สมเด็จพระพันปีหลวง พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ชายแดนสยาม

สมเด็จพระพันปีหลวง พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ชายแดนสยาม

เป็นชายแดนประเทศไทย ที่ก่อนนั้นความเป็นอยู่ราษฎรและธรรมชาติดูไม่มั่นคงเอาเสียเลย เพราะเอาแต่ทำไร่เลื่อนลอย รุกล้ำป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมจนเห็นภูเขาหัวโล้นไกลสุดลูกหูลูกตา กระทั่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2528

จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “สวนป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” จังหวัดราชบุรี เนื่องในโอกาสทรงพระเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2535

ซึ่งมูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทัพบก จังหวัดราชบุรี และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) จัดถวาย

ด้วยตระหนักตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ.2520 ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แหล่งต้นน้ำ และสัตว์ป่า เพื่อประโยชน์ของประชาชน ความว่า

Advertisement

“…ขอให้สร้างป่าโดยมีคนอาศัยอยู่ด้วย โดยไม่ทำลายป่า คือต้องช่วยเขาเหล่านั้นจริงๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร เช่น มีที่ดินทำกิน มีน้ำให้การศึกษา ส่งเสริมงานศิลปาชีพต่างๆ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเขาอยู่ได้แล้ว เขาจะได้ช่วยดูแลป่า…”

น้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ ได้ชโลมแผ่นดินที่แห้งแล้ง ค่อยๆ ฟื้นคืนผ่านโครงการส่วนป่าฯ ซึ่งมีพื้นที่ 524,816 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากท่อ บ้านคา และสวนผึ้ง

มีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ

1.สร้างป่า โดยมีคนอาศัยอยู่ด้วย ไม่ทำลายป่าช่วยพวกเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร

Advertisement

2.การฝึกราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า

3.ช่วยชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่ ให้มีอาชีพหลักและอาชีพเสริม ในงานศิลปาชีพ ฝึกงานฝีมือต่างๆ ให้กับกลุ่มที่สนใจ เช่น การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า ปักผ้า วาดภาพ จักสานไม้ไผ่ เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

4.อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

 

พระราชทานโครงการศิลปาชีพ-ฟู้ดแบงก์

กระทั่งในปี พ.ศ.2536 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง “โครงการศิลปาชีพ” ขึ้นในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพเสริมหลังการเก็บเกี่ยวเกี่ยวพืชไร่ ลดการล่าสัตว์ และบุกรุกพื้นป่า

จึงมีการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้แก่ ทอผ้า ปักผ้า เครื่องปั้นดินเผา และจักสานไม้ไผ่ โดยมีราษฎรจาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยน้ำหนัก บ้านห้วยม่วง บ้านหนองตาดั้ง และหมู่บ้านที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่าแค่ 3.5 กิโลเมตรอย่าง “บ้านพุระกำ” ก็เข้ามาอบรมเรียนรู้ด้วย ก่อนให้ทำผลิตภัณฑ์ตามความถนัดส่งขายศิลปาชีพฯ ทำให้ราษฎรยังยืนหยัดปักหลักอยู่ในท้องถิ่นอย่างภาคภูมิ เพราะสามารถทำงานรายได้ที่มั่นคงมากน้อยตามระดับฝีมือ ประการสำคัญคือ ไม่ต้องทิ้งครอบครัวเข้าเมือง เข้ากรุงเทพฯไปทำงาน

ดั่งประโยคที่ว่า “ความมั่นคงของครอบครัว คือความมั่นคงทุกอย่าง ทั้งผืนป่า และแผ่นดิน” อีกทั้งยังได้รับการอบรมเพื่อมีส่วนร่วมดูแลผืนป่าและปกป้องประเทศ

จากนั้นในปี พ.ศ.2543 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯไปทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการสวนป่าฯ และพระราชทาน “โครงการแหล่งผลิตอาหารและวนเกษตรบ้านหนองตาดั้ง” ในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาแหล่งผลิตอาหาร หรือฟู้ดแบงก์ อาทิ การเลี้ยงปลา เป็ด ไก่ การปลูกขนุน ลำไย น้อยหน่า ส้มโอ มะนาว ยางนา ข้าวไร่ ข้าวโพด มะเขือฟักทอง เพื่อสาธิตและอบรมราษฎรให้มีความรู้ และดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง อันทำให้ราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ สามารถพึ่งพิงตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

พ.อ.วณัฐ ลักษณสิริ ผู้บังคับการกรมพัฒนาที่ 1 กองพลพัฒนาที่ 1 กองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบดูแลโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เล่าว่า กองทัพบก ได้สนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาโดยตลอด โดยในส่วนโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองพลพัฒนาที่ 1 ที่ผ่านมาได้ดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

1.การพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ ส่งเสริมงานศิลปาชีพ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ราษฎร โดยปัจจุบันมีสมาชิกศิลปาชีพในโครงการ จำนวน 116 คน มีรายได้รวมเฉลี่ยเดือนละ 300,000 บาท

2.ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ หลักสูตรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.), ยามชายแดน, ไทยอาสาป้องกันชาติ, การปลูกป่า สร้างฝาย สืบสานพระราชปณิธาน

3.ด้านความมั่นคง อาทิ กิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ จัดอบรมปลูกฝังอุดมการณ์การเมืองการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“นับว่าโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ได้สะท้อนถึงน้ำพระราชหฤทัย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อพสกนิกร เพราะวันนี้ต้องบอกว่าคุณภาพชีวิตของราษฎรดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และยังถือเป็นพลังสำคัญช่วยพัฒนา และปกป้องประเทศ” พ.อ.วณัฐกล่าว

 

พ.อ.วณัฐ ลักษณสิริ ผู้บังคับการกรมพัฒนาที่ 1 กองพลพัฒนาที่ 1 กองทัพบก

การปักผ้า
ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่

ราษฎรอาชีพมั่นคงป่าไม้ยั่งยืน

เข้าไปที่โครงการศิลปาชีพฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ทางกายภาพโอบล้อมด้วยธรรมชาติสมบูรณ์ มีลำน้ำภาชีไหลผ่านด้านข้าง เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในชื่อ “แก่งส้มแมว” ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็สามารถเดินมาชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์สดๆ ใหม่ๆ จากร้านค้าของโครงการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เซรามิกรูปแบบต่างๆ ราคาเริ่มต้น 20 จนถึง 3,500 บาท ซึ่งมีโรงผลิตภายในแบ่งเป็นส่วนๆ และมีราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับการอบรมเรียนรู้มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน

นางสาวรณิดา ยอดธง อายุ 31 ปี ชาวไทยพื้นที่สูง และเป็นหนึ่งในศิลปินศูนย์ศิลปาชีพฯ ด้านการทำเซรามิก เล่าว่า ดิฉันเป็นคนในพื้นที่และทำงานที่นี่มา 10 กว่าปีแล้ว ก่อนหน้าจะมาทำงานก็ไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน เพราะเรียนจบชั้น ม.3 ก็มาทำงานที่นี่เลย อาศัยมาเรียนรู้จากการเข้าฝึกอบรมและฝึกฝนทำ ใช้เวลา 4-5 ปี จนมีความชำนาญในปัจจุบัน สามารถทำเซรามิกได้หลายรูปแบบ งานเซรามิกยากๆ ก็จะมาให้ดิฉันทำ โดยมีรายได้วันละ 230 บาท

“ดิฉันทำงานที่นี่ที่เดียว ไม่ได้มีอาชีพเสริมอะไร ถ้าถามว่ารายได้เพียงพอไหม ก็ต้องบอกว่าสามารถอยู่ได้ แม้จะมีลูก 4 คน เพราะอาศัยปลูกพืชผักสวนครัวกิน ค่าเดินทางก็เสียน้อยมาก เพราะเป็นคนในพื้นที่ ก็รู้สึกดีใจที่มีโครงการศิลปาชีพในพื้นที่ เพราะถ้าไม่มี ดิฉันก็ไม่รู้ว่าชีวิตในวันนี้จะเป็นอย่างไร อาจต้องเดินทางเข้าเมือง เข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปทำงานรับจ้างหารายได้”

รณิดายังเคยเป็นหนึ่งในตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ได้เฝ้าฯรับเสด็จ และร้องเพลงพื้นเมืองเบื้องหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อนานมาแล้ว ณ วังไกลกังวล เธอยังจำภาพความประทับใจได้ดี เพราะพระองค์ทรงมีรับสั่งชมเชยคณะที่ทำการแสดงในครั้งนั้น

“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทำให้ดิฉันและเพื่อนๆ มีอาชีพมีรายได้แม้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเกิด สำคัญว่าดิฉันได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ได้ดูแลลูกๆ ซึ่งทุกคนได้รับการศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่” นางสาวรณิดากล่าวทั้งรอยยิ้ม

ขณะที่ นางสาวประกายวรรณ บุญทิน อายุ 28 ปี ชาวไทยพื้นที่สูง และเป็นหนึ่งในศิลปินศูนย์ศิลปาชีพฯ ด้านการปักผ้า เล่าว่า หลังจากเรียนจบชั้น ม.3 ก็มาทำงานที่นี่เหมือนกัน จากการเชิญชวนของแม่ที่ทำงานที่นี่มาก่อน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการทำงานที่ใกล้บ้าน มีรายได้ที่มั่นคง อย่างดิฉันตอนนี้มีรายได้วันละ 150 บาท และไม่ได้มีอาชีพเสริมอย่างใด ก็อยู่ได้อย่างพอเพียงกับครอบครัวและลูก 2 คน อาศัยปลูกพืชผักสวนครัวกิน

“ผลงานที่ทำคือการปักผ้าตามลวดลายแบบที่โครงการจัดมาให้ เพื่อนำไปใส่กรอบรูปขาย ถามว่ายากไหม ก็ยาก แต่อาศัยใจรัก เมื่อรักอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นผลพวงว่าหากทำผลงานออกมาได้ดี รายได้ต่อวันก็จะเพิ่มไปด้วย จึงตั้งใจทำงานมาก”

เธอเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่าโครงการศิลปาชีพฯแห่งนี้มีได้เพราะพระองค์ หากไม่มีก็ไม่รู้ว่าชีวิตในวันนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องดั้นด้นไปทำงานรับจ้างในเมือง ทิ้งลูกอยู่กับปู่ย่าตายายแน่ ฉะนั้น เนื่องในโอกาส 12 สิงหาคม จึง “อยากถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเจริญ มีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ พระชนมายุยิ่งยืนยาวตลอดไป และอยากขอปฏิญาณจะเป็นราษฎรที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง ช่วยรักษาป่า และรักษาประเทศอย่างที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้”

 

หมู่บ้านติดชายแดนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

สมาชิกศิลปาชีพฯมีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีผู้ชายไม่น้อย หลายครอบครัวเป็นในลักษณะภรรยามาทำงานศิลปาชีพ สามีทำไร่ทำสวน พอถึงฤดูกาลพาะปลูกภรรยาก็ไปช่วยสามีทำไร่ทำสวน ซึ่งในพื้นที่นิยมปลูกพืชผักสวนครัวไว้ขาย ได้แก่ แตงกวา ผักกาด ถั่ว และปลูกไว้บริโภค ได้แก่ ข้าวไร่ โดยเป็นการทำเกษตรกรรมบนพื้นที่รัฐจัดสรรไว้ให้ มีข้อตกลงว่าจะต้องไม่รุกที่ป่าอีก

“บ้านพุระกำ” ที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลติดชายแดนไทย-พม่า ก่อนหน้านี้ประชาชนทำไร่เลื่อนลอย ต้องอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาตลอด

ด้วยพระบารมี สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานศิลปาชีพ และธนาคารข้าวเข้าไปช่วยเหลือ ก็ทำให้ราษฎรเริ่มมีอยู่มีกิน และตัดสินปักหลักถิ่นฐานถาวร

ห้องขึ้นรูปเซรามิคประเภทของใช้

รณิดา ยอดธง
นางสาวประกายวรรณ บุญทิน

ผลิตภัณฑ์เซรามิค

พ.ท.อุดม เทียมเท่าเกิด นายช่างโยธากรมพัฒนาที่ 1 กรมพัฒนาที่ 1 กองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานพัฒนาบ้านพุระกำ เล่าว่า ผมมีโอกาสดูแลงานพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้มากว่า 30 ปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แม่หลวง” ต้องถือว่าหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการพัฒนาจนเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภคที่มีถนนหนทางเข้าถึงได้ เด็กๆ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ประชาชนก็มีอาชีพที่มั่นคงจากการทำพืชไร่ ทำศิลปาชีพ มีอาหารจากราคาไม่แพงจากโครงการฟู้ดแบงก์ และปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคเอง แม้จะยังใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์และน้ำจากภูเขา

แต่อุปสรรคท้าทายที่ทีมทหารจากกรมพัฒนาที่ 1 สังเกตเห็นใหม่คือ การที่คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยสนใจเรื่องศิลปาชีพ จึงพยายามด้วยการใช้วิธีด้วยการนำศิลปาชีพ เข้าไปหาเด็กนักเรียนในโรงเรียน อย่างในพื้นที่คือ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ บ้านห้วยม่วง ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 1,000 กว่าคน เสริมเข้าไปในกิจกรรมส่วนหนึ่งของหลักสูตร ตั้งแต่การทอผ้า ปักผ้า ทำเซรามิก จักสานไม้ไผ่ จนนักเรียนสามารถส่งผลงานประกวดและได้รับรางวัลศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับภาค แต่ที่สำคัญคือ การทำให้นักเรียนเห็นว่ากิจกรรมนี้สามารถทำเป้นอาชีพได้ มีรายได้จริงๆ เป็นรายได้ที่สามารถทำได้ ณ ถิ่นฐานบ้านเกิด

“ผมและเพื่อนทหารกรมพัฒนาที่ 1 ที่รับผิดชอบพื้นที่ทุกคน ต่างรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะได้ช่วยราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ อีกทั้งยังเป็นการถวายงานตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้สำเร็จลุล่วงไป วันนี้ชาวบ้านมีรอยยิ้ม เขารู้สึกหวงแหนแผนดินเกิด เวลามีอะไรผิดปกติหรือเจอคนพม่าเข้ามา ก็มาแจ้งทหารอยู่เสมอ” พ.ท.อุดมกล่าวทั้งรอยยิ้ม

พระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาล

พ.ท.อุดม เทียมเท่าเกิด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image