สิ่งที่คิดได้หลัง ‘ในหลวง ร.9’ สวรรคต ของ ‘รอยล จิตรดอน’ 20 ปีที่ถวายงาน

แม้ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเสด็จสวรรคตเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว

หากในหัวใจคนไทยยังคงจดจำและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ไม่เสื่อมคลาย

พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของราษฎร โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ ที่ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ ทรงวางรากฐานไว้ให้สืบสาน รักษา และต่อยอดให้ยั่งยืนสืบไป

AFP PHOTO

ดร.รอยล จิตรดอน ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. นึกย้อนเมื่อครั้งถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านจัดทำระบบข้อมูลน้ำ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2540 ยังจดจำได้อย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างมาก มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการ “ระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย” เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2541

Advertisement

“ภายหลังจากนำข้อเสนอโครงการขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ทรงรับสั่งลงมาว่า ให้ดำเนินการตามที่เสนอมา และพระราชทานพรว่า ขอให้ทำให้สำเร็จ”

โครงการนี้แล้วเสร็จเริ่มใช้การในปี 2545 และใช้บริหารจัดการน้ำท่วมครั้งแรกในปีเดียวกัน ผลจาก “พายุเมขลา” พัดเข้าเวียดนามและตอนใต้ของจีนเดือนกันยายน 2545 แม้แนวพายุจะไม่เข้าประเทศไทย แต่ก็มีอิทธิพลทำให้มีฝนตกหนักเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งผลให้น้ำล้นเขื่อน ต้องเร่งระบายน้ำ ระบบสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะหลากเข้ามาที่กรุงเทพฯได้มากกว่า 10 วัน

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีและระบบคอมพิวเตอร์ใช้จัดเก็บและบริหารข้อมูลน้ำจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ และใช้งานร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำมากกว่า 30 หน่วยงาน ปัจจุบันเป็นห้องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของ สสนก. ที่เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ทำเรื่องนี้สำเร็จ

Advertisement

**พระอัจฉริยภาพ คาดการณ์อากาศจากประวัติศาสตร์ “พายุ”

อีกเรื่องหนึ่งที่ ดร.รอยลจดจำได้ขึ้นใจคือในปี 2544 พระองค์มีพระราชดำริสำคัญและเป็นรากฐานการบริหารจัดการน้ำมาจนถึงปัจจุบัน คือ ทรงให้รวบรวม “ข้อมูลพายุ” ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2492 จนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้คาดการณ์พายุในประเทศไทย

“ถ้าเราทราบว่าตอนนี้พายุเกิดที่ไหน เราก็ไปเทียบกับข้อมูลประวัติพายุที่รวบรวมไว้ ถ้าพายุเกิดในตำแหน่งใกล้เคียงกัน ทิศทางของพายุก็น่าจะคล้ายกัน ตรงนี้จะทำให้เราบริหารจัดการได้เร็วและง่าย”

ดร.รอยลยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าสภาพอากาศปี 2561 เหมือนปี 2532 เราก็สามารถเปิดเข้าไปดูข้อมูลปี 2532 ได้ว่า มีพายุกี่ลูก เกิดขึ้นเดือนไหน อุณหภูมิทะเลที่ล้อมรอบประเทศไทยเป็นอย่างไร

“ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราคาดการณ์และวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวได้ โดยจะรู้ว่าพายุจะเข้ามาช่วงเวลาใด เดือนใด อีกทั้งยังช่วยให้เราวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ว่าเราควรจะเก็บหรือควรจะระบาย”

ภายหลังจากรวบรวมข้อมูลและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพียง 2 วัน ดร.รอยลได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่

“พระองค์รับสั่งลงมาว่า พายุหายไป 2 ลูก และอีกลูกใส่ข้อมูลไม่ครบ อันนี้เป็นบทเรียนที่ผมได้รับว่า ทรงมีข้อมูล ทรงตรวจ ทรงวินิจฉัยงานด้วยพระองค์เอง”

ปัจจุบัน สสนก.ยังคงรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศและพายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานในการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย

**คลังข้อมูลน้ำของพระราชา

อีกหนึ่งเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำที่แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงใส่พระทัยในทุกข์สุขของราษฎร คือ เว็บไซต์ทรงงาน weather901 ที่ทรงใช้ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศทุกวัน

“พระองค์ทรงงานเหมือนนักวิชาการ เว็บไซต์ของพระองค์จะมีความละเอียด และข้อมูลเยอะมาก บอกทุกอย่างเกี่ยวกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำทั่วประเทศไทย มีข้อมูลตั้งแต่ฟ้าสู่ทะเล ทั้งข้อมูลอากาศ พายุ ฝน ทะเล มหาสมุทร ความชื้นดิน ปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงข้อมูลแก้มลิง พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์สภาพอากาศแบบเรียลไทม์ โดยทุกวันถ้าไม่มีอะไรพิเศษ ทุก 7 โมงเช้า พระองค์จะทรงเปิดข้อมูลน้ำทอดพระเนตร”

วันนี้ เว็บไซต์ weather901 ยังคงอยู่

ทว่า…ไม่มีผู้ใช้แล้ว

กระนั้น ก็ได้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเว็บไซต์ thaiwater.net ที่รวบรวมข้อมูลน้ำทั้งประเทศ ที่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้

“พระราชจริยวัตรของพระองค์ คือ ทรงทดลองทำก่อน จากนั้นจึงส่งต่อให้ราชการ เพื่อขยายผลทั้งประเทศ ไม่ใช่ทำทีเดียวทั้งหมด” ดร.รอยลเผย พร้อมอธิบายเหตุผลที่ไม่ทรงทำทีเดียวทั้งหมด

“เราไม่รู้ว่า วิธีที่ทำถูกหรือผิด อีกทั้งการค่อยๆ ทำจะทำให้คนได้ปรับตัว ได้พัฒนาตามไปด้วย”

**พระราชจริยวัตร”ด้านไอที”

การเป็นผู้ถวายงานด้านอุปกรณ์ไอที ทำให้ ดร.รอยลได้เห็นพระราชจริยวัตรของในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดการเรียนรู้ และทรงประหยัดอย่างยิ่ง

ดร.รอยลเล่าว่า พระองค์ทรงใช้คอมพิวเตอร์เมื่อพระชนมพรรษา 60 กว่าพรรษาแล้ว ทรงเรียนด้วยพระองค์เอง ทรงบันทึกการทรงงานทั้งหมดลงบนคอมพิวเตอร์ และทรงสนพระราชหฤทัยโปรแกรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องกล้องดูดาว สถาบันดาราศาสตร์จึงนำระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อภาพจากกล้องดูดาวมาทูลเกล้าฯ ถวายบนโต๊ะทรงงาน

ส่วนในเรื่องความประหยัดนั้น ดร.รอยลเล่าว่า บนโต๊ะทรงงานในหลวง รัชกาลที่ 9 มีคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง เป็นเครื่องพีซี 2 เครื่อง และเครื่องระบบแมคอินทอช 2 เครื่อง และแม้จะมีคอมพิวเตอร์แมค (Mac) ออกมากี่รุ่นๆ พระองค์ก็ยังทรงเก็บแมครุ่นแรกไว้ทรงงาน ซึ่งผมมีหน้าที่ซ่อม แต่ปรากฏไม่มีอะไหล่อยู่ในตลาด จนสุดท้ายต้องไปซื้อเครื่องเก่าไว้สำรองเครื่องหนึ่ง เพื่อจะถอดอะไหล่มาเปลี่ยนเครื่องแมคของพระองค์ท่าน

**ร.9 ทรงงานแบบ “คิดแมคโคร-ทำไมโคร”

จากการได้ถวายงานที่ซึมซับมาเกือบ 2 ทศวรรษ โดยทุกปี ดร.รอยลจะเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลเรื่องการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำ โดยเตรียมข้อมูล 3 เรื่องถวายรายงาน เรื่องแรก ปีที่ผ่านมาสถานการณ์น้ำเป็นอย่างไร 2.ปีที่กำลังจะขึ้นศักราชใหม่ คาดว่าฝนจะเป็นอย่างไร และ 3.เรื่องของการจัดการน้ำชุมชน

ความประทับใจในการทรงงาน ที่ทรงวิเคราะห์ ทรงคาดการณ์ และทรงบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ และทรงนำประสบการณ์มาสรุป แล้วทรงสอนด้วยการตั้งคำถาม ทำให้ ดร.รอยลได้ซึบซับและได้ “หลักคิด” มาเป็นแนวทางในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

ดร.รอยลเผยว่า พอเรามีข้อมูลน้ำ ทุกคนก็หวังจะให้ประเทศเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผมด้วย แต่สิ่งที่พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง คือ ทรงมองภาพรวมทั้งประเทศแบบ “แมคโคร” (macro) แต่ทรงทำแบบ “ไมโคร” (micro)

“ซึ่งนี่คือที่มาของการจัดการน้ำชุมชน ที่เราทำมาได้ 10 กว่าปี พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดตั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และพระราชทานรางวัลให้กับชุมชนที่บริหารจัดการน้ำดีเด่น โดยรางวัลที่ 1 ได้ถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรางวัลที่ 2 ได้ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

วิธีการดำเนินงานคือ การหาชาวบ้านที่เก่งเรื่องน้ำ แล้วมูลนิธิก็นำเทคโนโลยีสมัยใหม่รวมทั้งเรื่องทฤษฎีใหม่เข้าไปถ่ายทอด ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำ ที่ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง

“เรื่องนี้ชาวบ้านเป็นคนทำ เป็นเจ้าของโครงการ โดยเขาสามารถบริหารจัดการให้เดือนพฤศจิกายนมีน้ำสำรองร้อยละ 80 ไว้ใช้หน้าแล้ง เมื่อเริ่มฤดูฝนก็จะเหลือน้ำไว้สำหรับเริ่มเพาะปลูกร้อยละ 40 ซึ่งสูตรนี้เป็นหลักการที่รัชกาลที่ 9 ทรงใช้ในการจัดการน้ำ”

ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการบริหารจัดการน้ำถึง 1,400 กว่าหมู่บ้าน ทั้งในภาคอีสาน เหนือ และใต้

“ผลสำเร็จที่ได้คือ รายได้เขาเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะเขาทำเกษตรหน้าแล้งได้ และบทพิสูจน์ชัดเจนคือปี 2558 ที่อื่นแล้งหมด แต่เขาไม่ขาดน้ำเลย ปีที่มีน้ำท่วม เขาก็ไม่ท่วม การบริหารจัดการน้ำชุมชน เปลี่ยนชีวิตคน เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จที่นำมาซึ่งรายได้ ความมั่นคง และความสุข”

“เรื่องที่สำคัญ ผมได้เรียนรู้ จากที่ถวายงานและนำหลักการต่างๆ ที่รับสั่งสอนไว้ มาปฏิบัติ คือ การบริหารความเสี่ยง เพราะผลสุดท้ายแล้ว พอเราไม่เสี่ยง ทุกอย่างมันดีขึ้นเอง”

“ถ้าเรามัวแต่ทำการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ เราก็จะมีแต่แผนงาน แต่โอกาสที่จะทำ โอกาสที่จะเข้าใจ โอกาสที่จะวิเคราะห์ให้เห็นเหตุแห่งปัญหา ผมว่า สู้ทำเล็กๆ ไม่ได้ แล้วก็เอาคำตอบจากเล็กๆ มาต่อเชื่อมเป็นระบบใหญ่”

ดร.รอยล จิตรดอน

**”ความคิด” ที่ได้หลัง “สวรรคต”

ดร.รอยลกล่าวว่า ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวรรคต ก็ได้มานั่งทบทวนสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติ และได้หลักคิดหลายอย่างจากการทรงงานของพระองค์

“หลังจากพระองค์สวรรคต ผมได้มานั่งคิดและเห็นว่า สมัยหนึ่งทุกคนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทุกคนพูดถึงการลดผลกระทบ หรือมิติเกชั่น (Mitigation) ขณะที่พระองค์รับสั่งถึงอเเด็ปเทชั่น (Adeptation) หรือการปรับตัว นั่นก็คือ การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

“พอเข้าใจ เราจะเข้าใจเหตุ เราก็จะแก้ที่เหตุ และปรับตัว แต่ฝรั่งไม่ใช่ ไปแก้ที่ปัญหา คือ ลดปัญหา โดยไม่ได้แก้ที่เหตุ ทำให้ แก้ไม่จบ ซึ่งปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติได้หันมาทำเรื่องอแด็ปเทชั่น หรือ การปรับตัว เป็นอันดับ 1 แล้ว”

อีก 2 เรื่อง คือ ทฤษฎีใหม่ กับ แก้มลิง

“สิ่งที่รัชกาลที่ 9 ทรงทำ แล้วผมเพิ่งเข้าใจ หลังจากสวรรคตไปแล้ว คือ ทฤษฎีใหม่ กับ แก้มลิง”

“แก้มลิง คือ น้ำมากก็เก็บไว้ก่อน พอน้ำไม่ท่วมแล้ว ค่อยระบายออก ซึ่งนี่คือ การบริหารความเสี่ยงทำไมผมถึงใช้คำว่า บริหารความเสี่ยง เพราะถ้าเราบริหารแก้มลิงเป็น เวลาน้ำท่วม เราเอาไปเก็บไว้ก่อน มันก็ไม่ท่วม เวลาน้ำแล้ง ก็จะมีน้ำในแก้มลิงมาใช้ ดังนั้น มันแก้ 2 ปัญหาพร้อมๆ กัน” ดร.รอยลอธิบาย

ส่วนเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” ดร.รอยลเผยว่า เป็นการบริหารความเสี่ยงเรื่องน้ำ เวลาน้ำมาก ก็เอาน้ำไปเก็บ พอน้ำน้อย ก็เอาน้ำออกมาใช้ ส่วนพืชก็ปลูกหลายอย่าง ทำให้ไม่มีปัญหาตลาด แล้วก็ขายเอง ทำให้ไม่ถูกกดราคา

“ถ้าได้ทำ 4 เรื่อง คือ 1.บริหารน้ำ 2.บริหารการเพาะปลูก มีพืชหลายอย่าง 3.ขาย 4.มีทุน แน่นอน ไม่มีกำไรเยอะ แต่ไม่จน ในขณะที่เราวางแผนที่จะกำไรสูงสุด ผลสุดท้ายเราจน เพราะเราไปเพิ่มความเสี่ยง ความเสี่ยงยิ่งสูง ไม่ได้บริหารความเสี่ยง Risk Management ซึ่งโลกสมัยใหม่เพิ่งมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่ทฤษฎีใหม่ทำ 20-30 ปีแล้ว และผลสุดท้ายทำให้เกิดความมั่นคง”

“อันนี้ คือสิ่งที่ผมเพิ่งมาเข้าใจ”

 

“เพราะฉะนั้น ผมได้อยู่ 2-3 เรื่อง 1.หลักคิด คิดใหญ่ทำเล็ก 2.เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 3.ทฤษฎีใหม่ (คือการบริหารความเสี่ยง) ทุกคนคิดถึงว่าต้องมีที่เท่านั้น มีแหล่งน้ำเท่านี้ แต่รากฐานจริงๆ พระองค์ทรงสอนให้เรารู้จักบริหารความเสี่ยง เราบริหารได้ เราก็ไม่มีวันหมดเนื้อหมดตัว ความมั่นคงก็เกิด ความรัก ความสามัคคีก็เกิด”

“และหลังสุด หลักพวกนี้ หลังจากไปประชุมที่เจนีวา สำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ได้ยกย่องว่าประเทศไทยมีตัวอย่างการบริหารความสำเร็จในระดับชุมชน ถือว่า ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

“ถามว่ามาจากไหน ก็มาจากหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมองได้กว้างและลึก ทรงเป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติ ทรงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ทรงมุ่งพัฒนาชนบท พระราชกรณียกิจของพระองค์ชนะใจคนไทย”

เฉกเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย 2 ปีแล้ว แต่ความทรงจำและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพระองค์ไม่เคยเสื่อมคลาย ดร.รอยลตั้งใจว่าจะทำงานสืบสานพระราชดำริต่อไป เพราะแนวพระราชดำริที่ทรงวางไว้ เวลานำไปทำ ไปปฏิบัติ สามารถสร้างความสำเร็จได้ตลอด

ในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต ดร.รอยลฝากถึงคนไทยทุกคนว่า

“ถ้าเรารักพระองค์ ก็อยากให้ทำงานมากกว่าจัดงาน ดั่งเช่นที่พระองค์ทรงสอนเอาไว้”

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image