บันทึกการจารึก ‘พระสุพรรณบัฏ’

ภาพจาก ยุพร แสงทักษิณ. เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2539.

หมายเหตุข้อมูลจากหนังสือเสวยราชสมบัติกษัตรา โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี และ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ สำนักพิมพ์มติชน


เมื่อมีการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จำเป็นที่จะต้องมีการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการจารึกพระนามลงแผ่นพระสุพรรณบัฏเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในการนี้จะมีการจารึกดวงพระราชสมภพลงในแผ่นทองคำบรรจุด้วยพร้อมกัน รวมถึงมีการแกะสลักตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลใหม่ เพื่อใช้ประทับลงในเอกสารสำคัญต่างๆ ในราชการแผ่นดิน

ขั้นตอนของการจารึกพระนามลงในพระสุพรรณบัฏ เริ่มจากโหรให้พระฤกษ์สำหรับวันประกอบพิธี ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง ยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ระบุขั้นตอนดังกล่าว ความว่า

Advertisement

หายามไชยโชกได้ ดฤดถี

ชุมหมู่มุขมนตรี ทั่วหน้า

ยังอุโบศถ์ศรี สรรเพชร แลแฮ

Advertisement

อาลักษณ์นุ่งห่มผ้า เสวตรไหว้พุทธคุณฯ

พระโหรลั่นฆ้องฤกษ์ ศรีสวัสดิ์

จารึกพระนามขัต ติยเชื้อ

ในแผ่นพระสุพรรณบัตร สิ้นเสรจ์ แล้วเฮย

ใส่หีบคำเก้าเนื้อ แห่เข้าวังสนานฯ

การจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏกระทำขึ้นในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แม้จะไม่ปรากฏสถานที่เด่นชัด แต่สันนิษฐานว่าประกอบพิธีสมโภชพระสุพรรณบัฏภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอาลักษณ์ผู้ทำหน้าที่จารึกพระนาม จะต้องแต่งกายนุ่งห่มด้วยสีขาวบูชาพระรัตนตรัยในพิธีด้วย

เมื่อเสร็จพระราชพิธีในส่วนนี้ จะมีการเชิญพระสุพรรณบัฏใส่หีบทองคำแล้วแห่เข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อเตรียมถวายองค์พระมหากษัตริย์ในวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับการจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ใช้พระนามเดียวกัน ด้วยการขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล

แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้แก้พระนามอดีตพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ โดยให้เรียกตามนามพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศ รัชกาลที่ 1 ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 2 ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 3 ให้เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรียกแผ่นดินของพระองค์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนธรรมเนียมการจารึกพระนามของพระมหากษัตริย์ ให้มีพระนามต่างกันในแต่ละรัชกาลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกนั้นการจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏ ยังมีการจารึกดวงพระชะตา เช่นที่ปรากฏในหมายรับสั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2411 ดังนี้

“…ขุนโชติพรหมมาได้จารึกดวงพระชันษา นายราชสารได้จารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏทองคำ เนื้อแปดเศษสอง ดวงพระชันษากว้าง 10 นิ้ว ยาว 10 นิ้ว หนัก 2 ตำลึง ดวงพระนามกว้าง 7 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว หนัก 2 ตำลึง พระมหาราชครูจุณเจิมแล้ว พันด้วยไหมเบญจพรรณ บรรจุไว้ในพระกล่องทองคำจำหลักลายกุดั่น แล้วเชิญลงในหีบถมยาดำตะทอง มีถุงเข้มขาบนอก ตีตราประจำเล็บ เชิญขึ้นไว้บนพานทองสองชั้นสำรับใหญ่ ปิดคลุม ปักเลื่อม ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกับสมโภชเวียนเทียน มีบายศรีแก้ว 1 บายศรีทอง 1 บายศรีเงิน 1 บายศรีตอง 2 สำรับ ศีร์ษะสุกร 2 ศีร์ษะ เครื่องกระยาบวชพร้อมสรรพด้วยแตรสังข์มโหรีปี่พาทย์กลองแขกฆ้องชัย พระมหาราชครูเป่าพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระมหาสังข์อุตราวัฏ สมโภชเสร็จแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนราชศาสดาราม”

ข้อความดังกล่าวทำให้ทราบขั้นตอนแต่พอสังเขปภายหลังจากที่โหรให้พระฤกษ์จึงเริ่มการพระราชพิธีจารึกพระนามและดวงพระชะตาลงในพระสุพรรณบัฏ เมื่อเสร็จแล้วเจ้าพนักงานจะเชิญแผ่นพระสุพรรณบัฏลงกล่องทองคำ ซึ่งจะบรรจุในถุงผ้าอีกชั้นหนึ่งพร้อมทั้งตีตราผนึกประดิษฐานไว้ในพานทอง

พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2550.)

หลังจากนั้นจึงเป็นการเวียนเทียนสมโภชโดยมีการตั้งเครื่องบูชาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยบายศรีและเครื่องพลีกรรมทั้งปวง ระหว่างการเวียนเทียนสมโภชจะมีการประโคมมโหรีปี่พาทย์ ตีฆ้องชัย พราหมณ์เป่าพระมหาสังข์ประกอบการพระราชพิธี เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพานพระสุพรรณบัฏไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อรออัญเชิญไปเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อถึงวันพระฤกษ์จริง

สำหรับการจารึกพระสุพรรณบัฏอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างออกไป ในบางรัชสมัยขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีการประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยเริ่มสวดพระพุทธมนต์ตั้งศาลบูชาเทวดา และตั้งเครื่องบัตรพลีเช่นที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2493 ส่วนวันประกอบพระราชพิธีจริงเริ่มในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2493

พระราชพิธีในคราวนั้นนอกเหนือจากการจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกร ยังมีการจารึกพระนามสมเด็จพระสังฆราช จารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร พระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล ซึ่งมีการประกอบพระราชพิธีพร้อมกันในคราวเดียว

ในวันประกอบพระราชพิธี โต๊ะที่ใช้ประกอบพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏทุกโต๊ะจะมีเทียนเงินเทียนทองกับพานดอกไม้ตั้งอยู่ ทุกโต๊ะจะหันไปทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) อันเป็นทิศที่เป็นมงคล

ส่วนเครื่องประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถมีการตั้งโต๊ะบายศรีตอง 3 ชั้น มีกล้วยน้ำว้า หัวหมู สำหรับบูชาพระฤกษ์ และเมื่อได้พระฤกษ์ องค์ประธานจุดเทียนทุกโต๊ะ โหรลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานไกวบัณเฑาะว์ ประโคมดนตรีตลอดระยะเวลาที่จารึก

เมื่อจารึกพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรเสร็จแล้ว พระราชครูวามเทพมุนี (สวาวดิ์ รังสิพราหมณกุล) หลั่งน้ำสังข์ที่พระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ พระราชลัญจกร และพระสุพรรณบัฏของสมเด็จพระสังฆราชและเจ้านายพระองค์อื่น

จากนั้นสอดใบมะตูม 1 กิ่ง มี 3 ใบ แล้วจัดเตรียมให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช 3 รอบ เป็นอันเสร็จพิธี เพื่อเตรียมแห่เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image