‘สรงพระมุรธาภิเษก’ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันพระฤกษ์ 4 พ.ค. 2562

ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านทิศตะวันตก (ภาพจากหนังสือหมู่พระมหามณเฑียร สำนักพระราชวังพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๕๔)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

โดยเมื่อถึงวันตามกำหนดพระฤกษ์อันเหมาะสม จึงประกอบการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เพื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็น “พระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี”

การประกอบพระราชพิธี เริ่มจากการถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษกที่ มณฑปพระกระยาสนาน การถวายน้ำอภิเษกบริเวณพระที่นั่งอัฐทิศ และการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ บริเวณพระที่นั่งภัทรบิฐ

สรงพระมุรธาภิเษก
เมื่อถึงวันพระฤกษ์ เวลาเช้าเริ่มด้วยการถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดยผู้ที่จะสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะเสด็จฯ มา ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงรับศีลจากสมเด็จพระสังฆราช แล้วเสด็จฯ ไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน เพื่อผลัดฉลองพระองค์ทรงเศวตพัสตร์ขลิบทอง
จนกระทั่งได้เวลาตามพระฤกษ์จึงเสด็จฯ มา ณ มณฑปพระกระยาสนานเพื่อสรงพระมุรธาภิเษก โดยจะมีขบวนเชิญเสด็จฯ สู่มณฑปพระกระยาสนาน ภายในขบวนขุนนางและพราหมณ์ที่รับผิดชอบจะเชิญพระไชยหรือพระปฏิมาชัย กับพระพิฆเนศวร พระมหาราชครูโปรยข้าวตอก เจ้าพนักงานพราหมณ์เป่าพระมหาสังข์นำเสด็จ พร้อมทั้งมีประโคมดุริยางค์ดนตรีต่างๆ

Advertisement

เมื่อเสด็จถึงมณฑปพระกระยาสนาน ผู้ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จะต้องจุดเครื่องบูชาสังเวยเทวดากลางหาว ซึ่งเจ้าพนักงานได้ตระเตรียมไว้ ก่อนเสด็จประทับในมณฑปพระกระยาสนาน ซึ่งมีขั้นตอนตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า
“เมื่อวันที่สรงมูรธาภิเษกเป็นวันใด ก็จัดที่สรงผันพระพักตร์ต่อทิศศรีของวันนั้น ผันพระขนองตรงทิศกาลกินี ในพื้นที่อ่างซึ่งเป็นที่ห้อยพระบาทริมตั่งนั้น ทอดใบไม้นามกาลกิณี เป็นที่ทรงเหยียบในเวลาสรงที่ตรงพระพักตร์ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบเครื่องพระมุรธาภิเษก เมื่อเพลาทรงเครื่องมุรธาภิเษกไขน้ำสหัสธาราแล้ว ภูษามาลาจึงได้ถวายพระเต้าต่างๆ”

เมื่อจะสรงพระมุรธาภิเษกมีขั้นตอนประการหนึ่งที่สำคัญคือ การทอดใบไม้นามกาลกิณีให้ทรงเหยียบขณะสรงพระมุรธาภิเษก

โดยแต่ละรัชกาลจะมีไม้กาลกิณีต่างกัน เช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปูลาดพื้นด้วยไม้กระถิน ส่วนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ไม้ตะขบ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เจ้าพนักงานวางใบอ้อให้ทรงเหยียบขณะสรงพระมุรธาภิเษก

Advertisement

ซึ่งการเหยียบใบไม้ในลักษณะดังกล่าวนั้น อาจเป็นไปเพื่อเป็นการข่มสิ่งที่จะไม่เป็นมงคลมิให้บังเกิดกับบุคคลซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ โดยในระหว่างพิธีนั้นจะต้องประทับหันหลังให้กับทิศที่เป็นกาลกิณี ส่วนเบื้องพระพักตร์จะหันสู่ทิศที่เป็นมงคล

ระหว่างขั้นตอนการสรงน้ำจาก “สหัสธารา” เจ้าพนักงานประโคมเครื่องดนตรีมโหรี แตร สังข์ ขึ้นพร้อมกัน กรมกองแก้วจินดายิงปืนใหญ่มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ จนเสร็จสิ้นพระราชพิธีส่วนนี้

ต่อจากนั้นจะเป็นการถวายน้ำมนต์จากบุคคลต่างๆ เริ่มจากพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น สมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงเป็นเจ้านายอาวุโส ขุนนางคนสำคัญ พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่อาวุโส โดยจะหลั่งน้ำมนต์จากพระเต้าต่างๆ ที่มีการตระเตรียมไว้

เมื่อเสร็จการถวายน้ำจากบุคคลต่างๆ ดังกล่าวแล้ว พระมหาราชครูพิธีจะถวายน้ำมนต์พระเต้าเบญจครรภ พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ ต่อด้วยพราหมณ์และราชบัณฑิตซึ่งมียศต่างๆ เช่น พระครูอัษฎาจารย์ หลวงอัฏยา เป็นต้น เข้าถวายน้ำจากพระมหาสังข์ต่างๆ ระหว่างนั้นจะทรงรับน้ำมนต์ด้วยพระหัตถ์ ขณะนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ทักษิณาวัฏ และสังข์อุตราวัฏ พร้อมด้วยไกวบัณเฑาะว์ตลอดเวลาประโคม

ครั้นสรงเสร็จแล้ว ขุนนางจะถวายพระภูษาให้ทรงผลัด เสร็จแล้วขึ้นทรงเครื่อง ณ มุขกระสันหอพระสุราลัยพิมาน เพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการรับการถวายน้ำอภิเษกบริเวณพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์เป็นลำดับถัดไป

• พิธีถวายน้ำอภิเษก
ลำดับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สำคัญยิ่งคือ การรับการถวายน้ำอภิเษก ซึ่งจะกระทำบริเวณพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

โดยเริ่มหลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้
พระสัปตปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 7 ชั้น) โดยจะทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศอันเป็นมงคล ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ละคราว เช่น รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) เป็นทิศแรกที่จะทรงผันพระพักตร์ก่อนเริ่มพระราชพิธี

อย่างไรก็ดี เมื่อทรงหันพระพักตร์ไปตามทิศที่ถูกต้องแล้ว พราหมณ์และราชบัณฑิตจะประจำทิศละ 1 คน ในแต่ละทิศซึ่งมีตั่งขนาดเล็กล้อมพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ทั้ง 8 ทิศ บนตั่งนั้นตั้งพระกลศ พระสังข์ บรรจุน้ำอภิเษก สำหรับถวายแด่ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

โดยพราหมณ์หรือราชบัณฑิตที่ประจำในทิศอันเป็นมงคลทิศแรก เป็นผู้กล่าวคำอันเป็นมงคลเป็นภาษามคธถวายมอบแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งแห่งพุทธศาสนา แล้วถวายน้ำอภิเษกด้วยพระเต้าเบญจครรภโมรา
จากนั้นจึงผันพระพักตร์โดยทักษิณาวัฏ (เวียนขวา) เพื่อทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และราชบัณฑิตประจำทิศต่างๆ จนครบทั้ง 8 ทิศ ซึ่งพราหมณ์จะเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก

อย่างไรก็ดีขั้นตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493

ในครั้งนั้นมีการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมบางประการโดยเปลี่ยนผู้ถวายน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และราชบัณฑิตเป็นสมาชิกรัฐสภา พร้อมทั้งทรงรับการถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) ที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมจากเดิมจะมีการถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

ขั้นตอนการถวายน้ำอภิเษกนับว่าเป็นส่วน “สำคัญ” ของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะแสดงถึงความหมายของการถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในการบริหารบ้านเมืองโดยใช้น้ำอภิเษกเป็นสื่อกลางผ่านพราหมณ์และราชบัณฑิตอันถือเป็นตัวแทนของผู้ทรงความรู้ในแผ่นดิน

ต่อมาเมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนไปจึงมีการเปลี่ยนเป็นสมาชิกรัฐสภาอันถือเป็นตัวแทนของเหล่าพสกนิกรซึ่งเป็นเสมือนการมอบพระราชภาระให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลอาณาประชาราษฎรอีกทางหนึ่ง กับทั้งการประกอบพระราชพิธีที่ต้องกระทำทั้ง 8 ทิศของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ยังเป็นเสมือนการที่ทรงรับอำนาจสิทธิขาดจากปวงชนที่ถวายให้กับพระองค์ อีกทั้งยังสามารถแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองทุกทิศทั่วทั้งพระราชอาณาจักรเช่นกัน

เมื่อเสร็จขั้นตอนการรับน้ำอภิเษกพระมหากษัตริย์จะเสด็จมาประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐเพื่อรับการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์กับพระแสงศาสตราวุธและเครื่องราชูปโภคต่างๆ ดังที่ปรากฏข้อความจากพระราชพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ 1

“แล้วเสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูจึงประคองพระองค์ขึ้นเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐเหนือแผ่นทองรูปราชสีห์อันมีมหันตเดช”

เอกสารดังกล่าวแสดงถึงธรรมเนียมในการนำเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งผู้ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จะถูกประคองโดยพระมหาราชครู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image