สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ต้องทรงจัดการดูแลปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมกำลังคนไว้ในการผลิตและทำการสงคราม ด้วยเหตุนี้จึงทรงแต่งตั้งข้าราชการออกไปรักษาตามหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ กรุงเก่า ลพบุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี สมุทรสงคราม เพชรบูรณ์ เมื่อพ้นจากศึกพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน จำเป็นต้องปราบปรามกลุ่มการเมืองอื่นๆ ให้ราบคาบ เพื่อความเป็นเอกภาพทางการเมืองภายใน มิฉะนั้นจะไม่สามารถผนึกกำลังในการต่อสู้กับพม่าซึ่งเป็นข้าศึกได้

ปี พ.ศ.2311 จึงเริ่มมีแผนปราบปรามกลุ่มการเมืองต่างๆ ด้วยการยกกองทัพเรือจากธนบุรี เพื่อปราบปรามพิษณุโลกแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ได้รับการต่อต้าน ต่อมาพระยาพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยและเมืองพิษณุโลกอ่อนแอจากการปกครองของ พระอินทร์ยากรน้องชายของพระยาพิษณุโลก ด้วยเหตุนี้พระเจ้าฝางเห็นเป็นโอกาสก็ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกเอาไว้ได้ในที่สุด ต่อมากกองทัพธนบุรีตีเมืองนครราชสีมาได้ ทำให้อาณาเขตด้านตะวันออกขยายออกไปเท่ากับสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ.2312 พระองค์โปรดยกทัพลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช สามารถตีชนะได้ มีผลทำให้อำนาจของกรุงธนบุรีขยายไปถึงสงขลา พัทลุง และเทพาด้วย ใน พ.ศ.2313 พระองค์ก็สามารถปราบปรามเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ยึดเมืองพิษณุโลกได้ด้วย ทำให้อาณาเขตของกรุงธนบุรีขยายกว้างขึ้น (เหมือนยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี)

ภายหลังการปราบปรามกลุ่มการเมือง 4 กลุ่ม ราบคาบแล้วก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ว่าอำนาจทางการเมืองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เริ่มมีความมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพทางการเมืองภายใน ในยุคที่มีกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง ในระยะเริ่มแรกได้ดีพอสมควร

ปัญหาและสภาวะเศรษฐกิจกับการแก้ไข : ตลอดระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ.2310-2325) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ลุล่วงไปด้วยยุทธวิธีต่างๆ ที่ทรงเลือกอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

Advertisement

1.สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ : มี 4 ประการ คือ

1.1) ผลของการที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ทางด้านเหนือและด้านใต้ และตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานก่อนจะตีกรุงศรีอยุธยา และทำให้เสบียงอาหารและผู้คนถูกพม่ากวาดต้อนผู้คนไปหมด แรงงานที่จะใช้ในการผลิตก็ลดน้อยลง เพราะมีเหลือจากพม่ากวาดต้อนไป จะอพยพเข้ามาเตรียมการต่อสู้ป้องกันพระนครภายในกำแพงเมือง แรงงานที่จะผลิตข้าวก็จะมีไม่มากเท่าที่ควร เสบียงอาหารที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงไปในที่สุด สภาพความอดอยากและหิวโหยก็ยังเกิดขึ้น

1.2) การทำสงครามปราบชุมนุมต่างๆ ทางฝ่ายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และฝ่ายใต้ ย่อมต้องอาศัยแรงงานไปในการตระเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการสู้รบ เช่น การต่อเรือรบ การระดมพลฝึกปรือการรบ เป็นต้น มีผลกระทบต่อแรงงานใช้ในการผลิตอยู่บ้าง เพราะทำให้ผลิตได้น้อยลง นอกจากการปราบปรามชุมนุมต่างๆ แล้ว ยังต้องทำสงครามกับพม่า เขมร เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ และเชียงใหม่ สงครามเหล่านี้เกิดขึ้นทุกปีตลอด 15 ปี จึงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง

1.3) ในระยะแรกของการสร้างเมืองหลวงใหม่ การก่อสร้างพระราชวังก็ดี การสถาปนาเจ้านายก็ดี การปูนบำเหน็จให้กับแม่ทัพนายกอง ขุนนางใหญ่น้อยต่างๆ ก็ดี เป็นการเพิ่มพูนรายจ่ายให้สูงขึ้นทั้งสิ้น

1.4) ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงเริ่มฟื้นฟูทำบุบำรุงพระศาสนา ตลอดจนได้ชำระสมณสงฆ์ให้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย ทั้งนี้เนื่องจากได้ทรุดโทรมลงมากในยุคบ้านเมืองเกิดจลาจล จึงจำเป็นต้องใช้พระราชทรัพย์เป็นอันมาก

ปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คลี่คลายลงได้

2.นโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัจจัยที่เสริมให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ : มี 9 ประการ คือ

2.1) ทรงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับการอดอยาก และขาดแคลนด้วยการพระราชทานข้าวสารให้แก่บรรดาข้าราชการ ทหาร พลเรือนทั้งไทยและจีน คนละ 1 ถัง ต่อ 20 วัน นอกจากนี้ ก็ทรงแจกจ่ายอาหารเลี้ยงดูแก่พลเรือนที่อดโซด้วย

2.2) ในระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์เป็นภาวะที่เพิ่งพ้นการอลเวงวุ่นวายจากศึกสงครามจึงยังไม่มีผู้คนจะทำไร่นา เพื่อเพิ่มผลผลิตให้พอเลี้ยงดูผู้คน พระองค์ทรงแก้ปัญหาขาดแคลนเฉพาะหน้าด้วย…การซื้อข้าวสารจากพ่อค้าสำเภาจีนในราคาที่แพง คือ ถังละ 2-4-5 บาท เพื่อแจกจ่ายคนไทยทั้งปวง เมื่อข่าวขายข้าวสารได้ราคาแพงในกรุงธนบุรีแพร่ออกไป บรรดาพ่อค้าจีนบรรทุกข้าวจากที่อื่นมาขายมากขึ้น ทำให้ราคาข้าวสารถูกลงเป็นประโยชน์ต่อราษฎรไทย

2.3) โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่และผู้น้อยทำนาปีละ 2 ครั้ง ใน พ.ศ.2311 เป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลน เพราะข้าวสารราคาสูงถึงเกวียนละ 2 ชั่ง ราษฎรจึงได้รับความเดือดร้อนกันมาก

2.4) ใน พ.ศ.2311 นั่นเอง ปรากฏว่าข้าวในยุ้งฉางและทรัพย์สินต่างๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก เพราะมีกองทัพหนูพากัดกินเป็นจำนวนมาก พระองค์รับสั่งให้ข้าราชการและพลเรือนทั้งหลายจับหนูส่งกรมพระนครบาลทุกวัน ปัญหาหนูจึงสงบหายไป

2.5) ทรงใช้การส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้กับท้องพระคลัง และพ่อค้าที่มีบทบาทสำคัญในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจีน

2.6) พฤติกรรมชั่วร้ายของคนจีนในอาณาจักรบางครั้งก็เกิดผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้อย่างไม่ตั้งใจ เหตุที่คนไทยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก การก่อสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูปก็มักบรรจุแก้วแหวนเงินทองเอาไว้ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อบ้านเมืองเกิดจลาจลวุ่นวาย พวกคนจีนที่รู้ช่องทางก็พากันทำลายพระพุทธรูป ทำลายเจดีย์ ขนเงินทองบรรจุเรือสำเภากลับไปเมืองจีนก็มาก ที่เอามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในท้องตลาดก็มาก ทำให้เงินทองเกิดในท้องตลาด

2.7) การหารายได้จากภาษี อากร ส่วย และเครื่องบรรณาการต่างๆ การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสามารถปราบปรามหัวเมืองฝ่ายเหนือ หัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองฝ่ายตะวันออกได้ทั้งหมด ทำให้ฐานอำนาจทางการเมืองมั่นคง ด้วยเหตุนี้การเกิดภาษีอากร ส่วยและเครื่องบรรณาการจากหัวเมืองต่างๆ ที่ยอมอ่อนน้อมก็สามารถกระทำได้พอสมควร ถึงแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาของการทำสงครามสู้รบกันอยู่ แต่เมื่อดินแดนมิได้ถูกยึดครองโดยข้าศึกศัตรูแล้ว บรรดาราษฎรก็พอมีเวลาเพาะปลูกพืชพันธุ์ไร่นา และมีเวลาประกอบอาชีพต่างๆ ส่วนตัวได้บ้าง และก็คงสามารถจ่ายผลิตผลส่วนเกินเป็นภาษีหรือส่วยให้กับท้องพระคลังได้

2.8) เพิ่มพูนรายได้แผ่นดินด้วยการเปิดโอกาสให้มีการประมูลผูกขาดเก็บค่าภาคกลางขุดทรัพย์ที่มีคนมาฝังใช้ในกรุงศรีอยุธยาทั้งนี้เพราะในยามบ้านเมืองจลาจล ผู้คนจะต้องเอาทรัพย์สินฝังดินไว้ไม่ใช่น้อย ที่ยังไม่ตายหรือจำได้ก็มาขุดเอาไป ถ้าตายไปแล้วหรือจำไม่ได้ ทรัพย์สินเหล่านั้นก็ไม่ได้สูญหายไปไหน 2.9) ทรงเอาผิดและลงโทษผู้ที่ปล่อยทำลายเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเฉียบขาดอย่างเช่นกรณี ขุนอินทรไกรลาศ และนายน้อยชินะได้คบคิดรักลอบนำเงินตราพดด้วง จึงให้ประหารชีวิตทันที

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็มิได้หมายความว่า เศรษฐกิจในยุคนี้มีความเจริญเติบโตอย่างแท้จริง เนื่องด้วยมีสงครามไม่หยุดเลย และในเวลานี้ก็ยังหาสงบไม่ ปัญหาเรื่องความอดอยากนี้นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมากสำหรับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

3.การสร้างเสถียรภาพทางสังคม : เป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ความเสื่อมโทรมของกรุงศรีอยุธยานั้นมีทั้งทางด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนาอำนาจทางการเมืองของไทยขึ้นใหม่ที่ธนบุรีแล้ว โดยทรงดำเนินนโยบายฟื้นฟูสังคมขึ้นมาใหม่ ดังนี้

3.1) การฟื้นฟูพระศาสนา : การจรรโลงพระพุทธศาสนาจึงเป็นนโยบายอย่างหนึ่งในการปฏิรูปสังคมของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ได้ทรงแต่งตั้ง “สมเด็จพระสังฆราช” ให้เป็นประธานดูแลคณะสงฆ์และปกครองให้พระสงฆ์อยู่ในวินัยพุทธบัญญัติ ภายหลังได้ชำระสะสางคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว กรณีพระสงฆ์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ชุมชนเจ้าพระฝาง) ชอบถือปืน ฆ่าคน ปล้นทรัพย์ กินสุรา) ทรงผนวกมาให้เย็บวีจรให้ได้ 1,000 ไตร บวชพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ แล้วอาราธนาพระสงฆ์พระราชาคณะและพระอันดับ 50 รูป ณ กรุงธนบุรี ไปบวชพระสงฆ์ไว้ทุกหัวเมือง และที่สำคัญโปรดให้มีการคัดลอกพระไตรปิฎก ซึ่งทรงนำมาจากวัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช และจัดทำเป็นฉบับหลวงเก็บไว้ที่กรุงธนบุรี และทำพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม

3.2) กฎหมายและการศาล : เนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่เข้าใจว่าการใช้กฎหมายและตุลาการคงจะอนุโลมตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา

3.3) สภาพความเป็นอยู่ของไพร่ : สังคมไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมควรที่กล่าวถึงสภาวะความเป็นอยู่ของไพร่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนอกเหนือไปจากเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและเป็นส่วนน้อย “บ่าวไพร่” ซึ่งเป็นชนชั้นที่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำสงครามในสมัยกรุงธนบุรีจึงมีการควบคุมอย่างรัดกุมเพื่อป้องกันการหลบหนี ผู้ใดเกียจคร้านไม่ยอมไปเป็นทหารก็มีโทษถึงประหารชีวิตเช่นเดียวกัน หรือแม้ผู้ที่ทำเหล็กปลอมขึ้นมาสักเลขเพื่อผลประโยชน์ของตนเองว่ามีโทษถึงประหารชีวิต

4.การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม : การสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา เท่ากับเป็นการสร้างชุมชนใหม่ของไทย การสูญเสียอิสรภาพของไทยให้กองทัพพม่าที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาแตกยับเยิน พ.ศ.2310 นั้น ก็หมายถึงการสูญสลายของศิลปวัฒนธรรมไทยในบางส่วน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงจำเป็นต้องฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยที่เสื่อมโทรมลงไปขึ้นมาใหม่ แต่ก็คงจะทำนุบำรุงได้ไม่เต็มที่ เพราะบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะสงครามดังได้กล่าวไว้ข้างต้น

5.ด้านสถาปัตยกรรม : การก่อสร้างได้ยึดเอาแบบกรุงศรีอยุธยาเป็นหลักที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างพระราชวังกรุงธนบุรี วังเจ้านาย ตลอดจนการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เช่น วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร) วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) ด้านประติมากรรม ด้านดุริยางค์และนาฏศิลป์ ศิลปกรรมอื่นๆ : ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้จากสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น การปั้นพระพุทธรูป การเล่นทบดอกสร้อยสักวาและการเล่นมโหรีพิณพาทย์ การเล่นละคร โขน ตลอดจนการงานช่างต่างๆ การสืบทอดงานด้านศิลปวัฒนธรรมจากสมัยอยุธยา ทำให้อาณาจักรไทยสมัยกรุงธนบุรีเกิดการพัฒนาเกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย

6.การจัดการปกครองอาณาจักร : ในสมัยธนบุรียังคงยึดแบบอย่างการปกครองของสมัยอยุธยาเป็นหลัก

7.ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ : กับเพื่อนบ้าน ได้แก่ จีน พม่า อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง มลายู กับประเทศตะวันตก มีชาวอังกฤษที่ปีนัง ชื่อร้อยเอกพรานซิสไลท์ หรือไทยเรียกว่า “กัปตันเหล็ก” ค้าขายเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธใช้ต่อสู้กับพม่า

การสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตามสินมหาราช ได้เกิดกบฏขึ้นที่กรุงเก่า พวกกบฏทำการปล้นจวนพระยาอินทรอภัยผู้รักษากรุงเก่าจนต้องหลบหนีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้พระยาสวรรค์ไปสืบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่พระยาสวรรค์กลับไปเข้าด้วยกับพวกกบฏและคุมกำลังมาตีกรุงธนบุรี จับตัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคุมขังเอาไว้

การจลาจลในกรุงธนบุรี ทำให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต้องรีบยกทัพกลับจากเขมรเพื่อเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ในกรุงธนบุรีและจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษรวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความดีที่ผู้ฟ้องกล่าวโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในฐานะที่ทรงเป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยากในกรุงธนบุรี และมีความเห็นให้สำเร็จโทษเพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีกต่อไป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2325 พระชนมายุได้ 48 ปี เมื่อปราบยุคเข็ญแล้วข้าราชการทั้งปวงก็อัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นปกครองประเทศ จึงทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 เป็นต้นมา

บทสรุป : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ.2310-2325) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและพสกนิกรชาวไทยเป็นอันมาก

พระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษทรงกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชนชาติไทยให้พ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระองค์ทรงมีพระวิจารณญาณที่ชาญฉลาดในการย้ายเมืองราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่ธนบุรีซึ่งเหมาะสมกับสภาพการณ์อย่างยิ่ง

ตลอดพระชนม์ชีพได้ทรงสร้างราชอาณาจักรไทยให้เจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การทหาร จนสังคมไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ทรุดโทรมมาจากการสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310

ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่ประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจกันถวายพระนามพระองค์ว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์เป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ไพศาลของพระองค์ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image