ถ้าเป็นคุณ จะเจาะถุงบรรจุก๊าซพิษหรือไม่ ? : โดย กล้า สมุทวณิช

คนส่วนหนึ่งจดจำเรื่องราวเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งสำคัญที่สุดในรอบหลายสิบปีของญี่ปุ่นเมื่อปี 1995 (พ.ศ.2538) ได้เพียงว่าเกิดจากการที่มีกลุ่มคลั่งลัทธิศาสนาปล่อยก๊าซพิษซารินเข้าโจมตีระบบรถไฟใต้ดิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

หลังจากเหตุการณ์นั้น นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ได้เขียนหนังสือสารคดีเชิงสัมภาษณ์ออกมาสองเล่ม คือ Underground และ Underground 2 – The Place That was Promised หรือ “สถานที่ในคำสัญญา” ทั้งสองเล่มมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่

ใน Underground เล่มแรกเป็นบทสัมภาษณ์ของผู้บาดเจ็บและผู้เสียหายรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง – พูดง่ายๆ คือมุมมองของ “เหยื่อ” ในเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนเล่ม 2 นั้น เป็นการสัมภาษณ์สาวกและอดีตสาวกของลัทธิโอมชินริเกียว ซึ่งจะเรียกว่าสัมภาษณ์ฝ่าย “ผู้กระทำ” ก็ไม่เต็มปาก เพราะผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดไม่มีส่วนร่วมในการโจมตีด้วยก๊าซพิษ นอกจากเป็นผู้อยู่ในลัทธิในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น

ถ้าให้เลือกอ่านได้เพียงหนึ่งเล่ม ผมก็แนะนำให้อ่านเล่ม 2 คือ “สถานที่ในคำสัญญา” ไม่ใช่เพราะขนาดที่ดูเป็นมิตรกว่าของมันเท่านั้น (Underground เล่ม 1 หน้าถึง 560 หน้า แต่เล่ม 2 นั้นหนาเพียง 224 หน้า) แต่เพราะสาระภายในนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า

Advertisement

เพราะเราจะได้ร่วมกับผู้เขียน (มูราคามิ) สำรวจความรู้สึกนึกคิดและโลกทัศน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยสังกัดอยู่ในลัทธิศาสนา (โอมชินริเกียวถือว่าตนเองเป็นลัทธิทางพุทธศาสนาวัชรยาน) คนกลุ่มที่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่เหลือเชื่อขัดต่อสามัญสำนึกได้โดยไม่ถามไม่สงสัย หรือแม้จะนึกสงสัยก็ไม่อาจขัดขืน ไม่ใช่เพียงการไปปล่อยก๊าซซารินใส่สถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น แต่รวมถึงวัตรปฏิบัติและการใช้ชีวิตในสังคมปิดของโอมชินริเกียวด้วย เช่นการยอมตนรับการทรมานอย่างแทบสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ โดยที่กลับรู้สึกว่านั่นเป็นความผิดของตนและสมควรได้รับโทษเช่นนั้น รวมถึงตรรกะความคิดที่เข้าใจยากอื่นๆ อีกมาก

ผมพบว่าเรื่องราวใน Underground 2 สถานที่ในคำสัญญานั้นสอดคล้องกับบริบท และนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างในสังคมไทยได้อย่างน่าประหลาด ระหว่างที่ฟังข่าวเศรษฐินีผู้ร่ำรวยมหาศาลถูกตั้งข้อหาและออกหมายจับเนื่องจากมีส่วนช่วยพาพระรูปหนึ่งที่ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตเงินทอนวัดหนีออกนอกประเทศ ผมรู้สึกพิศวงว่าทำไมคนที่ร่ำรวยมีฐานะขนาดนี้จึงกล้าทำอะไรเช่นนั้น การถูกออกหมายจับดำเนินคดีคาไว้ในแผ่นดินแม่ แม้ว่าจะให้ร่ำรวยแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้เป็นสุขมากนัก เพียงพระรูปหนึ่งทำให้สตรีท่านนี้กล้าเอาอิสรภาพในชีวิตมาแลกอย่างนั้นเชียวหรือ ก็พลันระลึกได้ว่าสิ่งเดียวกันนั้นเองที่ทำให้คนปล่อยก๊าซพิษฆ่าคนโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่มีเหตุแค้นเคืองอะไรยังได้

สองกรณีนี้มีสิ่งที่ร่วมกัน คือ “ศรัทธา”

Advertisement

ศรัทธาคือรูปแบบพลังงานทางใจอันทรงกำลังที่สุดของมนุษย์ เราได้เห็นความมหัศจรรย์ด้านสวยงามของศรัทธาได้เมื่อไปเยี่ยมชมมหาวิหารหรือโบสถ์วัด ศิลปะอันวิจิตรบรรจงไม่ว่าจะในศาสนาหรือวัฒนธรรมใดจะไม่อาจสรรค์สร้างขึ้นมาได้สวยงามยิ่งใหญ่ระดับนั้นเลย หากไม่มีศรัทธาของผู้คนที่เกี่ยวข้องช่วยหล่อเลี้ยง

แต่ในด้านที่มืดมนน่าหวาดกลัวของศรัทธา คือมันเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์สามารถทำอะไรที่เป็นเรื่องร้ายกาจกับผู้อื่นได้โดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องใดอื่นอีกเลย มันทำให้สาวกโอมชินริเกียวสามารถเจาะถุงใส่ก๊าซซารินบนรถไฟใต้ดินได้แม้ว่าจะหวั่นไหวลังเลเพียงใด ทำให้คนกดระเบิดฆ่าตัวตายพร้อมผู้อื่นเพื่อบูชาศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้พ่อแม่สามารถกรอกยาพิษเข้าปากลูกน้อยเพื่อที่จะได้ลาโลกไปพร้อมศาสดา ทำให้ผู้คนรุมฆ่าชายสติไม่ดีที่บังอาจทุบทำลายรูปเคารพ และทำให้ชายตาบอดคนหนึ่งแจ้งความดำเนินคดีหญิงตาบอดอีกคนหนึ่งด้วยข้อหาร้ายแรงฉกาจฉกรรจ์ที่สุดในประเทศนี้ เพราะเชื่อว่าหญิงคนนั้นลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันที่เขาศรัทธา

ศรัทธาคือเหตุผลหนึ่งในการมีชีวิตอยู่ แต่นั่นก็เป็นอันตรายยิ่งถ้าศรัทธานั้นขยายตัวเป็น “เหตุผลเดียว” ของการมีชีวิตจนบดบังตรรกะเหตุผลประการอื่นไปเสียสิ้น

ศรัทธานั้นเหมือนแสงสว่างดวงน้อยในจิตใจของแต่ละคน ขอเปรียบเทียบว่าเป็นแมลงแสงก็แล้วกัน แมลงแสงศรัทธานี้กำเนิดจากจิตใจของมนุษย์ทุกคน แต่มีธรรมชาติที่จะต้องมีอะไรสักอย่างเป็นเสาหลักให้ยึดเกาะ โดยเสาหลักที่ว่านั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล ศาสนาความเชื่อ สถาบันทางสังคมต่างๆ และอุดมการณ์ทางการเมือง

และธรรมชาติของศรัทธานั้น เมื่อเข้าไปยึดเกาะสิ่งใดแล้ว แสงศรัทธาจะยิ่งเปล่งแสงเรืองรองได้มากขึ้นไปอีก และแสงนั้นจะเรียกแมลงศรัทธาเผ่าพันธุ์เดียวกันให้มารวมตัวกันมากขึ้น และยิ่งแมลงแสงศรัทธามาอยู่รวมกันมากเท่าไร พวกมันแต่ละตัวก็จะยิ่งส่องแสงได้เจิดจ้าขึ้นเท่านั้น ส่งผลวนกลับให้หมู่แมลงแสงศรัทธานั้นสว่างโชติช่วงดุจดาวฤกษ์แรกกำเนิด

เสาหลักให้ศรัทธายึดเกาะนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเป็นความดีงามสูงสุดสำหรับผู้ศรัทธาในเชิงอัตวิสัย โดยแท้แล้วไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีงามจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยผู้ศรัทธาต้องเชื่อโดยสุจริตบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งนั้นคือสิ่งดีงามถูกต้องอันสัมบูรณ์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด

ศรัทธาทำให้ผู้ศรัทธาแต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนร่วมในสถาบันแห่งความดีงามอันยิ่งใหญ่ และด้วยเหตุนั้นก็จะยิ่งทำให้ผู้ศรัทธานั้นมีตัวตนอันเติบโตขึ้น เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับองค์รวมอันยิ่งใหญ่นั้นด้วย ดังนั้นเมื่อศรัทธามารวมตัวกันจนถึงจุดหนึ่ง สถาบันอันเป็นที่ยึดเกาะแห่งศรัทธานั้นจึงใหญ่โตสำคัญกว่าชีวิตของผู้ศรัทธามากนัก อย่าว่าแต่ร่างกายหรือของนอกกายอย่างทรัพย์สินเงินทองแรงกำลังเลย

เช่นนี้ผู้ครอบครองหรือควบคุมพลังงานแห่งศรัทธาได้มากเท่าไร จึงยิ่งมีอำนาจหรือพลังวิเศษมากขึ้นเท่านั้น ผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำทางศาสนาสามารถสั่งให้คนเป็นล้านๆ ยอมตายหรือทำให้คนอื่นตายได้ ด้วยศรัทธาใน “ชาติ” หรือตัวบุคคลผู้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ดังที่ผู้โจมตีแบบฆ่าตัวตายในทุกวัฒนธรรม จะต้องประกาศเสาหลักแห่งศรัทธาของเขาออกมาเป็นคำพูดสุดท้าย แด่พระผู้เป็นเจ้า องค์จักรพรรดิ หรืออุดมการณ์ใดๆ ก็ตาม

ผู้ครองใช้ศรัทธาที่หวังผลรองลงมาอาจจะแปรรูปศรัทธานั้นเป็นทรัพย์สินเงินทองความมั่งคั่ง เรื่องนี้ไม่ต้องยกตัวอย่างให้มาก ผู้หนึ่งซึ่งบรรลุถึงสัจธรรมข้อนี้คืออดีตพระผู้หลบหนีคดีเงินทอนวัดท่านนั้นเอง ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในขณะครองสมณเพศว่า “การตรวจสอบทรัพย์สินของพระ คือการตรวจสอบศรัทธาของประชาชน”

กระทั่งผู้ครอบครองศรัทธาสถานเบาที่สุด ก็สามารถสั่งการให้คนอื่นทำอะไรต่ออะไรให้ตนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับ เชื่อว่าเกือบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์การทำงานให้ผู้คนที่เรารักเคารพศรัทธา และเข้าใจความรู้สึกของการทำอะไรสักอย่างโดยไม่เกี่ยวข้องกับการตอบแทนหรืออำนาจใดเป็นเหตุผลสำคัญ

อย่างไรก็ดี ศรัทธาเป็นขุมพลังอันสำคัญที่สุดของมนุษย์ซึ่งสร้างทั้งกำลังใจ แรงบันดาลใจและอาจจะถึงกับเป็นเป้าหมายของชีวิต ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากศรัทธาในอะไรสักอย่างหนึ่ง เพียงแต่เราจะวางพื้นที่ของศรัทธาไว้ในสำนึกของเหตุและผลเป็นสัดส่วนเท่าไรก็เท่านั้น หากอยู่ในระดับที่ได้ดุล เราจะสามารถทบทวนศรัทธาได้ด้วยหลักเหตุและผลรวมถึงตรรกะต่างๆ ว่า สิ่งที่ศรัทธา (หรือพูดให้ถูกคือผู้ที่ควบคุมกลุ่มศรัทธาองค์รวม) เรียกร้องนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ และเราควรจะกระทำสิ่งนั้นด้วยศรัทธาหรือเปล่า ด้วยระดับที่สมดุลเช่นนี้ ต่อให้
ศรัทธาอย่างไร เราก็ไม่ฆ่าคนอื่นหรือเอาร่างกายตัวเองไปพลีให้แก่ศรัทธา

กรณีของโอมชินริเกียวและกรณีอื่นๆ อีกมาก ซึ่งคล้ายเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์โดยไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ที่จะต้องมีผู้ถูกศรัทธาครอบงำจนเบียดเบียนเหตุผลตรรกะจนลดลงเหลือน้อยหรือหมดสิ้นไป และกระทำการอันเหลือเชื่อที่เป็นผลร้ายต่อตัวเองหรือคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกผิด ซ้ำตรงกันข้ามยังรู้สึกว่าเป็นฝ่ายที่ทำถูกต้องแล้ว ดีแล้ว ชอบแล้วเสียด้วยซ้ำ

การทำความเข้าใจสาวกโอมชินริเกียวผ่านหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นเหมือนการทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ศรัทธาทั้งหลายตลอดจนตัวเราเอง ถ้าวันหนึ่งที่ต้องตัดสินใจก่อนจะปล่อยก๊าซพิษสังหารผู้คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image