เดินหน้าชน : โกงอาหารกลางวันเด็ก ระบบตรวจสอบหย่อนยาน : โดย สุพัด ทีปะลา

กรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่คลิปเด็กอนุบาลโรงเรียนบ้านท่าใหม่ จ.สุราษฎร์ธานี นั่งกิน “ขนมจีนคลุกน้ำปลา” เป็นอีกภาพที่น่าเศร้าใจในแวดวงการศึกษา เป็นภาพสะท้อนของการทุจริตที่ยังมีอยู่ทุกระดับ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “โครงการอาหารกลางวัน” ของนักเรียน

การออกมาแฉเรื่องฉาวโฉ่นี้นำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวน ผอ.โรงเรียนแห่งนี้ และสิ่งสำคัญทำให้เกิดความตื่นตัวจนนำไปสู่การตรวจสอบโครงการอาหารกลางทั่วประเทศด้วย

โครงการอาหารกลางวันเกิดจากความตระหนักของรัฐบาล ที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก

เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด

ADVERTISMENT

และในปี พ.ศ.2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ในสมัยนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบาย ให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน

ต่อมาในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 กำหนดให้มี พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 และได้จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

จากนั้นคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 มีมติให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ก่อนที่จะโอนงบประมาณจาก ศธ.ไปให้ “กระทรวงมหาดไทย” ดูแลในปีงบประมาณ 2544 ตามกฎหมายการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

ปัจจุบันโครงการอาหารกลางวันจัดสรรให้เด็กรายละ 20 บาท ใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ครอบคลุมเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 5 ล้านคน เป็นนักเรียนในโรงเรียนสังกัด อบจ.-เทศบาล 1 หมื่นกว่าแห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ

นอกจาก “โรงเรียนบ้านท่าใหม่” แล้วยังพบว่ามีอีกหลายโรงเรียนที่ทุจริตงบอาหารกลางวัน เมนูอาหารที่เด็กได้รับประทานจึงไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ

โดยพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่จะดำเนินการจัดหาอาหารกลางวันอยู่ 2-3 วิธีการตามกฎหมายที่เปิดช่องไว้ ทั้งวิธีการจ้างเหมาทำอาหาร การซื้ออาหารสด อาหารแห้งมาประกอบอาหารเอง และบางแห่งจะแจกคูปอง ให้ซื้อจากผู้ขายอาหารในโรงเรียน

“การจ้างเหมา” และ “การซื้ออาหารสดมาประกอบอาหาร” เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการทุจริตมากที่สุด

ยิ่งเมื่อระบบการตรวจสอบของหน่วยงานมีความหย่อนยาน การทุจริตจึงขยายวงเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการร้องเรียนจากผู้ปกครองแล้วหน่วยงานต้นสังกัดแทบจะไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง

กรณีของขนมจีนคลุกน้ำปลาจึงทำให้เห็นการตื่นตัวของ “กระทรวงมหาดไทย” และการเข้ามาตรวจสอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังอีกครั้ง ภายหลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ค่อนข้างไม่พอใจต่อกรณีการทุจริตอาหารกลางวัน โดยแสดงท่าทีผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า “ได้สั่งให้ลงโทษ ผมก็คาดโทษไปแล้ว ถามว่ายังมีเรื่องอย่างนี้อยู่ได้อย่างไร บางโรงเรียนก็มีความผิดอยู่หลายประการ แล้วทำไมยังปล่อยอยู่ ผมกำชับไปแล้วให้ไปสอบสวนดู และด้วยจิตสำนึกของการเป็น ผอ. การเป็นผู้บริหาร ต้องสำนึกว่างบประมาณที่ออกไปนั้นผลประโยชน์อยู่กับใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ ทำไมไปเอาเปรียบเขาแบบนั้น”

ความชัดเจนล่าสุดในการแก้ปัญหาการทุจริต พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สั่งให้มีการสแกนตรวจสอบอาหารกลางวันโรงเรียนทุกตำบล

ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสิมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้มีหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้เพิ่มมาตรการดูแล ใน 3 ประเด็น คือ 1.ให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งตั้งคณะทำงานโดยขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือ อบต. เพื่อให้ดำเนินการออกไปสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ 2.ชุดความร่วมมือโดยใช้กลไกประชารัฐ และขอความร่วมมือผู้ปกครองเข้ามาดูแลเรื่องเมนูอาหาร โดยให้ทางโรงเรียนทำเมนูอาหารของโรงเรียนล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ แล้วติดประกาศ เพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมว่ามีความเห็นเกี่ยวกับเมนูอาหาร พร้อมให้โรงเรียนหมุนเวียนคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และตรวจรับบ่อยๆ และ 3.ให้ประชาสัมพันธ์ปลุกสร้างจิตสำนึก

ทั้งมาตรการและนโยบายเหล่านี้ต้องเอาจริงเอาจัง ทำกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ขจัดการทุจริตอาหารกลางวัน เพราะหากทำแค่ฉาบฉวย เป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด เมนูขนมจีนคลุกน้ำปลาคงไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image