เปิดตำนาน ‘วัดโพธิ์’ จากวัดเล็กๆ ตำบลบางกอก สู่อารามสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่าวัดโพธาราม ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่า วัดโพธิ์ เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คาดว่าสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2231-2246 ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมเป็นวัดราษฎร์เล็กๆ อยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา ไม่ปรากฏนามว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ มีวัดอยู่ในเขตใกล้ชิดพระราชฐาน 2 วัด คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุ) และวัดโพธาราม จึงทรงแบ่งปันการบูรณปฏิสังขรณ์วัดทั้งสองนี้กับสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท(วังหน้า) พระองค์ละวัด คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงรับปฏิสังขรณ์วัดสลัก ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นวัดของฝ่ายวังหลวง วัดมหาธาตุเป็นวัดของฝ่ายวังหน้าแต่นั้นมา

รัชกาลที่ 1 โปรดให้ทรงสร้างวัดโพธารามใหม่ในที่เดิม เมื่อราวปี พ.ศ. 2332 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึงกว่า ๗ ปี และทรงพระราชทานนามวัดโพธารามเสียใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนสร้อยนามวัดเสียใหม่ว่า”วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของรัชกาลที่ 1 เกี่ยวกับการสร้างและสถาปนาพระอารามแห่งนี้คือ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ซึ่งมีหลายปางจำนวนมากกว่า 1,000 องค์ จากวัดร้างในหัวเมืองทางภาคเหนือ เช่น สุโขทัย พิษณุโลก ทางภาคกลาง เช่น อู่ทอง สุพรรณบุรีลพบุรี เป็นต้น พระพุทธรูปเหล่านี้ที่สมบูรณ์ก็มี ที่ชำรุดบางส่วนก็มี แล้วให้ช่างต่อเติมเสริมแต่งซ่อมให้สมบูรณ์ ประดิษฐานไว้ณ ระเบียงพระอุโบสถทั้งชั้นนอกและชั้นใน ในวิหารทิศทั้ง ๔ แห่งวิหารคดและระเบียงพระมหาเจดีย์ เป็นต้น

Advertisement

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่า วัดพระเชตุพนฯ อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จึงโปรดฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ พร้อมทั้งสร้างปูชนียวัตถุและปูชนียสถานเพิ่มเติม และขยายอาคารบางหลังให้ใหญ่ขึ้นเพราะทรงมีพระประสงค์ที่จะทำนุบำรุงพระอารามนี้ให้รุ่งเรืองสุดยอด เสมือนหนึ่งกรุงศรีอยุธยาที่รุ่งเรื่องด้วยวัดวาอารามที่สวยงามสง่าจำนวนมากประดับพระนครมาแล้ว นายช่างทุกประเภทจึงทำงานด้านศิลปกรรมของพระอารามนี้กันอย่างสุดฝีมือ ยังผลให้มีงานศิลปะเอกหลายอย่างเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ เช่น ประตูพระอุโบสถประดับมุก ซึ่งเป็นงานละเอียดวิจิตรบรรจงประเภทหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังโปรดให้จดจารศิลาจารึกตำราวิทยาการทั่วเขตพุทธาวาสของพระอาราม กลายเป็นมรดกความทรงจำของโลกจวบจนทุกวันนี้

ข้อมูลจาก หอสมุดสาขาวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image