วีรพงษ์ รามางกูร : ข่าวเท็จ

ในช่วงที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ต้องตรวจสอบตัวเองในการเสนอข่าว อันเนื่องมาจากความกดดันของผู้มีอำนาจในการเสนอข่าวการเมืองและสังคม ทำให้ข่าวการเมืองจืดลงอย่างหนัก การพาดหัวข่าวซึ่งต้องการความหวือหวา เตะตาผู้อ่านต้องลดดีกรีความเร้าอกเร้าใจลงไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่นิยมเรียกกันว่าหนังสือพิมพ์หัวสี ต้องหันมาพาดหัวหน้าหนึ่งด้วยข่าว “อาชญากรรม” บ้าง ข่าวพระอาจารย์ปลุกเสกของขลังบ้าง เป็นของธรรมดา

เคยมีปรากฏการณ์ความจืดชืดของข่าวการเมืองยุคสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคสมัยที่หนังสือพิมพ์หาข่าวการเมืองมาพาดหัวได้ยาก นักข่าวพยายามหาข่าวการเมืองจากนายกรัฐมนตรีก็ได้รับคำตอบว่า “กลับบ้านเถอะลูก” อยู่เสมอ จน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “เสาหลักประชาธิปไตย” ของประเทศไทย ได้ตั้งสมญานามให้ผู้นำของเราในยุคนั้นว่าท่านเป็น “เตมีย์ใบ้” ระยะนั้นจึงเป็นระยะที่หนังสือพิมพ์หัวสีหาข่าวตื่นเต้นมาพาดหัวอย่างยากลำบาก

ข้าราชการหลายคนที่ต้องการปกป้องนายกรัฐมนตรี ต้องหาทางสร้างข่าวแปลกๆ ให้หนังสือพิมพ์วิ่งตาม “ข่าวเท็จ” จึงถูกปล่อยโดยข้าราชการจากกระทรวงเกษตรบ้าง จากกระทรวงมหาดไทยบ้างอยู่เนืองๆ

“ข่าวเท็จ” หรือ “ข่าวปล่อย” ที่อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ขณะที่เป็นผู้อำนวยการกองรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็คือข่าว “เสือดำมักกะสัน” โดยปล่อยข่าวว่ามีเสือดำอาศัยอยู่ที่สถานีรถไฟมักกะสัน ซึ่งเป็นโรงงานซ่อมหัวรถจักรและสถานีต่อรถโดยสารและรถบรรทุกสินค้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ขณะนั้นมีสภาพรกชัฏ ผอ.กองรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพานักข่าวไปดูรอยเท้า หรือรอยตีนเสือดำที่ย่องเข้ามาขโมยไก่และสุนัขชาวบ้านแถบนั้นไปกิน มีซากกระดูกสุนัขและกระดูกไก่เหลือไว้ให้เห็น หนังสือพิมพ์ก็เล่นข่าวได้หลายสัปดาห์ เรื่องมาจบเมื่อมีการนำเสือดำไปปล่อยที่ห้วยขาแข้ง โดยมีนักข่าวติดตามไปทำข่าวการปล่อยเสือดำเพื่อให้หนังสือพิมพ์ปิดข่าวได้

Advertisement

ต่อมาอีก 2 เดือน เจ้าของเสือดำตัวจริงออกมาทวงเสือดำคืน เพราะ ผอ.ผู้นั้นได้ไปขอยืมเสือดำมาปล่อยเพื่อปิดข่าวที่ตนสร้างขึ้น โดยตั้งใจว่าจะปล่อยหลอกๆ เป็นการสร้างข่าวเท็จรอบ 2 แต่บังเอิญนักข่าวขอติดตามไปดู การปล่อยจึงจำเป็นต้องปล่อยเสือดำจริงๆ นำไปปล่อยที่อุทยานรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นเหตุให้ไม่มีเสือดำมาคืนเจ้าของ จะทำเรื่องเบิกเงินราชการมาคืนก็ไม่รู้จะบอกเหตุผลขอเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางอย่างไร จำนวนเงินที่เจ้าของเสือดำเรียกชดใช้ คือ 20,000 บาท เจ้าของต้องออกมาทวงทางหน้าหนังสือพิมพ์จึงได้เงินคืนไป ไม่แน่ใจว่ากรมบัญชีกลางยอมให้เบิกเงินส่วนไหน เป็นที่ฮือฮากับข่าวเท็จดังกล่าว

ต่อมาก็มี “ข่าวเท็จ” จากทางราชการอีกว่าพบ “ไข่พญานาค” ที่ปากน้ำโพ หนังสือพิมพ์หัวสี
ลงรูปพญานาคกำลังว่ายน้ำอยู่ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้คนพากันจองรถทัวร์รถไฟไปจองที่ทางรอดูพญานาค เช่นเดียวกับข่าว “บั้งไฟพญานาค” ในวันออกพรรษาลาว เนื่องจากปฏิทินจันทรคติของไทยโหรหลวงคำนวณคลาดเคลื่อนไป 1 วันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และไม่มีผู้ใดกล้าแก้ไขมาจนปัจจุบัน ผู้คนก็พากันไปจองที่ดูบั้งไฟพญานาคมากขึ้นทุกที จนในที่สุดทางการต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นแก๊สมีเทนผุดขึ้นบนน้ำในวันดังกล่าวซึ่งมีทุกปี แต่ก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมแก๊สมีเทนจึงต้องผุดขึ้นจากกลางแม่น้ำโขง ที่มองเห็นได้ทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งลาว แต่ข่าวนี้เป็น “ข่าวจริง” ไม่ใช่ “ข่าวเท็จ” เหมือนข่าว “เสือดำมักกะสัน” และข่าว “ไข่พญานาค”

อีกข่าวหนึ่งก็คืออดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ข่าวปลาช่อนที่แม่ลาอร่อยมาก เพราะปลาที่นั่นกินหอยขมซึ่งมีอยู่ชุกชุมที่แม่ลา สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปลาแม่ลามีรสชาติดีกว่าปลาช่อนที่อื่น รวมทั้งข่าวว่ามีบัณฑิตสาวสวยจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเก่าแก่ของประเทศไทยหลงรักนายกรัฐมนตรี ข่าวนี้ปล่อยโดยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จนนายกรัฐมนตรีนำเอาไปถามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

Advertisement

เจ้าตัวยอมรับว่าตนเป็นคนปล่อยข่าว เพื่อเบี่ยงเบนข่าวออกจากตัวนายกรัฐมนตรี ที่กำลังถูกหนังสือพิมพ์ลงข่าวโจมตีอยู่ทุกวันว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซาย่ำแย่ อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 รัฐบาลจำเป็นต้องตัดงบประมาณกลางปี พร้อมๆ กับขึ้นภาษีน้ำมันชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันเบนซินและน้ำมันชนิดอื่นๆ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังจึงถูกสื่อมวลชนเล่นงานอย่างหนัก วิธีหนึ่งที่จะช่วยนายกรัฐมนตรี ก็คือสร้างข่าวเท็จที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครให้สื่อมวลชนมีข่าวอย่างอื่นเล่นแทนข่าวนายกรัฐมนตรี

ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งเคยสร้างข่าวเท็จ โดยกระโดดขึ้นไปบนเวทีโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ตะโกนใส่ความนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 2 พรรคคือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญสำหรับคนในกรุง และพรรคสหชีพสำหรับคนในต่างจังหวัด โดยทั้งสองพรรคเป็นพันธมิตรกันทั้งก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง เพื่อสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัยหนึ่ง

ข่าวเท็จดังกล่าวผู้คนจำนวนมากหลงเชื่อว่าเป็นข่าวจริงมาเป็นเวลานาน จนมีนิสิตปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปสัมภาษณ์ผู้ที่กระโดดขึ้นไปตะโกนว่า รู้ได้อย่างไรว่านายปรีดีเกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต เจ้าตัวตอบว่าไม่รู้หรอก รู้แต่ว่านายปรีดีเป็นคู่แข่งหรือคู่ต่อสู้กับพรรคตนเอง

การปล่อยข่าวเท็จครั้งนั้นมีผลอย่างมหาศาล เพราะกองทัพใช้เป็นเหตุผลสำคัญของการทำรัฐประหาร ทำให้ระบอบเผด็จการทหารก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟื้นคืนชีพมา และกลายเป็นต้นแบบของการทำรัฐประหารโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ระบอบรัฐสภาจึงเป็นเพียงละครสลับฉาก เมื่อทหารแตกแยกกัน ระหว่างทหารที่เกษียณอายุราชการแล้วกับทหารที่ยังอยู่ประจำการ เพราะนายทหารใหญ่ทุกคนก็อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีกันทั้งนั้นถ้ามีโอกาส ที่ทนอยู่จนเกษียณอายุไปเฉยๆ ก็เพราะโอกาสไม่อำนวยเท่านั้นเอง เพราะทหารระลึกอยู่เสมอว่าสถาบันของตนมีหน้าที่ปกป้องประเทศชาติและราชบัลลังก์ และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หาใช่
ราษฎรไม่

การปกป้องประเทศชาติเพื่อความปรองดองในชาติเพราะประชาชนแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ทหารใส่เกียร์ว่างไม่เข้าข้างใครนอกจากตัวเอง การเมืองไทยไม่ได้มีเพียง 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่มีฝ่ายที่ 3 คือฝ่ายทหาร ที่ประกาศตนว่าเป็นกลางและไม่เคยประกาศตนว่าเป็นฝ่ายประชาชน แต่เป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่มิใช่ฝ่ายประชาชน และเป็นฝ่ายที่จะหยิบยื่นสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน

เพราะสิทธิเสรีภาพไม่ได้เกิดขึ้นเองตามสัญญาประชาคม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ทหารเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้แก่ประชาชน คณะราษฎรซึ่งนำโดยฝ่ายทหารที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ โดยทางทฤษฎีนายทหารเป็นผู้หยิบยื่นสิทธิเสรีภาพในกับประชาชน แต่ในทางปฏิบัติอำนาจอยู่กับฝ่ายทหารที่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงเวลา 85 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยถูกปกครองด้วย “ความเท็จ” ตลอดมา “ความเท็จ” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน ใช้ในการปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน

เมื่อมีการสร้าง “ข่าวเท็จ” ขึ้นว่า นายกรัฐมนตรีแนะนำว่า “เมื่อเห็นว่าน้ำมันดีเซลแพง ก็ควรหันไปเติมน้ำแทนน้ำมัน” คนไทยก็คงพร้อมที่จะเชื่อ เพราะเป็นช่วง “ขาลง” ของรัฐบาล เป็นไปตามทฤษฎีการเมืองของนักปราชญ์จีนเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อนคือเม่งจื๊อ ที่กล่าวว่าเมื่อสวรรค์จะถอดถอนผู้ปกครองออกจากอำนาจ ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้สถานที่สำคัญ และที่สำคัญมักจะมีข่าวลือที่เป็นเท็จ ที่เป็นอัปมงคลขึ้นอยู่เสมอ

ส มัยนี้เป็นโลกออนไลน์ ยุคดิจิทัล ยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดได้ง่าย ส่วนคนจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ระดับการศึกษาหรือสติปัญญาของผู้คนเหล่านั้นเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจนั้นอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือช่วงขาลง ถ้าอยู่ในช่วงขาขึ้น จะมีข่าวลืออัปมงคลที่เป็นเท็จอย่างไรคนก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเป็นข่าวดีทั้งๆ ที่เป็นเท็จ คนก็เลือกจะเชื่อโดยไม่มีเหตุผล แต่ถ้าอยู่ในช่วงขาลงสถานการณ์จะกลับกัน คนจะเลือกเชื่อข่าวที่เป็นอัปมงคลแม้จะเป็นข่าวเท็จก็ตาม

ในทางการเมืองนั้น “ความถูกต้อง” สำคัญน้อยกว่า “ความถูกใจ” เสมอ ผู้นำที่ยึดแต่ความถูกต้อง ไม่สนใจ “ความถูกใจ” นั้นไม่เคยอยู่ได้ แต่รัฐบาลที่ไม่เคยมีความถูกต้อง ไม่เคยมีความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจ แต่อยู่ได้ด้วย “ความชอบใจ” เพราะการเมืองไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่เหมือนรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ แต่ทุกวันนี้เราใช้คำว่ารัฐศาสตร์แทนคำว่าการเมืองแต่ “ความชอบใจ” นั้นอยู่ได้ไม่นาน ไม่อยู่ตลอดกาล

การเกิดข่าวลือที่เป็นอัปมงคลแทนข่าวดีที่เป็นมงคลเป็นของธรรมดา เพราะข่าวลือที่หาต้นตอไม่ได้หรือหาต้นตอได้ก็ตาม ย่อมจะต้องเป็นข่าวเท็จอยู่แล้ว เพราะ “ข่าวจริง” ไม่ใช่ข่าวเท็จ

ตำแหน่งผู้บริหารประเทศเป็นตำแหน่งสาธารณะ ต้องทนทานต่อข่าวลือ ทั้งที่เป็นข่าวจริงและข่าวเท็จ เพราะเป็นของธรรมชาติ

โมโหโทโสไปทำไม เสียบุคลิกเปล่าๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image