พระถังซัมจั๋ง : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สมัยผมเป็นเด็กได้ดูหนังเรื่องไซอิ๋ว ติดอกติดใจในบทบาทของบริวารหลวงจีนโดยเฉพาะเห้งเจีย จำได้ติดตาจนทุกวันนี้ เคยคิดว่าเป็นเรื่องแต่งเล่นสนุกๆ พอโตมาจึงรู้ว่าเป็นชีวประวัติจริงของหลวงจีนรูปหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกขานต่างๆ กันว่า “เฮี่ยนจึง” บ้าง “ยวนฉาง” บ้าง “ถังซัมจั๋ง” บ้าง
สองชื่อแรกเข้าใจว่าเป็นชื่อจริงของท่าน ออกเสียงแตกต่างกันออกไป ชื่อหลัง (ถังซัมจั๋ง) ท่านผู้รู้บอกว่า ย่อมาจากคำเต็มว่า “ถังซัมจั๋งฮวบซือ” แปลว่า พระธรรมาจารย์ ผู้แปลพระไตรปิฎกในสมัยราชวงศ์ถัง

ความจริงพระภิกษุจีนที่เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาที่ชมพูทวีปมีเด่นๆ อยู่สามรูปคือ

ฟาเหียน ถังซัมจั๋ง และอี้จิง ฟาเหียนไปอินเดียเมื่อ พ.ศ.862 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ใช้เวลาทั้งไปทั้งกลับนานถึง 25 ปี นำเอาคัมภีร์พระพุทธศาสนากลับไปด้วยเป็นร้อยปกรณ์ และได้ถ่ายทอดออกสู่ภาษาจีนแต่เนื่องจากท่านมิใช่นักอักษรศาสตร์ งานแปลของท่านจึงไม่เป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย

หลังจากท่านฟาเหียน 285 ปี หลวงจีนถังซัมจั๋งได้อุตสาหะดั้นด้นฝ่าทุรกันดารไปจนถึงอินเดีย ได้พักศึกษาพระพุทธศาสนาและปรัชญาทุกสาขาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้น

Advertisement

ท่านใช้เวลาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถึง 5 ปี เป็นศิษย์พิเศษของท่านอธิการ
บดีศิลภัทร ขณะเป็นนักศึกษาอยู่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย โดยสามารถโต้วาทีชนะนักปรัชญาลัทธิโลกายตะ (ลัทธิวัตถุนิยม) ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักพูดชั้นยอดคนหนึ่ง ทำให้เกียรติคุณของท่านขจรขจายไปทั่วอินเดียจนได้สมญานามว่า “มหายานเทวคุรุ”

จบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านได้เดินทางไปบูชาพุทธปูชนียสถานยังตำบลต่างๆ ทั่วอินเดียแล้วเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมนำพระคัมภีร์กลับไปด้วยเป็นจำนวนมาก นับเวลาตั้งแต่ไปจนกระทั่งกลับได้ 16 ปีพอดี กลับถึงเมืองจีน ฮ่องเต้ คือพระเจ้าถังไท่จง ได้สร้างวัดฮ่งฮกยี่ถวายเป็นที่พำนัก ได้ถวายพระราชอุปถัมภ์ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์สาวกที่ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล เมื่อพระเจ้าถังไท่จงสวรรคต พระเจ้าถังเกาจงเสวยราชย์ พระองค์ได้อุทิศพระราชวังเดิมสร้างเป็นวัดถวายชื่อว่า วัดไต้ชื่ออึงยี่ ท่านได้ใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ พระอารามแห่งนี้แปลพระคัมภีร์ที่อัญเชิญมาจากอินเดียสู่ภาษาจีนรวมทั้งสิ้น 74 ปกรณ์

Advertisement

งานแปลที่ควรกล่าวถึงในจำนวนหลายคัมภีร์นั้นคือ “อภิธรรมของนิกายสรวาสติวาทิน” เป็นผลให้นิกายนี้รุ่งเรืองในเมืองจีนในยุคต่อมา ว่ากันว่า ท่านอี้จิง ที่เดินทางไปอินเดีย 40 ปีหลังจากนั้นเป็นพระนิกายสรวาสติวาทิน

นอกจากงานแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาซึ่งมีมากกว่าใครๆ แล้ว ท่านยังได้บันทึกการเดินทางไปยังอินเดียอย่างละเอียดเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

เรื่องราวพระถังซัมจั๋งข้างต้นนี้ ผมตัดทอนจากข้อเขียนของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ในหนังสือชื่อ “ประวัติพระถังซัมจั๋ง” ที่กลุ่มนักศึกษาและปฏิบัติธรรมจัดพิมพ์

ที่จริงเนื้อหาหนังสือเป็นสำนวนของคณะสงฆ์วัดโพธิแมนคุณารามรวบรวมเรียบเรียงจากต้นฉบับของนายเคนเหลือง สีบุญเรือง ซึ่งแปลมาจากบันทึกของท่านฮุยลิบ ศิษย์ของท่านถังซัมจั๋งอีกต่อหนึ่ง

ที่เป็นข้อเขียนของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็เฉพาะภาคผนวกเท่านั้น แต่หน้าปกใส่ชื่ออาจารย์เสถียร โพธินันทะ คนเดียวคงจะอาศัย “ยี่ห้อ” คนตายขายหนังสือซึ่งก็คงขายดีสมปรารถนา

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระถังซัมจั๋งที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือ “ต้าถังซีโหยวจี้” แปลว่า “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” โดยในนั้นเล่าถึงการเดินทางที่ไปพบปะกับภูมิประเทศที่แตกต่างออกไป สภาพผู้คน วัฒนธรรมที่หลากหลาย น่าสนใจ รวมไปถึงการทหารและการเมืองการปกครอง โดยการเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาและศาสตร์ความรู้ต่างๆ ที่ทวีปอินเดีย เมื่อเดินทางกลับมาประเทศจีน ได้นำพระสูตรทั้งมหายานและเถรวาทกลับมาด้วยกว่า 600 ม้วน เพื่อกลับมาแปลเป็นภาษาจีน

หนังสือ “ต้าถังซีโหยวจี้” โดย ซิว ซูหลุน ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 โดยสำนักพิมพ์มติชน (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ) ความยาว 12 บรรพ จำนวนรวม 520 หน้า ชื่อภาษาไทยว่า “ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” ไม่แน่ใจว่ามีการตีพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

ถ้าอยากหามาอ่านลองสอบถามกับทาง สนพ.มติชน ดูครับ

อ่านแล้วท่านจะได้ทราบว่า พระสงฆ์สาวกที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านอุตสาหะศึกษาเล่าเรียนและทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนากันเหนื่อยลำบากแค่ไหน ตำรับตำราไม่มีก็อุตส่าห์พยายามไปหามา ได้มาแล้วก็ศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วก็แปลสู่ภาษาของตนเพื่อให้ประชาชนได้อ่านได้ศึกษา

มิใช่รู้งูๆ ปลาๆ แล้วก็แปลผิดๆ ถูกๆ รังแต่จะก่อ “สัทธรรมปฏิรูป” ขึ้นในพระศาสนายากจะแก้ไขสังคายนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image