ห้วงเวลาประวัติศาสตร์ ‘พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส’ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี

นับเป็นพระราชพิธีที่เป็นเรื่องน่ายินดีของประชาชนชาวไทย พระราชพิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 16.32 น. ของวันที่ 1 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้อง วปร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ในการสถาปนาสมเด็จพระราชินี ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เป็นสมเด็จพระราชินี ความตอนหนึ่งว่า ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระราชโองการให้สถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน จากนั้นพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม และทรงเจิมสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 และพระราชโองการสถาปนาแก่สมเด็จพระราชินีสุทิดา จากนั้น ผู้อำนวยการเขตดุสิต เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงพระนามาภิไธย ในฐานะทรงเป็นสักขีพยาน และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน ต่อจากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทูลเกล้าฯ ถวายทะเบียนราชาภิเษกสมรสแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ภายในพระราชพิธี มีผู้เข้าร่วมพระราชพิธี ดังนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ พลเรือเอกหม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์, หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล, พลตรีหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล, พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล, หม่อมเจ้าทิฆัมพร ยุคล นอกจากนี้ยังมี “คณะองคมนตรี” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายเกษม วัฒนชัย, นายพลากร สุวรรณรัฐ, นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ, นายศุภชัย ภู่งาม, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, นายจรัลธาดา กรรณสูต, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์, พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ, นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, นายอำพน กิตติอำพน, พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท, พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายภูมินทร์ ปลั่งสมบัติ อาลักษณ์, นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการเขตดุสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image