นามถนนในพระราชวังดุสิตที่เปลี่ยนไป : โดย บัณฑิต จุลาสัย-รัชดา โชติพานิช

ถนนราชดำเนินใน

นอกจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการวางแผนการสร้างพระราชวังดุสิต เพื่อให้เป็นแบบอย่างการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างอาคาร การปลูกพืชพันธุ์ไม้ การกักเก็บและระบายน้ำ ไปจนถึงการสร้างถนน ที่จะเป็นทางสัญจรของผู้คน แทนการเดินทางทางน้ำ ที่กระทำมาแต่อดีต

ยังมีสิ่งที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในด้านภาษาและศิลปะ คือการพระราชทานนามถนนทุกสายในสวนดุสิต สำหรับใช้เรียกขาน โดยชื่อส่วนใหญ่มาจากชื่อลายกระเบื้องของเครื่องถ้วยกังไสจากประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถนนอู่ทอง ที่มาจากพระนามทรงกรมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5

เสียดายว่า มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2462 มีการเปลี่ยนนามถนนสายต่างๆ เพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัย ชื่อถนนตามลายเครื่องถ้วยที่เคยเป็นที่รู้จักจึงค่อยๆ เลือนหายไป พร้อมกับความนิยมสะสมเครื่องถ้วยจีนเพื่อตั้งโต๊ะบูชาในสยามที่เสื่อมความนิยมลง คงเหลือเพียงสะพานซังฮี้ ที่ผู้คนยังใช้เรียกขานสะพานกรุงธนบุรี ด้วยตั้งอยู่ต่อเนื่องกับถนนราชวิถีที่ชื่อเดิมคือถนนซังฮี้

คำว่าซังฮี้ มาจากลายซางฮี้หรือซังฮี้ 雙喜 ในภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือช่วงสี่ ในภาษาจีนกลาง ลวดลายซังฮี้มาจากการรวมของอักษรจีนสองตัว คือ ซาง ที่แปลว่า คู่ หรือ สองเท่า และคำว่า ฮี้ ที่แปลว่าความสุข เป็นคำมงคล แสดงความยินดี ที่ใช้อวยพรในวันแต่งงานของชาวจีน ซึ่งสอดคล้องกับตัวสะพานที่สร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.2500 ทำให้การสัญจรระหว่างกรุงเทพฯกับธนบุรี สะดวกสบายมากขึ้น นำมาซึ่งความสุขของผู้คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

Advertisement

นอกจากถนนซังฮี้ในอดีต หรือถนนราชวิถี ในปัจจุบัน ยังมีถนนที่ตัดขึ้นใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 เพื่อแสดงขอบเขตพระราชฐานโดยรอบสวนดุสิต ได้แก่ ถนนซางฮี้ ทางด้านทิศเหนือ ถนนซิ่ว ทางด้านทิศตะวันออก ถนนดวงตวันใน ทางด้านทิศใต้ โดยเชื่อมต่อกับถนนสามเสนทางด้านทิศตะวันตกซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีถนนดวงดาวใต้ ถนนดวงดาวใน และถนนดวงดาวเหนือ ที่แบ่งเขตระหว่างสวนดุสิตและสวนสุนันทา ในเขตพระราชฐานชั้นใน รวมทั้งถนนสายอื่นรวมแล้วกว่าสี่สิบสาย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ซึ่งประสูติก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์  

ถนนที่ตัดใหม่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะแบ่งเป็นตอนๆ ให้เข้าใจง่าย โดยใช้คำว่า ใน นอก เหนือ หรือใต้ กำกับ ทั้งนี้ พระองค์จะพระราชทานนามถนนทุกสาย สำหรับใช้เรียกขาน โดยชื่อส่วนใหญ่มาจาก ชื่อลายกระเบื้องของเครื่องถ้วยกังไสจากประเทศจีน หนึ่งในพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนพระทัย และศึกษาอย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ

และมีพระราชนิพนธ์ว่าด้วยลายจีนซึ่งเขียนเครื่องถ้วยกระเบื้องกังไส พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาข้าราชบริพาร เมื่อ พ.ศ.2443

Advertisement

ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ทรงอธิบายที่มาของลวดลายที่ปรากฏอยู่ในเครื่องกระเบื้องเหล่านั้นว่า

…บรรดาเครื่องภาชนะต่างๆ ที่ทำด้วยกระเบื้องกังไส มีลายเขียนสีครามก็ดี สีก็ดี บรรดาที่ทำในเมืองจีนแล้ว ย่อมมีเค้ามูลเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น ตามคำกล่าวมาว่า มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระราชดำริที่จะผูกลายสำหรับเขียนภาชนะต่างๆ จึงให้ประชุมนักปราชญ์ซึ่งมีความรู้และมีสติปัญญาคิดผูกลายขึ้นให้อ่านออกเป็นการแสดงสวัสดิมงคล…หาได้เขียนถ่ายอย่างจากของจริงอย่างเช่นฝรั่ง หรือเขียนตามกระบวนลายซึ่งเป็นความคิดของช่างผูกขึ้น เช่น ลายกนก ลายทรงข้าวบิณฑ์ ซึ่งออกจากใบไม้ดอกไม้อย่างไทยเราเขียนไม่ ลายที่จีนเขียนโดยลำพังตัวเองแล้วย่อมเป็นนิมิตรมงคล ตามที่นักปราชญ์ทั้งหลายได้ผูกขึ้นไว้แล้วทั้งสิ้น…

สำหรับลวดลายที่เขียนอยู่บนเครื่องถ้วย พระองค์สรุปว่า ประกอบด้วยนิมิตมงคลหลัก คือ ฮก ลก ซิ่ว มงคลอื่นๆ เช่น โป๊ยเซียน หรือเทวดาผู้สำเร็จทั้งแปด มงคลแปด ยันต์แปด และธาตุทั้งหลายได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทองหรือไม้

ถนนสุโขทัย มาจากพระนามทรงกรมของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดช กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

การเปลี่ยนแปลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้นามถนนตามลายกระเบื้องที่เป็นพรอันมงคลจากพระพุทธเจ้าหลวงนั้นหายไป ดังเช่น

ถนนฮก ปัจจุบันคือถนนนครปฐม สันนิษฐานว่า มาจากพระนามทรงกรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนเทพทราวดี ซึ่งทราวดีเป็นเมืองเก่า ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม อีกทั้งทรงโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

ถนนลก มีสองตอน คือ ถนนลกและถนนลกเหนือ ถนนลกตัดผ่านวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างสวนดุสิต และมีความเกี่ยวข้องกับพระปิยมหาราชผู้ทรงเป็นที่รักของปวงประชา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนนามถนนลก เป็น ถนนพระรามที่ 5 ส่วนถนนลกเหนือ ตัดผ่านหน่วยงานทหาร จึงเปลี่ยนเป็น ถนนทหาร

ถนนซิ่ว ปัจจุบัน คือ ถนนสวรรคโลก สันนิษฐานว่ามาจากพระนามทรงกรมของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล สรรพสกนธ์กัลยาณี กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 และหม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค

ถนนดวงตวัน มีสามตอนคือ ถนนดวงตวันใน ถนนดวงตวันหน้า และถนนดวงตวันนอก ปัจจุบันคือถนนศรีอยุธยา มาจากพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชนิพนธ์หนังสือและบทละคร อีกทั้งถนนสายนี้ตัดผ่านวังจันทร์เกษม ที่ประทับเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

บรรยากาศการตั้งโต๊ะบูชาด้วยเครื่องลายครามในพระที่นั่งอนันตสมาคม (หลังเก่า) ในพระบรมมหาราชวัง 
การตั้งโต๊ะบูชาด้วยเครื่องลายครามจีน ที่มีธรรมเนียมการจัดวางโดยเฉพาะที่ใช้ในสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถนนดวงเดือน มีสามตอนคือ ถนนดวงเดือนนอก ถนนดวงเดือนใน และถนนดวงเดือนน่า ปัจจุบันคือถนนสุโขทัย เริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกับถนนซิ่ว (ถนนสวรรคโลก) ถนนสายนี้มาจากพระนามทรงกรมของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดช กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา หรือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

และถนนสุโขทัยนั้น อยู่ใกล้วังศุโขทัยซึ่งอยู่ตรงหัวมุมถนนขาวและถนนสามเสน

ถนนดวงดาว มีสามตอนคือ ถนนดวงดาวเหนือ ถนนดวงดาวใน และถนนดวงดาวใต้ ปัจจุบันคือ ถนนนครราชสีมา มาจากพระนามทรงกรมของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ที่มีวังสวนกุหลาบตั้งอยู่บนถนนสายนี้ ทรงมีคณะละครที่ถือว่าเป็นสำนักละครที่ดีที่สุดในยุคนั้น

ถนนส้มมือหนู ปัจจุบันคือ ถนนสุพรรณ มาจากพระนามทรงกรมของ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 และเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค) ประสูติเมื่อปี 2411 ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นโตที่เป็นที่เคารพของพระเจ้าลูกเธอชั้นหลังๆ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2447 พระราชชนกถึงกับนุ่งขาวในงานพระศพ ด้วยมีพระราชดำริว่า เป็นลูกคู่ทุกข์คู่ยาก ลำบากมาแต่หนหลัง ภายหลังเมื่อกรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาสิ้นพระชนม์ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงกราบถวายบังคมลาออกมาพำนักยังบ้านซึ่งได้รับพระราชทาน ณ ตำบลสามเสน เรียกว่า สวนสุพรรณ ตั้งแต่ พ.ศ.2447

ถนนพุดตาน ปัจจุบันคือถนนพิชัย ดอกพุดตาน ตรงกับเสียงในภาษาจีนว่า ฝูหยง ซึ่ง ฝู แปลว่า โชค ถนนนี้มีสองตอน คือ ถนนพุดตานใน และถนนพุดตานเหนือ ชื่อถนนพิชัยมาจากพระนามทรงกรมของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ในรัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดามรกฎ ต้นสกุล เพ็ญพัฒน์ ทรงสำเร็จสาขาเกษตรกรรมจากประเทศอังกฤษ และมีส่วนในการปรับปรุงการเกษตรของไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า ทรงตั้งกรมเพาะปลูก และฟื้นฟูปรับปรุงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงเป็นผู้ประพันธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน หรือลาวดวงเดือน

ถนนพิษณุโลก มาจากพระนามทรงกรมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ถนนคอเสื้อ ลายค้างคาวที่เขียนต่อๆ กัน จนเกิดเป็นลายขึ้น ปัจจุบันคือ ถนนพิษณุโลก มาจากพระนามทรงกรมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ต้นสกุลจักรพงษ์ และวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์นั้น อยู่ตรงหัวมุมถนนพิษณุโลกตัดกับถนนราชดำเนินนอก

ถนนเบญมาศ หรือเบญจมาศ ประกอบด้วย ถนนเบญมาศนอก เบญมาศใน และเบญมาศใต้ ปัจจุบันคือ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อให้ต่อเนื่องกับถนนราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนิน ที่เชื่อมต่อพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต

ถนนเบญมาศ หรือถนนราชดำเนินกลาง

ถนนราชวัต หรือราชวัติ ลายลูกคลื่นที่หมายถึงน้ำ ความชุ่มฉ่ำร่มเย็น มีจำนวนมากมาย หมายถึงความมั่งคั่ง เมื่อเขียนลายลูกคลื่นในที่แคบ จะเห็นเป็นรูปแนว ขอบเขต หรือรั้ว หรือลายราชวัต ปัจจุบันคือ ถนนนครไชยศรี ตามพระนามทรงกรมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระบิดาแห่งกองทัพบกไทย

ถนนนครไชยศรี ที่มาจากพระนามทรงกรมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย

ถนนซังฮี้ หรือซางฮี้ ปัจจุบันคือถนนราชวิถี เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากสวนดุสิต ไปยังวังพญาไท ที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา

ถนนใบพร ปัจจุบันคือ ถนนอู่ทอง ตามพระนามทรงกรมของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นพระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการิณีในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แม้ว่านามถนนเดิมที่เป็นชื่อของลวดลายเครื่องกระเบื้องจีน จะเปลี่ยนไป แต่ยังคงมีถนนสายเล็กๆ ไม่กี่สาย อย่างเช่น ถนนขาว และถนนดาวข่าง ที่เป็นชื่อพระราชทานตามลายเครื่องกระเบื้องคงเดิมอยู่ในปัจจุบัน และอาจไม่มีคนทราบถึงความหมาย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างถนนและพระราชทานนามถนน ที่นอกจากจะนำความเจริญรุ่งเรืองสู่พระนครแล้ว ปวงพสกนิกรต่างได้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีสายพระเนตรอันยาวไกล ได้ปรับเปลี่ยนนามถนนให้เหมาะแก่กาล

และยังเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ที่ร่วมสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยเอกสารและแผนที่ประวัติศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image