‘สืบทอดรุ่นสู่รุ่น สตรีวัดระฆัง’ เกือบ 60 ปี แห่งความภูมิใจ ‘พวงมาลัยคล้องคอ’ เรือพระราชพิธี

พวงมาลัยคล้องคอ

‘สืบทอดรุ่นสู่รุ่น สตรีวัดระฆัง’ เกือบ 60 ปี แห่งความภูมิใจ ‘พวงมาลัยคล้องคอ’เรือพระราชพิธี

พวงมาลัยคล้องคอ – เป็นเวลาเกือบ 60 ปี ที่ชาวโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ทั้งคณะครูและนักเรียนต่างร่วมแรงร่วมใจ มีส่วนร่วมในการทำพวงมาลัยคล้องคอ และเครื่องแขวนเรือพระราชพิธี ในโอกาสต่างๆ ด้วยความไว้วางใจของกองทัพเรือ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวไทยก็ได้ชมความงดงามของพวงมาลัยคล้องคอและเครื่องแขวนของเรือสุพรรณหงส์ ที่ได้เชิญมาเทียบที่เกยและท่าน้ำ ตามโบราณราชประเพณี ที่ท่าราชวรดิฐ

และครั้งนี้ ในโอกาสขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย จากท่าวาสุกรีไปยังท่าราชวรดิฐ ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ กองทัพเรือก็ได้มอบหมายให้โรงเรียนสตรีวัดระฆังได้รังสรรค์พวงมาลัยคล้องคอและเครื่องแขวน เรือพระราชพิธีทั้ง 4 ลำ อีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ประจักษ์ ประจิมทิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวัดระฆัง เผยว่า นับเป็นเกียรติของชาวโรงเรียนสตรีวัดระฆังที่กองทัพเรือได้มอบหมายให้ทำพวงมาลับคล้องคอเรือ และเครื่องแขวน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ครั้งนี้มีทั้งครู บุคลากรทางการศึกษาที่เกษียณไปแล้ว รวมถึงนักเรียนที่มาร่วมมือร่วมใจกันในครั้งนี้ โดยวันที่ 23 ตุลาคม คณะครูและนักเรียนจิตอาสานับร้อยคน จะมาร่วมกันทำเครื่องแขวนดอกไม้สด เพื่อใช้ในพิธีจริง เด็กที่อาจจะไม่ได้ทำดอกไม้ก็มาช่วยเป็นจิตอาสาดูแลเจ้าหน้าที่ อาหาร น้ำดื่มต่างๆ นอกจากนี้ยังมีจิตอาสาทำความสะอาดอาคาร โดยเฉพาะด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมพร้อมเข้าวันจริง นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวสตรีวัดระฆัง โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 และในอนาคตก็จะสืบสานและถวายงานต่อไปเรื่อยๆ

ประจักษ์ ประจิมทิศ

ในครั้งนี้ คณะครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี นับได้ว่าเป็นแม่งานที่ได้รับภารกิจหลักที่จะได้ประดิษฐ์พวงมาลัยนี้อย่างสุดฝีมือ

Advertisement

โดย 1 ในแม่งานหลัก ก็คือ ปราณี เขียวฉลัว ครูชำนาญการพิเศษ สอนวิชาคหกรรม ผู้มีประสบการณ์การทำพวงมาลัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ในปีกาญจนาภิเษก ในปีนั้นกองทัพเรือได้จัดสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ครูปราณีจึงได้ทำดอกไม้ให้กับเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ มาตั้งแต่ครั้งนั้น

ครูปราณีเผยว่า ในครั้งนี้สตรีวัดระฆังได้จัดทำดอกไม้เรือพระราชพิธีทั้ง 4 ลำ แต่ละลำประกอบด้วย พวงมาลัยคล้องคอเรือ, เครื่องแขวนประดับมาลัย ในส่วนของหน้าเรือ และเครื่องแขวนบุษบกและเครื่องแขวนบัลลังก์กัญญา รวมทั้งหมด 12 ชิ้น ซึ่งเรือแต่ละลำก็จะมีรูปทรง ลักษณะที่แตกต่างกัน เราก็ได้นำเอาสิ่งที่อาจารย์ยุคเก่าๆ คิดประดิษฐ์ขึ้นมา มาปรับตามความสวยงามให้เข้ากับปัจจุบัน และแต่ละชิ้นแม้จะยึดรูปแบบคล้ายกัน แต่ก็มีแตกต่างกันบ้าง แต่ต้องมีความเรียบร้อย ประณีต สวยงาม แข็งแรง เวลาที่โดนคลื่นน้ำ หรือลมจะต้องไม่หลุด ทุกชิ้นใช้วิธีการเย็บมือ ไม่ใช้กาว เพื่อไม่ให้หลุดได้ง่าย

ปราณี เขียวฉลัว

เริ่มจาก พวงมาลัยคล้องคอเรือ ครูปราณี ใช้ผ้าตาดทอง ยัดนุ่นแบบโบราณ ร้อยด้วยดอกรักเทียมลวดลาย 4 ก้าน 4 ดอก ปลายทำเป็นลักษณะเข็มขัด เพื่อให้ง่ายในการปรับขนาด แต่ละเส้นมีขนาดและสีสันต่างกัน โดย นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ความยาว 154 นิ้ว ใช้สีเหลือง สีวันพระราชสมภพ ขณะที่ อนันตนาคราช มีความยาว 125 นิ้ว ใช้สีเขียวมรกต สีของพญานาค และ อเนกชาติภุชงค์ ความยาว 85 นิ้ว ใช้สีชมพู ตามสีของท้องเรือ สำหรับเรือสุพรรณหงส์ได้ส่งมอบไปก่อนหน้านี้ และได้นำมาปรับให้ดูใหม่มากขึ้น

ขณะที่ เครื่องแขวนประดับมาลัย ทำเป็นรูปแบบโครงดาว โยงสาย 6 สาย ร้อยอุบะเป็นหน้าช้าง มีพวงดอกไม้ห้อยมุมทั้ง 6 มุม ตรงกลางจะมีวงกลมเป็นพวงดอกไม้ มีอุบะเป็นลักษณะอุบะแขกตรงกลาง ห้อยออกมาอีกระดับหนึ่ง ยอดเป็นอุบะไทยทรงเครื่อง เย็บสวน ติดทัดหูสีเหลืองและแดง สีเหลืองนั้นเป็นสีของความเจริญรุ่งเรือง ขณะที่สีแดงเป็นสีมงคล ที่มีความสวยงาม โดดเด่น เมื่อแล่นกลางแม่น้ำ ทั้ง 4 ลำ แตกต่างกัน เช่น สุพรรณหงส์ โขนเรือจะสวย เชิดคอเป็นระหง และเป็นเรือขนาดใหญ่ แต่เรืออนันตนาคราชโขนเรือไม่ยาว ทั้งมีปืนอยู่ ก็ต้องทำให้เครื่องแขวนสั้น เพื่อไม่ให้ห้อยยาวไประน้ำ เช่นเดียวกับอเนกชาติภุชงค์ที่เป็นเรือลำเล็ก ต้องทำย่อขนาดให้เล็กลงมา

ส่วนสุดท้ายคือ “เครื่องแขวนบุษบกและบัลลังก์กัญญา” โดยจะร้อยเป็นตาข่าย 4 ก้าน 4 ดอก เป็นกระเช้า ติดด้วยตุ้งติ้ง 3 ชั้น ตรงกลางเป็นอุบะไทยทรงเครื่อง มุมในของตัวโครงดาวเป็นอุบะแขก ติดหยักมุมใน โดยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชนั้น จะเป็นบุษบก ประดิษฐานพระ ทำให้สายโยงมีขนาดยาว ขณะที่เรือพระที่นั่งอีก 3 ลำ เป็นบัลลังก์กัญญา ก็จะมีสายที่สั้นกว่า โดยส่วนสุดท้ายนี้สตรีวัดระฆังได้จัดทำดอกไม้แห้งสำหรับวันซ้อมใหญ่ 17 และ 21 ตุลาคม ส่งมอบให้กับกองทัพเรือไปแล้ว ขณะที่วันจริงสตรีวัดระฆังจะร่วมกันทำดอกไม้สด ทั้งจากดอกรักและกุหลาบ

“นับเป็นความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนร่วมในพระราชพิธีสำคัญของไทย และโดยเฉพาะเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 แตกต่างจากพระราชพิธีครั้งก่อนๆ ที่เป็นการเสด็จฯไปทอดกฐิน เด็กๆ ทุกคนก็รู้สึกตื่นเต้น พวกเราทุกคนทำเต็มความสามารถ ตนภูมิใจที่ได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมของไทย เป็นมรดกของชาติ เด็กรุ่นหลังๆ ก็จะได้รู้จักอีกด้วย” ปราณีเผย

ขณะที่ คณะครูคหกรรม อย่าง ฐานิกา ผมรี, สิริรัตน์ ช่อฉาย และ นริศรา มาสันเทียะ ก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมครั้งนี้เช่นกัน

โดยฐานิกาเผยว่า พวกเราได้เข้ามาบรรจุที่สตรีวัดระฆังประมาณ 4 ปีแล้ว ครูเก่าๆ ที่เคยทำก็เกษียณไป เหลือเพียงแต่ครูปราณี จึงได้สอนพวกเราทีละส่วนเช่น ดอกข่า เฟื้อง อุบะ ทำเช่นไร จากที่มีทักษะอยู่แล้วก็ได้เรียนรู้เพิ่ม ครั้งนี้พอรู้แล้วจึงไม่ยากเท่ากับตอนทำเรือสุพรรณหงส์ พอได้เห็นดอกไม้ที่อยู่บนเรือ ก็รู้สึกประทับใจ ว่าเรามีส่วนร่วม ได้รับความไว้วางใจให้ทำตรงนี้ แม้ดอกไม้อาจจะไม่ได้สวยที่สุด แต่ก็เป็นความภูมิใจ ที่ได้ร่วมในพิธีสำคัญ

ด้านสิริรัตน์เผยว่า เลือกมาบรรจุที่นี่ เพราะรู้ว่าที่โรงเรียนทำพวงมาลัยเรือ แม้ไม่รู้ว่าจะได้ทำปีไหน พอได้ทำจริงๆ ก็รู้เลยว่ายาก ต้องฝึกฝนเรื่อยๆ พอได้เห็นก็ปลื้มใจว่าเราทำได้สวยขนาดนี้หรือ ไม่ว่าครั้งต่อๆ ไปจะยังได้ทำอยู่ไหม แต่ก็จะจำไว้ตลอดไป

คณะครู ฐานิกา ผมรี, สิริรัตน์ ช่อฉาย และ นริศรา มาสันเทียะ

ปิดท้ายด้วย 2 นักเรียน สุธาวี ศรีหิรัญ และ ธมลวรรณ แสงวันลอย นักเรียนชั้น ม.5 ที่มาร่วมทำดอกไม้ โดยสุธาวีเป็นตัวแทน เผยว่า ชื่นชอบเรื่องการร้อยดอกไม้อยู่แล้ว ทุกคนในโรงเรียนก็จะรู้ว่าสตรีวัดระฆังมีโอกาสได้ทำพวงมาลัยเรือพระราชพิธีหลายครั้ง พอได้เรียนในรายวิชาฝึกร้อยดอกไม้ รู้ว่าครูเปิดรับสมัครจึงมาทำ เพราะอยากจะเข้ามหาวิทยาลัยในสายงานคหกรรมอยู่แล้ว ครั้งนี้ได้โอกาสทำพวงดอกรักจากดอกพลาสติก และตอนนี้ก็ได้ฝึกร้อยดอกไม้สดให้เป็นพวงให้ได้ภายใน 3 ชั่วโมง แม้จะปิดเทอมก็มาทุกวัน เพื่อให้วันที่ 23 ตุลาคม สามารถทำได้อย่างชำนาญ การมีส่วนร่วมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นความภูมิใจส่วนตัว ที่ดอกไม้จะได้อยู่บนเรือพระราชพิธี ได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ครอบครัวยังสนับสนุน และดีใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในงานใหญ่เช่นนี้

ธมลวรรณ – สุธาวี

คณะครู ส่งมอบให้กับกองทัพเรือ

ด้วยความภาคภูมิใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครู-นักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆังภูมิใจ ร้อยพวงมาลัยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สง่างาม เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ศิลป์ประณีต ‘พวงมาลัยคล้อง’

ขอบคุณภาพจาก งานโสตทัศนศึกษาโรงเรียนสตรีวัดระฆังOfficial 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image