ความงดงามแห่งดนตรี ความไว้วางพระราชหฤทัย ‘ในหลวง’ ทรงมีให้ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ความงดงามแห่งดนตรี ความไว้วางพระราชหฤทัย ‘ในหลวง’ ทรงมีให้ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี’

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี – ไม่เพียงพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะ กีฬา ที่ทรงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ผ่านแบรนด์เสื้อผ้าส่วนพระองค์ SIRIVANNAVARI ที่มีชื่อเสียงระดับโลก จนได้รับขนานพระนามว่าทรงเป็น “เจ้าหญิงดีไซเนอร์” รวมถึงประจักษ์ผ่านเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันประเภททีมหญิง เหรียญทองแดงซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันประเภททีมหญิงเช่นกัน รวมถึงกีฬาขี่ม้า ก็ทรงคว้าเหรียญเงินซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ในการแข่งขันศิลปะการบังคับม้าประเภทบุคคล

ในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในระดับโลก จนได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง ในงานคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ “Four Royal Orchestral Suites for His Majesty King Rama X” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งพระองค์ทรงพระนิพนธ์และอำนวยการด้วยพระองค์เอง

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ โดยมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงคอกซิมโฟนีออเคสตรา และวงรอยัลแบงคอกซิมโฟนีออเคสตรา (Royal Bangkok Symphony Orchestra) หรือ RBSO ในฐานะองค์อำนวยการจัดคอนเสิร์ต เฝ้าฯรับเสด็จ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กราบบังคมทูลถึงการจัดแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติความตอนหนึ่งว่า วงดุริยางค์รอยัลแบงคอกซิมโฟนีออเคสตรา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ฐานะ “ชมรมวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชอิสริยยศขณะนั้น ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2528 ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อ “มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า รอยัลแบงคอกซิมโฟนีออเคสตรา เมื่อปี 2559 จวบจนปัจจุบัน โดยในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2561 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าสืบสาน รักษา และต่อยอด งานดนตรีของวง RBSO ให้เจริญก้าวหน้า ด้วยการเผยแพร่ผลงานด้านดนตรีของวงสืบต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าจึงตั้งใจไว้ตั้งแต่บัดนั้นว่า จะปฏิบัติภารกิจที่ทรงมอบหมายนี้ให้ดีที่สุด อย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้สมกับที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย

Advertisement

“เพลงและดนตรีนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญที่โอบล้อมและหล่อหลอมชีวิตจิตใจของข้าพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ และเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ยังคงแจ่มชัดในใจตราบทุกวันนี้ แรงบันดาลใจสำคัญของข้าพระพุทธเจ้าคือ ทูลกระหม่อมปู่ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชกรณียกิจในด้านการดนตรี และพระปรีชาสามารถทั้งในดนตรีแจ๊ซและดนตรีคลาสสิกเป็นที่ยอมรับและยกย่องไปทั่วโลก พระอัจฉริยภาพของทูลกระหม่อมปู่ ได้ถ่ายทอดมายังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และสมาชิกในพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เติบโตมาท่ามกลางดนตรี ได้เรียนรู้และรักดนตรี ทั้งได้ตระหนักซาบซึ้งในคุณค่าของดนตรีเป็นอย่างมาก”

“ดนตรีนั้นทำให้คนมีความสุข มีความนุ่มนวลอ่อนโยนในจิตใจ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความดีงามและศิลปวัฒนธรรมอันประณีต ข้าพระพุทธเจ้ายังคงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทูลกระหม่อมปู่อยู่เสมอ ที่ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยรักดนตรี และร่วมกันอนุรักษ์ และพัฒนาศิลปะแขนงนี้ไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศชาติสืบต่อไป”

ก่อนเริ่มทำการแสดง ซึ่งได้อัญเชิญบทเพลงพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จำนวน 4 บทเพลง มาแสดงแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยได้รับเกียรติจากนักดนตรีระดับโลกรับเชิญมาร่วมทำการแสดง ได้แก่ ลาดิสลาฟ พาปป์ (นักฮาร์ป), โรเบิร์ต เนกี (นักเชลโล) และ แดเนียล ฟรอชเชาเออร์ (ผู้ควบคุมวงรับเชิญและนักไวโอลิน) จากวง ออเคสตรา เวียนนา ฟิลฮาร์โมนิก ประเทศออสเตรีย มาร่วมแสดงกับวง RBSO เป็นครั้งแรก

Advertisement

ช่วงแรกเริ่มต้นด้วยบทเพลง “ตึกอิฐแห่งการเปลี่ยนแปลง” หรือ Adobe of Metamorphosis นำเสนอดนตรีสุดอลังการบรรยายโลกแห่งอนาคตในจินตนาการ ณ เวลามวลหมู่มนุษยชาติได้เดินทางออกสู่อวกาศเพื่อค้นหาดวงดาวดวงใหม่แห่งจักรวาล ที่จะเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเรา แนวความคิดในการรังสรรค์บทเพลงพระนิพนธ์นี้นับได้ว่า เป็นต้นแบบของการผสมผสานระหว่างดนตรีคลาสสิกแนวอนุรักษนิยม กับโครงสร้างทางดนตรีสมัยใหม่ เกิดเป็นแนวดนตรีใหม่ซึ่งเราไม่เคยมีมาก่อน

ทั้งนี้ บทเพลงดังกล่าวยังได้เสียงจากเครื่องดนตรีใหม่ “รีฟอร์ม” หรือ Reform เครื่องดนตรีที่ให้เสียงแบบเพอร์คัสชั่น ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบขึ้นใหม่มาร่วมทำการแสดงด้วย

ต่อมาเป็นบทเพลง เรื่องราวของม้า เฮเลน เฮนรี่ หรือ The Story About “Horse, Helen, Henry” นำเสนอเสียงดนตรีสื่อถึงจังหวะการเต้นของหัวใจของม้าสองตัว เฮเลนกับเฮนรี่ซึ่งเป็นคู่รักที่พลัดพรากจากกัน เสียงหัวใจนี้จะประกอบกับเสียงของเครื่องพิมพ์ดีด สื่อถึงการแลกเปลี่ยนจดหมายแห่งรักทางไกล จากนั้นจะได้ยินเสียงกระทบกันของเกือกม้าที่จะพาผู้ฟังย้อนไปสู่ช่วงสงครามในยุคศตวรรษที่ 20 เสียงเดี่ยวแตรทรัมเป็ตดังแหลมที่เราจะได้ยินในการสวนสนาม พร้อมกับการบรรเลงเสียงค้างจากคีย์บอร์ดไฟฟ้าอยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ เสียงของหีบเพลงจะช่วยบ่งบอกเวลาและสถานที่ของเรื่องราวนี้ที่พรรณนาถึงความห่างไกลกันของคู่รัก บทเพลงพระนิพนธ์วางอยู่ในแนวคิดของการใช้ความแตกต่างด้านโทนเสียง สีสัน และเทคนิคพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกลองสะแนร์ที่มาพร้อมกับเสียงรูดสายของเชลโล แปรไปสู่การรัวโน้ตบนสายเชลโลอย่างรวดเร็ว หรือเสียงจากไวบราโฟน นอกจากนี้ยังมีเสียงของเปียโน ไวโอลิน ในบรรดาดนตรีทั้งหลายที่ได้รับการผสมผสานอย่างมีชั้นเชิง แนวดนตรีอาร์ต-ร็อก คือหัวใจสำคัญเช่น เสียงบรรเลงจากกีตาร์ไฟฟ้า และกีตาร์เบสไฟฟ้าที่มีบทบาทประหนึ่งตัวเอกของบทเพลงพระนิพนธ์นี้

สำหรับการแสดงครึ่งหลัง จัดแสดงอีก 2 บทเพลง เริ่มที่ “หลงทางในสวนแห่งเวทมนตร์” หรือ Lost in Mystical Garden ผู้ฟังจะตื่นตาตื่นใจไปกับสีสันเสียงอันฉูดฉาดที่เกิดจากการใช้เทคนิคการประพันธ์เพลงอย่างเต็มที่ เช่น การใช้จังหวะขัดอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสื่อถึงอารมณ์อันบ้าคลั่งอย่างทรงพลัง ประกอบกับแนวไวโอลิน และวิโอลาที่บรรเลงจากเสียงสูงไปเสียงต่ำกลับไปมาอย่างต่อเนื่อง การใช้เทคนิครัวคันชักของกลุ่มเครื่องสายพร้อมๆ กับการบรรเลงของเครื่องประกอบจังหวะทำให้เห็นภาพของความแพรวพราว การดีดสายแยกโน้ตอย่างนุ่มนวลของฮาร์ป ซึ่งมีกลุ่มเครื่องสายบรรเลงก้องกังวานเป็นเสียงประกอบให้อารมณ์ ความสงบนิ่ง จากนั้นเป็นกีตาร์ไฟฟ้าได้เข้ามามีบทบาทขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทวีความรุนแรงไปสู่จุดสุดยอดของบทเพลงพระนิพนธ์นี้

และบทเพลง “ความสงบ” หรือ Serenity เป็นการผสมผสานอย่างยิ่งใหญ่ของวงออเคสตราขนาดมหึมา และวงแบนด์รูปแบบร็อก-คลาสสิก ให้ความอลังการด้วยวงขับร้องประสานเสียงขนาดใหญ่ 80-100 คนมาร่วมคอรัสใน 4 แนวเสียง สื่อสารออกมาดั่งละคร ทั้งการแสดงอารมณ์ผ่านข้อความอย่างตรงไปตรงมา บทเพลงนิพนธ์นี้ ฮาร์ปทำหน้าที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนบทเพลงนิพนธ์ โดยเริ่มต้นด้วยการูดสายจากเสียงสูงไปต่ำในศูนย์กลางเสียงของดี ไมเนอร์ จากนั้นดนตรีได้บรรยายระลอกคลื่นทะเลโดยให้กลุ่มเครื่องสายบรรเลง โดยเฉพาะกลุ่มไวโอลินที่เล่นกลุ่มโน้ต 4 ตัวเรียงกันขึ้นลงไปมา ความงามของท้องฟ้าที่มีดาวระยิบระยับ พรรณนาผ่านกลุ่มเครื่องเสียงประกอบจังหวะที่บรรจงผลัดกันแต่งแต้มเสียงทีละเล็กทีละน้อย จากนั้น ความเงียบสงบได้กลับมาเยือนอีกครั้ง ด้วยการเรียบเรียงเสียงประสานแบบกระแสมินิมัล ก่อนจบการแสดง ที่แขกผู้มีเกียรติได้ร่วมกันปรบมืออย่างล้มหลาม โดยใช้ระยะเวลาการแสดงรวม 1 ชั่วโมง 35 นาที

ความสำเร็จของคอนเสิร์ตครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิรอยัลแบงคอกซิมโฟนีออเคสตรา และประธาน บี.กริม. เปิดเผยถึงความพิเศษของคอนเสิร์ตในครั้งนี้ว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นผู้ประพันธ์เพลง และทรงเป็นโปรดิวเซอร์การแสดงทั้งหมด โดยทรงดูแลตั้งแต่การออกแบบฉาก เวที แสง เสียง และทรงออกแบบเครื่องแต่งกายนักดนตรี ภายใต้แบรนด์ SIRIVANNAVARI และ S”Homme

“คอนเสิร์ตครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นการแสดงถวายทูลกระหม่อมพ่อของพระองค์ โดยทรงเอาพระทัยใส่และทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทรงมาควบคุมการซ้อม การบันทึกเสียง และทอดพระเนตรการแสดงด้วยพระองค์เองทุกครั้ง ทรงร่วมงานกับนักดนตรีและผู้อำนวยการเพลงเฉกเช่นคนธรรมดา ทรงเป็นกันเองและมีพระเมตตากับนักดนตรีมากๆ บรรยากาศการทรงงาน จึงเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนแสดงความสามารถของตัวเองออกมาได้ โดยไม่เกร็ง ทั้งยังสามารถเสนอความคิดเห็นได้ และพระองค์ทรงรับฟัง ทรงวิเคราะห์ โดยทรงตัดสินพระทัยว่าควรหรือไม่ควร”

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวอีกว่า พระองค์ในฐานะองค์อุปภัมภ์มูลนิธิฯ ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินงานของวงไว้ว่า ต้องพัฒนาและยกระดับวงดุริยางค์ซิมโฟนี ให้ทัดเทียมกับวงออเคสตราชั้นนำของโลก โดยทรงตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียแปซิฟิก และขั้นต่อไปคือ ต้องทัดเทียมระดับเอ ของวงในยุโรปให้ได้ ทรงตั้งพระทัยด้วยการพัฒนานักดนตรีผ่านการฝึกซ้อมและการแสดง จึงมีพระดำริให้จัดคอนเสิร์ตเดือนละ 3 โปรแกรม รวมถึงการคัดเลือกวาทยกรชาวต่างชาติมากฝีมือมาร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้นักดนตรีฝึกเกลาฝีมือเพิ่มขีดความสามารถไปอีกขั้น

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์

พระปณิธานด้านดนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image