ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อสายโลหิตไหลกลับมาเยือน…แม่กลอง (3) โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ในระหว่าง 10-12 พฤษภาคม 2561 คณะทายาทของแฝดอิน-จัน จำนวน 14 คนจากอเมริกามาเยือนแม่กลอง บ้านเกิดของบรรพบุรุษอย่างเป็นทางการ มีกำหนดการพบปะ พูดคุย สัมผัส ย้อนอดีต “ความเป็นไทย” ในเมืองแม่กลองแบบ “จัดเต็ม”

วันที่ 11 พฤษภาคม คือ วันคล้ายวันเกิดของปู่ทวดอิน-จัน ครบรอบ 207 ปี มีพิธีทำบุญตักบาตรบริเวณอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน แล้วไปปลูกต้นไม้อิน-จัน ไปเปิดถนนแฝดอิน-จัน และพาทัวร์เมืองแม่กลองจนเหนื่อยล้าไปตามๆ กัน แต่ทุกนาที คือ การพาจิตวิญญาณของบรรดาทายาทย้อนอดีตไปราว 200 ปี

วันรุ่งขึ้น คือ 12 พฤษภาคม 2561 นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นำคณะทายาทไปที่วัดบางกุ้ง ต.บางกุ้ง อ.บางคนที ซึ่งเป็นที่ตั้ง “ค่ายบางกุ้ง”

ค่ายบางกุ้ง ตั้งอยู่ ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่

Advertisement

ประวัติของค่ายบางกุ้งโดยย่อครับ… ใน พ.ศ.2308 กองทัพพม่าของมังมหานรธา ยกทัพเรือเข้ามาตีค่ายทหารของไทยที่บางกุ้งแตกพ่าย แล้วจึงยกไปตีเมืองธนบุรี ตีเมืองนนทบุรีแตกอีก แล้วยกเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2310

ครั้นเจ้าตากกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ ในปลายปี พ.ศ.2310 พระเจ้าตากโปรดฯให้คนจีนจากระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวบรวมพลพรรคมาตั้งเป็นกองทหารรักษา ค่ายนี้จึงถูกเรียกว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง”

กองทัพพม่าย้อนกลับเข้ามาที่ค่ายบางกุ้งอีกครั้งในปลายปี พ.ศ.2310 พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้พระยามหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ 100 ลำพร้อมทหารมายังค่ายบางกุ้งเพื่อขับไล่พม่า การรบแบบนองเลือดครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน เป็นการรบประชิดแบบตัวต่อตัว ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น ออกพระมหามนตรีไล่ฟันแทงข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก พม่าที่เหลือก็พากันแตกหนี

เป็นตำนานการศึกสงครามอันดุเดือดของเมืองแม่กลองบ้านเกิดของแฝดสยาม ที่กำลังเลือนรางหายไปตามกาลเวลา

ขอย้อนกลับมาที่คณะของแฝดอิน-จัน ครับ

นายแซ็ค โวเร็ล แบล็คมอน โหลนของแฝดจัน กล่าวในระหว่างทัวร์แม่กลอง “ประทับใจอย่างที่สุดสำหรับการมาเยือนบ้านเกิดของบรรพบุรุษ ไม่นึกมาก่อนเลยว่าจะได้พบเห็นส่วนราชการและประชาชนสมุทรสงครามมาให้การต้อนรับแบบอบอุ่นเช่นนี้ ทุกสถานที่ที่ไปเยือนมีคนมารับพวกเราเยอะมาก”

นายแซ็คกล่าวต่อไปว่า ถ้าได้เจอทายาทของแฝดอิน-จัน ที่นี่ จะขอเข้าไปกอดแน่นๆ นานๆ ให้สมกับที่เราจากกันไปนานแสนนาน ลูกของผมที่เป็นฝาแฝด คงมีโอกาสมาประเทศไทย เพื่อเจอญาติที่หายไปนาน ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเมาท์แอรี่ (Mt.Airy) กับสมุทรสงครามเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อผมกลับไป จะนำสิ่งที่ได้พบเจอในเมืองไทยไปบอกเล่าว่า “สมุทรสงครามได้ทำอะไรให้บรรพบุรุษของเรา”

ผู้เขียน ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการและภาคเอกชน เคยคิดที่จะทำ “แผนการค้นหาทายาทแฝดอิน-จันที่แม่กลอง” ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องมี “เจ้าภาพ” และคณะทำงาน เพื่อจะค้นหา สืบค้น ด้วยหลักประวัติศาสตร์และแม้กระทั่งด้วยวิธีทางการแพทย์

นายอมรศักดิ์ ฉัตระทิน นายก อบต.แหลมใหญ่ เคยให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า มีคนแฝดในพื้นที่แหลมใหญ่ 10 คู่ ย้ายออกไปแล้ว 1 คู่ คงเหลือ 9 คู่ มีชื่อเสียงเรียงนามพร้อมข้อมูลอายุของแฝดทุกคู่เรียบร้อย ข้อมูลเชิงประจักษ์ตรงนี้พอจะนำทางไปสู่การค้นพบอะไรได้บ้างมั้ย ?

ขอรื้อฟื้นข้อมูล “ครอบครัว” ของแฝดแม่กลองผู้โด่งดังไปทั่วโลกให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมคิด ร่วมมือ ร่วมแรงครับ

แฝดอิน-จัน เกิดมามีลำตัวติดกันบริเวณหน้าอก อวัยวะทุกอย่างเป็นปกติ เฉลียวฉลาด ขยัน อดทน เก่งเรื่องค้าขาย มีพ่อชื่อนายตีอาย แม่ชื่อนางนาก เกิดที่บ้านเรือนแพแถว ต.แหลมใหญ่ ออกจากแม่กลองไปอเมริกาเมื่ออายุ 18 ปี (ตรงกับสมัยในหลวง ร.3) ตระเวนแสดงตัวหาเงินได้ก้อนใหญ่ แล้วโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน ปลูกบ้าน ซื้อที่ดินทำการเกษตรในเมืองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา อเมริกา

13 เมษายน พ.ศ.2386 อิน-จัน แต่งงานกับพี่น้อง 2 สาวอเมริกันนามสกุลเยทส์ (Yates) ที่ตกลงจะใช้ชีวิตคู่กัน 4 คน เข้าพิธีแต่งงานในเมืองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา เมื่อแฝดอิน-จัน อายุ 31 ปี ท่ามกลางเสียงนินทาว่าร้ายในความผิดปกติของร่างกาย

แฝดอินแต่งงานกับซาราห์ (แซลลี) มีลูกด้วยกัน 11 คน

แฝดจันแต่งกับอาดีเลด (แอ๊ดดี้) มีลูกด้วยกัน 10 คน

สิ่งที่ผู้คนทั้งหลายต้องการทราบ คือ ใครเป็นใครใน 21 คนนี้ที่ถือว่าเป็นทายาทรุ่น 1 หน้าตาเป็นอย่างไร มีใครเป็นแฝดตัวติดกันมั้ย ?

นายแซ็ค ทายาทรุ่นที่ 5 นำภาพเก่าในอดีตของบรรพบุรุษ “แบบครบเซต” มาแสดงให้ทุกคนได้ดู นี่เป็นภาพหายากที่ลูกหลานไปสืบค้น ระบุชื่อมาได้ 18 คนจาก 21 คน (ตามภาพ) ทำให้เราเห็น “ลูกครึ่งไทย-อเมริกันรุ่น 1” ปัจจุบันมีทายาทถึงรุ่นที่ 7

ส่วนผสมระหว่างเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ทั้ง 18 คน มีหน้าตาดังในภาพนะครับ ตามประวัติของตระกูลที่บันทึกกันไว้ ทุกคนมิได้มีอายุยืนยาว บ้างก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก บ้างก็อายุยืนยาว

ครอบครัวชาวอเมริกันก็คงเหมือนครอบครัวชาวไทยสมัยก่อน ที่มีลูกครอบครัวละ 10 คนขึ้นไป เอาไว้ช่วยกันทำมาหาเลี้ยงชีพ รอดมั่ง ตายมั่ง แล้วแต่บุญแต่กรรม

นายแซ็คเล่าต่อว่า ลูก หลาน เหลน ในยุคต่อมาเพิ่งจะตื่นตัว รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจาย เมื่อไล่เรียง ลูกเต้าเหล่าใครได้ ก็สามารถปะติดปะต่อ ลำดับญาติได้ปรากฏตามภาพ

นายแซ็คคนเดิมเล่าต่อว่า ผู้คนในอเมริกา และแม้กระทั่งทายาทด้วยกันเอง เมื่อเจอกันก็จะถามว่า “คุณเป็นญาติฝั่งไหน อินหรือจัน?”

ซึ่งเมื่อตอบไปแล้ว ก็มักจะโดนสวนกลับว่า “รู้ได้ยัง เกิดทันเหรอ?” เรื่องราวเหล่านี้ พวกทายาทของแฝดจะเคยชินต่อการหยอกเย้า ในเวลาเดียวกัน ก็จะมีบางคน เช่นคุณยายของผม จะไม่เคยเอ่ยปากเรื่องบรรพบุรุษแฝดอิน-จัน เลย เพราะเธอกระดากใจที่จะเล่า

ทายาทที่แวะมาพูดคุยคนหนึ่ง ซาบซึ้งใจในการต้อนรับ เธอมีน้ำตาคลอ พร้อมกับกล่าวว่า แฝดอิน-จัน เป็นคนที่ขยันทำมาหากิน ท่านเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยมากตอนตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ท่านเป็นคนมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว แม้เป็นคนต่างถิ่น แต่เมื่อโอนสัญชาติเป็นคนอเมริกันแล้ว ท่านก็ดำเนินชีวิตตามแนวทางที่เรียกว่า American Dream

ส่วน คุณอเล็กซ์ ซิงค์ (Adelaide Alex Sink) สุภาพสตรีจากรัฐฟลอริดา คุยอย่างสนุกสนานว่า ในบรรดาทายาททั้งหลาย เราไม่ได้คุยกันเรื่องการใช้ชีวิตสมรสระหว่างคนทั้ง 4 ว่าอยู่กันอย่างไร ทำไมถึงมีลูกเยอะแยะถึง 21 คน แต่ก็เชื่อว่า ท่านคงมีวิธีการที่เหมาะสม หลาน เหลน โหลน ก็ใช่ว่าจะรู้เรื่องของแฝดอิน-จันกันทั้งหมด เมื่อเจอกันก็คุยกันเสมอ เธอกล่าวอย่างอารมณ์ดี

คุณอเล็กซ์ ซิงค์ หลานของแฝดจัน สุภาพสตรีคนนี้เดินทางมากับคณะ ในอดีตเธอประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูง เธอเคยเป็นประธานธนาคารอเมริกา ในรัฐฟลอริดา เธอเคยได้รับการโหวตจากนิตยสารฟอร์จูน ให้เป็น 1 ใน 10 นายธนาคารหญิงผู้โดดเด่นในปี พ.ศ.2525 และเธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ตลอดการเยือน เธอสดชื่น ตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศในประเทศไทย และเปิดเผยเล่าข้อมูลของบรรพบุรุษแบบตรงไปตรงมา

ในบรรดาญาติของตระกูลบังเกอร์นี้ มีสุภาพบุรุษคนหนึ่งเป็นประธาน Union Pacific Railroad ในอเมริกา และเมื่อสืบค้นกันอย่างถี่ถ้วน พบว่ามีแฝดเกิดขึ้นในตระกูลบังเกอร์ ใน 7 ชั่วอายุคนเพียง 11 คู่

ผู้เขียนค้นภาพล่าสุดของเด็กแฝด 2 คน เป็นทายาทรุ่นที่ 7 เป็นแฝดคู่ที่ 10 ในตระกูลบังเกอร์ (ตามภาพจาก National Geographic)

ทายาทคนหนึ่งที่สืบสายโลหิตมาจากแฝดจัน รับราชการทหารมีชื่อเสียงในอเมริกา คือ พล.อ.ต.คาเลบ แวนซ์ เฮนส์ (Caleb Vance Hanes) หลานตาของแฝดจัน เป็นอดีตผู้บังคับการฝูงบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐในประเทศจีนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับเหรียญกล้าหาญซิลเวอร์สตาร์

“งานเลี้ยง ‘รวมญาติบังเกอร์’ เคยจัดมาแล้ว 28 ปี ต่อเนื่อง ณ เมืองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ครั้งต่อไปในปี พ.ศ.2561 จะเป็นครั้งที่ 29 ซึ่งทุกปีจะจัดในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม เชื่อว่างานในปีนี้เราคงมีข้อมูลจากการเดินทางมาเมืองไทยกลับไปเล่าสู่กันฟังได้มหาศาล” นายแซ็คเล่าด้วยความปลื้มปีติ

เท่าที่ได้พูดคุยกับบรรดาทายาททั้งหลายที่มาแม่กลอง ทุกคนต่างปลาบปลื้มใจ ยกย่องบรรพบุรุษอิน-จัน ที่เป็นคนทรหด สู้ชีวิตแม้จะมีอุปสรรคทางกายภาพ ท่านวางรากฐานการศึกษาให้ลูกหลาน รักครอบครัว สร้างครอบครัวให้อบอุ่นจนมีหน้ามีตามาถึงปัจจุบัน

ในชุมชนเมาท์แอรี่ ตระกูลบังเกอร์ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้บุกเบิกดินแดนแห่งนี้มาก่อนใคร ในปี พ.ศ.2483 สมาคมประวัติศาสตร์แห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนาลงมติให้ติดป้ายบนถนน US 601 ห่างจากหลุมฝังศพตระกูลบังเกอร์ 100 หลา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลสำคัญของรัฐ (ตามภาพ)

ชีวิตจริงของ “แฝดสยาม” ในอเมริกา ตั้งแต่อายุ 18 ถึง 63 ปีก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เป็นการต่อสู้ชีวิตแบบปากกัด-ตีนถีบ โดยเริ่มประสบความยากลำบากตอนที่ตัดสินใจ “เลิกการเร่ร่อนแสดงตัว” เพื่อหาเงิน และตัดสินใจปักหลักใช้ชีวิตในอเมริกาที่ “เริ่มต้นจากศูนย์”

ชีวิตของแฝดสยาม ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการเดินทางท่องโลกแบบเหลือเชื่อ แฝดอิน-จัน เคยเข้าไปแสดงตัวหาเงินไกลถึงในคิวบา

อิน-จัน เคยไปใช้ชีวิตในอังกฤษถึง 15 เดือน ตระเวนแสดงตัวตั้งแต่สกอตแลนด์ เวลส์ ไล่ลงมาถึงทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ เคยเดินทางเข้าไปในฝรั่งเศส เลยเข้าไปในเยอรมนี และรัสเซีย

ความยิ่งใหญ่ของแฝดคู่นี้ คือ ทำให้เกิดคำศัพท์ทางการแพทย์ว่า “Siamese Twins” ซึ่งต่อมาคำนี้ถูกนำไปเรียก อธิบาย หรือ บ่งบอก สิ่งของใดๆ ที่ “คู่กันและแยกจากกันไม่ได้” สุภาพบุรุษ 2 ท่านนี้ ทำให้ชื่อของ Siam หรือประเทศสยามเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเกือบ 200 ปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน

“แม้กระทั่งพวกเรากันเองพี่น้องในตระกูลบังเกอร์ ทราบดีว่าเราสืบสายโลหิตมาจากแฝดอิน-จัน แต่ก็ไม่ค่อยมีคนทราบว่าบรรพบุรุษของเรานั้น มีลำตัวติดกันมาตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 63 ปี แต่สำหรับพวกเราแล้ว นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะท่านมีคุณค่าต่อพวกเรา”

แซ็ค แบล็คมอน บุคคลผู้รวบรวมเครือญาติในอเมริกาเดินทางมาแม่กลอง เป็นทายาทรุ่นโหลนของแฝดอิน คุยสนุก อารมณ์ดีมิรู้หน่าย มีลูกสาวเป็นแฝด และในหมู่เครือญาติก็มีแฝดอีกหลายคู่ แต่ไม่มีคู่ใดลำตัวติดกัน (Cojoined Twins) มีคู่แฝดเพียง 2-3 คู่เท่านั้นที่มาร่วมงานเลี้ยงรวมญาติเมื่อปี พ.ศ.2559

“ท่านคงใช้ชีวิตแบบคนตัวติดกันด้วยความยากลำบาก แต่ก็สร้างครอบครัวขึ้นมาได้ พวกเราระลึกถึงท่าน จึงมาร่วมงานฉลองกันในวันนี้ …ถ้าพวกเราเกิดมาตัวติดกันในสมัยนี้คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักที่จะจัดการด้วยวิทยาการทางการแพทย์” อิน บังเกอร์ ที่ 2 โหลนของแฝดอิน กล่าวในงานเลี้ยง

ชีวิตในช่วงอายุ 60 ของแฝดนักสู้ค่อนข้างไม่ราบรื่น ด้วยปัญหาสุขภาพ ทั้งคู่เริ่มคิดที่จะหาทางผ่าตัดแยกร่างออกจากกันด้วยเหตุผลทางครอบครัวที่แสนจะน่ารักน่าชัง กล่าวคือ หลังจากแต่งงานมีลูกแล้ว มีความอึดอัด คับแคบในบ้าน จึงตกลงขอแยกบ้านและจะใช้ “กติกา 3 วัน” เช่น จันทร์-อังคาร-พุธ จะอยู่บ้านแฝดอิน ร่างของแฝดจันที่ติดอยู่ด้วยกันจะต้องตามใจแฝดอินทุกอย่าง แฝดจันต้องทำตนเหมือนไม่มีตัวตน

และในช่วงพฤหัสบดี-ศุกร์-เสาร์ จะต้องไปอยู่ที่บ้านแฝดจัน แฝดอินก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน ทุกอย่างราบรื่น

การใช้ชีวิตแบบ “3 วันอยู่ 3 วันแกล้งตาย” ของแฝดทั้ง 2 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงยาวนานราว 20 ปี เพราะสภาพร่างกายเป็นข้อจำกัด ภรรยาและลูกๆ ทั้งหลายก็ให้ความร่วมมือ เข้าใจ ปรารถนาดีต่อกันเป็นอย่างดี นั่นหมายถึง ความอดทน ปรองดอง อย่างอารยชน จนทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐต้องขอเชิญแฝดสยามไปพบที่วอชิงตัน ในระหว่างที่อเมริกามีปัญหาสงครามกลางเมืองและความเป็นปรปักษ์ระหว่าง “คนขาว” กับ “คนผิวสี”

การเดินทางกลับไปยุโรปในช่วงอายุ 60 ปีเศษ ก็เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวหลังจากพิษของสงครามกลางเมืองจนเกือบหมดเนื้อหมดตัว ในเวลาเดียวกัน แฝดทั้ง 2 ก็แสวงหาโอกาสที่จะพบกับแพทย์ที่เก่งที่สุดในยุโรปเพื่อขอ “ผ่าตัดแยกร่าง” ที่ต้องทนทุกข์ทรมานมา 60 ปี

แพทย์ในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ต่างยืนยันด้วยหลักการว่า จะไม่ผ่าแยกร่างให้เนื่องจากความเสี่ยงสูง

การเดินทางเที่ยวสุดท้ายในชีวิตของ 2 ผู้ยิ่งใหญ่จากแม่กลอง คือ การเดินทางออกจากเกาะอังกฤษ ลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกลับอเมริกา ในระหว่างเดินทางบนเรือ แฝดจัน มีอาการอัมพฤกษ์ ทำให้แฝดอินต้องลำบากที่จะหอบหิ้วร่างของแฝดจันที่อ่อนแรงไปทุกหนแห่งบนเรือโดยสาร เรือมาถึงท่าที่นิวยอร์กในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2413 มันคือ การเดินทางครั้งสุดท้ายของชีวิตคนคู่

ชายทั้ง 2 ที่ร่างติดกัน เดินทางต่ออย่างทุลักทุเล ไปยังบ้านที่เมาท์แอรี่ นอร์ธแคโรไลนา แฝดจันอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ แพทย์ที่คุ้นเคยกับครอบครัวบังเกอร์เข้ามาดูอาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับความคิดว่า หากคนใดเสียชีวิตก่อน แพทย์จะลงมือผ่าแยกร่างให้เพื่อรักษาชีวิตของคนที่เหลือ อาการของชายทั้ง 2 ทรุดลงไปตามลำดับ แต่กติกา 3 วันยังคงดำเนินต่อไปอย่างเคร่งครัด

ในสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย วันหนึ่งในขณะที่แฝดทั้ง 2 อยู่บ้านแฝดจัน และในตอนเย็นจะต้องย้ายไปบ้านแฝดอินที่ห่างไปราว 1 ไมล์ ครอบครัวของแฝดต่างลงความเห็นว่า ไม่ต้องไปเพราะอากาศหนาวจัด แต่แฝดจันที่มีนิสัยดุดันแต่ซื่อตรง ยืนยันว่าจะต้องไปบ้านของแฝดอินตามกติกา

การเดินทางด้วยรถม้าในตอนค่ำคืนนั้น รถม้าไม่มีประทุนหลังคาฝ่าลมหนาวในเมาท์แอรี่ ที่แสนจะทรมานทำให้ร่างกายของแฝดจันทรุดลงอย่างแรง และเมื่อทั้ง 2 ถึงบ้านแฝดอิน ลูกหลานพาเข้านอนพร้อมทั้งให้ความอบอุ่นทันที แฝดทั้ง 2 ที่จากเมืองแม่กลองมานาน 45 ปีนอนเคียงกันบนเตียง ลูกหลานได้ยินการสนทนาเชิงถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบแผ่วเบาเกือบทั้งคืน เสมือนจะกำลังลาจากกัน

มันเป็นคืนที่หนาวยะเยือก ทั้งกายและใจ

เช้ามืดของวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2417 แฝดจันหมดลมไปก่อน เสียชีวิตบนเตียงในวัย 63 ปี ท่ามกลางอ้อมกอดและน้ำตาของลูกทั้งหมดและภรรยา ซาราห์ และแอ๊ดดี้

คำกล่าวที่สะเทือนใจที่สุดออกมาจากแฝดอิน ที่กล่าวว่า “ต่อไปก็ฉันสินะ” บรรดาลูกๆ ที่รายล้อมรอบเตียงนอนของแฝดต่างเงียบกริบ ในห้องนอนของ 2 แฝดมีเพียงแสงตะเกียง

ลูกของแฝดอิน เอามือไปสัมผัสร่างของลุงจันที่นอนติดกับอิน พบว่า ไม่ไหวติงและตัวเย็น ลูกๆ บึ่งรถม้าฝ่าความหนาวเพื่อจะไปรับหมอมาผ่าตัดแยกร่างตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อรักษาชีวิตแฝดอิน

อีกราว 1 ชั่วโมงต่อมา แฝดอินผู้ใช้ชีวิตด้วยความสุขุม เยือกเย็น หันไปกอดแฝดจันที่นอนเคียงข้าง หมดลมเสียชีวิตตามไป ก่อนหมอมาถึงที่บ้าน

ปิดฉากละครแห่งชีวิตของ 2 นักสู้ ตำนานคนแฝดตัวติดกันจากแม่กลองผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่ชนะใจคนดูทั้งปวงตลอดชีวิต

ต่อมาแพทย์ชาวอเมริกันที่ดูแลแฝดแบบใกล้ชิด คือ ดร.แพนโคสต์ และ ดร.อัลเลน ระบุว่า แฝดจันน่าจะเสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองอุดตัน (Cerebral clot) ซึ่งเป็นเพียงการคาดการณ์เพราะลูกๆ ไม่ยอมให้หมอผ่าพิสูจน์…

13 พฤษภาคม 2561 ช่วงค่ำ กระทรวงการต่างประเทศจัดงานเลี้ยงในกรุงเทพฯ อำลาทายาทแฝดอิน-จันทั้ง 14 คน ที่มาเยือนแม่กลองกลับไปอเมริกาด้วยหัวใจที่อิ่มเอิบ ตื้นตันใจ

ควรจะมีกิจกรรม ความร่วมมือที่ต่อเนื่องทั้งที่แม่กลองและในอเมริกาหรือไม่ อย่างไรครับ?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image