เมื่อการเพิ่มทุนไม่เป็นคุณต่อการจ้างงาน : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

1.ทุนกับแรงงานต่างเป็นปัจจัยนำเข้าในภาคการผลิต เป็นของคู่กัน แต่ในยุคใหม่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผู้ประกอบการมีทางเลือกใหม่โดยใช้หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ ทดแทนแรงงาน ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าความต้องการจ้างแรงงานลดลง – นี่คือข้อสันนิษฐานที่อยู่ในใจ แต่ว่าความจริงเป็นเช่นไร? จำเป็นต้องพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์

2.ด้วยความอยากรู้ ทีมวิจัยของเราพยายามสืบค้นข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลขนาดใหญ่เพราะว่าเป็นข้อมูลจดทะเบียน ทุกโรงงานมีหน้าที่แจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายกับกรมโรงงาน (ยกเว้นโรงงานเถื่อน) ฐานข้อมูลชุดนี้จึงมีคุณประโยชน์อย่างมาก นอกจากระบุประเภทอุตสาหกรรม ยังระบุขนาดเงินทุนที่ใช้ เครื่องจักร (วัดด้วยหน่วยกำลังม้า) จำนวนคนทำงาน ระบุรายจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ พวกเรานำข้อมูลชุดนี้นำมาวิเคราะห์พบว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 หัวข้อ ที่อยากจะแชร์ต่อสาธารณะ หนึ่ง ทุนภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงใด? การจ้างงานเพิ่มขึ้นอัตราเท่าใด? ระหว่างปี พ.ศ.2555-2560 สอง การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมกระจายตัวรายจังหวัดอย่างไร? สาม ความเข้มข้นของการจ้างงานเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ สถิติในตารางที่ 1 ให้คำตอบว่า ก) ทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยเรามีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปีระหว่าง 2555-2560 นับว่าสูงทีเดียว ขนาดทุนภาคอุตสาหกรรมรวมกันมีมูลค่ามหาศาล 7.4 ล้านล้านบาทในปี 2560 จากจำนวน 139,446 โรงงาน แปลว่าโรงงานใช้ทุนเฉลี่ย 53 ล้านบาทต่อโรง ข) การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวน 4 ล้านคน สรุปว่ามีการจ้างแรงงาน 29 คนต่อโรงงาน ข้อสังเกตคือว่า อัตราการขยายตัวของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมต่ำมาก 0.2% ต่อปี

Advertisement

ตัวเลขสถิตินี้ถูกนำมาคำนวณดัชนีการกระจุกตัว (concentration index) สรุปว่า เท่ากับ 0.71 ถือว่ากระจุกตัวสูงมาก จังหวัดที่เป็นฐานอุตสาหกรรมและการจ้างงานกระจุกตัวในภาคกลางและภาคตะวันออก อีกคำถามหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือ ทุน 100 ล้านบาท ช่วยให้มีคนทำงานกี่คน? คำตอบก็คือ ทุนหนึ่งร้อยล้านจ้างแรงงานได้จำนวน 117 คน วัดค่าปี 2555 แต่เมื่อเวลาผ่านไป การจ้างงานลดลงเหลือ 76 คนต่อทุนหนึ่งร้อยล้าน ณ ปี 2560 อีกนัยหนึ่งความเข้มข้นของการจ้างงานลดลงร้อยละ 35

จากฐานข้อมูลนี้ไม่ได้จำแนกว่าเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติ เป็นคำถามที่จะต้องสืบค้นต่อว่าค่าจ้างเงินเดือนได้กับคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติกี่เปอร์เซ็นต์

Advertisement

3.สิ่งบ่งชี้จากงานวิจัยนี้คือ อนาคตของการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมไม่แจ่มใสนัก จึงเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการกระจายรายได้ ปรากฏการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศที่มีผลงานวิจัยอย่างเข้มข้นมีผู้รายงานว่า สัดส่วนของค่าจ้างเงินเดือนในรายได้ประชาชน (wage share in national income) มีแนวโน้มลดลง โดยแสดงหลักฐานและให้เหตุผลว่า หนึ่ง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น สอง อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง ซึ่งก็มีหลายเหตุผล เมื่อหางานได้ยาก–คนอาจจะท้อใจที่จะออกไปหางานทำ หรือปรับวิถีชีวิตเป็นการรับงานทำที่บ้าน ได้ค่าจ้างเป็นรายชิ้น หรือหันไปเป็นผู้ประกอบการใหม่ new-start ups ว่ากันไป สาม งานวิจัยในสหรัฐบอกว่าอุตสาหกรรมบางประเภทปิดตัวไปเพราะว่าแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกกว่า (จากประเทศจีน) ไม่ได้ สี่ วิธีการจ้างงานของสถานประกอบการเองก็ปรับเปลี่ยน หันไปการจ้างแรงงานฝีมือหรือมีทักษะเฉพาะทางมากกว่าแรงงานทั่วไป

4.ขออนุญาตชี้แจงว่า เป็นการวิเคราะห์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เรายังไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงการจ้างงานในภาคบริการ อาจจะเป็นไปได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวที่กำลังบูม แรงงานจำนวนหนึ่งหันไปทำงานในภาคบริการ อาจจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า งานสบายกว่าทำโรงงาน อีกจำนวนหนึ่งหันไปทำงานภาคการเกษตร ประกอบอาชีพอิสระของตนเอง ตามข่าวในสื่อมวลชนรายงานว่า มีเยาวชนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท หันไปทำงานภาคการเกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีและความ
รู้ทำการตลาดแนวใหม่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลผลิตตรงถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ อย่างไรก็ตาม เรายังไม่มีตัวเลขยืนยันว่าแรงงานที่ประสบความสำเร็จตามแนวนี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ข้อคิดที่จะฝากให้ผู้บริหารนโยบายระดับชาติคือ อย่ามุ่งเน้นการเติบโตของ GDP หรือตัวเลขการขยายทุนหรือเร่งมาตรการเชิญชวนทุนต่างชาติเข้ามาเพียงถ่ายเดียว นโยบายการจ้างงาน (employment policy) นั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า นักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์ John Maynard Keynes ย้ำให้เราตระหนักถึงนโยบายการจ้างงานและผลต่อการกระจายรายได้ รัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบประเทศจำเป็นต้องมีทรรศนะที่กว้างไกลมากกว่าเศรษฐกิจมหภาค คำนึงถึงสถานะทางสังคมของคนส่วนใหญ่คือชนชั้นแรงงานและคนรายได้ปานกลาง ถ้าหากเศรษฐกิจดีเฉพาะนายทุนแต่ไม่เป็นคุณกับผู้ใช้แรงงาน ความสมดุลย่อมไม่เกิดขึ้น ความเดือดร้อนและการเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

การเป็นรัฐบาลต้องได้รับฉันทามติจากประชาชน ในจำนวนนี้รวมผู้ใช้แรงงานและคนชั้นกลางหลายล้านคน เราอยากเห็นข้อเสนอนโยบายการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมจากฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image