บรมราชาภิเษก พระราชนิยมในแต่ละรัชกาล

หมายเหตุ: มติชน สัมภาษณ์พิเศษ “ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ” เกี่ยวกับเรื่อง

บรมราชาภิเษกพระราชนิยมในแต่ละรัชกาล

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่สืบทอดกันมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ด้วยระยะเวลาที่สืบทอดกันมายาวนาน อาจเป็นเหตุให้บางรายละเอียด บางขั้นตอนในพระราชพิธีมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ตามสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยกาลเวลา การเมืองการปกครอง สภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาให้ทันยุคทันสมัย

พระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลจึงมี “พระราชนิยม” เรื่องการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ถึงกระนั้น ก็มิได้ลดทอนหลักสำคัญและความงดงามของพระราชพิธีให้ลดน้อยลงแต่ประการใด

หากยังคงดำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศ พระเกียรติศักดิ์ที่ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติแห่ง “พระมหาจักรีบรมราชวงศ์”

Advertisement

 

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อุปนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความสนใจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ราชสำนัก มาถ่ายทอดถึง “พระราชนิยม” ในแต่ละรัชกาลเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อ.ธงทองเริ่มต้นว่า การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญสำหรับประเทศไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นอย่างน้อย แต่ว่าหลักฐานที่เป็นรายละเอียดต่างๆ มีไม่มากนัก หลักฐานต่างๆเริ่มมีมากขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชุดประชุมพระราชพงศาวดาร ที่กล่าวถึงการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งมีความเป็นมาสืบเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้น่าเชื่อว่าได้ประกอบพระราชพิธีโดยยึดตามแบบแผนที่ได้เคยเป็นหลักในสมัยกรุงศรีอยุธยา

อ.ธงทองอธิบายต่อว่า หลักพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามตำรา ว่าเป็นการปฏิบัติตามคติพราหมณ์เป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนฐานะของพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะเป็น “พระผู้เป็นเจ้า”

“แต่เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงมีแบบแผนธรรมเนียมเรื่องของการเป็นสวัสดิมงคลต่างๆ ในพระพุทธศาสนาเข้าไปผสมอยู่ด้วย เช่น การเจริญพระพุทธมนต์ก่อนการเริ่มต้นพระราชพิธี บำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เช่น การเสด็จฯ ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ซึ่งเป็นการประสมประสานกันระหว่างคติพราหมณ์กับคติพุทธศาสนา”

“แต่แน่นอนว่า แต่ละรัชกาลคงจะมีรายละเอียดของการพระราชพิธีที่แตกต่างกันไป”

“โดยหลักของพระราชพิธีไม่ได้เปลี่ยน ทั้งการสรงพระมุรธาภิเษก การถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปดและการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ สัญลักษณ์ทั้งหลายของความเป็นพระราชาธิบดี ไปจนถึง เครื่องบรมราชอิสริยยศราชูปโภค เครื่องราชาภรณ์ และพระแสงศัสตราวุธทั้งหลาย เหล่านี้เป็นโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยน”

หัวใจสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่เปลี่ยน หากแต่มีบางรายละเอียดเปลี่ยน ซึ่ง อ.ธงทอง ได้สรุปเป็นข้อๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

  1. วันเวลาและจำนวนครั้งที่ประกอบพระราชพิธี

อ.ธงทองกล่าวว่า โดยหลักแต่ละรัชกาลน่าจะได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหนึ่งครั้ง แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้งถึง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่เป็นดังนั้นในแต่ละรัชกาล ไม่ใช่เหตุที่ซ้ำกัน เป็นเหตุผลต่างๆ กัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2325 เมื่อมีเวลาที่เหมาะสม พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งแรกในปีนั้น เพื่อเป็นการยืนยันมั่นคงถึงพระราชอำนาจ การเริ่มต้นพระราชวงศ์ใหม่ การเริ่มต้นบทใหม่ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในทางการเมือง แต่เป็นการบรมราชาภิเษกอย่างย่อ เพราะข้าวของเครื่องใช้ เครื่องราชูปโภคก็ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะสูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ส่วนกรุงธนบุรี บ้านเมืองยังไม่ปกติเป็นผาสุกนัก ต้องใช้เวลาในการตระเตรียมข้าวของเหล่านี้ จึงทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างย่อไป เมื่อพุทธศักราช 2325 ดังกล่าว

อีกสามปีต่อมา เมื่อบ้านเมืองฟื้นฟูกลับมาเป็นผาสุกแล้ว เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดารามสร้างเสร็จพอจะฉลองพระอารามได้แล้ว บรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงต่างๆ น่าจะได้สร้างเสร็จแล้ว ในพุทธศักราช 2328 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้น

อ.ธงทองให้ความเห็นว่า เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีการบรมราชาภิเษกสองครั้ง น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความพร้อมประการหนึ่ง และเหตุผลของความมั่นคงทางการเมืองอีกประการหนึ่ง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้ง เช่นกัน

 

อ.ธงทองเล่าว่า ครั้งแรก ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตได้ไม่นาน เวลานั้น มีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษาเศษเท่านั้น และเป็นเวลาที่เพิ่งจะทรงฟื้นมาจากพระอาการประชวร เพราะทรงพระประชวรในคราวเดียวกับที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อพุทธศักราช 2411 พระองค์ประชวรไข้จับสั่น หรือมาลาเรีย เพิ่งจะทรงฟื้นพระกำลังขึ้นมาได้

ในเวลานั้น เมื่อทรงบรมราชาภิเษกแล้ว ด้วยเหตุที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยังมีพระชนมพรรษาน้อย จึงไม่ได้ทรงบริหารพระราชภาระด้วยพระองค์เอง แต่มีผู้ที่ทำราชการถวาย เรียกว่า ผู้สำเร็จราชการ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในช่วงเวลาห้าปีแรกของรัชกาล

กระทั่งพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา หลังทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว ถ้าตามคติไทยโบราณถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว จากนี้ไปจะได้ทรงบริหารพระราชภาระด้วยพระองค์เอง จึงทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ สองหลังจากที่ทรงลาสิกขาแล้ว

การบรมราชาภิเษกครั้งที่สองนี้เป็นการประกาศหรือเป็นการยืนยันให้พสกนิกรได้ทราบว่า จากนี้ไป พระองค์จะทรงบริหารพระราชภาระด้วยพระองค์เอง จากแต่เดิมมีผู้ที่คอยปฏิบัติถวายงานเป็นผู้สำเร็จราชการ

“เป็นเหตุผลทางการเมืองอยู่เหมือนกัน ในความหมายนี้” อ.ธงทองออกความเห็น

สำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองครั้งเช่นกัน

อ.ธงทองให้รายละเอียดประวัติศาสตร์ในรัชกาลนี้ว่า พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช2453 ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปีเดียวกันเพียงไม่กี่วัน และในปีถัดมา พุทธศักราช 2454 ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ สองโดย อ.ธงทองเผยมูลเหตุให้ฟังว่า

“ในเวลาที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ไปต่างประเทศแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โบราณใช้สำนวนว่า “ไปช่วยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ของพระเจ้าแผ่นดินเมืองนอก ในยุโรปหลายประเทศด้วยกัน”

“เมื่อถึงคราวที่บ้านเมืองของเราจะมีพิธีสำคัญเช่นนี้ น่าจะมีมิตรประเทศที่เขาอยากมาช่วยงานบ้าง เป็นโอกาสที่สยามประเทศจะได้เชิญผู้แทนของประเทศต่างๆ ที่เป็นเจ้านายระดับสูง หรือผู้แทนระดับประธานาธิบดี หรือประมุขรัฐต่างๆ มาร่วมพิธี”

อ.ธงทองตั้งข้อสังเกตว่า “ผมมีความเห็นเพิ่มเติมอีกสักนิดหนึ่งว่า นอกจากเรื่องตอบแทนไมตรีแล้ว พระราชดำริน่าจะกว้างขวางครอบคลุมไปถึงเรื่อง เป็นโอกาสที่เมืองไทยจะได้เผยแผ่เกียรติยศ ความเป็นชาติอารยะ เพราะแต่เดิมในสายตาชาวต่างชาติ เขาไม่รู้จักเมืองไทยมากเท่าไหร่นัก ในเวลานั้น พอจะกล่าวได้ว่า เราเพิ่งจะพ้นจากสถานการณ์ล่อแหลมจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศทั้งหลาย ผ่านวิกฤตในสมัยรัชกาลที่ 5 มา ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น เราสามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศทั้งหลายได้

“จะพบว่า หลังบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในแผ่นดินของพระองค์เอง เราไปได้ไกล จนสามารถส่งกองทหารไทยเป็นทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามที่ยุโรป เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติสัมพันธมิตรทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ ผมมองว่าเป็นพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการให้ฐานะประเทศไทยมีความชัดเจนในสายตาของชาวต่างประเทศว่าเรามีความเจริญ”

“เคยได้อ่านพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานเตือนบรรดามหาดเล็ก หรือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่ปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ว่า การที่เราจะออกสู่เวทีโลก ทำอะไรต้องระมัดระวังต้องคิดถึงชื่อเสียงของบ้านเมือง”

“ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองในปีถัดมา คือ พุทธศักราช 2454 ทรงกำหนดให้เรียกชื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร และครั้งที่ 2 ในปีถัดมาว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชมีเจ้านายต่างประเทศที่เป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีต่างประเทศมาร่วมงานหลายประเทศด้วยกัน เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และ อังกฤษ

“สำหรับอังกฤษ สำหรับผมน่าสนใจเหมือนกันนะ เพราะเขาเป็นมหาอำนาจมากที่สุดในยุคนั้น การที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษส่งผู้แทนพระองค์ในระดับที่เป็นเจ้าชายมาร่วมงาน แสดงถึงการยอมรับ แสดงถึงการที่เราอยู่ในสายตาของชาวโลกอย่างชัดเจนแล้ว”

สำหรับกำหนดเวลาในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องทำเมื่อไร มีหลักเกณฑ์หรือไม่

อ.ธงทองมีข้อสังเกตว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นนิยมที่จะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเวลาที่ไม่เนิ่นช้านัก หลังจากที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงทำบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2411 หลังจากที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน วันที่ 1 ตุลาคมในเดือนเดียวกัน ซึ่งแปลว่า ใช้เวลายังไม่ถึงเดือนครึ่งก็มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต วันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2543 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำบรมราชาภิเษก 11 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และได้ทรงเลือกวันที่วันเดียวกับวันบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งเป็นเวลาที่ห่างจากวันที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไม่ถึงเดือน จากวันที่ 23 ตุลาคม ถึง 11 พฤศจิกายน

ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468 และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งยังเป็น พุทธศักราช 2468 อยู่ เพราะเวลานั้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน เลขศักราชยังไม่เปลี่ยน ช่วงเวลาห่างกันเพียงแค่สาม เดือน ก็ไม่ได้มากมายเท่าไหร่นัก

“นี่เป็นข้อพิจารณาที่ผมสังเกตว่า พระมหากษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเวลาไม่เนิ่นช้ากับการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลกับความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น”

กระนั้น ก็ได้มีข้อสงสัยที่ถามในใจอยู่เสมอว่า แล้ว “พระบรมศพ” พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนยังไม่ได้ถวายพระเพลิง แล้วเวลาเพียงแค่หนึ่ง เดือน สองเดือน หรือสาม เดือน การพระราชพีธีบรมศพก็ยังอยู่ แล้วการบรมราชาภิเษกทำอย่างไร

อ.ธงทองเปิดประวัติศาสตร์บทนี้ว่า การปฏิบัติเท่าที่สืบค้นได้คือ มีการออกทุกข์ หมายความว่า ในช่วงระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการออกทุกข์เสียก่อน เมื่อประกอบพระราชพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กลับไปเข้าทุกข์ใหม่

อย่างไรก็ตามในรัชกาลต่อมา วันเวลาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้แตกต่างไปจากเดิม

อ.ธงทองเล่าว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

“เหตุการณ์ผลัดแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ไม่เหมือนเดิม เพราะไม่ใช่เหตุสวรรคตของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน แต่เป็นเหตุสละราชสมบัติ”

“ซึ่งเราไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ไม่ได้ประทับในเมืองไทย การเมืองในเมืองไทยก็ยังปรวนแปรอยู่มาก เพราะเป็นช่วงเวลาเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกอบกับอีกไม่นานต่อมา สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จึงไม่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเลยตลอดรัชกาล กระทั่งเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช 2489”

ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ขาดอีกหนึ่งเดือนก็จะครบสี่ปีเต็ม หลังจากทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สวรรคต

“เหตุผลทั้งหมดเป็นเรื่องของความพร้อม จังหวะเวลา เพราะเมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังต้องเสด็จฯ ไปต่างประเทศ เพื่อทรงพระอักษรหรือเรียนหนังสือที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์”

“จนกระทั่งเสด็จฯ กลับมาเมืองไทย ทรงถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ในวันที่ 28  เมษายน ในปีเดียวกัน และอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493”

“เป็นข้อสรุปว่า ในสองรัชกาลหลัง คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เว้นไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็ไม่ได้ทำในเวลาที่ใกล้ชิดกันกับการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็น่าจะอนุโลมหรือเทียบกันได้กับรัชกาลปัจจุบัน เพราะเหตุผลัดแผ่นดินเกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ก็ผ่านเหตุการณ์มาสองปีกว่าแล้ว จึงมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้”

“นี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นว่า จำนวนครั้งกับวันเวลาที่ประกอบพระราชพิธีมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง” อ.ธงทองกล่าวทิ้งท้าย

 

  1. จำนวนวันที่ประกอบพระราชพิธี

อ.ธงทองเล่าถึงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นต้องแบ่งความเข้าใจก่อนว่า พระราชพิธีที่เป็นขั้นตอนการเตรียมการส่วนต้นยังเหมือนเดิม คือ การพลีกรรมตักน้ำ การเสกน้ำอภิเษก และพระราชพิธีในวันบรมราชาภิเษก ยังคงสืบทอดต่อกันมาเหมือนเดิม ส่วนพิธีที่อยู่ข้างหน้า หรือข้างหลังวันบรมราชาภิเษกจะปรับเพิ่มหรือปรับลดอย่างไรอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละรัชกาล

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีธรรมเนียมที่ถือมาแต่เก่าก่อน เช่น เสด็จฯ ไปทรงฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มีกำหนดสามวันก่อนวันจริง ในรัชกาลที่ 7 วันบรมราชาภิเษก คือ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2468 เสด็จฯ ไปทรงฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ แต่เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กำหนดการเปลี่ยนไปเปลี่ยนเป็นทรงฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เพียงวันเดียว ตามความเข้าใจของผม”

“รายละเอียดอื่นอาจมีการปรับบ้าง เช่น รายละเอียดตอนท้าย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีพยุหยาตราถึง 2 วัน เป็นการเลียบพระนครทางบกวันหนึ่ง ทางชลมารควันหนึ่ง ถ้าย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ผู้คนไม่เหน็ดเหนื่อยมากเกินไป รวมทั้งพระราชกรณียกิจไม่ซ้อน ไม่ใกล้ชิดกันมากพอสมควร ระหว่างวันเลียบพระนครทางสถลมารคกับทางชลมารคได้มีวันเว้นอยู่ตรงกลางด้วย”

“ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไม่มีการเสด็จฯ เลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ไปมีการเสด็จฯ เลียบพระนครสถลมารค เมื่อคราวพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบใน พุทธศักราช 2506 ซึ่งงานนั้นไม่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

“ในรัชกาลปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การเสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารค อยู่ในวันที่ 5 พฤษภาคม หลังจากทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว 1 วัน ส่วนการเสด็จฯ เลียบพระนครทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกไปรวมไว้กับงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ตอนปลายปี”

“นี่ก็แปลว่า จำนวนวันไม่มีสูตรสำเร็จ จำนวนวันฟังพระพุทธมนต์ จากสามวันเหลือหนึ่งวันก็ไม่ใช่คราวแรกที่ปรับ เพราะเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ก็ปรับมาแล้ว การเสด็จฯ เลียบพระนครจะทำหนึ่งวัน หรือสองวันทางบกหรือทางน้ำ จะเว้นวรรคตรงกลางหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นจำนวนที่ปรับได้ในแต่ละรัชกาลตามความเหมาะสม แล้วแต่จะมีพระราชดำริไปในครั้งคราวนั้นๆ”

  1. การพลีกรรมตักน้ำ

อ.ธงทองตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่พลีกรรมตักน้ำ จำนวนสถานที่แหล่งน้ำ ก็เป็นเรื่องที่แต่ละรัชกาลอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้น้ำจากสระน้ำสี่สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี คือ สระเกษ, สระแก้ว, สระคา และสระยมนา ถ้าไปค้นคติพราหมณ์ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำห้าสายในชมพูทวีป เรียกว่า ปัญจมหานที  คือ แม่น้ำคงคา, ยมนา, มหิ, อจิรวดี และสรภู ซึ่งอยู่ไกลโพ้น ไทยเราจึงปรับมาเป็นแม่น้ำสายสำคัญในประเทศ เรียกว่า เบญจสุทธคงคา ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำบางปะกง

“ผมมีข้อพิจารณาว่า แหล่งน้ำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยก่อน เป็นแหล่งน้ำที่อยู่ในภาคกลางทั้งสิ้น เพราะการคมนาคมยุคนั้นยังไม่สะดวก การจะไปตักน้ำจากจังหวัดหัวเมืองไกลๆ กว่าจะเดินทางมาถึงพระนครได้ก็เกินกำลังไป  อย่างไรก็ตาม มีเพียงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำน้ำจากปัญจมหานทีมาเจือในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ด้วย”

การตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้มาขยายวงกว้างออกไปจากภาคกลาง เมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 6

“การตักน้ำในหัวเมืองหรือต่างจังหวัดเกิดขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากมีระบบมณฑลเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามหัวเมืองสำคัญของมณฑลนั้น 18 มณฑล และได้ใช้เป็นแบบแผนต่อมาถึงรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน ได้ยกเลิกระบบมณฑลเลิกแล้ว จังหวัดก็มีเพิ่มขึ้นใหม่มากมายหลายรวม  77 จังหวัด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นร้อยกว่าแห่ง จึงสะท้อนให้เห็นว่าการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์มีความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวสามารถปรับได้ในแต่ละรัชกาล”

  1. การจารึกพระสุพรรณบัฏ

การจารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นการพระราชพิธีเบื้องต้นก่อนถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หมายถึงการจารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นทองคำ ซึ่ง        อ.ธงทองได้อธิบายเรืองพระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏเป็นช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้

 ยุคที่ 1 ต้นรัตนโกสินทร์

พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์สามรัชกาลแรกที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏเหมือนกันทั้งสามพระองค์ และน่าจะสันนิษฐานว่าเป็นแบบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพระปรมาภิไธยมีความยาวพอสมควร ประมาณ 7-8 บรรทัด

“เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาว่า ในเวลาที่ประชาชนจะเรียกขานพระปรมาภิไธย จึงไม่สามารถที่จะท่องจำหรือใช้พระปรมาภิไธยเต็มได้ ประกอบกับความเชื่อและวัฒนธรรมไทยที่ไม่เรียกขานพระปรมาภิไธยโดยพร่ำเพรื่อ เรารู้จักแสดงความเคารพ การเรียกชื่อผู้ใหญ่โดยตรงถือว่าเป็นการละเมิดที่ต่ำที่สูง จึงมักหาทางเรียกเป็นอย่างอื่น เรียก ท่านอธิบดี ไม่ได้ออกชื่อตรงๆ ฉันใดก็ฉันนั้น ยิ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่เคารพสูงสุด จะไปขานพระปรมาภิไธยบ่อยๆ ก็ไม่มีแบบแผนเช่นว่านั้น  สมัยก่อน จึงกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงว่า ขุนหลวง หรือในหลวง”

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จนถึงรัชกาลที่ 3 เกิดปัญหาว่าประชาชนจะออกพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ว่าอย่างไรดี เพราะเคยเรียกรัชกาลที่หนึ่งว่าแผ่นดินต้น เรียกรัชกาลที่สองว่าแผ่นดินกลาง แล้ว จะออกพระนามรัชกาลที่สามว่าอย่างไร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขความขัดข้องในเรื่องนี้ โดยทรงสร้างพระพุทธรูปสองพระองค์ประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วทรงออกประกาศถวายเป็นพระราชกุศลและให้ประชาชนออกนามแผ่นดินสองรัชกาลแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ตามนามพระพุทธรูป”

ยุคที่ 2 พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์อีกสี่รัชกาลต่อมา

พระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทำตามแบบเดิมเหมือนของสามรัชกาลก่อน แต่จะเป็นพระปรมาภิไธยที่มีความยาวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีการพรรณนาเนื้อความที่กล่าวถึงพระราชตระกูล อาจกล่าวถึงสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เป็นต้น รวมถึงพรรณนาถึงพระรูป พระโฉม พระคุณสมบัติ มีพระราชอัธยาศัยอย่างไร ทรงมีความเชี่ยวชาญด้านอะไร และยังกล่าวถึงพระเกียรติยศต่างๆ เป็นพระปรมาภิไธยอย่างยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ

“พระปรมาภิไธยลักษณะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้คิดขึ้น โดยมีคำว่า ปรเมนทร และ ปรมินทร แปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นความตอนต้นพระปรมาภิไธยทั้งอย่างย่อและอย่างเต็ม เป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ที่โปรดเกล้าฯ ให้วางแบบไว้ว่า ให้ใช้สลับรัชกาลกัน โดยเริ่มที่รัชกาลของพระองค์ว่า ปรเมนทร อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ลงท้ายพระปรมาภิไธยว่า เกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแบบแผนพระปรมาภิไธยที่ใช้ต่อเนื่องมาอีกสามรัชกาล”

       ยุคที่ 3 พระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 8

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ไม่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเวลาที่ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่มีการประกาศทางราชการว่าให้ออกพระนามพระองค์ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” กระทั่งสวรรคตก็ใช้พระปรมาภิไธยเพียงเท่านี้

ต่อมาในช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 9 มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยถวายรัชกาลที่ 8 ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย”

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 ในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีอย่างเต็มยศ ตามขนบเดิม แต่ไม่ได้ลงท้ายว่า “เกล้าเจ้าอยู่หัว” หากลงท้ายว่า พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

“พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะไม่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” อ.ธงทองกล่าว

       ยุคที่ 4 พระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 9

พระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏและทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 คือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” มิได้มีความยาวเฉกเช่นรัชกาลก่อน และมิได้ลงท้ายด้วย “เกล้าเจ้าอยู่หัว” ตามรัชกาลก่อน

  1. ผู้ถวายน้ำอภิเษก

อ.ธงทองเผยว่า ขั้นตอนหนึ่งซึ่งเป็นวาระสำคัญของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ การทรงรับน้ำอภิเษกที่มาจากแหล่งน้ำสำคัญต่างๆ ที่ได้ผ่านพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์มาแล้ว โดยที่พระมหากษัตริย์ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระที่นั่งแปดเหลี่ยม ทำจากไม้มะเดื่อ ซึ่งเป็นไม้มงคลภายใต้พระบวรเศวตฉัตร มีผู้แทนจากทิศทั้งแปดถวายน้ำอภิเษก

“เมื่อย้อนดูในอดีตจะพบว่า ผู้ที่ถวายน้ำอภิเษก เป็นราชบัณฑิตและพราหมณ์ในราชสำนักที่มีตำแหน่งพระราชครูพิธี ส่วนราชบัณฑิต คือผู้เคยบวชเรียนจนได้เปรียญธรรมชั้นสูง และลาสิกขามารับราชการ เช่น ในกรมราชบัณฑิต และกรมพระอาลักษณ์ เป็นต้น”

กระทั่งมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงบรมราชาภิเษกในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข นอกจากมีพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำแล้ว ยังทรงกำหนดให้ผู้ที่ถวายน้ำอภิเษกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพฤฒิสภา ซึ่งเป็นชื่อของสภาสูงในเวลานั้น เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษกด้วย

  1. การถวายฉัตร 9 ชั้น

อ.ธงทองอธิบายว่า ในอดีตตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงรัชกาลที่ 7 มีพระที่นั่งสำคัญ 2 องค์ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และพระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งทั้งสององค์นี้กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตร หรือฉัตร 7 ชั้น เพราะเหตุว่าขั้นตอนการถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น ไปทูลเกล้าฯ ถวายที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

แต่คติได้มาเปลี่ยนในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยที่เมื่อประทับภายใต้พระบวรเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอัฐทิศแล้ว ทรงรับน้ำจากพราหมณ์และผู้แทนจากทิศทั้ง 8 แล้ว พราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เมื่อทรงรับแล้ว  จึงทรงพระดำเนินไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตก ของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งภัทรบิฐนั้นได้กางกั้นฉัตร 9 ชั้นแล้ว เพราะถือว่าได้ทรงรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรมาก่อนแล้ว ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ

  1. พระปฐมบรมราชโองการ

อ.ธงทองกล่าวว่า พระปฐมบรมราชโองการ คือถ้อยพระวาจารับสั่งครั้งแรก หลังพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีแล้ว

“พระปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาล เราอาจวิเคราะห์โดยกล่าวว่า พระราชอำนาจ บทบาทของพระมหากษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นอย่างหนึ่ง ในสมัยของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขก็เป็นอย่างหนึ่ง พระปฐมบรมราชโองการจึงแตกต่างกันไป”

ดังเช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 มีพระปฐมบรมราชโองการในลักษณะเดียวกัน คือ

พรรณพฤกษ์ ชลธี และสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรนั้น ถ้าไม่มีเจ้าของหวงแหนแล้วควรแต่สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรจะปรารถนาเถิด

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนธรรมเนียมพระปฐมบรมราชโองการให้เป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามคธ และมีเนื้อความของพระปฐมบรมราชโองการเปลี่ยนไป อันเป็นธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาทรงปฏิบัติ เช่น สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ความว่า

ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงพระราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่พระราชอาณาเหนือท่านทั้งหลาย กับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ

อ.ธงทองชี้ว่า ที่น่าสนใจคือ พอมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับบรมราชาภิเษกในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น พระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลนั้นจึงมีว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

“เป็นพระปฐมบรมราชโองการแบบใหม่ ซึ่งเป็นความเหมาะสมกับการปกครองในแบบแผนนี้ เช่น ทรงใช้คำว่า “ครองแผ่นดิน” ไม่ใช่ “ปกครองแผ่นดิน” ซึ่งสอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบว่าพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ได้ทรงปกครอง

“ประเด็นที่น่าสนใจทางภาษา คือสรรพนามบุรุษที่ 1 สำหรับพระมหากษัตริย์ มีธรรมเนียมทั้งตะวันตกและไทยที่จะใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนพระองค์ว่า เรา ฝรั่งใช้ว่า วี (WE) เป็นถ้อยพระวาจาที่รับสั่งในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นภาพรวมของความเป็นเอกภาพของประเทศทั้งหมด จึงไม่ใช้สรรพนามว่า ข้าพเจ้า”

“ส่วนคำว่า โดยธรรม คือ ธรรมะสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ถึงแม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเป็นพิธีฝ่ายศาสนาพราหมณ์ แต่ได้มีเนื้อหาของฝ่ายพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาสำคัญประจำชาติ ผนวกรวมเข้าไปอยู่ในพระราชพิธีด้วย ปรากฏเห็นได้ชัดในพระปฐมบรมราชโองการ เพราะ ธรรมะ ที่รับสั่งย่อมเข้าใจได้ว่า ซึ่งเป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ธรรมะสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน”

“นอกจากนั้นแล้ว พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังรับสั่งถึงที่หมายปลายทางว่า เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ตรงนี้ เดิมผมเข้าใจว่า ประโยชน์สุข เป็นคำเดียวกัน แต่ต่อมาได้ไปเห็นคำแปลของสำนักราชเลขาธิการในเวลานั้น ได้แปลคำว่า “ประโยชน์สุข” โดยแบ่งเป็นสองตอน เบเนฟิท (Benefit) ที่แปลว่า ประโยชน์ คำหนึ่ง และ แฮปปี้เนส (Happiness) แปลว่า ความสุข อีกคำหนึ่ง สองคำนี้ เมื่อแยกในคำแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว มีความหมายที่ลึกซึ้งและกว้างขวางครอบคลุมทั้งมิติที่เป็นนามธรรม และมิติที่เป็นรูปธรรม”

“สุดท้าย ของมหาชนชาวสยาม ก็น่าสังเกตอีกเหมือนกันว่า แม้จะมีถ้อยพระวาจาเมื่อพุทธศักราช 2493 ซึ่งประเทศไทยเปลี่ยนนามประเทศ จากสยามมาเป็นประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2480 กว่าแล้ว แต่ยังรับสั่งถึงมหาชนชาวสยาม ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับแบบแผนอื่นๆ ที่ยังคงรักษาขนบเดิม เช่น เทวดาที่รักษาประเทศ ก็ไม่เคยเปลี่ยนพระนามเป็นอย่างอื่น นอกจากพระสยามเทวาธิราช ตำแหน่งสำคัญพระบรมวงศ์ที่สถาปนาในรัชกาลของพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ก็ยังใช้คำว่า สยาม ปรากฏอยู่ เป็นต้น”

“ผมคิดว่า พระองค์ทรงรักษาขนมธรรมเนียมในเรื่องของการใช้ว่าสยามอยู่ในพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย”

  1. เสด็จฯ เลียบพระนคร

อ.ธงทองกล่าวว่า เนื่องจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตหรือแม้กระทั่งในรัชกาลปัจจุบันนี้ที่จะเกิดขึ้น พระราชพิธีส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ในหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จำกัด ไม่สามารถรองรับผู้ที่เข้าไปเฝ้าฯ ได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อคำนึงว่าในสมัยก่อน การรับรู้ ข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็ยิ่งน้อยกว่ายุคปัจุบันที่ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีเครื่องมือ ไลน์ เฟซบุ๊ก

“ครั้งนี้ น่าจะเป็นหนแรกของประเทศไทยที่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจสู่สายตาประชาชน ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เพราะฉะนั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมา ความรับรู้ของประชาชนในพระนคร ยิ่งต่างจังหวัดก็ยิ่งไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน ในแบบแผนแต่เดิมมา การเสด็จฯ เลียบพระนครจึงเป็นโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธี ได้ชื่นชมพระบารมี ได้ถวายพระพรชัยมงคล”

“อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกทีเดียวการเสด็จฯ เลียบพระนครไม่มีที่หมายปลายทาง คือเสด็จฯ ออกจากพระบรมมหาราชวังไปตามเส้นทางที่กำหนด และเสด็จฯ กลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือให้ประชาชนได้เฝ้าฯ ชมพระบารมี”

“แต่เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระผนวชมานาน 27 ปี การพระราชพิธีทั้งหลายทรงเพิ่มเติมเรื่องของพระพุทธศาสนาลงไปให้มีความเด่นชัด มีพระราชดำริว่าการเสด็จฯ เลียบพระนครนั้น แทนที่จะเสด็จฯ ไปอย่างไม่มีที่หมายปลายทาง ได้ทรงกำหนดให้มีที่หมายไปตามพระอารามสำคัญต่างๆ เพื่อไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นต้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในรัชกาลต่อๆ มา การเสด็จฯ เลียบพระนครทางบก ที่เรียกว่า ทางสถลมารค และทางน้ำ ที่เรียกว่า ทางชลมารค จึงกำหนดให้มีรายการเสด็จฯ ไปยังพระอารามสำคัญ ทางสถลมารค มีสองพระอาราม คือ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนทางชลมารคได้แก่วัดอรุณราชวราราม โดยในรัชกาลปัจจุบัน จะเสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารคไปยังสามพระอาราม คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนการเสด็จฯ เลียบพระนครทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวรารามจะมีในช่วงปลายปี

 

  1. เสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ

หลังจากที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จะมีการเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ในอดีตเรียกว่า “การออกขุนนาง” ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าฯ คือ ข้าราชการ

“ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน เพิ่มพูนขึ้นตามวันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ห้ามประชาชนชมพระบารมี ต้องหมอบ ต้องปิดหน้าต่าง ต้องแอบอยู่ภายในเรือน ไม่ให้เห็นพระองค์ด้วยซ้ำไป ธรรมเนียมได้เปลี่ยนแปลงให้ความใกล้ชิดกันเพิ่มมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้กำหนดให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลด้วย”

“ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพลับพลาที่ท้องสนามหลวง ให้ประชาชนเฝ้าฯ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อพุทธศักราช 2454 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ที่มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ที่สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดสถานที่เดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งทางราชการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการพิเศษด้วยแล้ว”

  1. การเข้าเฝ้าฯ ของชาวต่างประเทศ

อ.ธงทองกล่าวว่า ในอดีตเราไม่มีชาวต่างประเทศที่เป็นผู้แทนรัฐของชาวต่างประเทศ แต่อาจมีผู้คนต่างชาติต่างภาษาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ผู้คนเหล่านั้นมักรวมกลุ่มเข้ามาและขอพระราชทานเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้แทนของประเทศ หรือรัฐนั้นๆ เช่น สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพ่อค้าจีน พ่อค้าเชื้อสายอินเดีย พ่อค้ายุโรป มาเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลตามแบบธรรมเนียมที่มีมาในหลายรัชกาลแล้ว

“การมีราชทูตต่างประเทศมาประจำพระราชสำนักเป็นการถาวร เพิ่งเกิดขึ้นในตอนกลางรัชกาลที่ 5 เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรมราชาภิเษก เป็นยุคที่ไทยเปิดตัวสู่ความรับรู้ของต่างชาติแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อพุทธศักราช 2454 ครั้งนั้นมีการเชิญชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมพิธี โดยจะพบภาพถ่ายสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศ ทั้งที่มาโดยตรงจากประเทศนั้นๆ หรือเป็นคณะทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทยเข้าร่วมในพระราชพิธี หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะพบว่า ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากภาพถ่ายมุมกว้างเรายังมองเห็นคณะทูตชาวต่างประเทศและคู่สมรสเข้าร่วมในพระราชพิธีด้วย”

“สำหรับครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ วันที่ 6 พฤษภาคม เวลาบ่าย หลังจากเสด็จออกสีหบัญชรแล้ว โดยจะมีคณบดีทูต หรือหัวหน้าคณะทูต คือ ผู้ที่มีอาวุโสการถวายพระราชสาส์นตราตั้ง อยู่ในตำแหน่งมานานที่สุดในพระราชสำนักเรา เป็นผู้แทนทูตทั้งหมดกล่าวถวายพระพรชัยมงคล”

นับเป็นพระราชนิยมในแต่ละรัชกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และเว้นระยะห่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2493 นานถึงเกือบเจ็ดสิบปี

“ผู้ที่ทันเห็นเหตุการณ์ได้ชมพระบารมี ได้รับรู้ข่าวสารในเวลานั้น ถ้ายังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ก็คงเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสมากพอสมควร ผมคงจะพูดได้ไม่ผิดพลาด ถ้าจะบอกว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ รวมทั้งผม ล้วนแต่เป็นคนที่จะได้พบเห็นเหตุการณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เป็นคราวแรกในชีวิต”

“เราลองนึกดูในวันเฉลิมพระชนมพรรษาแต่ละปี ถือเป็นวาระสำคัญของบ้านเมือง มีความชื่นชมยินดี มีพิธีการสำคัญ งานเฉลิมฉลองต่างๆ แต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ มีความสำคัญยิ่งกว่างานพระราชพิธีที่เราเคยได้เห็นมา เพราะเป็นพระราชพิธีประจำรัชกาลก็ว่าได้ เพราะแต่ละรัชกาลมีได้แค่ครั้งเดียว

“ผมคิดว่า ความหมายความสำคัญทางจิตใจของพระราชพิธีนี้มีอยู่มาก เพราะทำให้เกิดความมั่นใจ เกิดความเข้าใจในสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรายิ่งขึ้น สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับบ้านเมืองเรามาช้านานแล้ว และจะอยู่กับเมืองไทย กับคนไทยตลอดกาล”

“ความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิธีการสำคัญอย่างนี้ จึงมีความหมายสำหรับคนไทยทั้งหลาย นอกจากนั้นแล้วยังเป็นโอกาสที่เราจะได้มีความสุขด้วยกัน การได้เห็นภาพเหตุการณ์สำคัญผ่านช่องทางต่างๆ หรือไปเห็นด้วยสายตาตัวเอง เช่น ไปเฝ้าฯ เวลาเสด็จฯ เลียบพระนคร หรือ เสด็จออกสีหบัญชร ผมว่าจะทำให้ความปีติตื้นตันเกิดขึ้นในหัวใจของเราอย่างแน่นอน

“เป็นครั้งหนึ่งและครั้งสำคัญในชีวิตของเรา ถ้ามีโอกาสก็ไม่ควรจะละเลยโอกาสนี้ การแสดงความปรีดาปราโมทย์ทั้งหลาย การประดับธงทิว ประทีปโคมไฟ การพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลือง แสดงความจงรักภักดี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบ้านเมืองไทยของเรา หน่วยราชการ หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล การบำเพ็ญความดีทั้งหลาย ทำบุญทำกุศล ตามความเชื่อของเราแต่ละคน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความดีในส่วนตัวเราด้วย ความดีไม่มีเสื่อม ทำไปเถิด ของเหล่านี้ เป็นโอกาสที่เราตั้งตารอมาด้วยกัน แล้วเราจะได้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ไปด้วยกัน” อ.ธงทองกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image