การปราบคอร์รัปชั่นเพียง 1 สัปดาห์ของนายกฯมหาธีร์ :  สมหมาย ภาษี

น่าประทับใจมากกว่าที่คนไทยได้เห็นในประเทศตนในช่วง 4 ปี

การพลิกล็อกเลือกตั้งใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียเมื่อวันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2561 เป็นที่สนใจของสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก หลังเลือกตั้งมีข่าวออกมามากมายจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ดังๆ เช่น BBC AP และอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งสื่อของไทยก็ติดตามข่าวตลอดมา จนถึงขณะนี้ ที่คนทั่วโลกสนใจกันมากไม่ใช่แค่นายกฯมหาธีร์ อดีตนายกฯเก่าที่เคยทำงานรับใช้ประเทศมา 22 ปี ได้หวนกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งเมื่ออายุ 92 ปี และได้ชัยชนะอย่างล้นหลามถึง 122 เสียง ในจำนวนเสียงทั่วประเทศ 222 เสียง คือสามารถครองเสียงข้างมากได้ถึง 55%

แต่ที่สื่อต่างๆ และประชาชนให้ความสนใจอย่างมากก็คือ การปราบคอร์รัปชั่นชิ้นใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซียอย่างเฉียบพลันหลังจากได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง คดีชิ้นใหญ่ที่เกิดจากการกระทำของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่เพิ่งถูกโค่นล้มอย่างคาดไม่ถึงของ นายนาจิบ ราซัค ที่ได้ครองตำแหน่งมาแล้วสองสมัยติดต่อกันก็คือคดีโกงเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาก้อนมหึมาที่เรียกว่า 1MDB (1Malaysia Development Berhad)

การโกงเงินกองทุน 1MDB นี้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวดังไปทั่วโลกไม่น้อยกว่า 2 ปีมาแล้ว กระทรวงการยุติธรรมของสหรัฐเคยออกข่าวกล่าวหาว่าเงินกองทุนนี้ได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ต้องรวมทั้งหมดถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 114 พันล้านบาท ส่วนองค์การสอบสวนของมาเลเซียกล่าวหาว่านายนาจิบได้โกงเงินกองทุนไป 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท

Advertisement

หลังได้เข้าสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อคืนวันที่ 9 พฤษภาคม และหลังจากมีพลุจุดฉลองอย่างใหญ่โตในค่ำคืนนั้น นายกมหาธีร์ก็ได้เริ่มยุทธการปราบคอร์รัปชั่นราย
การใหญ่ที่อดีตนายกฯนาจิบก่อไว้โดยทันที เขาได้สั่งการห้ามไม่ให้นายจิบและภรรยาออกนอกประเทศ เขาได้ออกประกาศให้สองวันถัดไปก่อนถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ให้เป็นวันหยุดของประเทศ (Public Holiday) ก็แปลว่า ทั้งภาครัฐและธุรกิจภาคเอกชนให้หยุดหมด ธนาคารต่างๆ ก็ต้องปิดทำการ ซึ่งเป็นการล็อกไม่ให้อดีตนายกฯนาจิบทำธุรกรรมทางการเงินได้ เท่านั้นยังไม่พอยังได้สั่งการให้หน่วยสอบสวนพิเศษเข้าบุกค้นบ้านพักอาศัยของนาจิบทั้งหมด และก็ได้พบกระเป๋าหรูแบบกะทัดรัดถึงกว่า 200 ใบ ที่บรรจุเงินสดสกุลต่างๆ เต็มพิกัด พร้อมของประดับมีค่าอีกมากมายและแล้วเมื่อวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม นายนาจิบก็ต้องเข้าไปให้ปากคำหรือถูกสอบสวนกับคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นของทางการมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าไม่กี่เดือนคงจบและสามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ ไม่เหมือนกับประเทศไทยเราที่ต้องใช้เวลาเป็นปีแทบทุกเรื่อง

เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว สื่อบางฉบับได้เข้าไปสัมภาษณ์ในเรื่องการโกงชาติกรณี 1MDB ซึ่งนายกฯมหาธีร์ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าฟังหลายประการ สิ่งแรกที่เขาพูดถึงว่าทำไมเรื่องนี้ได้มีการสอบสวนมาแล้ว แต่ได้ผลออกมาสู่สาธารณะว่านาจิบไม่ผิด มหาธีร์ตอบว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นสามารถควบคุมสั่งการได้มากมาย โดยเฉพาะในด้านอำนาจการบริหารและด้านตุลาการ (ซึ่งก็คงไม่น้อย
หน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด) เขายังได้พูดต่อไปอีกว่า รายงานเกี่ยวกับเรื่องการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลนาจิบนี้ ทั้งที่เป็นรายงานของธนาคารกลางขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และของกรรมการตรวจสอบด้านบัญชีของรัฐ (Public Account Committee) ซึ่งน่าจะคล้ายกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินของไทย ได้มีการละเว้นที่จะนำความจริงมาเผยแพร่ให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยได้พยายามทำเป็นเรื่องลับของทางราชการตามกฎหมายการเก็บความลับของราชการปี 1972 (Official Secrets Act 1972) ในการให้สัมภาษณ์ของมหาธีร์เมื่อไม่กี่วันมานี้ยังได้เปรยว่า ด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่สามารถควบคุมทั้งตำรวจและอัยการสูงสุด การทำการสอบสวนเรื่องการโกงที่แท้จริงของนาจิบที่ผ่านมาจึงไม่ออกมา เห็นควรที่จะต้องทำการปฏิรูปหน่วยงานตำรวจ หน่วยงานยุติธรรม และระบบการทำงานที่โปร่งใสต่างๆ (Governance Systems) เสียใหม่

วลีที่น่าประทับใจของนายกฯมหาธีร์ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในครั้งนี้ก็คือ “กฎหมายไม่ได้กำหนดความแตกต่างระหว่างคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือคนธรรมดาสามัญ ถ้าหากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเขาผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมาย เขาผู้นั้นจะต้องถูกนำขึ้นฟ้องศาล แล้วขึ้นอยู่กับศาลที่จะพิจารณาลงโทษสถานใดก็ตาม”

Advertisement

สําหรับประเทศไทยนั้น จะดูอย่างไร จะดูอีท่าไหนก็ดูไม่ออกว่าตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงปัจจุบัน ภาวะฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเรานี้ได้ลดน้อยถอยลงไปอย่างไร นี่ไม่ใช่การปรักปรำนะครับ ขอให้คนไทยทุกระดับชั้นที่ติดตามเรื่องนี้ลองศึกษาข้อมูลและใช้สติปัญญาของท่านตรองดูเองก็แล้วกันดังข้อเท็จจริงต่อไปนี้

ประการแรก ที่อยากจะยกมากล่าวถึงคือ สถาบันที่เป็นองค์กรกลางในการปราบคอร์รัปชั่น หรือ ป.ป.ช.นั้น มีผลงานอะไรที่ออกมาทำให้ประชาชนประทับใจบ้าง เดี๋ยวนี้แทนที่จะดีกว่าในอดีต กลับปรากฏว่าประชาชนมีความเคลือบแคลงในองค์กร ในคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และพนักงานของ ป.ป.ช.มากขึ้นกว่าเดิม กรรมการที่ประชาชนผู้ติดตามผลงานมีความชื่นชมและประทับใจนั้นมีอยู่น้อยมาก เป็นชนกลุ่มน้อยในคณะกรรมการทั้งหมดความเคลือบแคลงของประชาชนในองค์กร ย่อมสะท้อนโดยตรงต่อความเชื่อถือและไว้วางใจต่อรัฐบาลภายใต้ผู้นำคนปัจจุบัน

ประการที่สอง เป็นเรื่องที่บุคคลในหลายอาชีพที่เฝ้าดูและประเมินผลงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องของคนที่ใกล้ชิดกับท่านนายกฯประยุทธ์ที่เคยโผล่และเคยเป็นที่สนใจของประชาชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายเรื่องยังไม่มีการแจ้งข่าวคราวความคืบหน้าหรือความเคลื่อนไหวของการพิจารณาออกมาให้ประชาชนทราบหรือเข้าใจแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง เช่น การตั้งบริษัทของลูกนายทหารใหญ่ในกรมทหาร หรือเรื่องนาฬิกาหรู 24 เรือนของท่านรองนายกฯท่านหนึ่ง ซึ่งเรื่องแค่นี้ได้ลากยาวมาตั้งแต่วันแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่ปรับปรุงครั้งล่าสุดผ่านมาถึงครึ่งปีแล้ว เป็นต้น

ประการที่สาม จากรายงานของสื่อถึงเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราในยุคนี้ ทำให้เห็นชัดขึ้นว่ามีอยู่ในแทบทุกหน่วยงานของรัฐ และเกิดขึ้นทั่วแผ่นดิน อันนี้ยังไม่นับถึงเรื่องการส่งส่วยของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการปกครองทั้งหลาย และหน่วยงานราชการที่มีอำนาจในการอนุญาตเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การก่อสร้างจนกระทั่งถึงเรื่องขายแรงงาน ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องขนบธรรมเนียมไปหมดแล้ว แต่ในยุคของรัฐบาลนี้มีเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นมาชนิดที่เหลือเชื่อ แน่นอนครับ เชื้อของการโกงในเรื่องใหม่ๆ ดังที่จะกล่าวถึงนี้ได้มีอยู่บ้างแล้ว แต่เพิ่งโผล่ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวชนิดที่อายไปทั่วโลกก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ กรณีที่น่าอายมากคือการโกงเงินไปบูรณะและพัฒนาวัด ที่เรียกว่า “เงินทอนวัด” ซึ่งเกิดขึ้นในวัดขนาดใหญ่และขนาดกลางมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์ต่างก็ร่วมกันโกงอย่างหน้าตาเฉย ยิ่งสอบก็ยิ่งเจอจนทางการต้องเข้าไปจัดการอย่างจริงจังเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่เป็นการโกงที่น่าสมเพชมากในยุคนี้ที่เพิ่งได้ยินได้ฟังกัน คือการโกงเงินช่วยเหลือคนยากไร้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีงบประมาณตั้งไว้ 3-4 ประเภท เพื่อไปช่วยคนยากไร้ทั้งประเทศ งบประมาณเหล่านี้ปีหนึ่งๆ ตั้งไว้หลักไม่ถึงสองพันล้าน ปรากฏว่าในการใช้จ่ายจริงเกือบจะครึ่งหนึ่งถูกงาบไปโดยข้าราชการเลวทรามตั้งแต่เล็กๆ จนถึงใหญ่ ส่วนนักการเมืองนั้นยังไงก็ไปไม่ถึง

ประการที่สี่ การคอร์รัปชั่นของไทยประการสุดท้ายที่สังคมพูดกันมากคือ การคอร์รัปชั่นขั้นสุดยอดที่ออกแบบสำหรับนักการเมืองโดยเฉพาะ ในหลายกระทรวงมีการกล่าวกระซิบกันมากทั้งโดยการเผยแพร่คลิป หรือโดยการเล่าสู่กันฟังในหมู่ชนระดับกลางขึ้นไป เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการช่วยพัฒนาชนบทที่มีอยู่มากมาย โครงการเกี่ยวกับการเกษตรทั้งในเรื่องการส่งเสริมและการให้เงินอุดหนุน หรือแม้แต่โครงการในรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ เช่น การท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.ในการให้เอกชนลงทุนติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจพาสปอร์ตผู้โดยสารไปต่างประเทศที่ทำสัญญากัน 5 ปี ปีหนึ่งดูแลผู้โดยสารถึงประมาณ 100 ล้านหัว ใครรู้ก็ต้องตาลุก แต่เรื่องระดับนี้อย่างดีก็เห็นแต่ควันที่ลอยจางๆ ไม่เห็นไฟไม่เห็นกลุ่มควัน จนผู้รู้พูดกันว่านักการเมืองที่ว่าเก่งต้องเก่งในเรื่องการห้ามควันที่มีกลิ่นเหม็นของตนเองเป็นอย่างดี

การบริหารจัดการไม่ให้คนกลุ่มผู้ดูแลกลิ่นและควันของตนออกมาเอ่ยวาจาใดๆ ให้สาธารณชนได้ยินนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องของจอมเซียนเหยียบเมฆจริงๆ

ทีนี้ลองมาดูท่าทีในการปราบคอร์รัปชั่นกันบ้าง เรื่องนี้ดูกันไม่จืด เพราะที่มีการลงโทษลงทัณฑ์กันให้เห็นก็มีแต่ตัวเล็กตัวน้อย ตัวใหญ่หน่อยก็แค่ย้ายตำแหน่ง บางเรื่องบางรายทำขึงขังใช้มาตรา 44 ย้ายแต่ก็แค่นั้น ย้ายตามมาตรา 44 เพื่อให้ทำได้ทันทีทันใด เพราะจะใช้กฎหมายธรรมดาย้ายไม่ได้ แต่หลังจากย้ายแล้วก็เงียบ ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่เรื่องจึงจะโผล่ออกมาให้เห็น ยิ่งตอนนี้ใกล้เลือกตั้งก็ระดมปราบคอร์รัปชั่น
กันใหญ่ทั้งคนทั้งพระโดนกันระนาว แต่พวกขี้โกงใกล้ตัวเจ้าของเรือแป๊ะยังอยู่สบายกันทุกคน

เอกลักษณ์ของการปราบคอร์รัปชั่นของไทยประการหนึ่งก็คือ ตัวใหญ่จริงๆ มักจะรอด ถ้าเห็นว่าอาจไม่รอดก็หนีคุกไปเมืองนอกอย่างสบายๆ ส่วนจะถูกติดคุกให้เห็นนั้นแทบไม่มี ที่ผ่านมา 40 ปี ระดับรัฐมนตรีก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น ที่ติดคุกรู้สึกว่ามีเพียง 4 ราย โดยรายสุดท้ายคือนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และนายภูมิ สาระผล ส่วนระดับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นต้นมาที่ถูกปฏิวัติหรือถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วต้องหนีไปอยู่เมืองนอกมีเพียง 4 รายเช่นกัน โดยนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นรายล่าสุด ซึ่งต่างกับประเทศที่เขาเอาจริงกับการปราบคอร์รัปชั่น
มาก อย่างเช่นประเทศเกาหลีในช่วง 40 ปีของการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มที่ ประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้นำของประเทศถูกลงโทษติดคุกด้วยสาเหตุจากการคอร์รัปชั่นถึง 5 ราย ไม่มีการปล่อยให้คนหนึ่งคนใดหนีไปใช้เงินอย่างมีความสุขแบบนายกฯไทยได้

ช่วงนี้หากไม่อยากฟังข่าวคราวนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ขอให้คอยติดตามข่าวอดีตนายกฯนาจิบของมาเลเซียก็แล้วกัน ว่าจะถูกลงโทษอย่างไรหรือไม่ และเมื่อใด

มามองดูการเริ่มออกสตาร์ตทางการเมืองของนายกฯมหาธีร์ตั้งแต่นาทีแรก หลังจากได้ทำการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และได้ฟังแนวความคิดที่มองเห็นจุดอ่อนในระบบราชการของประเทศตนเอง พร้อมทั้งบอกว่าจะต้องปรับปรุงความโปร่งใสและประสิทธิภาพการทำงานของราชการโดยเฉพาะด้านตำรวจ ด้านยุติธรรม ด้านอัยการ ด้านบริหาร และด้านตุลาการ เป็นต้น การทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีในช่วง 22 ปีในอดีต ได้ประจักษ์ในสายตาชาวมาเลเซียและชาวโลกให้เห็นว่าเขาสามารถนำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและความมั่นคงแค่ไหน คราวนี้แม้อายุ 92 ปีแล้ว ผมเชื่อว่าความเก่งกล้าและเด็ดขาดของเขาจะยิ่งมีมากกว่าเดิม อีกทั้งเขายังจะสร้างนายอันวาร์ อิบราฮิม นักการเมืองหนุ่มที่มากด้วยความสามารถและได้ต่อสู้ทางการเมืองจนต้องติดคุกเป็นเวลานานพอสมควร ให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อไป ความสดใสของมาเลเซียทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คงจะเกิดขึ้นให้เห็นในเวลาไม่นานนัก ขณะที่ของไทยได้ยินคนส่วนใหญ่พูดกันว่ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปากอุโมงค์เลย

เช่นเดียวกัน สำหรับตัวผมที่ทำอย่างไรๆ จะตั้งสมาธิอย่างไร พยายามมองประเทศไทยที่รักของเราเองให้ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถเห็นภาพในอนาคตที่ใกล้เคียงกับภาพที่จะรุ่งโรจน์ของมาเลเซียได้ ตรงกันข้ามกลับเห็นแต่ภาพความยุ่งเหยิงทางการเมืองไทย เห็นแต่ภาพคนเดินดินและรากหญ้าที่ยังคงมีสภาพยากจนข้นแค้นอยู่อย่างเดิม

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image