บทสรุป ปฏิรูป จาก ‘ธีรยุทธ บุญมี’ เปี่ยม ‘พลวัต’

ปาฐกถาในงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี

อาจมีชื่อ “กฎหมาย คนจน ความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา”

แต่ก็ยังกล่าวถึง “การปฏิรูป” อันเป็นประเด็นใหญ่ ประเด็นสำคัญ หากยึดตามบรรทัดฐานแห่งข้อเรียกร้องของ “กปปส.” ที่ว่า

“ปฏิรูป” ก่อน “การเลือกตั้ง”

Advertisement

ที่ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี เข้าไปมีส่วนร่วมผ่านการชุมนุมบริเวณถนนอุรุพงษ์ของกลุ่มนิสิตนักศึกษาอย่างสำคัญ

ก็ต้องถือว่า “บทสรุป” อันเกี่ยวกับ “การปฏิรูป” ในปาฐกถามีความแหลมคม

แหลมคมตรงที่สรุปออกมาอย่างรวบรัดภายในปาฐกถาว่า “คสช.ยังไม่ได้ปฏิรูปประเทศและมีแนวโน้มไม่สำเร็จ”

Advertisement

ตรงนี้สำคัญและทรงความหมาย

ทรงความหมายเพราะเท่ากับเป็นการ “ประเมินผล” มีความสำคัญเพราะได้เสนอเอาไว้ด้วยในพลความต่อมาว่า

“แต่ยังไม่สายสำหรับการเริ่มปฏิรูป”

บทสรุปของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจไม่สะใจ “โก๋” หากเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ศาสตราจารย์เคยมีบทบาทอย่างสำคัญทางการเมืองในกาลอดีต

ไม่ว่าสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516

ไม่ว่าสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อันสะท้อนความหมายของการพิทักษ์และปกป้องคุณูปการทางการเมืองที่เคยต่อสู้ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2519

แต่หากประเมินผ่านบทสรุปที่ว่า “คสช.ยังไม่ได้ปฏิรูปประเทศ” ก็ทรงความหมาย

ยิ่งกว่านั้น หากประเมินผ่านบทสรุปว่า “มีแนวโน้มไม่สำเร็จ” เท่ากับเป็นการรวบรัดสะบัดพลอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

ตรงไปตรงมาหากมองจากฐานของ “คสช.” ที่เข้ามาทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ตรงไปตรงมาหากมองจากฐานและความเป็นจริงในทางความคิดอันก่อรูปเป็นศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี ตั้งแต่จุดเริ่มความคิดรักชาติในกรณีต่อต้านญี่ปุ่น กระทั่งก่อรูปของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2515

ทั้งหมดนี้คือ “บาทฐาน” อันเป็นตัวตนอย่างแท้จริงของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี

ทั้งหมดนี้คือ “บทสรุป” ไม่เพียงแต่เป็นการประเมินผลต่อกระบวนการปฏิรูป หากแต่ยังเป็นการวัดค่าของ คสช.ไปด้วยในขณะเดียวกัน

แล้วก็ฟันธงว่า การปฏิรูปมี “แนวโน้มไม่สำเร็จ”

รายละเอียดของการปาฐกถาก็ดี รายละเอียดอันต่อเนื่องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ก็ดี ยืนยันอย่างเด่นชัดว่าภายในกระบวนการทางความคิดของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี

ดำเนินไปอย่างมี “พลวัต”

หากไม่ผ่านกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หากไม่ผ่านกระบวนการบริหารของ คสช.จากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงเดือนเมษายน 2559

ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี จะได้ “บทสรุป” มาอย่างไร

ขณะเดียวกัน ภายใต้บทสรุปเช่นนี้ก็มิได้หมายความ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี จะหันมาชูธงต้าน คสช.แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อตรวจสอบผ่านกระบวนการปฏิบัติในระยะเวลาอันแน่นอนหนึ่ง ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี ก็ยอมรับความเป็นจริง

ความเป็นจริงในความเป็น “อนิจจัง” แห่งสรรพสิ่ง ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งภายในตัวของ ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี เอง

เพียงการยอมรับแค่นี้ก็น่าจะยินดีแล้ว

ไม่จำเป็นจะต้องไป “เรียกร้อง” ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี ให้มากกว่านี้ เพราะในที่สุดก็จะถลำไปสู่ความผิดพลาดอย่างรุนแรงในทางความคิด

เท่ากับเป็นการเรียกร้อง “คนอื่น” เกินความเป็นจริง

เท่ากับเป็นการเอา “เจตจำนง” ของตนไปเรียกร้องความเป็นจริง “คนอื่น”

แท้จริงแล้ว ไม่ว่าปราชญ์ยุค “เทียนวรรณ” ไม่ว่าปราชญ์ยุค ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี ล้วนมีข้อจำกัด

1 เป็นความจำกัดแห่งยุค ปมเงื่อนอยู่ตรงที่มีชีวิตอยู่ในยุคใด ขณะเดียวกัน 1 เป็นความจำกัดแห่งรากฐานที่มาของชีวิตว่าเติบใหญ่ภายในกระบวนการทางสังคมอย่างไร

2 กระบวนการนี้เองทำให้ “ปราชญ์” ดำรงอยู่ ดำเนินไปตาม “วิถี” แห่งตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image