“ลุ ล่วง ลวง หลวง” เมื่อครั้งยังไม่บรรลุ

“ลุ” คำไทย ที่อาจหมายรวมถึงพวกไท-ไต ให้คำจำกัดความง่ายๆ ว่า ถึงแล้ว สำเร็จเสร็จสิ้น เป็นคำที่พูดเมื่อไรก็กินขอบเขตถึงวิถีแห่งการเดินทาง โดยไม่ต้องการคำแจกแจงว่า จากจุดเริ่มต้นดั้นด้นผ่านรายทาง จนประสบผลสิ้นสุดที่ตรงปลาย เน้นย้ำที่จุดสิ้นสุดเป็นสำคัญกว่าส่วนอื่น

คำนี้เมื่อเอาไปผสมร่วมประกอบกับ “บรร-” เป็น “บรรลุ” ก็กลายเป็นคำยืมจากภาษาเขมร และแปลแบบเดียวกันว่า ทำสำเร็จ ถึงปลายทาง ซึ่งเห็นว่าควรแยกแยะกันให้ชัดเจนว่า ตรงไหนที่หยิบยืม และตรงไหนที่เป็นของเก่าเดิม ไม่ใช่หมายรวมในภายหลังว่าเป็นคำยืมทั้งคำ

คำว่า “ลุ” ตรงกับคำเก่าแก่ในภาษาอินโดนีเซียว่า “lu อ่านว่า ลุ ลู หรือ ลู่” ซึ่งมีความหมายเชิงนามธรรมว่า คือบางสิ่งคล้ายเส้นทาง มีความยาว เริ่มที่จุดตั้งต้น เดินทางผ่านไป จนถึงจุดสิ้นสุด
เป็นคำที่ใช้ประกอบคำอื่นหลายคำ เช่น “bulu อ่านว่า บูลู” แปลว่า เส้นขน หรือ “dulu อ่านว่า ดูลุ” แปลว่า เก่าก่อน แรกเริ่ม เคยครั้งหนึ่ง หรือ “dahulu อ่านว่า ดาฮูลุ” แปลว่า เมื่อก่อน ก่อนหน้า หรือ “hulu อ่านว่า ฮูลู” แปลว่า ส่วนหัว หรือ “lusa อ่านว่า ลูซา” แปลว่า วันมะรืน หรือ “lalu อ่านว่า ลาลู่” แปลว่า ที่ผ่านมาแล้ว หรือ “lubang อ่านว่า ลูบัง” แปลว่า รู หรือ “ludah อ่านว่า ลูด่ะฮ์” แปลว่า น้ำลายที่ไหลออกจากปาก หรือ “malu อ่านว่า มาลู่” แปลว่า เงียบๆ หรือ “perlu อ่านว่า เปอร์ลู่” แปลว่า อาการอยาก หรือ “talu อ่านว่า ตาลุ” แปลว่า ยาวไป อย่าให้ขาดตอน เป็นต้น

หรือแม้แต่คำที่ใช้นับตัวเลขพื้นฐานในตระกูลออสโตรนีเซียน ก็ยังใช้ “lu” ในการสร้างคำถึงสามคำ ได้แก่ “telu อ่านว่า เตอลุ” แปลว่า เลขสาม

Advertisement

“walu อ่านว่า วาลุ” แปลว่า เลขแปด และ “sepuluh อ่านว่า เซอปุลุฮ์” แปลว่า เลขสิบ

โดยที่เลขสาม “telu” แปลว่า การผ่านจากเลขหนึ่งจุดเริ่มต้นหรือพ่อ ไปยังเลขสองจุดสิ้นสุดหรือแม่ ล้นออกมาเป็นลูก เลขแปด “walu” แปลว่า การผ่านจากเลขหกจุดเริ่มต้นของสายน้ำ ไหลตั้งทิศทางออกไปยังเลขเจ็ด แล้วแผ่กระจายตัวออก และเลขสิบ “sepuluh” แปลว่า การรวมเข้าของสายน้ำย่อยๆ จนกลายเป็นท้องทะเลกว้าง

ส่วนตัวของผู้เขียน ให้คำ “lu” และ “ลุ” นี้เป็น living fossil ร่วมรากคำหนึ่ง ที่แสดงบรรยากาศเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรมจับต้องเป็นเนื้อเป็นหนังได้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาอย่างมีนัยยะ

Advertisement

ในทางธรณีวิทยา living fossil หมายถึง สิ่งมีชีวิตโบราณเก่าแก่ ที่ยังสามารถรักษาโครงสร้างรูปร่างแบบเดิมๆ และอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น แมงดาทะเล เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เจ้าสัตว์ชนิดนี้แทบไม่มีความแตกต่างจากบรรพชน ที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนหน้า

เมื่อ “lu” และ “ลุ” ดำเนินไปภายใต้เส้นทางและบรรยากาศเชิงนามธรรม จากจุดหนึ่งถึงยังอีกจุด ก็หมายความว่ามีการซ้อนทับกับคำว่า “ล่วง” ซึ่งแปลว่า ผ่านจากจุดหนึ่งเข้าไปยังขอบเขตพื้นที่ของอีกจุด เช่น ล่วงล้ำ ล่วงนานหลายปี ล่วงหน้า ล่วงเกิน เป็นต้น แต่ยังไปไม่ถึงในอีกฝั่ง เหมือนคนลอยคออยู่กลางทะเล ซึ่งการเหลื่อมซ้อนความหมายค่อนข้างมากเช่นนี้ อาจตีความได้ว่า “ล่วง” นั้นอาจจะเกิดพร้อมๆ กับคำว่า “ลุ” เลยทีเดียว “ลุ” ที่เป็นต้นทางของคำว่า “ลู่” ทางในภายหลัง

ด้วยความรู้สึกของการแหวกว่ายอย่างโดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลางเวิ้งน้ำอันกว้างใหญ่ นำไปสู่ความหมายใกล้เคียงในคำร่วมสมัยอีกคำว่า “ลวง” ที่ปัจจุบันถูกแปลใช้ในทางร้ายมีเล่ห์เหลี่ยม เช่น ล่อลวง หลอกลวง ลวงข้าศึก เป็นต้น หากความหมายเชิงนามธรรมออกได้ว่า สิ่งว่างเปล่า ไม่มีอะไรอยู่ข้างใน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของคำว่า”ล่วง” อย่างแยกไม่ออก และยังเป็นคำที่เข้าใจว่า ขยับขยายต่อเนื่องลงมาเป็นคำใหม่ๆ ว่า “โล่ง” และ “กลวง”

ที่สำคัญนอกจากนั้น ยังอาจกินข้าวก้นบาตรมาด้วยกันกับคำว่า “หลวง” ซึ่งแปลทั่วไปว่า ของส่วนรวม ของสาธารณะ และสิ่งกว้างขวางใหญ่โต เช่นแผ่นดินแผ่นน้ำและผืนฟ้า เป็นคำกลางดั้งเดิมของพวกไท-ไต เกือบทั้งเครือมานมนาน เช่น พวก Saek, Lungchow, Cao Bang, Bao Yen, Sapa และไทยสยาม แปลในความหมายว่าใหญ่ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “big”
และให้ช่างบังเอิญหรือไม่ เพราะในคำอินโดนีเซียคำหนึ่งคือ “luang อ่านว่า ลุอัง” มีความหมายในทำนองว่า ว่างเปล่า โล่ง ไม่มีอะไร เป็นศูนย์ รวมถึงไม่มีการครอบครอง ซึ่งชัดเจนว่าตรงทั้งรูปคำและความหมายกับคำไทย ไท-ไต ว่า “ลวง” และ “หลวง” และยังเป็นคำในกลุ่มเดียวกับคำว่า “lu” เช่นเดียวกับ “ลุ” และเพื่อนพ้อง

คำว่า “luang” ถ้าเติมหน้าเป็น “terluang อ่านว่า เตอร์ลุอัง” ก็แปลใกล้เคียงว่า เปิดเผย เปิดโล่ง และยังว่างอยู่ หรือเติมเป็น “peluang อ่านว่า เปอลุอัง” จะแปลว่า โอกาสที่เปิดให้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น

จากความสัมพันธ์ทั้งหมดข้างต้น ส่งนัยยะให้ตีความได้ว่า คำ “ลุ” “ล่วง” “ลวง” “หลวง” ข้ามฝั่งไปจนถึง “lu” และ “luang” ไม่ใช่กลุ่มคำที่ต่างคนต่างพัฒนาขึ้นมาอย่างอิสระ หากควรมีรากเหง้าดั้งเดิมร่วมกัน ผู้พูดผู้ใช้คำเหล่านี้ต้องรู้และเข้าใจความหมาย ที่เป็นแก่นและกระพี้เป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในคำเก่าแก่ที่เคยมีการใช้ร่วมกันมา บนแผ่นดินผืนน้ำที่ไหนสักแห่งในครั้งดึกดำบรรพ์ มากกว่าการมองในมุมของการเคลื่อนย้ายถ่ายทอดหยิบยืมไปมา โดยที่หมู่ผู้พูดดั้งเดิมจำนวนมากไม่เคลื่อนตามไปด้วย แบบการยืมภาษาจากพระเวท หากต้องเป็นการปะทะสังสรรค์กันอย่างหนักหน่วง ผสมผสานเข้ากันจนเกือบเป็นเนื้อเดียว ในท่วงท่าการปรากฏของภาษามอญและเขมรในภาษาไทยลุ่มเจ้าพระยา

ก่อกำเนิดสายพันธุ์ภาษาใหม่หลังถึงฝั่งตั้งหลักตั้งตัวได้ ผ่านระยะทางและกาลเวลาอันยืดยาว จนเกือบตัดขาดจากภาษาแม่โดยสิ้นเชิง หลงเหลือเพียงเยื่อใยที่บางเบา พอให้เชื่อมจากจุดกำเนิดตั้งต้น ผ่านเส้นทางคลื่นลมแปรปรวนกลางทะเลเวิ้งว้างว่างเปล่า จนถึงจุดหมายปลายทาง เป็นอันถือว่าเสร็จสิ้น “บรรลุ” ธรรม

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image