ทูลกระหม่อมฯ ทรงเล่าถึงตำนาน ‘ข้าวแช่’ อาหารที่เข้ากับเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์อินสตาแกรมส่วนพระองค์ nichax เป็นพระรูปและข้อความว่า

ในช่วงหน้าร้อนระอุ และเรากำลังจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์แล้ว อาหารที่จะเข้าบรรยากาศตอนนี้ก็คือข้าวแช่ ซึ่งเป็นอาหารโบราณ ทำยาก และรับประทานก็ยาก คนที่ไม่คุ้นเคยก็จะรู้สึกแปลกๆ เพราะการที่จะรับประทานอาหารคาวกับข้าวแช่น้ำแข็ง แถมยังใส่น้ำหอมกลิ่นเอียนอีกก็ต้องทำความคุ้นเคยกันสักหน่อยละ

สมัยนี้เป็นสมัยย้อนยุค ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับอาหารโบราณจานนี้ดีกว่า เขาว่ากันว่า ข้าวแช่มีต้นกำเนิดมาจากชาวมอญ ซึ่งถือว่าข้าวแช่เป็นอาหารสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ เป็นอาหารที่ใช้ถวายพระ เทพีสงกรานต์และทวยเทพ ชาวมอญเรียกข้าวแช่ว่า “เปิงด๊าดจ์” เปิงแปลว่า ข้าว ด๊าดจ์แปลว่า น้ำ คือข้าวที่แช่ในน้ำนั่นเอง เขาเลือกสรรพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุด นำไปซาวน้ำล้างถึง 7 ครั้ง แช่น้ำเย็นลอยดอกไม้ เช่นดอกชมนาดให้หอม ภาชนะที่ใช้คือหม้อดิน ซึ่งเก็บความเย็นได้ดี ทำให้น้ำเย็นชื่นใจเพราะสมัยโบราณไม่มีน้ำแข็ง?? ตำนานของข้าวแช่ว่ากันว่ามาจากเศรษฐีชาวมอญที่อยากได้ลูก และได้ไปบวงสรวงพระไทรที่สิงสถิตในต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ โดยนำข้าวที่ล้างน้ำ 7 ครั้งจนสะอาด ประกอบด้วยสำรับของคาวต่างๆ หลังจากนั้นท่านเศรษฐีก็ได้ลูกชายสมใจ และนี่แหละก็คือที่มาของข้าวแช่ซึ่งชาวมอญใช้ทำบุญถวายพระในเทศกาลสงกรานต์

สำหรับตำนานข้าวแช่ของไทยนั้น มีที่มาจากสมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 แล้วแต่เราจะได้ยินมาจากไหน บางครั้งเขาก็ว่า ร.5 ท่านเสด็จประพาสต้นไปที่เพชรบุรีและมีชาวบ้านนำมาถวาย ท่านจึงโปรดให้นำตำรับมาทำในวัง ส่วนอีกตำนานก็ว่าเจ้าจอมของรัชกาลที่ 4 คนหนึ่งเป็นชาวมอญ และได้ทำอาหารจานนี้เวลาร.4 ท่านเสด็จไปประทับที่พระนครคีรีที่จังหวัดเพชรบุรีเช่นกัน ดังนั้น เราจึงเข้าใจว่าข้าวแช่เป็นอาหารชาววัง เราจะรับประทานข้าวแช่กับพริกหยวกสอดไส้หมูสับ ลูกกะปิทอด หัวหอมทอด หมูหวานฝอย และไขโป๊ผัด และมีผักแนม และเขาไม่ให้เอาเครื่องข้าวแช่ไปใส่ในข้าวแช่น้ำ ให้ทานเครื่องก่อนและตักข้าวเข้าปากในเวลาต่อมา ไม่งั้นจะเหม็นคาวและดูเลอะเทอะ ก็ทานยากพอสมควรแหละ แต่ก็ดูพิเศษและประดิดประดอยดี

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image