บทนำ : ลดขยะพลาสติก

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนปีนี้ นานาประเทศทั่วโลกรณรงค์เรื่องลดปริมาณขยะพลาสติกกันอย่างกว้างขวาง

หลังจากมีตัวอย่างภัยขยะพลาสติกที่น่าตกตะลึงติดต่อกันมาในหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก

ประเทศไทยไม่พลาดด้วย ข่าวผ่าซากวาฬนำร่องครีบสั้น ที่ จ.สงขลา พบว่ามันกินขยะพลาสติกเข้าไป 8 กิโลกรัม อัดแน่นอยู่ในท้องย่อยไม่ได้ จนตายไปในที่สุด เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

กรณีนี้น่ารันทดสลดใจ ไม่เฉพาะกับชะตาของวาฬตัวนี้ หรือสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล วาฬ โลมา กินขยะพลาสติกและเศษเครื่องมือทำประมงเข้าไป ตายเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี แต่หมายรวมถึงท้องทะเลที่กว้างใหญ่กลายเป็นถังขยะเคลื่อนที่ จนประเทศไทยติด 1 ใน 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก

Advertisement

คิดเป็นปริมาณขยะในทะเล 50,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นชิ้นตกราว 750 ล้านชิ้น

อันดับและตัวเลขแบบนี้นอกจากไม่น่าปลื้มแล้วยังตอกย้ำด้วยว่าทุกคนต้องเริ่มทำอะไรจริงจังได้แล้ว

รัฐมนตรีวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ แห่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพิ่งพูดว่าการลดขยะต้องเป็นวาระแห่งชาติ นอกเหนือไปจากการรณรงค์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน อาจต้องใช้มาตรการทางภาษีสำหรับ
ผู้ที่ลงทุนเกี่ยวกับวัสดุของใช้ที่ย่อยสลายได้

Advertisement

นอกจากนี้ ยังคิดเผื่อไปถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วยว่า สนับสนุนให้พรรคการเมืองหันมาใช้การหาเสียงแบบออนไลน์มากกว่าทำป้ายหาเสียง หรือพรรคการเมืองใดที่ทำแคมเปญหาเสียงแบบที่ไม่ใช้ป้ายมากมาย ให้ชูได้ว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม

ไอเดียดังกล่าวนี้ควรพูดและทำกันให้จริงจัง ไม่ใช่ว่าวันสิ่งแวดล้อมโลกผ่านไปแล้วก็จบๆ ไป

โดยเฉพาะกับรัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ที่อยู่มา 4 ปีแล้ว ถึงจะรุกด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่ส่งผลไปถึงชาวบ้าน ส่วนเรื่องฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือจะปฏิรูปอะไรก็ขัดแย้งในตัวเอง ทำไปก็ไม่เข้าที ควรหันมาทำเรื่องลดขยะที่แสดงผลได้เป็นรูปธรรมจะดีกว่า

ในเมื่อสนิทสนมกับเหล่านายทุนกิจการยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกอยู่ไม่น้อย การคิดหามาตรการและความร่วมมือที่ดีๆ มีประสิทธิภาพน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศและกับโลกร่วมกันได้

หากศึกษาจากประเทศอื่นๆ ที่ขยับไปมากแล้ว ไปกางดูผลสำรวจของโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ อย่างน้อยจะพบว่ามี 75 ประเทศทั่วโลกที่ออกมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกให้เป็นตัวอย่างอยู่มากมาย

ที่เห็นได้ชัดคือต้องทำให้ครบวงจร ตั้งแต่การใช้ถุงพลาสติก หลอด และวัสดุพลาสติกอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ได้ห้ามในทันที แต่ใช้วิธีเก็บเงินเพิ่ม การจ่ายค่าถุงพลาสติก ณ จุดขาย นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านภาษี ทั้งเก็บเงินคนใช้ และลดภาษีให้คนลดสร้างขยะพลาสติก

เรื่องแบบนี้ควรเริ่มให้เร็ว ไม่จำเป็นต้องรอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือรอเอาไว้ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ในเมื่อรู้ๆ กันว่าขยะนั้นเพิ่มทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image