กรมหลวงราชสาริณีฯ ทรงคำนึงสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขัง

กรมหลวงราชสาริณีฯ ทรงคำนึงสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขัง – เป็นคำถามมากมายในสังคมว่าทำไมผู้ต้องขังที่ออกมาจากเรือนจำแล้ว ถึงยังกระทำผิดซ้ำ ทำไมถึงไม่กลับตัวกลับใจเป็นคนดีเสียใหม่ ทำไมเรือนจำปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด เป็นความสงสัยที่มีทุกคำตอบในงานสัมมนาเรื่อง การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปทรงเปิดงานและพระราชทานพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า สิทธิมนุษยชน หมายความถึงสิทธิที่บุคคลพึงมี เพื่อทรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพึงได้รับความคุ้มครอง ซึ่งอีกนัยยะหนึ่ง การมีซึ่งสิทธิก็สะท้อนถึงหน้าที่ของทุกคนที่พึงมี ในการที่จะไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นเช่นกัน และรัฐก็มีหน้าที่ที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิของบุคคลในรัฐนั้น ส่วนสิทธิของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งถึงแม้การคุมขังในเรือนจำนั้น เป็นการจำกัดสิทธิบางประการ เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญาและตามผลแห่งคำพิพากษาของศาล แต่การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง ก็เป็นสิ่งสำคัญ

“ต้นเหตุของการกระทำความผิดทางอาญานั้น หลายครั้งเกิดจากการขาดโอกาส ขาดความรู้ และทางเลือกที่ถูกต้องในชีวิต จึงนำสู่การกระทำความผิดทางอาญา และทำให้ต้องโทษคุมขังในเรือนจำ ซึ่งนอกเหนือจากการลงโทษด้วยการจำกัดเสรีภาพแล้ว การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการให้สิทธิในการแก้ไขตนเองและการเรียนรู้ ทักษะด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขังมากเช่นกัน จึงนำไปสู่โครงการกำลังใจ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”

“สิ่งหนึ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากความพยายามที่ผ่านมาคือ การรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าสังคมไทยเปี่ยมไปด้วยบุคคลที่มีจิตสาธารณะพร้อมที่จะทำความดี เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความร่วมมือร่วมใจในการสร้างโอกาสแก่ผู้ก้าวพลาด และการหยิบยื่น กำลังใจให้แก่กันนี้เองจะเป็นพลังสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งสังคมไทยที่ โอบอ้อมอารีและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

Advertisement

ภายในงานมีการเสวนาหาทางออกปัญหา “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในเรือนจำได้ยาก เพราะจริงๆ เรือนจำมีพื้นที่และเจ้าหน้าที่รองรับผู้ต้องขังเพียง 120,000 คน ทว่าปัจจุบันกลับมีผู้ต้องขังสูงถึง 370,000 คน หรือเกินไป 3 เท่า อีกทั้งยังมีสัดส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรสูงเป็นลำดับที่ 6 ของโลก และเป็นที่ 1 ของอาเซียน

โดยปัญหาคนล้นคุกในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ทำได้เพียงจัดการดูแลผู้ต้องขังไม่ให้เกิดปัญหา ไม่อาจไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูพฤตินิสัย ให้ผู้ต้องขังกลับมาดำรงชีวิตที่ดี จึงทำให้ผู้ต้องขังออกไปแล้วกระทำผิดซ้ำถึงร้อยละ 30 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการระบายผู้ต้องขังพ้นโทษเร็วขึ้น ผ่านรูปแบบการเพิ่มนักโทษชั้นดี และการขอพระราชทานอภัยโทษมากขึ้น อย่างคดีที่ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี แต่ติดคุกจริงๆ ไม่ถึง 5 ปีด้วยซ้ำ


ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการทีไอเจ กล่าวเปิดประเด็นอย่างน่าสนใจว่า ปัญหาคนล้นคุกไม่ได้สะท้อนสภาพบ้านเมืองเรากำลังอันตราย ขณะเดียวกันไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพระบบยุติธรรม ที่สามารถนำคนไปอยู่ในเรือนจำได้มาก แต่มองว่าเป็นระเบิดเวลาที่มาต้องจัดการระบบยุติธรรมทั้งระบบ

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า จากสถิติผู้ต้องขังทั้งหมด พบว่าร้อยละ 80 ต้องโทษคดียาเสพติด ซึ่งหากย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีการบัญญัติให้ยาแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 คนร้อยละ 80 นี้ก็ไม่ต้องเข้าเรือนจำ ตรงนี้เพราะเราดำเนินนโยบายยาเสพติดเหมือนสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันสหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังต่อประชากรมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 ของโลก

อาจารย์ปริญญาชวนศึกษาประเทศเนเธอร์แลนด์และโปรตุเกส ซึ่งมีปัญหาอาชญากรรมและคอร์รัปชั่นลดลง อย่างเนเธอร์แลนด์ภายหลังผ่อนความเข้มงวดกฎหมายยาเสพติด ให้เสพเป็นที่เป็นทางและบำบัดฟื้นฟู และหากไม่ได้ต้องโทษคดีอาชญากรรม ก็ให้ทำกิจกรรมดูแลสังคมแทนการขังคุก โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อเท้าแบบแกะไม่ออกคอยติดตาม ปรากฏว่าผู้ต้องขังลดลงจนต้องทำเรือนจำเป็นโฮมสเตย์ และนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ ส่วนโปรตุเกสใช้มาตรการยาเสพติดเป็นปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเสพแล้วป่วยหรือหลอนจากเฮโรอีน โคเคน ตีว่าเป็นปัญหาสุขภาพต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ สามารถนำใบสั่งแพทย์ไปซื้อยาได้ตามร้านขายยา และยังเบิกกับรัฐได้ ทำให้ยามีราคาถูกมากต่อเม็ด ตัดวงจรการลักลอบผลิต ลักลอบขนส่ง ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

“ผมยังยืนยันว่ายาเสพติดคือปัญหา เพียงแต่วิธีการแก้ปัญหาของเราที่ผ่านมามันผิด จนกลายเป็นว่ายิ่งปราบยาเสพติด ราคาก็ยิ่งแพงตามหลักอุปสงค์อุปทาน เงินยิ่งมากก็ต้องจ่ายรายทาง เกิดสินบนและคอร์รัปชั่น มันถึงแก้ปัญหาไม่ได้ บางคนที่เคยเสพอย่างเดียว เมื่อไม่มีเงินซื้อ ก็ต้องผันตัวมาเป็นผู้ขายด้วย ก็พยายามจำหน่ายคนรอบตัวก่อน จำหน่ายไม่ทันก็ไปชกชิงวิ่งราว”

นอกจากผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่เป็นเหตุให้คนล้นคุก อาจารย์ปริญญายังชี้อีกสาเหตุคือ “คนจนติดคุก” ซึ่งมีสูงถึง 62,000 คน เนื่องจากไม่มีเงินประกันตัวชั่วคราว จึงต้องติดคุกทดแทนค่าปรับซึ่งตีมูลค่าวันละ 500 บาท รวมคนคนจนที่ไม่มีเงินสู้คดี

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า คนเราควรติดคุกเพราะทำผิด ไม่ใช่ติดคุกเพราะความจน เพราะวันนี้กลายเป็นว่าความผิดเดียวกัน คนรวยไม่ต้องติดคุกเพราะมีเงินจ่ายค่าประกันตัวชั่วคราว ส่วนคนจนติดคุกรอศาลพิจารณา และยังเป็นการเอาคนธรรมดาไปขังรวมกับอาชญากรตัวจริง ที่มีการสอนวิชางัดแงะกุญแจต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมต้องบอกว่ากฎหมายไทยเอะอะอะไรก็ติดคุก ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหาคนล้นคุก ต้องเริ่มจากผู้ยกร่างกฎหมาย ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา สำนักงาน กสม. และสถาบันการศึกษา จะต้องมาบูรณาการกัน ทบทวนเพื่อลดปัญหา

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ภายในงานยังมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาแสดงความเห็น อย่างมิติมนุษยชน นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการ กสม. มองว่าไม่ควรนำคนไปคุมขังให้เสียสิทธิเสรีภาพโดยไม่เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนคุมขังจนล้นสถานพินิจ แต่ควรแก้ด้วยการให้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้การกำกับดูแล และได้อยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ ต้องเป็นกติกาที่ผู้เสียหายตกลงและสังคมยอมรับด้วย ขณะที่มิติภาครัฐโดย นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัด ยธ. เสนอว่า ควรกำหนดอัตราโทษปรับที่อ้างอิงตามฐานะทางเศรษฐกิจ สามารถผ่อนชำระได้

ทั้งนี้ ภายในงานยังเกิดความร่วมมือทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ ที่จะต้องพูดคุยและศึกษาแก้ปัญหาคนล้นคุกในไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image