้ “นามสกุล” ชาวสยามเพิ่งจะมีการใช้นามสกุลในสมัยในหลวง ร. 6

ลองไปดูข้อมูลของ “เด็กแฝด” ในหลักการทางการแพทย์

ผู้เขียนได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งท่านเคยศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับ “เด็กแฝด” ท่านส่งหนังสือชื่อ “แฝดบันลือโลก” มาให้ที่พอจะนำมาเล่าต่อกันดังนี้ครับ

…เด็กแฝดมีตั้งแต่ 2 คน ถึง 10 คนและประเภท “ส่วนของร่างติดกัน” แบบแฝดอิน-จัน….

“แฝดร่างติดกัน” (Cojoined Twins) เป็นแฝดประเภทที่เกิดขึ้นยาก สถิติเมื่อ พ.ศ.2547 มีอัตรา 1 แฝดร่างติดกันต่อการคลอดแฝด 200 คู่ ….แฝดติดกันมีพัฒนาการมาจากไข่ที่ถูกผสมเพียงฟองเดียว เดี่ยวๆ จะเป็นแฝดเหมือนละเป็นเพศเดียวกัน เซลล์ของตัวอ่อนแยกจากกันในช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ พัฒนาการของเซลล์ตัวอ่อนเจริญเติบโตจะเป็นตัวอ่อนแต่การเจริญเติบโตเกิดยุติเสียกลางคัน จึงยังมีเซลล์บางส่วนติดอยู่ในไข่ฟองเดียวกัน เมื่อโตต่อไปอีกจนอายุครบครรภ์ บางส่วนของร่างกายจึงยังคงติดกันอยู่ เป็น “คัพภะแฝดติดกัน” (Cojoined Fetus) แยกกันไม่ขาด ขณะคลอดนั้นจึงมีความยากลำบากในการทำคลอด…”

แฝดอิน-จัน ที่คลอดด้วยฝีมือหมอตำแยเมื่อ 207 ปีที่แล้ว ที่ ต.แหลมใหญ่ เมืองแม่กลอง แล้วรอดมาได้ นับว่าเป็นผู้มีบุญไม่น้อย

ระหว่างพูดคุย ทายาทแฝดอิน-จันที่มาจากอเมริกา เอ่ยว่า “ถ้าพบทายาทแฝดอิน-จัน ที่แม่กลอง จะต้องขอกอดหน่อย เพราะเป็นสายโลหิตของพวกเรา”

ทายาทของแฝดอิน-จัน ลูก หลาน เหลน โหลน ของแท้ที่เมืองแม่กลองยังพอจะสืบค้นได้มั้ย วิธีใด? คือความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องการพิสูจน์

โปรดอ่านต่อฉบับหน้าครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image