กรมสรรพาวุธฯ บวงสรวง ‘กลองมโหระทึก’ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ภาพชุด)

เมื่อเวลา 08.08 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก เขตดุสิต กรุงเทพฯ กรมสรรพาวุธทหารบกจัดพิธีบวงสรวงกลองมโหระทึก และเปิดการฝึกชุดครูฝึกและกำลังพลกรมสรรพาวุธทหารบก ในขบวนพยุหยาตราสถลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยมีผู้บริหารกรมสรรพาวุธ และกำลังพลผู้เข้ารับการฝึกเข้าร่วมในพิธี

พล.ท.ศักดา ศิริรัตน์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้อำนวยการกองอำนวยการกรมสรรพาวุธทหารบกสนับสนุนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำพิธีบวงสรวงกลองมโหระทึก ลำดับพิธีตามที่เจ้าหน้าที่พราหมณ์กำหนด จากนั้นให้โอวาทก่อนกล่าวเปิดการฝึก ความว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานในการเปิดการฝึกชุดครูฝึกและกำลังพลกรมสรรพาวุธทหารบก ในขบวนพยุหยาตราสถลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่ง กรมสรรพาวุธทหารบกได้รับพระมหากรุณาธิคุณมอบหมายภารกิจอันเป็นเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ในการจัดกำลังพลเข้าร่วมในริ้วขบวนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานแบกหามกลองมโหระทึกในริ้วขบวนที่ 2 คือริ้วขบวนราบใหญ่ และในริ้วขบวนที่ 3 คือขบวนพยุหยาตราสถลมารค นับเป็นภารกิจสำคัญยิ่งและมีเกียรติยศสูงสุด ขอให้กำลังพลทุกนายตั้งใจฝึกซ้อมเพื่อให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง ครอบครัว และเกียรติยศของกรมสรรพาวุธทหารบก รวมทั้งเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติด้วย และเสร็จสิ้นพิธี

Advertisement

ทั้งนี้ กรมสรรพาวุธได้รับมอบหมายภารกิจในการจัดกำลังพลเข้าร่วมในริ้วขบวนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 โดยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานแบกหามกลองมโหระทึกน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ริ้วขบวนละ 4 หมู่ จำนวน 16 นาย และสารวัตรกลองในริ้วขบวนจำนวน 2 นาย ซึ่งกำลังพลเหล่านี้จะร่วมเดินในริ้วขบวนที่ 2 และริ้วขบวนที่ 3 คือริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค ระยะทางรวมทั้งสิ้น 6.6 กิโลเมตร ทางกรมสรรพาวุธจึงต้องจัดกำลังพลเป็น 2 ผลัด มีจุดเปลี่ยนที่วัดบวรนิเวศวิหาร

สำหรับท่าที่ทำการฝึกมี 12 ท่า ประกอบด้วย บุคคลท่ามือเปล่า ท่าถวายบังคม ท่านั่งคุกเข่าวันทยาหัตถ์ ท่าถอดหมวก-สวมหมวก ท่านั่งพับเพียบกราบ ท่าถอดหมวกถวายบังคม ท่าหันอยู่กับที่ ท่ายกกลอง-ลดกลอง ท่าเดินขณะยกกลอง ท่าเดินประกอบดนตรี ท่าผลัดเปลี่ยน และมารยาทราชสำนัก โดยมี พ.ท.สิทธิศักดิ์ ศรีนวลดี ทำหน้าที่หัวหน้าชุดครูฝึก

โดยจะเริ่มซ้อมตั้งแต่วันนี้ (26 กุมภาพันธ์) ไปจนถึง 3 พฤษภาคม 2562 รวมระยะเวลา 10 สัปดาห์ สำหรับการฝึกซ้อมครั้งที่ 1 และ 2 ในวันที่ 21 มีนาคม และ 28 มีนาคม ณ พื้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ส่วนครั้งที่ 3-5 จะเป็นการซ้อม ณ พื้นที่จริง ในวันที่ 12 เมษายน, 21 เมษายน และ 28 เมษายน

Advertisement

พราหมณ์ คีษณพันธ์ รังสิพราหมณกุล พราหมณ์พิธี กล่าวว่า พิธีบวงสรวงครั้งนี้จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในพระราชพิธีจะมีเทวดารักษาอยู่ การใช้ของจึงต้องใช้ถูกวิธี จึงมีการจัดพิธีบวงสรวงในครั้งนี้ ซึ่งการบวงสรวงกลองมโหระทึกเป็นการบอกกล่าวเทวดาทั้งหลายว่า เครื่องดนตรีนี้จะใช้บรรเลงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความพร้อมว่าจะปฏิบัติงานใดๆ ทั้งนี้ ขั้นตอนการบวงสรวงแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากทำประการใดผิดพลาด 2.การถวายของ ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในพิธีบวงสรวงทุกครั้งคือกล้วยกับมะพร้าว รวมถึงของที่มีชื่อมงคล รสหอมหวาน ไม่ตกไม่ช้ำไม่เน่า สำหรับพิธีบวงสรวงในวันนี้ใช้สูตรมังสวิรัติ ไม่มีเนื้อสัตว์แต่มีไข่ต้มบนยอดพานบายศรี และ 3.เป็นการขอพรเพื่อให้กำลังพลของกรมสรรพาวุธทหารบกที่เข้าร่วมขบวนได้ประสบความสำเร็จ

“กลองมโหระทึกจะใช้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณ ตีในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และราชพิธีต่างๆ สำหรับในพิธีบวงสรวงครั้งนี้ มีกลองมโหระทึกจากสำนักพระราชวัง 4 ใบ ที่ใช้ในพระราชพิธีจริง นอกจากนี้มีกลองมโหระทึกที่กรมสรรพาวุธได้จำลองขึ้นให้ใกล้เคียงของจริงเพื่อใช้ในการฝึกซ้อมริ้วขบวนอีก 2 ใบ ร่วมพิธีบวงสรวง” พราหมณ์พิธีแจกแจงรายละเอียด

สำหรับประวัติศาสตร์กลองมโหระทึกในประเทศไทยถือเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน โดยมีหลักฐานแสดงถึงการใช้กลองมโหระทึก เช่น ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย กล่าวว่า มีการใช้กลองมโหระทึกกันแล้วแต่จะเรียกว่า “มหรทึก” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการกล่าวถึงชื่อกลอง มโหระทึก ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งประกาศใช้ในแผ่นดินสมัยนั้นแต่เปลี่ยนเป็นชื่อเรียกว่า “หรทึก” และใช้ตีในงานราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร ขุนนางที่ทำหน้าที่ตีมโหระทึกมีตำแหน่งเป็น “ขุนดนตรี” จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เรียกชื่อกลองดังกล่าวว่า “มโหระทึก” และเรียกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีการใช้กลองมโหระทึกในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล หรืองานรัฐพิธีต่างๆ รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปี 2562 ครั้งนี้อีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image