“ยะลา-มติชน”เล่าเรื่อง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผ่านเสวนา ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา’

สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องด้วยลักษณะพระราชพิธีเดิม มีแบบแผนรายละเอียดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น ในสมัยอยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” และเนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่มีความสำคัญทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญ ลำดับขั้นตอน ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี และองค์ประกอบของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เทศบาลนครยะลา ร่วมกับ บมจ.มติชน จัดทำกิจกรรมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี โดยจัดนิทรรศการและการเสวนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามที่จังหวัดยะลาได้มอบหมายดำเนินการ ระหว่างวันที่ 19 เมษายน – 7 พฤษภาคม ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park อ.เมืองยะลา จ.ยะลา

โดยเฉพาะในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม มีไฮไลต์สำคัญของงาน ซึ่งเป็นวงเสวนา เรื่อง “เสวยราชสมบัติกษัตรา” นำโดย นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ  ผู้บริหารสำนักพิมพ์มติชน และบรรณาธิการหนังสือเสวยราชสมบัติกษัตรา เข้าร่วมเสวนา

ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงความสำคัญของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ เพื่อใช้เป็นน้ำอภิเษก ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเพื่อเป็นการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นการสืบทอด บำรุงรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ รวมถึงสร้างความรักความสามัคคีแก่ปวงชนชาวไทยตลอดไป

Advertisement

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนไทย ในช่วงชีวิตหนึ่งที่จะมีโอกาสจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชประเพณีโบราณที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สวยงาม มีคุณค่าทางจิตใจ และอยู่เคียงคู่กับคนไทยมาแต่อดีต เทศมนตรีนครยะลาได้ตระหนักถึงสิ่งนี้ และมุ่งหวังให้พสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์มีความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องราวต่างๆ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และได้จดจำไว้ว่าในชีวิตหนึ่งของตนได้เกิดมาเป็นคนไทย

“เทศบาลนครยะลาได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และได้ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน จัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลลำดับขั้นตอนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งในอดีตกระทั่งถึงรัชสมัยปัจจุบัน ตามกรอบพระราชประเพณีที่ยึดถือกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park) เพื่อเปิดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลนครยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดระยะเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ รวมถึงประชาชนที่มาใช้บริการศูนย์เยาวชนในการศึกษาเรื่องราวของพระราชประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้รับความสนับสนุนจาก นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มอบหมายให้เทศบาลนครยะลาเป็นเจ้าภาพในการจัดนิทรรศการครั้งนี้”

นายพงษ์ศักดิ์ตบท้ายว่า เทศบาลนครยะลา ในนามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองในพระราชประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะข้าราชการภายใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ตระเตรียมตั้งแต่การเพาะไม้ดอก ดาวเรือง 60,000 ต้น และไม้ดอกอื่นๆ อาทิ ต้นดาวกระจาย ต้นไส้ไก่ ต้นบานชื่น รวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 ต้น เพื่อปรับภูมิทัศน์ตั้งแต่บริเวณถนนสุขยางค์จากศาลหลักเมืองยะลา ถึงหอนาฬิกา ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองยะลา อีกทั้งยังเป็นสายทางที่ตั้งของสถานศึกษาและศูนย์ราชการของจังหวัดยะลา รวมถึงการประดับตกแต่งด้วยธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และไฟประดับช่วงกลางคืนตลอดทั้งสองข้างทาง เพื่อให้เป็นถนนสวยเทิดพระเกียรติ ที่มีความร่มรื่น สวยงาม และสะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลา “นอกจากนี้ยังมีโครงการและกิจกรรมอื่นๆ ที่เทศบาลนครยะลาดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดระเบียบสายไฟฟ้า นำสายไฟฟ้าลงดิน การจัดระเบียบ และป้ายโฆษณา ปรับปรุงพื้นผิวถนนและบาทวิถี การทาสีสองข้างทาง การทาสีตีเส้นถนนใหม่ เป็นต้น โดยได้รับความร่วมมือจากจิตอาสา ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ดูแล รักษา ทำความสะอาดถนนเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความสุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย”

Advertisement

นับเป็นความปีติยินดีอย่างยิ่ง ที่ปวงชนชาวไทยทั้งผองจะได้รับรู้และเข้าใจในคติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาและมีความหมายอันลึกซึ้ง ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคนไทยที่ต้องจารึกไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image