พระมหากรุณาธิคุณ ‘ในหลวง’ พระราชทานพระราโชบาย ‘ราชภัฏ’ พัฒนาท้องถิ่น

นับเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จาก “พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ เริ่มต้นจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “ราชภัฏ” ซึ่งหมายถึง “คนของพระราชา” ให้กับสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535

จาก “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยครู” ได้รับเกียรติยศสูงสุด เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ เป็นตราประจำสถาบันราชภัฏ ในวันที่ 6 มีนาคม 2538

ยังความภาคภูมิใจสูงสุดมาสู่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

Advertisement

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศได้มีปณิธานอันสูงส่งในการทำหน้าที่สร้างความสุขให้กับประชาชนชาวไทยมานานกว่า 35 ปี ยึดหลักการทำงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ในมาตรา 7 ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างภูมิปัญญาของท้องถิ่น การผลิตและพัฒนาครู รวมทั้งศึกษา วิจัย เพื่อสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของตนเองเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

“เป็นความภูมิใจของชาวราชภัฏที่ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อให้สมกับเป็นคนของพระราชา” ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว

Advertisement

ไม่เพียงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมจาก รัชกาลที่ 9 เพราะตลอด 38 ปีที่ผ่านมา ชาวราชภัฏทั่วประเทศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” เสด็จฯไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นประจำทุกปี มีบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมากกว่า 2.2 ล้านคน

“ทุกปี พระองค์จะพระราชทานพระราชวโรกาสให้อธิการบดีราชภัฏเข้าเฝ้าฯ และทุกปี พระองค์มีรับสั่งว่า ราชภัฏเหมือนครอบครัวของพระองค์ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ราชภัฏได้ทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ทำงานให้เข้าเป้า ยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตนเอง ให้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ที่สำคัญจะต้องเข้าถึงประชาชน ต้องวิเคราะห์และรับทราบปัญหา ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นด้วย” ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว

โดยภายหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

” ….. ข้าพเจ้าได้ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ทำให้รู้สึกมีความสุขและผูกพันกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลายอย่างมาก ไปทุกครั้งก็มีความสุข

อยากให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏของเรา เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค และท้องถิ่นจริงๆ จังๆ ในเรื่องการดำรงชีวิต ในเรื่องความรู้ทั่วไป และข้อสำคัญคือผลิตคนดี ผลิตคนดีที่เห็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสังคม คิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่เป็นประโยชน์และเป็นกลไกที่พัฒนาประเทศได้อย่างยิ่ง ถ้าหากตั้งใจ ร่วมกันและคุยกันมากๆ จะเป็นสถาบันหลักที่พัฒนาประเทศและประชาชนได้อย่างมาก…..”

นับเป็นพระราโชบายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏน้อมนำมาปฏิบัติตาม โดยได้น้อมนำมาจัดทำ “ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ ตลอดจนพัฒนาครูและโรงเรียนให้มีคุณภาพ ตามพระราชดำริ “การศึกษาคือความมั่นคงของประเทศ” โดยเน้นด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ ให้ทุกสถาบันทำงานเข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีของท้องถิ่น โดยยุทธศาสตร์มี 4 ยุทธศาสตร์ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาท้องถิ่น มีเป้าหมายที่จะพัฒนาท้องถิ่นในด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนาครู ผลิตครูที่ได้มาตรฐานวิชาชีพและมีจิตวิญญาณความเป็นครูและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพของครู ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การศึกษา 4.0

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วยการยกระดับความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยราชภัฏ พัฒนาอาจารย์ และคุณภาพบัณฑิต

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ด้วยการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละราชภัฏ พัฒนาระบบฐานข้อมูล การใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาเครือข่าย จัดระบบงานสู่ความเป็นเลิศ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล

“มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ซึ่งตั้งครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ต่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์และทำงานสนองพระราโชบายอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจได้สมบูรณ์ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคมเป็นที่ประจักษ์ โดยมีมิติของมหาวิทยาลัยเพื่อพลังแผ่นดินในสามด้านคือ ท้องถิ่นมีพลัง ครูมีพลัง และคนมีพลัง” ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว

นับเป็นการสนองพระราโชบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริต่างๆ ของ “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป

สำหรับผลการดำเนินงาน ผศ.ดร.เรืองเดชเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งประเทศ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาท้องถิ่นจำนวนทั้งสิ้น 379 โครงการ ในพื้นที่ 1,839 หมู่บ้าน 76 จังหวัด โดยก่อนที่จะมีพระราโชบายได้ทำอยู่เดิม 170 โครงการ ในพื้นที่ 776 หมู่บ้าน 76 จังหวัด และหลังมีพระราโชบาย ได้ดำเนินการ 209 โครงการ ในพื้นที่ 1,063 หมู่บ้าน 76 จังหวัด

จากนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ได้พิจารณาจัดทำโครงการที่จะดำเนินการในรูปแบบเดียวให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับประเทศ โดยมีโครงการที่จะดำเนินการร่วมกันจำนวน 5 โครงการหลัก และโครงการตามแต่ละบริบทของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,219.554 ล้านบาท โครงการที่สำคัญมีดังนี้

– โครงการยกระดับสินค้าชุมชน OTOP มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในชุมชนและท้องถิ่นให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 329 ผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ และสัดส่วนของการลดต้นทุนหรือเพิ่มรายได้ของสถานประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

– โครงการแก้ไขความยากจนของประชาชนในเขตชนบท มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ครัวเรือนยากจน ให้สามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้อย่างเหมาะสม ดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจนกระจายในทั่วประเทศทุกภูมิภาค จำนวน 4,981 ครัวเรือน และรายได้ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพ้นเกณฑ์ความยากจน (38,500 บาท/คน/ปี) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

– โครงการส่งเสริม ความรักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย เข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือชุมชนต่อการเรียนรู้ เข้าใจ ในสิทธิหน้าที่ของพลเมืองและสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีเป้าหมายการดำเนินงานกับประชาชนในพื้นที่จำนวน 7,008 ตำบล กระจายในทั่วประเทศทุกภูมิภาค

– โครงการอ่านออกเขียนได้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับนักเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้และมีทักษะการอ่านเขียนเพิ่มขึ้น ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ มีเป้าหมายการดำเนินงานใน 1,269 โรงเรียน กระจายในทั่วประเทศทุกภูมิภาค และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีผลการทดสอบความสามารถในการอ่านและการเขียนสูงขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85

– โครงการพัฒนาความรู้ ทักษะด้านภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษาครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยกำหนดเป้าหมายเป็นนักศึกษาครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง จำนวน 64,270 คน จะต้องได้รับการพัฒนามีทักษะภาษาอังกฤษสูงขึ้นร้อยละ 80

ทั้งนี้ นอกจากโครงการที่ดำเนินร่วมกันทั้ง 5 โครงการในข้างต้นแล้วมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งยังมี “โครงการที่ดำเนินการภายใต้บริบทตามความเหมาะสมและศักยภาพของตนเอง” โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 388.463 ล้านบาท ประกอบด้วย

– โครงการด้านพัฒนาท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจ สร้างเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและแหล่งสินค้าแปรรูปจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ชุมชนบ้าน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนจากการเกษตรอาหารปลอดภัย และการค้าชายแดน จำนวน 18 โครงการ

– โครงการด้านพัฒนาท้องถิ่นด้านสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชนและผู้พิการ จำนวน 16 โครงการ

– โครงการด้านพัฒนาท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จำนวน 9 โครงการ

– โครงการด้านผลิตและพัฒนาครู เพื่อพัฒนาบัณฑิตครูต้นแบบที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และทักษะที่นำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ครูเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 56 โครงการ

– โครงการด้านยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนายกระดับความเป็นเลิศของบุคลากรและนักศึกษา นักเรียน และโรงเรียนในพื้นที่การให้บริการของมหาวิทยาลัยจำนวน 51 โครงการ

– โครงการด้านพัฒนาระบบบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล และสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายในการทำงาน ให้บริการวิชาการ ในการพัฒนาท้องถิ่นจำนวน 29 โครงการ

“จากการดำเนินการตามโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และโครงการที่จะทำในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชื่อมั่นว่าได้ปฏิบัติภารกิจตามพระราโชบายได้อย่างเป็นรูปธรรมและจะเป็นรากฐานในการทำหน้าที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิผลและส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว และว่า

“ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป ราชภัฏ คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน จะอยู่ในจิตสำนึกของพวกเรา ราชภัฏจะเป็นมหาวิทยาลัยประชาชนที่จะอยู่ใกล้ชิดกับท้องถิ่น นำความรู้เพื่อพัฒนาประชาชนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป”

อ.เรืองเดช
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image