ปัจจัย เลือกตั้ง ชี้ ‘สถานะ’ ของ ‘คสช.’ รับ หรือว่า รุก

หากดูเสียงร้องของพรรคการเมืองในเรื่อง “ไพรมารีโหวต” หากดูปริมาณที่ลด ถดถอยของสมาชิกพรรคจาก 2.8 ล้าน เหลือเพียง 1 แสน

เด่นชัดว่า “พรรคการเมือง” กำลัง “ตั้งรับ”

ไม่เช่นนั้น ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย คงไม่ประสานเสียงเดียวกัน

ต้องการให้ “ปลดล็อก”

Advertisement

ไม่เพียงแต่ล็อกจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ที่เพิ่งออก หากแต่ยังรวมถึงล็อกจากคำสั่งฉบับที่ 57/2557 และฉบับที่ 3/2558

ยิ่งดูจาก “พลังดูด” ที่เริ่มอย่างคึกคัก ยิ่งแจ่มชัดในสภาพทาง “การเมือง”

แน่นอนแล้วว่า คสช.เล่นบท “รุก” อย่างต่อเนื่อง แน่นอนแล้วว่า พรรคการเมืองเล่นบท “ตั้งรับ” อย่างชนิดหนียะย่าย พ่ายจะแจ

Advertisement

จริงละหรือที่ว่า “คสช.” เป็นฝ่าย “รุก”

โดยภาพอันต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.เล่นบทรุก ดำรงอยู่อย่างเป็นฝ่ายกระทำอย่างเด่นชัด

อ่านได้จากการยกร่าง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นี่คือ การกำหนด กฎ กติกา อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นการพับสนามและดำรงความเป็นผู้ยิงประตูอย่างด้านเดียว

ขณะที่ทุกพรรคการเมืองติดอยู่ใน “ล็อก”

คสช.ปล่อยแสงออกมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น “ประชารัฐ” ไม่ว่าจะเป็น “ไทยนิยม” ล่าสุดยังเทงบประมาณลงไปในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกหลายหมื่นล้านบาท

ทำได้อย่างเต็มที่ ทำได้อย่างชอบธรรม

แต่คำถามก็เหมือนอย่างที่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์เสนอบทสรุปออกมาอย่างรวบรัด 2 ปีแรกประชาชนพอใจผลงานของ คสช.ในด้านรักษาความสงบ แต่ 2 ปีหลังเริ่มมีคำถาม เริ่มเกิดความสงสัย

ตรงนี้แหละที่เริ่มเห็น “ความหงุดหงิด” จาก “คสช.”

การดำรงอยู่ของ คสช.ในห้วง 2 ปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการทยอยออกมาของ “กฎหมายลูก”

สถานะของ คสช.เริ่มไม่เหมือนเดิม

แม้จะมีอำนาจตาม “มาตรา 44” แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถทำอะไรตามอำเภอใจเหมือนกับในห้วง 2 ปีแรก

ผลสะเทือนจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เห็นอย่างเด่นชัด

ผลก็คือ ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.อยู่เหนือ “รัฐธรรมนูญ” อยู่เหนือ “กฎหมายลูก” หากแต่ยังก่อปัญหาต่อเนื่องไปอย่างมหาศาล

กระทั่งจำเป็นต้องมีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ขณะที่เสียงเรียกร้องความชัดเจนของ “วันเลือกตั้ง” และการรักษาคำมั่นสัญญาต่อโรดแมปเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งดังอึงคะนึง

แน่ใจหรือว่า คสช.ยังเป็นฝ่าย “รุก” และรุกอย่างไม่ขาดสาย

ยิ่งโรดแมป “เลือกตั้ง” คืบคลานเข้ามาใกล้มากเพียงใด สถานะในทาง “การเมือง” ของ คสช.จะยิ่งไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น

เป็นความไม่แน่นอนแม้จะมี “มาตรา 44”

เป็นความไม่แน่นอนเมื่อ “พรรคการเมือง” เริ่มตั้งหลัก และสถานการณ์ “เลือกตั้ง” จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดสถานภาพที่เป็นจริงในทางการเมือง

คสช.จะกลายเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” มากขึ้นและมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image