ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เยี่ยมชมสถานที่สำคัญและประชุมวิชาการนานาชาติที่สงขลา

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เดินทางเข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมงานประชุมวิชาการนานาชาติเมืองท่าและเส้นทางการค้าทางทะเลแห่งเอเชีย 2562 (“International Symposium on Asian Port Towns and Maritime Trade Route 2019”)

ได้สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นศาลเจ้าแห่งแรกในอำเภอเมืองสงขลา ลักษณะเป็นอาคารแบบจีน สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลา ในสมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ภายในศาลเป็นที่ประดิษฐานศาลหลักเมือง ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักชัยต้นหนึ่งและเทียนเล่มหนึ่งพร้อมเครื่องไทยทานให้พระยาวิเชียรคีรี จัดการฝังหลักชัยเมืองสงขลา เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งเมือง

ท่านผู้หญิงสิริกิตยาฯ ยังเดินทางไปยังวัดคูเต่า อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรม Asia heritage โดย UNESCO รับฟังการบรรยายประวัติ ความเป็นมาและความน่าสนใจ จากวิทยากรกรมศิลปากรและอาศรมศิลป์

วัดคูเต่า เดิมชื่อวัดสระเต่า เป็นวัดโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งริมคลองอู่ตะเภา ในเขตตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ก่อสร้างเมื่อปี 2299 สมัยอยุธยา ภายในวัดมีงานศิลปกรรมที่แสดงฝีมือของช่างท้องถิ่นภาคใต้ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และประติมากรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นที่มีอยู่จำนวนมากและยังคงอนุรักษ์ความเก่าแก่ของโบราณสถานไว้หลายจุดด้วยกัน อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆังและศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีอายุหลายร้อยปี จึงทำให้ “ศาลา 100 ปี วัดคูเต่า” ได้รับ “รางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011” จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

Advertisement

นอกจากนี้ ยังเดินทางเข้าชมวัดฉื่อฉางหรือมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “ฉื่อเสี่ยงหยี่” ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนศุภสารรังสรรค์ อ.หาดใหญ่ เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อดีตเป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ หรือที่เรียกว่า “ศาลเจ้าหลื่อโจ้ว” เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2479 โดยชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในเมืองหาดใหญ่ ต่อมาปี 2480 ได้มีการมอบถวายศาลเจ้าแห่งนี้ให้กับพระภิกษุจีนที่เดินทางจาริกมาจากประเทศจีน เพื่อยกฐานะจากศาลเจ้าให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (วัดจีน) จากนั้นปี 2491 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจีนแห่งนี้ขึ้นใหม่และได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีน

 

 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image