ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

แฟ้มภาพ

เพื่อให้สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านความยินยอมและเห็นชอบจากประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมที่จะประกาศบังคับใช้ และเมื่อเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐธรรมนูญก็ควรเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก หากจะมีการแก้ไขก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยการทำประชามติ ส่วนการยกเลิกเพื่อมีการร่างใหม่แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นเข้าข่ายการล้มล้างรัฐธรรมนูญ มีโทษทางอาญา จะกระทำมิได้

ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาก็คงมีเหมือนกัน แต่ไม่มาก เพราะจะมีการเลือกตั้งตามแผนเดิมที่คณะรัฐประหารได้ให้สัญญาเอาไว้ แต่ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งร่างเสร็จไม่ผ่านประชามติ แล้วจะทำอย่างไร ปัญหาคงมีมาก เพราะไม่มีบทบัญญัติว่า คสช.จะทำอย่างไร เพียงแต่เป็นที่เข้าใจว่า คสช.จะหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนำมาใช้ต่อไป แล้วเริ่มกระการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรกันใหม่อีกก็ได้ ไม่มีใครทราบ ผู้ที่ทราบมีอยู่คนเดียวซึ่งท่านก็ไม่บอกว่าจะทำอย่างไร

พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย ก็ไม่ทราบ พวกเราที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติก็ไม่ทราบ เมื่อไม่ทราบก็ไม่รู้ว่าจะออกเสียงเพื่อเป็นประชามติอย่างไร จะออกเสียงรับหรือไม่รับก็ยังไม่มีใครคิดออก

แม้ว่าจะมีการเผยแพร่แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นร่างตัวจริง ทั้ง 279 มาตรา หรือคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงประชามติ ก็คงจะไม่มีใครอ่าน หรืออ่านก็คงไม่สู้จะเข้าใจเท่าไหร่ แต่คงจะคอยฟังจากคำอธิบายจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญบ้าง จาก คสช.บ้าง จากคำอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติบ้าง การรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีปัญหา สามารถทำได้ แต่การรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นทำไม่ได้ อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายของคณะรัฐประหาร ฟังดูจึงเป็นเรื่องที่ขัดความรู้สึก เหมือนกับการที่นักการเมืองแจกขันแดงเพื่อใช้สาดน้ำกันในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นแค่ “ลูกเล่น” ของนักการเมือง แต่ก็เป็นข่าวขบขันกันไปทั่วโลก

Advertisement

แต่ที่มองเห็นลึกไปกว่านั้นก็คือ ความหวั่นไหวอย่างมากต่อขบวนการการเมืองของประชาชน หวั่นไหวจนเกินความจำเป็น

การที่คณะรัฐประหารแสดงอาการหวั่นไหวต่อ “ลูกเล่น” ทางการเมือง ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองมากจนเกินไป จนแสดงออกอย่างเปิดเผยโดยคำพูดก็ดีหรือผ่านทางการกระทำก็ดี ทำให้ “ความขลัง” ของรัฐบาลทหารแผ่วลง ทำให้คนเกรงกลัวทหารน้อยลง ยิ่งเอาทหารและนักศึกษารักษาดินแดนลงพื้นที่โดยไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะยิ่งทำให้ “ความขลัง” ของคณะรัฐประหารลดลง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเสื่อมความขลัง ไม่เหมือนตอนที่ทำรัฐประหารใหม่ๆ ยิ่งภาวะเศรษฐกิจนับวันก็ยิ่งทรุดตัวลง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจก็ออกตัวว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวนั้น จะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า

การยับยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ก็เป็นพันธะหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่จะต้อง “กัดฟัน” ทำ จะโยนผ้ายอมแพ้ไม่ได้ เพราะความหวังของประชาชนอยู่ที่ “รัฐบาล” ไม่ได้อยู่กับภาคธุรกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือไม่ฟื้นตัวจะอยู่ที่ภาคธุรกิจก็ตาม เมื่อสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้ทางเอกชนลงทุน รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ลงทุน การแจกเงินให้ผู้คนบริโภค ไม่มีตำราเศรษฐศาสตร์อันไหนบอกว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว มีแต่บอกว่ารัฐบาลอาจจะต้องยอมขาดดุลงบประมาณ เพื่อนำไปลงทุนชดเชยกับการที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวหรือขยายตัวไม่เพียงพอ การออกมาด่าทอต่อว่าประชาชนไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะทำให้ทั่วโลกเขาดูถูกประชาชนของเราเองเท่านั้นว่า ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่เคารพตัวเอง

บรรยากาศขณะนี้จึงกลายเป็นว่า ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ฝ่ายทหารก็ดี ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ไว้วางใจกัน ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็กลัวว่าประชาชนจะเลือกพรรคเดิมเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ส่วนฝ่ายพรรคการเมืองก็เกรงว่า วุฒิสภาซึ่งจะมาจากการแต่งตั้งที่ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้สรรหา จะเข้ามีอำนาจจัดตั้งรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ความจริงถ้าสภาผู้แทนราษฎรเคารพตัวเองก็ไม่น่าจะต้องเกรงกลัวขนาดนั้น ถ้าทหารเคารพตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องให้วุฒิสภามีอำนาจมากขนาดนี้

ปัญหาของประชาธิปไตยในสังคมด้อยพัฒนาทางการเมืองอย่างประเทศไทยก็ดี ประชาชนยังไม่สามารถควบคุมรัฐบาลที่ตนเลือกเข้ามาบริหารประเทศได้ จึงทำให้พรรคการเมืองที่สามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภา สามารถทำอะไรตามอำเภอใจตนเองได้ เท่าที่เห็นก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นจากความคิดที่จะแก้ไขความอ่อนแอของพรรคการเมือง ที่ไม่สามารถควบคุมสมาชิกพรรคของตนในสภา จึงให้อำนาจเด็ดขาดแก่พรรคการเมืองในการควบคุมสมาชิกของตนในสภา จนเกิดรัฐบาลที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เผด็จการโดยการเลือกตั้ง” ผู้คนไม่ใจเย็นพอที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งซ้ำให้เกิดพัฒนาการจนเข้ารูปเข้ารอย มองเห็นไปว่าจะเป็นอันตรายต่อคนชั้นสูงที่ได้เปรียบอยู่ในสังคม เมื่อมีรัฐบาลประชาธิปไตยไม่นาน ประชาชนที่ทนต่อการมีอำนาจของรัฐบาลเสียงข้างมากไม่ได้ก็เรียกร้องให้ทหารเข้ามาจัดการ เมื่อทหารเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินก็รู้สึกว่าตนควบคุมไม่ได้ ตนไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกรัฐบาล ก็จะเกิดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการเลือกตั้งอีก

การจะไปลงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ผู้คนจึงไม่รู้สึกกระตือรือร้น รู้สึกเฉยๆ เนือยๆ การอธิบายว่าควรรับหรือไม่รับจึงไม่เป็นประเด็นสำคัญอะไรมาก ผู้คนรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรงว่าอย่างไรก็คงเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครทำอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือโครงสร้างอำนาจพื้นฐานของประเทศ

สถานการณ์ เหตุปัจจัย และเหตุผลทางวิชาการรัฐศาสตร์ ชี้ไปในทางที่บ่งบอกว่าจะต้องเกิด “ทางตัน” ขึ้นก่อน แล้วการเลือกตั้งก็ไม่ใช่คำตอบ การดำรงอยู่อย่างนี้ต่อไปก็ไม่ใช่คำตอบ คำตอบอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ไม่มีใครอยากคิด ไม่มีใครอยากคุย ไม่มีใครอยากถาม ไม่มีใครอยากตอบ เป็นภาวการณ์แปลกประหลาดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่โตมาก มีผลกระทบต่ออนาคตของประเทศชาติและประชาชนอย่างสำคัญ การที่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นสูงซึ่งมีส่วนสำคัญในการล้มล้างกระบวนการประชาธิปไตย เกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะเอาอย่างไรดีกับอนาคตของเศรษฐกิจ ความผิดหวังกับข่าวและข้อมูลที่ตนเคยใช้ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเกิดความรู้สึกอยากดูเฉยๆ ไม่อยากพูด ไม่อยากคุย ไม่อยากคิดอะไรทั้งนั้น เพราะการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

เมื่อจะมีการลงประชามติ จึงไม่มีใครทราบว่าผลของการลงประชามติจะเสรีและโปร่งใส จะออกมาว่าคนในเมืองออกเสียงรับรัฐธรรมนูญ แต่คนในต่างจังหวัดนอกเขตเทศบาลลงเสียงไม่รับรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากคนในต่างจังหวัดมีมากกว่าคนในเมือง ผลจึงเป็นว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ถ้าเกิดเป็นกรณีอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดความยุ่งยากจะสูงมาก เพราะคนในเมืองไม่เคยยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่นอกเขตเมือง พรรคฝ่ายค้านเดิมจะอยู่ในฐานะที่วางตัวลำบากที่สุด ถ้าเสียงของคนกรุงเทพฯและคนในจังหวัดภาคใต้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่คนต่างจังหวัดในภาคเหนือและอีสานลงคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลทหารก็มีความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไป เพราะผลของการลงประชามติจะช่วยอธิบาย ช่วยแสดงว่าประชาชนยังแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายอยู่อย่างเดิม ทั้งๆ ที่นี่คือเรื่องของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นอย่างนี้ เยี่ยงนี้ คือฝ่ายเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ แต่ต้องเคารพต่อเสียงส่วนน้อย

การเพิ่มคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการมีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก เป็นคนละเรื่องกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ฝ่ายที่อยากมีการเลือกตั้งจึงออกมาแสดงการคัดค้าน ทำให้โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติน้อยลง แม้ผู้ลงเสียงประชามติจะยังไม่ทราบชะตากรรมว่า ถ้าประชามติฝ่ายไม่รับชนะอะไรจะเกิดขึ้น ฝ่ายที่จะลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมั่นใจว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างจะเป็นไปตาม “road map” หรือแผนการเมืองที่ได้วางไว้

สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ความไม่แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image