เพื่อลูกของเรา ในประเทศที่ไร้นิติรัฐ : โดย กล้า สมุทวณิช

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้สนใจข่าวการเมืองทุกคนคงได้ผ่านตาภาพใบหน้าหวานของหญิงสาวร่างเล็กที่ถูกกั้นไว้เบื้องหลังลูกกรงรถควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สีหน้าของเธอเรียบเฉย แววตาแสดงประกายที่ไม่อาจบรรยายได้ มันอาจจะมีความกังวลปนอยู่เล็กน้อยท่ามกลางความแข็งแกร่งนั้น

เธอไม่ใช่แกนนำเพียงคนเดียวของผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นภาพที่โดดเด่นและถูกส่งต่อเพื่ออธิบายบทสรุปของการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ได้อย่างทรงพลัง เข้าไปสั่นคลอนหัวจิตหัวใจของผู้คนที่ยังมีความเป็นธรรมหลงเหลืออยู่

ภาพนั้นอาจจะมีส่วนให้อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ถึงกับหอบเงินหนึ่งล้านห้าแสนบาท มายื่นขอประกันตัวแกนนำทุกคน พร้อม “สอนมวย” ตำรวจเพื่อนร่วมอาชีพ

เธอคงจะเป็นหนึ่งใน “ลูกสาวของประเทศ” ที่ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติประพันธ์บทกวีให้อย่างสวยงามเพื่อประกาศว่า “ฉันนับถือหัวใจเธอ”

Advertisement

หญิงสาวในภาพ คือ ณัฏฐา มหัทธนา หรือ “ครูโบว์”

มันคงไม่เป็นธรรมนัก หากจะกล่าวถึงเธอเพียงคนเดียวในแกนนำผู้ชุมนุมทั้งสิบห้าคน รวมถึงแกนนำหญิงสาวอีกคนหนึ่ง คือ ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว

ปกติแล้ว ผมเองจะหลีกเลี่ยงการเขียนเล่าเรื่องอันออกจะเป็นส่วนตัวลงบนพื้นที่คอลัมน์นี้ แต่ก็ใคร่ขอเล่าเรื่อง “ครูโบว์” ที่ผมรู้จักสักนิดหนึ่งเถิด

Advertisement

ครูโบว์เป็นเพื่อนกลุ่มแรกๆ ที่แอดกันต่อๆ มาในเฟซบุ๊ก ตั้งแต่เมื่อแรกที่ผมเริ่มเล่นในปี 2552 ในตอนนั้นผมไม่ทราบรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเธอมากนัก นอกจากว่าเธอมีลูกอายุมากกว่าลูกสาวผมอยู่ประมาณสองสามปี จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม เคยทำงานในองค์กรต่างประเทศ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เธอก่อตั้งพื้นที่กิจกรรมในร่มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก และออกรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กนั่นเองที่คนทั่วไปได้รู้จักเธอในชื่อของ “ครูโบว์”

ผมพาลูกไปเล่นพื้นที่กิจกรรมนั้นหลายครั้ง บ่ายวันหนึ่งที่ครูโบว์ไปตรวจงานพอดี เธอจึงเลือกหนังสือนิทานเล่มหนึ่งมานั่งขัดสมาธิอ่านให้เด็กๆ และลูกผมฟัง หากจะมีภาพใดของครูโบว์ที่ประทับแน่นในความทรงจำก่อนภาพเบื้องหลังลูกกรง
ก็คงเป็นภาพนั้น

ในตอนนั้นเธอดูเหมือนคุณหนูผู้สดใส คุณแม่คนสวย นักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์ แม้จะรู้อยู่บ้างว่าเธอสนใจเรื่องการบ้านการเมืองอยู่มากทีเดียวก็ตาม แต่ไอ้เรื่องว่าจะมาเป็นแกนนำออกหน้าในการชุมนุมทางการเมืองก็ห่างไกลจากความคาดหมายอยู่มาก

กระทั่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่งได้รับความอยุติธรรมในกระบวนยุติธรรม ผมรู้สึกทึ่งและแปลกใจจนต้องมองซ้ำและอ่านข่าวให้รู้แน่ว่าเป็น “ครูโบว์” นั่นเองที่ไปขาย “ข้าวหลาม” เชิงสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงชื่อของเด็กหนุ่มคนนั้น “ไผ่ ดาวดิน”

จากนั้นครูโบว์ก็มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองในทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนอย่างเธอถึงเอาอิสรภาพมาลงขันร่วมต่อสู้ ในฐานะที่ทำงานในวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผมนึกสภาพ “ห้องขัง” ในชั้นสอบสวนได้ดี จนนึกไม่ออกเลยว่า ครูโบว์ของเด็กๆ จะไปอยู่ในสถานที่แบบนั้นได้อย่างไร

คนอย่างครูโบว์ และอีกหลายๆ คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างดีมีความสุข แม้ประเทศนี้จะไร้สิ่งที่เรียกว่า “นิติรัฐ” แต่พวกเธอพวกท่านก็สามารถพาตัวขึ้นไปใกล้ยอดพีระมิดแห่งอภิสิทธิ์ได้ไม่ยาก ทั้งสามารถป้องกันตัวเองจากความอยุติธรรมได้ในระดับหนึ่ง ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษา

“นิติรัฐ” และ “การเลือกตั้ง” มันสำคัญและมีราคาอันควรแลกอะไรอย่างนั้นเชียวหรือ ?

เพราะถ้าจะมีช่วงไหนที่สะท้อนความไร้นิติรัฐได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก็เห็นจะเป็นช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมานี้

หากว่าไร้กฎหมายไปเสียเลย บางครั้งอาจจะไม่น่ากลัวหรือเจ็บปวดเท่าสภาพที่มีกฎหมายแต่ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง และเลือกจะใช้เมื่อไรอย่างไรก็ได้ตามแต่อำเภอใจของผู้มีอำนาจ

เราได้เห็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงอวดแสดงทรัพย์สินสมบัติราคาสูงกว่ารายได้เป็นสิบเท่า เมื่อมีผู้ทักท้วงว่าได้ยื่นแจ้งไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือไม่ ก็ตอบง่ายๆ ว่า – ไม่ต้องยื่น เพราะยืมเพื่อนมา – คำตอบง่ายๆ แต่เหมือนองค์กรผู้รักษากฎหมายเหมือนจะเชื่อเสียด้วย

เราได้เห็นอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่รับงานมหาโครงการของรัฐ เข้าไปยิงสัตว์ป่าเล่นในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยอาวุธปืนเต็มอัตราศึก แล้วก็อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นทั้งๆ ที่ถูกจับได้คาหนังคาซาก อวดอ้างว่าปรึกษา “กระทรวง ทบวง กรม” ของรัฐทุกแห่งแล้วต่างเห็นใจตัว เมื่อมีผู้ไปทวงถามเรื่องบรรษัทภิบาลกับรัฐผู้เป็นคู่สัญญารายใหญ่ หัวหน้ารัฐบาลท่านก็ว่า “เรื่องส่วนตัวของเขา อย่าเอามาปนกัน”

เราได้เห็นผู้นำการชุมนุมทางการเมืองที่เคยปิดล้อมศูนย์ราชการอันเป็นพื้นที่ของรัฐ กั้นอาณาเขตเป็นเช่นรัฐอิสระ ใครผ่านไปผ่านมาต้องถูกพวกเขาเรียกตรวจ ปิดทางกันถนนตามใจชอบ ใครผิดพลาดพลัดหลงไปในเขตหรือเผลอขยับกรวยอิทธิพล เป็นต้องถูกทำร้ายอย่างทารุณสาหัส ไม่เว้นแม้แต่ทหารตำรวจ ผู้นำสูงสุดของคนกลุ่มนั้นใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยเป็นปกติสุขอยู่ได้กว่าสี่ปี โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด จนกระทั่งวันหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ค่อยมีการยกกำลังกันไปล้อมจับกุมอย่างไร้หลักนิติรัฐพอๆ กัน

ได้เห็นคดีผู้ชุมนุมปิดสนามบินแห่งชาติที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2551 จนล่วงเข้าปีที่สิบแล้ว ยังเลื่อนการพิจารณาออกไปได้เรื่อยๆ โดยมี “เหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย” ในขณะที่ผู้ชุมนุมอีกฝ่ายฝั่งหนึ่งคดีถึงที่สุดกันไปบ้าง บางคนติดคุกจนได้ออกมาแล้ว

หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น รถยนต์ของผู้เคราะห์ร้ายถูกใครไม่รู้มาแอบสวมทะเบียน สืบไปสืบมากลายเป็น “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ผู้รักษากฎหมาย มีหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เอารถยนต์ของกลางที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีมาขับเล่นด้วยทะเบียนรถของผู้เสียหาย โดยที่ผู้บังคับบัญชาของเขาบอกว่า เป็นการนำของกลางไป“เก็บรักษา” โดยถูกต้องตามระเบียบราชการ

และที่สุดของห่วงโซ่ คือการที่ใครคนหนึ่งสามารถที่จะออกกฎหมายอะไรก็ได้ด้วยตัวเอง บังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองตราขึ้นนั้น และตัดสินพิพากษาได้เองด้วย จากนั้นเขาก็ลอยหน้าลอยตาอ้างว่า “ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย” และ “ที่คุณถูกดำเนินคดีเพราะทำผิดกฎหมาย (ที่ผมเป็นคนออก)”

เรากำลังอยู่อาศัย และลูกหลานของเราก็จะต้องเติบโตไปในประเทศเช่นนี้ หากไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อส่งเสียงต่อต้านระบบเช่นนั้น

บางคนอาจเย้ยเยาะยิ้มหัวว่า “เลือกตั้งให้นักการเมืองเข้ามาก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน” ก็ลองคิดดูว่ามันเคยมีอะไรถึงขนาดที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้จริงหรือไม่ ที่แน่นอนคือนักการเมืองก็ไม่สามารถออกกฎหมายขึ้นมาและบังคับใช้เองด้วยตัวคนเดียวได้เช่นนี้ อีกทั้งอำนาจที่มีที่มาจากประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ต้องมีความยำเกรงต่อประชาชน สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้

คุณอาจจะเถียงว่า – อำนาจเงินทั้งนั้น มันใช่อำนาจจากประชาชนจริงๆ เสียที่ไหน แม้ว่าต่อให้เป็นความจริง แต่การใช้ “อำนาจเงิน” ก็ครอบงำคนระดับหนึ่งเท่านั้น แต่สุดท้ายการยืนยันเจตจำนงของเราโดยฝ่าฝืนอำนาจเงินนั้น ก็ไม่ยากเท่าอำนาจจากกองกำลังและอาวุธ

เช่นถ้าคุณยืนอยู่ริมปากเหว คนหนึ่งเอาเงินมาวางกองจ้างให้คุณกระโดดลงไป กับอีกคนที่เอาปืนมาจ่อหัวคุณด้วยข้อบังคับเดียวกัน คุณต่อต้านฝ่ายไหนได้ง่ายกว่า ?

ผมนึกถึงลูกชายของครูโบว์ พร้อมระลึกถึงคำพูดของอดัม อีวิง ในตอนท้ายของนิยายเรื่อง “เมฆาสัญจร” (Cloud Atlas) ที่ว่า “ข้าขออุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์โลกในแบบที่ข้าปรารถนาให้แจ็กสัน (ลูกของเขา) ได้สืบทอด มิใช่โลกแบบที่ข้าฯ หวั่นใจ ว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตสืบต่อไปในอนาคต…”

ครูโบว์ ลูกเกด นิว โรม และคนอื่นๆ ที่ผมไม่ได้ออกนาม กำลัง? อุทิศชีวิตเพื่อเรียกร้องประเทศที่จะไม่มีใครต้องถูกปืนจ่อหัวให้กระโดดลงไปตายในหุบเหวให้ลูกของเราทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image