ครั้งแรกแห่งรัชสมัยพยุหยาตราชลมารค ความปีติ ‘ฝีพาย-นายท้าย’ เรือพระที่นั่ง

ครั้งแรกแห่งรัชสมัยพยุหยาตราชลมารค ความปีติ ‘ฝีพาย-นายท้าย’ เรือพระที่นั่ง

ฝีพาย-นายท้าย – ประเทศไทยกำลังมีพระราชพิธีสุดยิ่งใหญ่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เป็นโบราณราชประเพณีบนสายน้ำที่สวยงามระดับโลก คือ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เบื้องปลาย

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้จัดในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2562

พระราชพิธีดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ บนสายน้ำเจ้าพระยา เสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรี ไปยังวัดอรุณราชวราราม ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร โดยมีเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ และกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี จำนวน 2,200 คน

ในจำนวนนี้มีฝีพาย นายเรือ นายท้ายเรือ จำนวน 54 คน ประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่ผ่านมาได้ฝึกซ้อมอย่างหนัก ประการหนึ่งเพื่ออัญเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปเทียบท่าราชวรดิฐ ในการถวายเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เบื้องกลาง บัดนี้กำลังได้ถวายงานครั้งใหญ่อีกครั้ง จึงต่างแสดงความปลาบปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้

Advertisement

จ่าเอกวุฒิภัทร ราชริวงศ์ อายุ 25 ปี สังกัดแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ ตำแหน่งฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มาในชุดฝีพายจริง ตั้งแต่สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีแดงขลิบลูกไม้ใบข้าวยอดเกี้ยว ใส่เสื้อสักหลาดแดงขลิบลูกไม้ใบข้าว กางเกงรูเซีย รัดประคตโหมดเทศ สะพายดาบกำมะลอขลิบลูกไม้ใบข้าว และรองเท้าหนังสีดำ

จ่าเอกวุฒิภัทรเล่าว่า ผมเป็น 1 ใน 50 ฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พวกเราต่างรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูลที่ได้รับหน้าที่ตรงนี้ ที่ผ่านมาได้ฝึกซ้อมอย่างหนักมาตลอด ฝึกทุกวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง ตั้งแต่การฝึกซ้อมบนเขียงหรือพายลม เพื่อฝึกซ้อมท่าทางการพายต่างๆ จากนั้นเป็นการฝึกซ้อมบนเรือดั้งอยู่กับที่ในบ่อพักเรือของหน่วย ก่อนมาฝึกซ้อมบนเรือเริ่มพายออกแม่น้ำ และเตรียมฝึกซ้อมบนเรือพายออกแม่น้ำที่เน้นจัดการรูปขบวนเรือ

Advertisement

“หัวใจสำคัญของฝีพายคือ การพายให้เรือเคลื่อนไปข้างหน้า การพายต้องอาศัยจังหวะ ต้องเน้นความพร้อมเพรียง และยังต้องอาศัยความอดทนและแข็งแรงของฝีพาย ที่ผ่านมาเราจึงมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ประชาชนจำนวนมากได้ชื่นชมพระบารมี พวกเราจึงพร้อมใจถวายงานให้ดีที่สุด” จ่าเอกวุฒิภัทรเล่าด้วยสีหน้ามุ่งมั่น

จ่าเอกวุฒิภัทร ราชริวงศ์

ส่วน พันจ่าเอกพชร ดวงสูงเนิน อายุ 40 ปี สังกัดแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ ตำแหน่งนายท้ายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 นายท้ายเรือฯ แต่มาในชุดนายเรือที่แต่งกายคล้ายกัน เพียงเปลี่ยนเป็นเสื้อโหมดเทศสีเขียว ไม่สะพายกระบี่ นอกนั้นสวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว ผ้าเกี้ยวลาย รัดประคตโหมดเทศ และรองเท้าสีดำ

พันจ่าเอกพชรเล่าว่า ผมมีโอกาสได้ถวายงานการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ 9 รวม 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนมาครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2555 ครั้งนั้นผมเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ได้สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ พัฒนาจนเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ครั้งแรกในการเสด็จฯครั้งนี้

“ความสำคัญของนายท้ายเรือคือการต้องบังคับทิศทางเรือให้เคลื่อนไปอย่างสวยงามตามรูปขบวน เช่นเดียวกับนายท้ายเรือพระราชพิธีทุกคน ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญยิ่ง ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ”

พันจ่าเอกพชรได้มีโอกาสถวายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จฯในฐานะกษัตริย์เป็นครั้งแรก เขารู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากแก่ตัวเองและครอบครัว เขายังคงจำภาพความประทับใจสมัยเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่เห็นประชาชนมากมายมาเฝ้าฯรับเสด็จเต็ม 2 ฝั่งริมน้ำ

“ผมเชื่อว่าวันนั้นจะเป็นภาพความยิ่งใหญ่มากๆ จะเป็นอีกบันทึกหนึ่งในประวัติศาสตร์ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ภาคภูมิใจ ว่าประเทศไทยมีโบราณราชประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นประเทศเดียวที่มี” พันจ่าเอกพชรกล่าวทั้งรอยยิ้ม

พันจ่าเอกพชร ดวงสูงเนิน

ประชาชนสามารถเฝ้าฯชื่นชมพระบารมีได้ 2 ฝั่งริมน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image