น้ำพระราชหฤทัย ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ‘ร้านภูฟ้า’ พระเมตตาต่อเด็กเยาวชนไทย

น้ำพระราชหฤทัย ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ‘ร้านภูฟ้า’ พระเมตตาต่อเด็กเยาวชนไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะเรื่องเด็กและเยาวชนที่ทรงใส่พระราชหฤทัยในทุกๆ ด้าน ทั้งสุขภาพอนามัย และการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งก่อกำเนิดเป็นโครงการในพระราชดำริต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือเด็กๆ และเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับการศึกษา เติบโตเป็นอนาคตที่ดีของชาติสืบไป

โดยหนึ่งในโครงการในพระราชดำริที่สำคัญ คือ โครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตามมาด้วยการจัดตั้ง “ร้านภูฟ้า”

คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ประธานคณะทำงานดำเนินงานร้านภูฟ้า เล่าว่า ร้านภูฟ้าเป็นร้านที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นภายใต้กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เมื่อปี พ.ศ.2544 จากจุดเริ่มต้นที่ “ทรงห่วงใยเด็กๆ” ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนในถิ่นชนบทห่างไกลไปแล้ว เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จะทำงานอะไรต่อ เพราะจะให้มาแข่งเข้าเรียนกับนักเรียนในเมืองคงลำบาก ฉะนั้นจึงต้องมีอาชีพติดตัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี “โครงการส่งเสริมอาชีพ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในถิ่นทุรกันดารห่างไกล และสร้างกลุ่มอาชีพต่างๆ กระทั่งเกิดเป็นผลผลิตทยอยออกมา พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ในช่วงแรกก็นำมาขายในงานกาชาด

“แต่งานกาชาดมีปีละครั้ง ครั้งละ 5-6 วันเท่านั้น จึงมีผลิตภัณฑ์ชาวบ้านตกค้างสะสมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่สวนจิตรลดา บางอย่างเป็นของกิน เก็บในตู้คอนเทนเนอร์ก็อาจเน่าเสียไป”

Advertisement

“พอถึงเวลาหนึ่ง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ที่ทำงานมานี้ไม่ครบวงจร ส่งเสริมให้เขาผลิต แต่ไม่มีช่องทางการขายเพียงพอ พอดีกับมีผู้ถวายพื้นที่ในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ จึงทรงเห็นว่าหากตั้งร้านขึ้น และให้ร้านรับซื้อของชาวบ้านเอามาขายในเมือง เพื่อจะให้คนเมืองได้เห็นว่าชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร เขาพยายามที่จะช่วยตนเอง เขารู้อะไรก็พยายามทำ เขาอยากทำของพวกนี้มาขาย แต่หากไม่มีใครซื้อเขา เขาจะทำไปทำไม” คุณหญิงสุชาดากล่าว

พระราชทานชื่อ-แนวดำเนินงานร้านภูฟ้า

ไม่เพียงพระราชทานชื่อร้านภูฟ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานแนวทางการจัดการและดำเนินงานของร้าน

Advertisement

 

คุณหญิงสุชาดาเล่าว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ร้านภูฟ้าเป็นร้านขายของตามปกติธรรมดา ไม่ใช้อาสาสมัคร แต่มีพนักงานประจำร้าน เพื่อจะสามารถกำกับและคุมคุณภาพงานได้

“พระองค์รับสั่งถึงการดูแลลูกค้า เช่น กิริยามารยาทต้องเรียบร้อย กล่าวคำทักทายลูกค้า ดูแลให้ความช่วยเหลือตามที่พึงเป็นด้วยบริการที่ดี ตลอดจนรับสั่งเรื่องการเงินของร้าน จะต้องมีความโปร่งใส ซื้อของต้องออกใบเสร็จให้ลูกค้า มีระบบบัญชี การจัดทำรายงานการเงินและการตรวจสอบบัญชีจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะทำงานดำเนินงานร้านภูฟ้า เพื่อมาบริหารร้าน”

ร้านภูฟ้า สาขาแรก ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2544 อยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 3 ก่อนทยอยเปิดตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 สาขา

ภายในร้านมีผลิตภัณฑ์ฝีมือชาวบ้านจากทั่วประเทศ ได้แก่ ผ้าปกากะญอ ผ้าไหม ผ้าขาวม้า ผ้าบาติก ผ้าห่มทอมือ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชา สมุนไพร เครื่องจักสาน แชมพูและครีมนวด เครื่องเงิน ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม

“ร้านภูฟ้ามีหน้าที่อย่างเดียวคือ ไม่ว่าชาวบ้านจะผลิตอะไรมา ปริมาณเท่าไหร่ เราต้องรับมา และขายให้ได้ บางครั้งได้สินค้ามาเยอะมากจนขายไม่ทัน จึงต้องเอามาแปรรูป เช่น ทำเป็นกระเป๋าผ้า หรือหลายครั้งต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อจะระบายสินค้าและรับของใหม่เข้ามา”

“หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วผลประกอบการร้านภูฟ้าขาดทุนไหม บอกได้เลยว่า เราไม่ขาดทุน”

พระเมตตาภาพวาดฝีพระหัตถ์

คุณหญิงสุชาดาเล่าว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นว่า หากขายของชาวบ้านอย่างเดียว ร้านคงไปไม่รอด ดังนั้นจึงทรงมีพระเมตตาพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ตามปีนักษัตร ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาแก่ร้านภูฟ้า ซึ่งเราก็ได้เชิญมาประดับบนเสื้อ หมวก ร่ม การ์ด ถ้วยน้ำ ฯลฯ ที่คิดว่าจะขายได้

“ปรากฏว่าสินค้าที่มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ขายดีอย่างมาก โดยเฉพาะเสื้อโปโล ที่ประชาชนต่างซื้อเป็นของฝากที่ระลึกช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ทำให้กลายเป็นกลุ่มสินค้ารายได้หลักของร้านภูฟ้า และทำให้มีผลกำไรเกิดขึ้น”

แต่ทั้งนี้ ในส่วน สินค้าฝีมือชาวบ้าน ก็มีความพยายามยกระดับมาตรฐานการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอด โดยสำนักงานโครงการส่งเสริมอาชีพ ในพระราชดำริฯ ที่นำผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปอบรมความรู้ให้ชาวบ้าน รวมถึงการขอรับรอง อย. ตลอดจนแผนกำลังผลิตแต่ละปี

ขณะที่ร้านภูฟ้าก็แจ้งผลการตอบรับสินค้าจากหน้าร้านว่าสินค้าใดเป็นที่นิยม เพื่อให้ผลิตเพิ่ม และสินค้าไหนขายยาก ควรปรับรูปแบบหรือผลิตน้อยลง โดยปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพที่ส่งสินค้าขายร้านภูฟ้า จำนวน 130 กลุ่ม มีสมาชิกรวม 3,176 คน กระจายทั่วประเทศ

ผลกำไรสร้างอาชีพราษฎร-อาหารกลางวันเด็ก

ไม่เพียงราษฎรตามตะเข็บชายแดนจะมีอาชีพมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ส่งขายร้านภูฟ้า ก็ยังมีราษฎรอีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากร้านภูฟ้าเช่นกัน จากการนำรายได้ส่วนที่เหลือของร้านไปจุนเจือ

คุณหญิงสุชาดาเล่าว่า แต่ละปีทางสำนักงานโครงการส่งเสริมอาชีพฯ จะคัดเลือกโรงเรียน หรือกลุ่มชาวบ้านในถิ่นห่างไกลที่ยังขาดแคลน เช่น ต้องการอาคารโรงเรือนผลิตสินค้า รวมถึงปัญหาเรื่องอาหารกลางวันของนักเรียน ที่งบประมาณจากรัฐบาลอาจให้ไม่ครบทุกชั้น ก็จะทำเรื่องทูลเกล้าฯขอพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็จะพระราชทานความช่วยเหลือ จากเงินรายได้เหนือรายจ่ายของร้านภูฟ้า

นอกเหนือจากโครงการอื่นๆ ที่พระราชทานแก่เด็กและชาวบ้าน เช่น โครงการอาหารกลางวันที่ทรงส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผัก และยังพระราชทานนมดื่มแก่เด็กนักเรียนด้วย ตามรับสั่งที่ว่า “เด็กต้องกินไข่ กินนม”

สำหรับกลุ่มชาวบ้านนั้น ทรงให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างอาชีพให้ชาวบ้านและพระราชทานเงินทุนหมุนเวียนให้เปล่า 50,000 บาทต่อกลุ่ม เพื่อให้ตั้งกลุ่มอาชีพทำผลิตภัณฑ์มาขายร้านภูฟ้า เป็นการสนับสนุนให้เขาเริ่มต้นอาชีพได้

ขณะที่หลายๆ กลุ่มเกิดการรวมตัวขึ้นจริง แต่ไม่มีสถานที่ดำเนินการอย่างเหมาะสม ทางสำนักงานโครงการส่งเสริมอาชีพฯ ก็จะทูลเกล้าฯขอพระราชทานสร้างอาคารโรงเรือนให้ โดยมีร้านภูฟ้าสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมๆ แล้วแต่ละปีร้านภูฟ้าได้สนับสนุนความช่วยเหลือเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท

“พระองค์จะไม่ทรงจำกัดโอกาสของชาวบ้าน หากชาวบ้านพัฒนาของได้แล้ว ว่าจะต้องมาขายให้ร้านภูฟ้าอย่างเดียว แต่หากมีตลาดที่อื่นจะขยายได้ ก็ทำเลย ขายได้เลย หรือจะไปเข้าเป็นสินค้าโอท็อปก็ได้เลย เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้น หากเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็เป็นที่น่ายินดีมากกว่า เพื่อที่เราจะไปช่วยเหลือกลุ่มที่ลำบากกว่านั้น นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา”

ทรงห่วงทุกข์ร้อนราษฎร

“สมเด็จพระเทพฯ ทรงเห็นความทุกข์ร้อนของราษฎร และทรงไม่ปล่อยไว้อย่างนั้น เด็กนักเรียนเป็นกลุ่มที่พระองค์ทรงช่วยตลอด จะสังเกตว่าทรงมีนักเรียนทุนพระราชทานในพระองค์เยอะมาก เช่น เด็กนักเรียน ตชด.ที่มีแววดี ทรงส่งเรียนต่อ เช่น เรียนพยาบาล เรียนต่อต่างประเทศ และทรงไม่ได้ผูกพันว่าเรียนจบแล้วต้องมาทำงานกับพระองค์ ขอเพียงทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แม้จะทำงานเมืองนอกพระองค์ก็ไม่ทรงว่า เพราะอยู่เมืองนอกบางครั้งอาจทำประโยชน์มากกว่าอยู่ที่เมืองไทยก็ได้” คุณหญิงสุชาดากล่าว

ด้วยทรงห่วงทุกข์ร้อนของราษฎร ทำให้เวลาเสด็จฯไปทรงงานที่ไหน จะทรงโปรดให้ผู้ตามเสด็จฯ ไปดูและซื้อของช่วยชาวบ้าน ซึ่งเรียกกันว่า “สินค้าตามเสด็จฯ” ก่อนจะพระราชทานให้ร้านภูฟ้าไปจัดการขาย ซึ่งหลายครั้งคณะทำงานดำเนินงานร้านภูฟ้าได้มาพิจารณาต่อว่าสินค้าตามเสด็จฯ นี้สามารถนำมาขายได้ ก็จะสั่งซื้อสินค้าตามเสด็จฯดังกล่าวมาขายร้านภูฟ้าอีก กลายเป็นว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนอื่นๆ ได้อีก

“ประเทศของเรา ทุกคนยังไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกัน ยังมีคนที่เขาลำบากและทุกข์กว่าเรา ฉะนั้นหากเราได้มีโอกาสช่วยบ้าง อาจไม่ใช่ว่าต้องไปทำบุญใหญ่ แต่เพียงแค่มาซื้อของในร้านภูฟ้า ซึ่งนอกจากได้ของดีขายในราคายุติธรรม ยังเหมือนได้ร่วมทำบุญไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมากๆ”

สำหรับอนาคตร้านภูฟ้า คุณหญิง สุชาดากล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงไม่ได้รับสั่งมาว่าต้องเป็นอย่างไร เพราะพระองค์ทรงงานและอยากทำให้ทุกอย่างดีขึ้นสำหรับวันนี้ ส่วนอนาคตก็เป็นไปตามเส้นทางอนาคต ไม่ได้ทรงกังวลพระทัยอะไร ขณะที่คณะทำงานดำเนินงานร้านภูฟ้าก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อไป

“ซึ่งหากต่อไปข้างหน้าประเทศไทยเจริญขึ้น จนชาวบ้านสามารถดูแลตัวเองได้ทั้งหมด พระองค์ก็อาจเปลี่ยนไปทรงงานอย่างอื่นที่เป็นที่ต้องการมากกว่า อย่างที่ทรงงานเรื่องสุขภาพ การศึกษา โภชนาการ ที่ทรงทำทุกด้านอยู่แล้ว” คุณหญิงสุชาดากล่าว

คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์

น้ำพระราชหฤทัยเพื่อปวงชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image