เปิดภาพชุด ‘ราชาภิเษกสมรส’ และพระฉายาลักษณ์ ‘พระราชินี’ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

จากซ้าย สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า (พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา), พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี) ในงานพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก ก่อนการสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อ พ.ศ.2423

ในประวัติศาสตร์สยาม ตำแหน่งพระมเหสีของพระมหากษัตริย์มีชื่อเรียกต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำแหน่งพระภรรยาเจ้า มี 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระอัครมเหสี พระอัครเทวี พระราชเทวี และพระอัครชายา เรียกลำลองว่า ‘พระพันวษาใหญ่’ หรือ ‘พระพันวษาน้อย’ บ้าง

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มิได้ทรงจัดให้มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่า ทรงเป็นพระอัครมเหสี ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสวยราชย์ ได้ทรงเฉลิมพระยศพระบรมราชชนนีขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในรัชกาลก่อนๆให้สูงขึ้น

ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มิได้ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าบุญรอด พระอัครชายา แต่คนทั้งปวงก็เข้าใจว่าทรงเป็นพระอัครมเหสี จึงเรียกว่าสมเด็จพระพันวษาตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ แล้วมีการเรียกขานพระนามใหม่เป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี

นิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ 1ที่อัมพวา สมุทรสงคราม
พระตำหนักแดง ซึ่งรัชกาลที่ 2 โปรดให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสถาปนาพระภรรยาองค์ใดขึ้นเป็นพระมเหสี

Advertisement

ล่วงมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี แต่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีได้เพียง 9 เดือนเศษ ก็สิ้นพระชนม์ จึงได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้ารำเพย ขึ้นเป็นพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งทรงได้รับการประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ในสมัยรัชกาลที่ 6

พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชินี ประดิษฐานท้ายจระนำหลังพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร

ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศพระภรรยาเจ้าไว้ที่ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินี 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี , สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี

Advertisement

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในพุทธศักราช 2468 แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

และเมื่อทรงออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงโปรดให้มีพระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2499

ต่อไปนี้คือ ภาพประวัติศาสตร์ ‘ราชาภิเษกสมรส’  พระบรมฉายาลักษณ์ และพระฉายาลักษณ์ พระราชินีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จากการรวบรวมของสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ฉายขณะพระชนมพรรษา 16 พรรษา เมื่อแรกได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสี
จากซ้าย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์, สมเด็จพระโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพนารีรัตน์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา ทรงเครื่องแบบนายทหารราชนาวี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ฉายวันพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา 26 สิงหาคม พ.ศ.2461
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงสำราญพระอิริยาบถ ขณะประทับอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 28 เมษายน พ.ศ.2493
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

ที่มาภาพและข้อมูล : หนังสือสมเด็จพระบรมราชินีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image