ภาพเก่าเล่าตำนาน : D-DAY วันที่ทะเลกลายเป็นสีเลือด

6 มิถุนายน พ.ศ.2487 วันที่โลกต้องจารึกในประวัติศาสตร์กองทัพของสหรัฐและชาติพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี ในประเทศฝรั่งเศส

เป็นเหตุการณ์สำคัญของมนุษยชาติที่นำกำลังทหารนับแสนนาย เครื่องบิน เรือรบ พลร่ม ปืนใหญ่ อาวุธสารพัดชนิดบนพื้นพิภพเข้าประหัตประหารกันในสงครามโลกครั้งที่ 2

พลังงานของการเข่นฆ่ากันแบบสุดฤทธิ์สุดเดช แทบจะทำให้โลกหยุดหมุน ชายฉกรรจ์ที่เรียกตัวเองว่า “กองทัพสัมพันธมิตร” นับแสนถือปืนแบกอาวุธกระสุน วิ่งออกจากปากเรือยกพลขึ้นบก ลุยน้ำทะเล แล้ววิ่งเข้าหาคมกระสุนที่สาดออกมาจากปากกระบอกปืนของฝ่ายเยอรมันบนฝั่งอย่างบ้าคลั่ง แบบพระเจ้าองค์ไหนก็ช่วยไม่ได้

Advertisement

ทหารบนเรือจำนวนไม่น้อย โดนกระสุนเสียชีวิตตั้งแต่บนเรือในทะเล บ้างจมน้ำทะเลตาย เรือแตก เรือจมเพราะแรงคลื่น คลื่นลมในทะเลทำให้ทหารอาเจียนเพราะเมาคลื่น

ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตขณะวิ่งออกมาจากปากเรือตามแบบที่ฝึกมา ไม่มีใครช่วยใครได้ในท่ามกลางห่ากระสุน ทหารทุกนายที่เหยียบชายหาด ตะเกียกตะกาย พยายามคืบคลานเข้าหาที่กำบังซึ่งไม่มีอะไรให้บังกระสุน

ศพทหารเริ่มกระจายเกลื่อนชายหาดที่แสนสวย เลือดของทหารกล้าแดงฉานไปปะปนกับน้ำทะเลสีฟ้า ศพแล้วศพเล่า ทหารเยอรมันที่อยู่ในป้อมสาดกระสุนแบบเลือกยิงเป็นฉาก

Advertisement

“มึงอยู่กูตาย มึงตายกูอยู่” คือเกมที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันทั้ง 2 ฝ่าย

ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 6 มิถุนายน 2487 ผ่านไปถึง ช่วงสาย เที่ยง บ่าย และค่ำ กระสุนวัตถุระเบิดทำงานปลิดชีพทหารทั้งสองฝ่ายไม่ขาดระยะ มันเป็นวันที่แสนจะยาวนานสำหรับทหารมากกว่า 150,000 นาย จนถูกเรียกว่า “วันที่ยาวนานที่สุด” หรือ
The Longest Day

 

ลองมาย้อนอดีตสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนเกือบทั้งโลกจับอาวุธมาประหัตประหารกัน แม้กระทั่งในสยามประเทศที่เป็นสมรภูมิย่อยๆ

1 กันยายน พ.ศ.2482 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.8 ฮิตเลอร์ ผู้นำสูงสุดของเยอรมนีสั่งกองทัพนาซีอันเกรียงไกรยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป กรีฑาทัพบุกเข้ายึดครองโปแลนด์แบบดื้อๆ

วันที่ 3 กันยายน ฝรั่งเศสและอังกฤษตกตะลึงกับการตัดสินใจของผู้นำเยอรมนี เมื่อตั้งหลักได้จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี

17 กันยายน หลังจากสงบศึกชั่วคราวกับญี่ปุ่นแล้ว กองทัพสหภาพโซเวียตบุกครองดินแดนโปแลนด์ในส่วนของตน ประเทศโปแลนด์ได้ถูกฉีกแบ่งออกเป็นของเยอรมนีและสหภาพโซเวียต

ในทุกสงครามมีเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้า สหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้บรรลุสนธิสัญญาการค้าระหว่างกัน ซึ่งสหภาพโซเวียตได้รับอุปกรณ์ทางทหารจากเยอรมนีจำนวนมหาศาล โดยโซเวียตต้องส่งวัตถุดิบให้กับเยอรมนีไปเป็นผู้ผลิต

กองทัพยานเกราะของนาซีเยอรมนี ทำการรบด้วยวิธีรุกอย่างบ้าคลั่ง เอาชนะข้าศึกได้ทุกสมรภูมิ เดือนเมษายน พ.ศ.2483 กองทัพเยอรมนีบุกเข้าไปยึดเดนมาร์กและนอร์เวย์ เพราะสวีเดนมีขุมทรัพย์เหล็กกล้าที่ดีที่สุดในโลก กองทัพฮิตเลอร์ต้องการเหล็กกล้าจากสวีเดนนำมาผลิตอาวุธ กองทัพบกเยอรมนีที่ใช้ทหารราบ รถถัง ยานเกราะ เครื่องบิน ได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถพิชิตนอร์เวย์ได้ในเวลาเพียง 2 เดือน

กองทัพเยอรมนีที่รบเก่งฉกาจดุดัน ครอบครองดินแดนได้เกือบทั้งทวีปยุโรป ชาวเยอรมันภาคภูมิใจในความเป็นเยอรมัน และสะใจหลังจากชาวเยอรมันถูกกดขี่ ถูกกดดัน ควบคุมแบบหายใจไม่ออกจากสนธิสัญญาแวร์ซายน์ ครั้งเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1

อังกฤษตึงเครียดจนต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากเเชมเบอร์ลิน เป็น วินสตัน เชอร์ชิลล์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2483

ดินแดนฝรั่งเศสที่สวยงามดังเมืองสวรรค์คือ ที่หมายต่อไปของกองทัพนาซีเยอรมนี

กองทัพเยอรมนีใช้อุบายการตีอ้อมผ่านแนวเทือกเขาอาร์เดนเนส อ้อมผ่านป้อมปราการแนวป้องกันมายิโนต์ (Maginot Line) ของฝรั่งเศสที่สร้างไว้รับมือกับกองทัพเยอรมนี แนวป้อมปืนที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกที่เรียกว่า มายิโนต์ แทบมิได้ลั่นกระสุนต้านทานกองทัพเยอรมนี

กองทัพเยอรมนีทะลุทะลวงเข้าสู่เบลเยียม กองทัพรถถังจำนวนมหึมาบุกตะลุยเข้าเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ กองทัพเยอรมนีกำลังรุกไล่ ผลักดันศัตรูออกจากยุโรปแบบไม่มีแผ่นดินอยู่

ราวเดือนพฤษภาคม กองทัพอังกฤษที่ส่งเข้าไปรบในทวีปยุโรป ถูกบีบให้ล่าถอยจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป ไม่มีใครต้านทานกองทัพเยอรมนีได้ อังกฤษต้องหนีตายถอยออกจากฝรั่งเศสกลับตั้งหลักที่แผ่นดินแม่

โลกต้องจารึกความสามัคคีของคนอังกฤษ ทหาร พลเรือน ชาวประมงทั้งหมดพร้อมใจกันนำเรือของตนใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไปขนทหารอังกฤษหนีตายข้ามทะเลที่เรียกว่า “ช่องแคบอังกฤษ” กลับมาที่เกาะอังกฤษ ชาวโลกเรียกวีรกรรมที่กล้าหาญเสียสละครั้งนั้นว่า “ยุทธการดันเคิร์ก” (Battle of Dunkirk) กองทัพอังกฤษต้องทิ้งยุทโธปกรณ์หนักไว้เป็นจำนวนมากในแผ่นดินฝรั่งเศส

10 มิถุนายน กองทัพอิตาลี พันธมิตรอันแนบแน่นของฮิตเลอร์ บุกตีฝรั่งเศสแบบตีกิน-ขอส่วนแบ่ง อิตาลีโดยการนำของมุสโซลินี ประกาศสงครามต่ออังกฤษและฝรั่งเศส ชะตากรรมของฝรั่งเศสตกต่ำสุดขีด โดนตีกระหนาบแบบไม่มีทางสู้ เพียง 12 วันหลังจากนั้น ฝรั่งเศสยอมจำนน

ดินแดนฝรั่งเศสที่แสนจะอุดมสมบูรณ์ถูกชำแหละแบ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนีและอิตาลี

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรในยามสงคราม

เหลือเพียงกองทัพอังกฤษที่ยังทรงสภาพ สามารถทำการรบกับกองทัพเยอรมนีได้ ในช่วงแรกของสงครามสหภาพโซเวียตแสดงท่าทีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีอย่างออกหน้า

ระหว่างการรบอันดุเดือดกองทัพเยอรมนีเริ่มติดกับดักในหลายสมรภูมิ กองทัพโซเวียตกลับนำกำลังเข้ายึดครองรัฐบอลติก เบสซาราเบียและนอร์ทบูโควิน่า

ฮิตเลอร์เริ่มหันมาระแวงผู้นำโซเวียตที่คอยเก็บเล็กผสมน้อย แอบยึดดินแดนต่างๆ เพื่อขยายอาณาจักรของโซเวียต ความสัมพันธ์ของ 2 อาณาจักรเสื่อมทรามลง มิตรรักกำลังกลายเป็นงูเห่าตัวใหญ่

สหรัฐอเมริกามหาอำนาจกล้ามใหญ่ตัวจริง เริ่มปรับนโยบายอุตสาหกรรมในประเทศเป็นอุตสาหกรรมด้านการทหาร เร่งผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์หนักตลอดช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็น
กลางได้เริ่มออกมาตรการช่วยเหลือสัมพันธมิตรในยุโรป

สหรัฐมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอังกฤษ เริ่มกังวลในแสนยานุภาพของนาซีเยอรมนีและบรรดาชนชาติในยุโรปที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเยอรมนี ประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังคงต่อต้านการเข้าสู่สงคราม

ฮิตเลอร์สั่งเฉียบขาดให้กองทัพนาซีและหน่วยราชการลับตั้งแคมป์ในหลายประเทศในยุโรปที่มีชาวยิว มีหน้าที่จับกุม สังหารชาวยิวโดยการนำตัวเข้าห้องอบแก๊สพิษเสียชีวิตนับล้านคน

การใช้กำลังทางบก ทางเรือ ทางอากาศ เยอรมนีมีชัยเหนือข้าศึกในทุกสมรภูมิ เยอรมนีเล็งสายตาไปที่เกาะอังกฤษที่ยังยืนหยัดเป็นคู่ต่อสู้ของนาซีที่เหลืออยู่

กองทัพอากาศเยอรมนีเริ่มครองอากาศในเกาะอังกฤษ บินทิ้งระเบิด ปล่อยจรวดถล่มเกาะอังกฤษแบบไม่ปรานี เยอรมนีเตรียมการรบภาคพื้นดินบนเกาะอังกฤษ บ้านเมือง ถนนหนทาง น้ำ ไฟ และประชาชนชาวอังกฤษโดนระเบิดแบบสะบักสะบอม

พูดถึงการรบทางทะเล กองเรือรบทุกชาติต่างยกนิ้วหัวแม่มือให้เรือดำน้ำของเยอรมนีที่กินเรียบทั่วท้องทะเล

ปลายเดือนกันยายน เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ได้เป็นรวมตัวกัน 3 ชาติ ก่อตั้งฝ่ายอักษะ สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนอังกฤษ โดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะคอยคุ้มกันกองเรือสินค้าของอังกฤษที่ครอบคลุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

บทบาทของกองทัพเรือสหรัฐในแอตแลนติกตอนเหนือและตอนกลาง ทำให้เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้ากันในการทำสงครามทางทะเล

สงครามขยายตัวออกไปยังทวีปแอฟริกา กองทัพอังกฤษรบกับกองทัพของเยอรมนีในแอฟริกาอย่างดุเดือด

กองเรือราชนาวีอังกฤษประสบความสำเร็จครั้งแรกในการจมเรือบิสมาร์ค (Bismarck) ที่ทรงอานุภาพที่สุดของเยอรมนีลงได้ ชาวอังกฤษมีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้นทันตาเห็น กองทัพอากาศอังกฤษเริ่มตั้งหลักได้อีกครั้ง สามารถต้านทานการโจมตีของกองบิน ลุฟวาฟเฟ (Luftwaffe) ของเยอรมนีได้

11 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ฮิตเลอร์สั่งยกเลิกการทิ้งระเบิดเหนือเกาะอังกฤษ

สงครามแพร่ขยายออกไปเกือบจะทั่วโลก ทางด้านทวีปเอเชียมีมหาอำนาจญี่ปุ่นอันเกรียงไกร ส่งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ นำกำลังทางอากาศไปถล่มฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ของอเมริกาที่มลรัฐฮาวาย (ที่ขออนุญาตไม่กล่าวถึงในบทนี้)

สหรัฐอเมริกาที่เข้าสู่สงคราม ยังคงเป็นกองทัพที่สดชื่น มีแสนยานุภาพเป็นหนึ่งในปฐพี เริ่มวางแผนร่วมกับชาติพันธมิตรที่จะกอบกู้ยุโรปและบดขยี้เยอรมนี

สหรัฐลูกพี่ใหญ่ เริ่มการวางแผนปฏิบัติการใน พ.ศ.2486 หลายเดือนก่อนปฏิบัติการ เริ่มฝึกทหารสำหรับยกพลขึ้นบก ศึกษาสภาพอากาศ สภาพน้ำขึ้น น้ำลง ในทะเล ไม่มีใครทราบ วัน เวลา
สถานที่ วางแผนที่จะขยี้ประเทศเยอรมนีให้หายไปจากแผนที่โลก

มีการวางแผนร่วมของบรรดาขุนพลชาติพันธมิตร พร้อมกับการรักษาความลับ การแสดงลวงต่อเยอรมนีตลอดเวลา เริ่มส่งข่าวลวง รวมทั้งการใช้สายลับทำงานทั้งชายหญิงถึงขนาดพรางตัวเป็นโสเภณีเพื่อล้วงความลับ ลอบสังหารบุคคลสำคัญ สร้างสายลับให้ทรยศหักหลังกันทุกเวลานาที ในระหว่างรอเวลาสำคัญ

สายลับสองหน้าที่มีนามว่า การ์โบ (Garbo) เป็นผู้ส่งข่าวกรองลวงกลับไปยังเยอรมนี เพื่อทำให้กองทัพเยอรมันเชื่อว่าการบุกที่นอร์มังดีจะเป็นเพียงแค่การเข้าตีลวงของพวกพันธมิตร

การลวงคือ กุญแจดอกสำคัญสำหรับการรักษาชีวิตของทหารที่จะต้องวิ่งฝ่าดงกระสุน

สภาพคลื่นลมในทะเล คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้แผนการยกพลขึ้นบกที่ต้องเลื่อนมาหลายครั้ง ทหารต้องไปเตรียมพร้อมในเรือแล้วยกเลิกหลายครั้ง พลร่มแต่งร่มเดินขึ้นเครื่องเพื่อโดดลงไปขยี้กำลังรบของเยอรมันที่ชายหาดนอร์มังดีต้องยกเลิกภารกิจหลายครั้ง แม่ทัพนายกองทั้งหลาย โดยเฉพาะทหารกล้าทั้งหลายมีความกดดันสูงสุด ในระหว่างรอสภาพคลื่นลม

ฮิตเลอร์พอระแคะระคายเรื่องแผนการยกพลขึ้นบกของสัมพันธมิตร ในที่สุดฮิตเลอร์ตัดสินใจตั้งจอมพล เออร์วิน รอมเมล ให้บังคับบัญชากองทัพเยอรมันและพัฒนาป้อมสนาม วางปืนใหญ่ ทหารราบ เครื่องกีดขวาง ตามชายหาด เรียกว่า “กำแพงแอตแลนติก” คอยสังหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะบุก แต่ปัญหาคือ ที่ไหนและเมื่อไหร่?

การส่งกำลังบำรุง น้ำดื่ม อาหาร อาวุธ กระสุน น้ำมัน การส่งกลับสายแพทย์ คือการทำงานที่ท้าทายที่สุดสำหรับอภิมหาสงคราม

และในที่สุด ความพร้อมของทุกฟากฝ่าย ยกเว้นสภาพอากาศ ก็บังคับให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดต้องตัดสินใจ ท่ามกลางความเสี่ยง แต่มันคือ ความเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว

D-DAY ที่แท้จริง (ตามแผน) คือวันที่ 5 มิถุนายน แต่สภาพอากาศที่เลวร้ายในทะเล ทำให้ต้องเลื่อนการเคลื่อนกำลังออกไป 24 ชม. การปฏิบัติจริงเกิดขึ้นใน 6 มิถุนายน พ.ศ.2487

นายพล 5 ดาวของสหรัฐชื่อ พลเอก ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวด์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพันธมิตร และพลเอก เบอร์นาด มอนต์โกเมอรี อดีตผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 ของอังกฤษในแอฟริกาเหนือ ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินกองทัพพันธมิตร ตัดสินใจยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในชื่อรหัส “ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด” (Operation Overlord)

เช้าวันที่ 6 มิถุนายน 2487 สภาพคลื่นลมที่ไม่อำนวยนัก แต่ไม่มีโอกาสให้เลือกและไม่มีโอกาสให้เลื่อนได้อีก คือวันที่ทหารสัมพันธมิตรได้ทำหน้าที่ของชายชาติทหาร

ชายหาดที่เป็นพื้นที่ยกพลขึ้นบกครั้งประวัติศาสตร์โลก มีความยาวราว 80 กม. จึงต้องกระจายกำลังกัน โดยกองทัพสหรัฐจะยกพลขึ้นบกบนชายหาดที่มีชื่อรหัสว่า โอมาฮ่า และ ยูทาห์ ส่วนกองทัพอังกฤษจะขึ้นบกที่หาดโกลด์และซวอด และกองทัพแคนาดายกพลขึ้นบกที่หาดจูโน่ (ตามภาพประกอบ)

ตั้งแต่ตี 3 ของวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2487 ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดแนวรบเยอรมนีที่วางกำลังราว 50,000 นายตั้งรับในที่มั่นดัดแปลงแข็งแรงที่ชายหาด รวมน้ำหนักของลูกระเบิดประมาณ 7 ล้านปอนด์ อากาศยานกว่า 10,521 ลำ ออกบินทำภารกิจเหนือนอร์มังดีรวมทั้งสิ้นกว่า 15,000 เที่ยวบิน และมีการสูญเสียเครื่องบินไป 113 ลำ

ขณะที่กองกำลังทหารสัมพันธมิตรนับแสนนาย มายกพลขึ้นบก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำสูงสุดของเยอรมนีกำลังนอน เป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนใกล้ชิดว่า “ห้ามปลุกเด็ดขาดเมื่อท่านผู้นำหลับ” จึงไม่มีใครกล้าปลุก

พระเอกของสมรภูมินองเลือด คือทหารพลร่มอเมริกัน กองพลส่งทางอากาศ 101 และกองพลส่งทางอากาศที่ 82 ทหารพลร่มแทบทุกหน่วยกระโดดร่มลงห่างจากที่หมาย เนื่องจากเครื่องบินต้องหลบห่ากระสุนของปืนต่อสู้อากาศยาน และสภาพอากาศ พลร่มจำนวนมากเสียชีวิตตั้งแต่อยู่บนฟ้าจากการยิงสกัดกั้นของปืนต่อสู้อากาศยาน

พลทหาร จอห์น สตีล ทหารพลร่มจากกองพลทหารพลส่งทางอากาศที่ 82 ของสหรัฐ ร่มของทหารผู้นี้ลอยไปเกี่ยวกับหลังคาโบสถ์ในเมืองแซง-แมเอกกรีส และเขาต้องห้อยอยู่บนนั้นกว่า 2 ชั่วโมง

เหตุการณ์ The Longest Day ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โด่งดังไปทั่วโลกครั้งแล้วครั้งเล่า มีเพลงมาร์ช มีซากเดนของความหายนะหลงเหลือให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัสมาจนถึงทุกวันนี้

รวมทั้งสุสานของทหารผู้ทำหน้าที่อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ
สุดสายตานับหมื่นศพ

โปรดอ่านต่อตอนต่อไปครับ….

เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image