ไทยพบพม่า : ปัญหาว่าด้วยอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมโรฮีนจาในทรรศนะของฌัค ไลเดอร์ โดยลลิตา หาญวงษ์

ปัญหาว่าด้วยอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมโรฮีนจา
ในทรรศนะของฌัก ไลเดอร์ (1)

ตั้งแต่มีวิกฤตโรฮีนจาตั้งแต่กลางปี 2012 (พ.ศ.2555) นักวิชาการด้านพม่าศึกษาและนักสิทธิมนุษยชนตบเท้ากันออกมาแสดงทรรศนะเกี่ยวกับโรฮีนจาที่หลากหลาย แต่โดยมากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแตะเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้งานศึกษาเกี่ยวกับโรฮีนจาในปัจจุบันให้น้ำหนักกับชาวโรฮีนจาในฐานะ “เหยื่อ” และ “ผู้ประสบภัย“ และ “คนไร้รัฐ” แต่มีนักวิชาการเพียงไม่กี่คนที่พยายามอธิบายที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธยะไข่-พม่ากับชาวโรฮีนจาในมิติทางประวัติศาสตร์ นอกจากนักประวัติศาสตร์จะมีจำนวนน้อยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐยะไข่ยิ่งมีน้อย

สุลต่านมาห์มูด ผู้นำชาวโรฮีนจาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

หลายปีมานี้ ฌัก ไลเดอร์ (Jacques Leider) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ยะไข่ชาวลักเซมเบิร์ก ทั้งให้สัมภาษณ์และเขียนบทความในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับชาวโรฮีนจาในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของรัฐยะไข่ ไลเดอร์อาจเป็นหนึ่งในนักวิชาการเพียงไม่กี่คนที่นำข้อถกเถียงว่าด้วยโรฮีนจาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์และตีความทางประวัติศาสตร์ โดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาวยะไข่พุทธ ชาวอังกฤษในยุคอาณานิคม และของชาวโรฮีนจาควบคู่กันไป

เมื่อไม่นานนี้ ไลเดอร์ตีพิมพ์บทความขนาดยาวในสารานุกรมประวัติศาสตร์เอเชียที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford Research Encyclopedia of Asian History) ในชื่อ “Rohingya: The History of a Muslim Identity in Myanmar” (โรฮีนจา: ประวัติศาสตร์ว่าด้วยอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมในเมียนมา) ซึ่งหากผู้อ่านสนใจ สามารถเข้าไปอ่านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้เขียนคิดว่าบทความของไลเดอร์มีความสมบูรณ์มากที่สุด และจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับโรฮีนจาและการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในพม่า

Advertisement

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ไลเดอร์ใช้เอกสารทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก และถกเถียงอยู่บนพื้นฐานของเอกสารเหล่านี้ ทัศนคติของเขาจึงไม่ได้กระเดียดไปในเชิงเห็นอกเห็นใจชาวโรฮีนจา ซึ่งทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิชาการสายพม่าศึกษามาโดยตลอด

ความโดดเด่นของบทความนี้ของไลเดอร์คือเขามองประเด็นโรฮีนจาว่าเป็นปัญหาของการแข่งขันกันสร้างวาทกรรม ทั้งจากรัฐพม่า ชาวพุทธในยะไข่ และชาวโรฮีนจาเอง เพื่อกีดกันชาวโรฮีนจาออกไป หรือเพื่ออ้างความเป็นประชากรสำหรับชาวโรฮีนจา วาทกรรมบางอย่างเป็นเพียงภาพมายา (imaginaire) ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เริ่มตั้งแต่คำว่า “โรฮีนจา” ที่เพิ่งจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในทศวรรษที่ 1950 โดยผู้นำมุสลิมและนักศึกษามุสลิมทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ คำว่า “โรฮีนจา” ถูกใช้ต่อๆ มา โดยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ตอนเหนือ และยังเป็นคำที่ชี้ให้เห็นการกดขี่ของชาวพุทธยะไข่และรัฐพม่าที่มีต่อชุมชนชาวมุสลิมกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีความรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2012 ด้วยเหตุนี้ รัฐพม่าจึงไม่เคยยอมรับว่าโรฮีนจาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง และยังมองว่าชาวโรฮีนจาเป็นภัยคุกคามทางการเมืองและทางประชากรศาสตร์ด้วย

แม้จะมีงานศึกษาที่เกี่ยวกับชาวโรฮีนจาหลายชิ้น แต่แทบไม่มีชิ้นไหนที่วิเคราะห์อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ-ศาสนาของชาวโรฮีนจาโดยไม่นำคำว่า “คนไร้รัฐ” ไปผูกไว้ ทำให้นักวิชาการเองละเลยข้อมูลบางชุดที่ไลเดอร์มองว่าสำคัญมากสำหรับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธในพม่าและชาวโรฮีนจา ไลเดอร์ย้ำเสมอว่าการสร้างอัตลักษณ์ของชาวโรฮีนจา ว่าพวกเขาเป็นชาว “โรฮีนจา” ไม่ใช่ชาวมุสลิมจากรัฐยะไข่นั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ จริงอยู่ว่าชาวมุสลิม “โรฮีนจา” ที่พูดภาษาใกล้เคียงกับชาวมุสลิมจากจิตตะกองในบังกลาเทศอพยพเข้ามาในรัฐยะไข่ตอนเหนือมานับร้อยปีแล้ว แต่ตลอดยุคอาณานิคม ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีองค์กรของชาวโรฮีนจาที่ทำงานด้านการเมือง ชาตินิยม และการฟื้นฟูอัตลักษณ์เชื้อชาติของตน อย่างที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวยะไข่พุทธ ชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ทั่วประเทศ

ไลเดอร์ประเมินว่าองค์กรชาตินิยมโรฮีนจากลุ่มแรกๆ น่าจะเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นบุกพม่า ทำให้ชาวอินเดีย (ทุกเชื้อชาติและศาสนา) จำนวนร่วม 400,000 คน ต้องอพยพหนีตายกลับไปอินเดีย ในช่วงนี้ อูลามา (ปราชญ์) ในรัฐยะไข่เหนือร่วมกันตั้งสมาคมอูลามาขึ้น และเริ่มมีข้อเรียกร้องเพื่อให้ชาวโรฮีนจามีอิสระปกครองตนเองมากขึ้น ในระหว่างสงคราม ญี่ปุ่นบุกขึ้นมาถึงรัฐยะไข่เพราะต้องการเข้าไปอินเดีย กองทัพ BIA ของนายพลออง ซาน และกองกำลังของชาวยะไข่พุทธนอกจากจะปะทะกับญี่ปุ่นแล้ว ยังไล่ที่ชาวมุสลิมในยะไข่ และสังหารชาวมุสลิมไปถึง 20,000 คน (ชาวกะเหรี่ยงก็พบกับโศกนาฏกรรมในลักษณะนี้)

อีกประเด็นหนึ่งที่ไลเดอร์กล่าวถึงคือในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพานี่เองที่รัฐยะไข่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน ในขณะที่ยะไข่ตอนล่าง อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวยะไข่พุทธ กลายเป็นฐานที่มั่นของกองทัพญี่ปุ่น ยะไข่เหนือ โดยเฉพาะในเมือง 3 เมือง ได้แก่ หม่องด่อ บูตีด่อง และระตีด่อง ซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด เป็นที่มั่นของกองทัพฝั่งอังกฤษ และผู้นำฝั่งโรฮีนจาเองก็ประกาศเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลอาณานิคมไปพร้อมๆ กับการประกาศว่าตนเป็นประชากรที่อาศัยในรัฐยะไข่ตอนเหนือมาหลายร้อยปีแล้ว การอ้างที่มาของชาวโรฮีนจานี้มีจุดประสงค์เพื่อการแยกตัวออกจากพม่าหลังพม่าได้รับเอกราช แต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ดี บาดแผลระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธในรัฐยะไข่เปิดขึ้นแล้ว และนับแต่นี้ ความขัดแย้งระหว่างคนทั้ง 2 กลุ่มในรัฐอาระกันก็จะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เพียงแต่จะปะทุเป็นระลอกๆ

หลังพม่าได้รับเอกราช และเขตแดนระหว่างบังกลาเทศ (ในขณะนั้นคือปากีสถานตะวันออก) กับพม่าชัดเจนขึ้น ผู้นำโรฮีนจาในยะไข่เหนือพยายามล็อบบี้นักชาตินิยมปากีสถานให้รวม 3 เมืองในรัฐยะไข่เหนือเป็นส่วนหนึ่งของบังกลาเทศ แต่ข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้รับการสนองตอบโดยมูฮัมหมัด อาลี จินนา (นักชาตินิยมและบิดาผู้สถาปนาปากีสถาน) หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ฝั่งอังกฤษ และรัฐบาลพม่า เพื่อให้ตั้งเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมในยะไข่เหนือและนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ ข้อเรียกร้องนี้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องเอกราชของชาวโรฮีนจาตลอดทศวรรษ 1950 เกิดกองทัพมูจาฮิดีนเพื่อเอกราชของโรฮีนจาขึ้น และนักการเมืองมุสลิมจากยะไข่เองก็มีบทบาทในรัฐบาลกลางของพม่า สุลต่าน มาห์มูด คหบดีจากยะไข่เหนือและผู้นำองค์กร ANUO (Arakan National Union Organization) หรือองค์กรเพื่อความสามัคคีแห่งชาติอาระกัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขในยุคนายกรัฐมนตรีอู นุ

ในทศวรรษ 1950 ชาวโรฮีนจาร่วมกันเรียกร้องอิสรภาพเพื่อปกครองตนเอง และรัฐบาลกลางของอู นุ ก็ใจอ่อน และมีทีท่าประนีประนอมกับผู้นำโรฮีนจา แต่เมื่อลมเปลี่ยนทิศ และมีรัฐประหารขึ้นในปี 1962 (พ.ศ.2505) พร้อมกับการเข้ามาของกองทัพภายใต้การนำของนายพลเน วิน ประเด็นเรื่องโรฮีนจาก็เงียบไป เพราะกองทัพมี นโยบายรักษาความเป็นปึกแผ่นของสหภาพพม่าไว้ และนับจากนี้ ชาวโรฮีนจาจะประสบชะตากรรมไม่ต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในพม่า

แต่ที่ทำให้กรณีของชาวโรฮีนจาพิเศษมากกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ คือพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่า ประเด็นที่นักชาตินิยมโรฮีนจาและรัฐบาลทหารพม่านำมาต่อสู้กันโดยตลอดคือประวัติศาสตร์และที่มาของชาวโรฮีนจา ซึ่งจะเป็นสารัตถะสำคัญของบทความในสัปดาห์หน้า

ลลิตา หาญวางษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image