เสี้ยวเล็กๆ ของอนุรักษนิยมสมัยใหม่ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แนวคิดอนุรักษนิยมเป็นแนวคิดที่มักมีการกล่าวถึงกันอยู่มาก โดยเฉพาะในสังคมไทย แต่เอาเข้าจริงผมไม่แน่ใจว่าได้มีทำการศึกษาหรือมีความเข้าใจเรื่องอนุรักษนิยมกันอย่างจริงจังมากแค่ไหน

กล่าวอีกอย่างก็คือ แนวคิดอนุรักษนิยมนั้นมักถูกวิจารณ์จากฝ่าย (ที่ตัวเองนึกว่า) ก้าวหน้าว่าเป็นพวกล้าหลัง ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เป็นพวกที่ไม่ยอมรับความจริง โดยเฉพาะเป็นพวกที่ไม่ยอมรับข้อมูลเชิงประจักษ์

นอกจากนั้นแนวคิดอนุรักษนิยมและคนที่สมาทานแนวคิดนี้ที่เรียกว่าบรรดาพวกอนุรักษนิยมนั้นมักจะถูกมองว่าตกอยู่ในแนวคิดวาทกรรมที่เรียกว่าชาตินิยม ในความหมายที่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่าอะไรที่ถูกกำหนดว่าเป็นเรื่องของชาติย่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอ ยิ่งเมื่อชาติและผลประโยชน์แห่งชาติตั้งแต่อดีตถูกกำหนดจากชนชั้นนำแล้ว บรรดาอนุรักษนิยมก็พร้อมจะเชื่อโดยที่ไม่ต้องสงสัยว่าสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นมีเงื่อนไขจำเป็นที่จะทำให้ชาติอยู่รอด

การตั้งคำถามกับแนวคิดอนุรักษนิยมจากคนนอกนั้นมีปัญหาเป็นอย่างมากตรงที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างจริงจังมากกว่าการกล่าวหาและดูหมิ่นดูแคลนว่าพวกอนุรักษนิยมเป็นพวกที่ไร้ซึ่งความหวัง และไม่มีตัวตนของตัวเอง หรือตกอยู่ในความเชื่อง่ายๆ ที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกสบายใจต่อความไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

Advertisement

ขณะที่การอภิปรายในเรื่องของการทำความเข้าใจบรรดาอนุรักษนิยมมีคนสนอกสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับโลก

อาทิ เริ่มมีการตั้งคำถามว่า การที่เราพูดถึงสังคมหลังความจริงและการเมืองหลังความจริง post-truth politics นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เรามองเห็นประเด็นว่าพวกอนุรักษนิยมเป็นผลจากการปลุกเร้าอารมณ์ทางการเมืองเท่านั้นหรือไม่

Advertisement

ขยายความเพิ่มเติมหน่อยว่า การเมืองหลังความจริง ถูกให้ความหมายว่า การเมืองในวันนี้เป็นการเมืองที่ไม่ได้เน้นความจริง หรือข้อเท็จจริง แต่เป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยการปลุกเร้าอารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญ สิ่งนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ค่อนข้างแปลกประหลาด เพราะไม่ได้หมายความว่าประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ข้อมูลข่าวสารมากมายในสื่อทุกรูปแบบกลับทำให้คนเข้าไม่ถึงความจริงและถูกปลุกเร้าด้วยอารมณ์ และทำให้การตัดสินใจทางการเมืองตัดสินใจไปตามอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง

พวกอนุรักษนิยมก็ถูกมองว่าเป็นเหยื่อของสื่อฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษนิยม โดยไม่ลืมหูลืมตา (ตรงข้ามกับ “ตาสว่าง”)

ดังนั้นพวกฝ่ายที่เชื่อว่าตนก้าวหน้าก็มักจะ “แซะ” หรือเชื่อว่าการทำให้พวกอนุรักษนิยมตาสว่างก็จะต้องกระทำผ่าน “การถกเถียงพูดคุย” และ “ชี้แจงข้อเท็จจริง” หรือ “ให้ข้อมูล” และสิ่งที่ฝ่ายที่ตนเองเชื่อว่าก้าวหน้ารู้สึกสับสน ท้อแท้ หดหู่ ก็คือไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่ายตรงข้ามกับตนจึงไม่ยอมเข้าใจและเปิดตาเปิดใจกับข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลที่แสนจะสมเหตุสมผลเหล่านี้เลย

ข้อค้นพบจากการอภิปรายในเรื่องความแตกต่างของแนวคิดฝ่ายก้าวหน้า และอนุรักษนิยมก็คือ ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ “ระบบคุณค่า” ของสองฝ่ายไม่เหมือนกัน ดังนั้นการทำความเข้าใจระบบคุณค่าของฝ่ายอนุรักษนิยมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการพูดคุยและอยู่ร่วมกันได้

ตัวอย่างที่เขายกกันในระดับโลกก็คือ บรรดาฝ่ายก้าวหน้ามักจะให้ความสำคัญกับผลของนโยบายเป็นหลัก เช่นนโยบายนั้นถ้าออกมาแล้วช่วยให้คนดีขึ้น ยกระดับสวัสดิการของผู้คนก็ถือว่าทำได้ และเป็นนโยบายที่ดี แต่พวกนี้ก็จะงงเป็นไก่ตาแตกเอาง่ายๆ ว่าทำไมพวกอนุรักษนิยมถึงเอาแต่วุ่นวายอยู่กับ “กระบวนการ” มากกว่าผลลัพธ์ของนโยบาย เช่น มัวแต่สงสัยว่าขั้นตอนต่างๆ มันถูกต้องไหม หรือบางทีพวกอนุรักษนิยมก็ให้เหตุผลว่านโยบายที่ดีนั้นไม่ได้หมายความว่าใครจะได้ประโยชน์บ้าง แต่นโยบายที่ดีคือนโยบายที่รักษากระบวนการ และเงื่อนไขของกระบวนเหล่านั้นเอาไว้ได้ นโยบายก็จะดีโดยอัตโนมัติ อาทิ ในต่างประเทศ ถ้านโยบายเหล่านั้นไม่กระทบต่อการถือครองทรัพย์สินของบุคคล และทุกคนยังมีเสรีภาพในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ก็ถือว่าผลของนโยบายยังไงก็ไม่ผิด ก็ทำต่อไปได้

หรืออย่างกรณีภาษีมรดก ระบบคุณค่าของฝ่ายอนุรักษนิยมก็หมายถึงว่า สังคมไม่ควรจะเข้ามายุ่งกับเรื่องของมรดก เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ตราบที่เขาทำมาหากินอย่างสุจริต การไม่เก็บภาษีมรดกมันเป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมทำมาหากินอย่างสุจริตและส่งผลต่อความมั่งคั่งเหล่านั้นให้ลูกหลานของเขา

ตัวอย่างที่ต่อเนื่องก็คือ เช่น ระบบการรักษาที่ช่วยเหลือคนจน แม้อาจจะทำให้คนจนมีสวัสดิการที่ดีขึ้น แต่ในกระบวนการมันไปกระทบสิ่งที่พึงมีพึงได้ของคนรวย อันนี้ก็ทำให้คนรวยเขารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมกับเขา ตราบใดที่เขาทำมาหากินโดยสุจริต

คำว่าโดยสุจริตในความหมายของอนุรักษนิยมอาจไม่ได้รวมไปถึงเรื่องของการตั้งคำถามกับโครงสร้างของสังคมว่าความสุจริตในระดับที่เขานึกถึงมันเกี่ยวเนื่องกับความซับซ้อนและการเอาเปรียบกันเชิงโครงสร้างหรือไม่ หรือความเท่ากันของสังคมหรือไม่ ความสุจริตอาจหมายถึงการเป็นคนดี คิดดี มีเจตนาดี และอาจจะสงสาร ช่วยเหลือหรือสงเคราะห์คนอื่นตามกำลังที่พอจะช่วยได้

รากฐานสำคัญก็คือ นโยบายอะไรที่ทำให้การพรากสิ่งที่พึงมีพึงได้ของพวกเขาไปโดยการบังคับให้ต้องดูแลคนอื่นที่เขาคิดว่าไม่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกับเขา ยิ่งเมื่อความมั่งคั่งนั้นหามาได้โดยสุจริต ไม่ใช่ภาระของใคร (ซึ่งเป็นความสุจริตที่แนวคิดเรื่องการขูดรีดที่ซับซ้อน และการไม่เท่าเทียมกันในระดับโครงสร้างไปไม่ถึง) เขาก็จะยิ่งรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเข้าไปอีก

ความสมถะ และการไม่ฟุ้งเฟ้อในการบริโภค รวมทั้งการอบรมลูกหลานให้เชื่อมั่นในคุณค่าที่สืบเนื่องอย่างยาวนานของสังคมจึงเป็นคุณธรรมสำคัญของคนเหล่านี้ การบังคับเอาความมั่งคั่งที่พวกเขาพึงมีพึงได้ (ความร่ำรวย ความมั่งคั่งที่ได้มาจากความสุจริตคือสิ่งที่ต้องสงเสริมให้ผดุงไว้ซึ่งความขยันหมั่นเพียร เพราะไม่มีความยากจนในหมู่คนขยันในความคิดของพวกเขา) ไปให้กับคนอื่นที่ไม่ได้เท่ากับเขา ทั้งจากฐานะและระบบคุณค่า จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง และจะมีผลต่อความเสื่อมถอยซึ่งความดีงามของสังคมในระยะยาว

ในแง่นี้การนำเสนอว่าสังคมนั้นไม่เสมอภาค และจะต้องมีความเสมอภาค และคนเรานั้นเท่ากันจึงไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เชื่อมั่นในความเป็นเลิศ ความสามารถของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน และเชื่อว่าความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นนั้นรับได้ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว

ความสำคัญของการศึกษาที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมักใช้อ้างเสมอๆ ว่าเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาในทุกๆ เรื่องในสังคมอาจไม่ใช่เรื่องของความรู้และความจริงในแบบที่ฝ่ายที่เชื่อว่าตนก้าวหน้าต้องการ แต่อาจหมายถึงการศึกษาในแง่ของระบบคุณค่าที่สำคัญที่ทุกคนพึงมีร่วมกัน การเป็นผู้มีการศึกษาจึงหมายถึงจะต้องมีความดีคู่กับความเก่ง มีความรู้คู่กับคุณธรรม บางครั้งความรู้ยังหมายถึงความรู้ถูกรู้ผิด มากกว่าความรู้เชิงเทคนิคด้วยซ้ำ

ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงมักจะมองฝ่ายที่เชื่อว่าตนเองก้าวหน้าว่าเป็นพวกที่ขาดความรับรู้ผิดชอบชั่วดีในบางเรื่อง เป็นพวกไม่มีเหตุผล คิดแบบนี้ได้อย่างไร สงสัยถูกครอบงำและถูกชักนำในทางที่ผิด หรือมองว่าพวกนี้ไม่มีสมองเอาเสียเลยคิดไปได้ยังไง

อีกประการที่มักมีการพูดถึงกันบ่อยๆ ในหมู่อนุรักษนิยมก็คือเรื่องของคุณค่าของครอบครัว การพูดถึงคนรุ่นเก่า หรือคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องของการบอกว่าอนาคตเป็นของเรากลุ่มเดียวเท่านั้น แต่อนาคตหมายถึงการที่คนหลายๆ รุ่นอยู่ร่วมกันด้วยคุณค่าบางอย่าง การใช้ถ้อยคำบางคำของฝ่ายอนุรักษนิยมมีคุณค่าบางอย่างรองรับอยู่ที่อาจแตกต่างกับที่อีกฝ่ายเข้าใจ เช่น คำว่า “รากฐานทางสังคม” ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องของระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ที่จะต้องถือปฏิบัติ โดยเฉพาะกับพวกที่ถูกมองว่าเบี่ยงเบนออกไปจากกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วน ไม่สงบ (ขณะที่พวกฝ่ายที่เชื่อว่าตนเองก้าวหน้ามักชอบคิดว่า คำว่าคิดนอกกรอบ หรือ ปั่นป่วน (disruption) เป็นคำที่มีความหมายบวก หรือการออกไปทำอะไรใหม่ๆ นั้นดี หรือกฎเกณฑ์เป็นปัญหามากกว่าการเคารพกฎเกณฑ์)

คำว่า วินัย มาตรฐาน มาตรการ บ้านเมืองต้องมีกฎระเบียบ มรดกตกทอด การแข่งขัน การทำงานหนัก ขยัน อดทน การลงโทษ ธรรมชาติของสรรพสิ่งนั้นๆ การคดโกง ความเสื่อมถอย ความเบี่ยงเบน จึงเป็นคำที่ถูกหยิบใช้บ่อยๆ ในระบบการให้ความหมายและเหตุผลของฝ่ายอนุรักษนิยม

นักวิชาการบางท่านให้ความสนใจว่า การเลี้ยงดูในสังคมอาจส่งผลให้เกิดการเป็นอนุรักษนิยม แต่ที่สำคัญผมกลับคิดว่า การเลี้ยงดูแบบที่เป็นแบบก้าวหน้าในบางสังคมนั้นอาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจร่วม ดังนั้นฝ่ายก้าวหน้าจึงมักประสบปัญหาในการนำเสนอตัวแบบทางสังคมที่แตกต่าง เพราะคำว่าก้าวหน้า ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเท่ากับการเป็นกบฏต่อขนบธรรมเนียม

ในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่การศึกษาความแตกต่างระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายก้าวหน้าหรือที่เรียกว่าฝ่ายเสรีนิยมมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จะพบว่าฝ่ายอนุรักษนิยมมีโลกทัศน์และชีวทัศน์อยู่ในเรื่องของการมีครอบครัวเดี่ยว ที่พ่อมีหน้าที่ในการหาเลี้ยงและปกป้องครอบครัว รวมทั้งการวางกฎเกณฑ์ที่มีให้กับลูก ส่วนแม่มีหน้าที่ดูแลกิจการในครอบครัว เลี้ยงลูก และช่วยเหลือพ่อรวมทั้งยอมรับอำนาจของพ่อ ลูกที่ดีก็จะต้องทำตามที่พ่อแม่สั่ง แต่การทำตามไม่ใช่แค่เชื่อฟัง แต่หมายถึงการที่จะต้องมีระบบคุณค่าบางอย่างติดตัวไปด้วย นั่นคือการมีวินัยซึ่งหมายถึงการควบคุมตัวเองได้ และพึ่งพาตัวเองได้ อำนาจของพ่อแม่ที่กระทำต่อลูกคือความรักและความใส่ใจที่พ่อแม่มีให้กับลูก (รักลูกให้ตี) ดังนั้นการเชื่อฟังต่อพ่อแม่ และผู้มีอำนาจจึงเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง เพราะมันคือการยอมรับความรักที่พ่อแม่มีให้กับเรา

สำหรับฝ่ายก้าวหน้าในอเมริกานั้น การเลี้ยงดูลูกด้วยความเข้าอกเข้าใจ และสื่อสารอธิบายเหตุผลมากกว่าความกลัวว่าจะถูกลงโทษเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูลูกให้มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชน การเคารพคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าการเคารพและเชื่อฟังพ่อแม่ตัวเองในฐานะผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณโดยตรง คำว่าความเข้าใจของพ่อแม่ที่มีต่อลูกคือการเปิดกว้างให้ลูกได้มีทางเลือกเป็นของตัวเอง และมีการสื่อสารทำความเข้าใจกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ทำอะไรก็ได้

หากข้อเสนอของการทำความเข้าใจระบบภาษาของสองฝ่ายเป็นไปอย่างที่มีการนำเสนอ (มากกว่าเชื่อว่าต่างถูกอบรมมาเช่นนั้นจริงๆ) ผมก็ไม่แน่ใจว่าการถกเถียงอภิปรายกันของฝ่ายอนุรักษนิยม กับฝ่ายที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้าในสังคมไทยนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือว่าฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะไม่ได้ต่อสู้กับพวกเสรีนิยม หรือฝ่ายก้าวหน้าดังที่เราเข้าใจอย่างจริงๆ จังๆ ก็อาจเป็นได้

ที่สำคัญ เราอาจจะปะปนสิ่งที่เรียกว่าพวกประเพณีนิยมกับอนุรักษนิยมเข้าด้วยกัน เพราะอนุรักษนิยมนั้นไม่ใช่พวกโลกเก่า แต่เป็นพวกที่มีจุดยืนกับโลกสมัยใหม่แบบหนึ่ง พวกเขาเป็นทั้งผลผลิตและผู้เปลี่ยนสู่โลกสมัยใหม่เช่นกัน ในแง่นี้การวิจารณ์อนุรักษนิยมว่าเป็นพวกไม่เปลี่ยนแปลง หรือก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ค่อยทรงพลังมากนักในหลายกรณี เพราะพวกอนุรักษนิยมกลับเชื่อว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่จังหวังและข้อคำนึงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนั้นต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่

นักคิดในสายอนุรักษนิยมมักจะมีความซับซ้อน และพูดจาจับใจคนในฝ่ายอนุรักษนิยม พวกนี้มักจะมองว่าแนวคิดที่เสนอความก้าวหน้าแบบเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างรุนแรงและรวดเร็วเป็นพวกที่เต็มไปด้วยข้อเสนอที่เป็นนามธรรม เพ้อฝัน ไม่คำนึงถึงรากเหง้าของตัวเอง ไม่เข้าใจว่าตัวเราเป็นใคร ไม่เข้าใจถึงความแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเรา

การโจมตีว่าข้อเสนอของฝ่ายอื่นเป็นเรื่องนามธรรม เพ้อฝัน ทำให้อนุรักษนิยมเสนอประเด็นสำคัญว่า ไม่ว่าจะเสนออะไรขึ้นมาจะต้องคำนึงถึงสภาวะเฉพาะ หรือกาลเทศะของประเทศชาติ และชุมชนที่เราอาศัยอยู่ด้วย ดังนั้นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ รากฐานของอนุรักษนิยมคือการเมืองแบบที่จะต้องเชื่อมโยงกันกับพื้นที่ กับขนบธรรมเนียม กับประวัติศาสตร์ และกับผู้คน ดังนั้นข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้าจึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ตรงข้าม แต่ต้องนำมาปรับใช้ให้ถูกต้องคำนึงถึงสิ่งที่เรามีอยู่เสียมากกว่า

อย่างที่บิดาของฝ่ายอนุรักษนิยมสมัยใหม่อย่าง Edmund Burke ได้กล่าวไว้ว่า “เราจะต้องปฏิรูปเพื่อที่จะอนุรักษ์สิ่งต่างๆ เอาไว้” หรือแปลง่ายๆ ว่าการปฏิรูปนั้นคือการทำให้สิ่งเก่าที่เป็นของเราอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไปและไม่คำถึงถึงการเชื่อมโยงยึดโยงกันของแต่ละภาคส่วนในสังคมจึงเป็นสิ่งที่อันตราย การเมืองที่แท้จริงในมุมของอนุรักษ์นิยมจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และมันก็เกิดขึ้นมาโดยตลอด ไม่ใช่หยุดนิ่ง เหมือนที่ถูกกล่าวหา การนำความคิดนามธรรมใหม่ๆ เข้ามาจึงเป็นเรื่องที่สร้างความวุ่นวาย และไม่เข้าใจความจริง (พึงสังเกตว่าความจริงและข้อเท็จจริงในความหมายของอนุรักษนิยม กับฝ่ายก้าวหน้านั้นไม่เหมือนกัน พวกอนุรักษนิยมมองว่าข้อเท็จจริงของฝ่ายก้าวหน้าเคลือบแฝงด้วยเจตจำนงอื่น และไม่เข้าใจความจริงและข้อเท็จจริงที่อยู่ลึกลงไปในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่มิติระดับโครงสร้าง แต่เข้าใจว่าความจริงอีกระดับเป็นเรื่องความจริงในระดับจิตใจของส่วนรวมที่ผนึกสังคมเข้าด้วยกัน และเคลื่อนสังคมไปด้วยกันอย่างช้าๆ)

สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมที่เชื่อว่าตนก็ทันสมัยเขาจะไม่ยอมรับว่าเขาเป็นพวกที่ปกป้องโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่เขามองว่าพวกเขาปกป้องสังคม รักษาความเป็นอิสระของสถาบันต่างๆ ให้คานอำนาจกันไว้ และไม่ไหลไปตามกระแส แถมยังปกป้องประชาชนจากการลุแก่อำนาจของสถาบันต่างๆ และอำนาจต่างๆ เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ให้ความผูกพันกันของผู้คนและชีวิตที่ดำเนินอยู่มันดำเนินต่อไปได้

ที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ย เพื่อให้คนที่คิดว่าตนก้าวหน้าต้องคิดดูว่ากำลังเผชิญกับอะไรบ้าง อนุรักษนิยมไม่ใช่ประเพณีนิยมในความหมายหยุดนิ่ง อนุรักษนิยมมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมใหม่ และเป็นผลผลิตของสังคมใหม่เช่นเดียวกัน อนุรักษนิยมไม่ใช่ชนเผ่านิยมที่เสนอว่าเผ่าข้าถูกทุกอย่าง ดังนั้นการสื่อสารกับอนุรักษนิยมอย่างเข้าใจจะมีส่วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

เขียนมานี้ก็จำหลักการฝรั่งมาพูดทั้งนั้น เพราะผมก็ไม่แน่ใจว่าคนที่เป็นอนุรักษนิยมแบบบ้านเรานั้นเป็นอนุรักษนิยมสมัยใหม่จริงไหม ฝ่ายเสรี หรือก้าวหน้านั้นก้าวหน้าทุกเรื่องจริงไหม แต่การสะท้อนภาพสิ่งที่เขาพยายามศึกษาเข้าใจในโลกนี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการคิดและปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นครับ

หมายเหตุ – ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่าน R.Scruton. “Why it’s so much harder to think like a conservative” The Guardian. 10/09/2014. M.Kasy. “Liberal are terrible at arguing with conservative. Here’s how they can get better.”. WashingtonPost.com. 10/08/2017. G.Lakoff. Moral Politics: How Liberals and Conservatives Think. 2nd ed. University of Chicago Press.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image