70 ปีครองราชย์ รัชกาลที่ 9 เมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนา ผลิดอกออกผลทั่วสารทิศ

70 ปีครองราชย์ รัชกาลที่ 9 เมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนา ผลิดอกออกผลทั่วสารทิศ

รัชกาลที่ 9 – 5 ธันวาคม เวียนบรรจบมาครบให้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ

ธ สถิตในดวงใจอาณาประชาราษฎร์มิเสื่อมคลาย บัดนี้ เมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนาที่ทรงหว่านไปทั่วทุกสารทิศ ผ่านคำสอน ปรัชญา พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติมาตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์

คนไทยได้น้อมนำไปปฏิบัติ เจริญเติบโตออกดอกผลไปทั่วทั้งแผ่นดิน

หนึ่งในนั้นคือ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น และทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน ในลักษณะของการพัฒนาต่างๆ ที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งปีนี้จัดตั้งครบรอบ 30 ปี ภายใต้แนวคิด “ชัยชนะแห่งการพัฒนา”

Advertisement

ร.9 ทรงสั่งเสียอยู่เรื่องเดียว

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์ และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ความตอนหนึ่ง ณ ลานอีเดน ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ว่า มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานในลักษณะของเอกชน มีรายได้จากการสมัครใจบริจาค และการลงทุนต่างๆ ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐ

“มูลนิธิชัยพัฒนา ถือว่าได้ดำเนินการอย่างรัดกุม มีกรรมการ มีคนมาตรวจ อย่างการตรวจบัญชีอย่างถูกต้อง ก็เป็นหัวใจของการทำงานที่สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริจาค ผู้ร่วมมือ และผู้ได้รับการช่วยเหลือ ถึงบางทีผู้จัดอาจจะหวาดเสียว อ่านจากบัญชีดูว่าทำไมรายจ่ายมากกว่ารายได้ในหลายๆ เดือนที่ผ่านมา แต่ว่าบางอย่างก็ไม่ได้ซีเรียสถึงขนาดว่าจะต้องทำโครงการน้อยลง หรือตัดงาน เพราะความจริงยิ่งทำงานมาก ผู้บริจาคก็ดูแล้วรู้สึกประทับใจ ยิ่งบริจาค อีกอย่างหลักใหญ่ของที่ทำไม่ได้ต้องการเงินมาก ชนิดที่ว่ามากองในบัญชี แต่ว่าหลักของเราคือ การสร้างความสุข ความเจริญให้แก่พลเมืองโลก”

Advertisement

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไม่เคยสั่งเสียอะไรมากมาย แต่สั่งเสียอยู่เรื่องเดียว เป็นเรื่องค่อนข้างหนัก คือต้องดำเนินการมูลนิธิชัยพัฒนาให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ท่านจะอยู่หรือไม่อยู่ อันนี้สิ ยังไงจะต้องอาศัยความช่วยเหลือ ความร่วมมือพวกที่อยู่ที่ในมูลนิธิเอง พวกที่อยู่นอกมูลนิธิมาช่วย”

“ก็ต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่มาถึงวันนี้ 30 ปี คิดว่ายังทำงานได้ จะต้องไม่เหนื่อย ยังไงก็ต้องไม่ให้ทรงผิดหวัง ก็พยายามอยู่ในเรื่องนี้ และขยายไปสู่กลุ่มต่างๆ มากมาย คิดว่าต่อไปจะได้ร่วมกับคนหลายชาติมากขึ้น ก็ทำไปเถอะ ช่วยๆ กัน ทำถวายท่านด้วย”

จากผู้ประสบภัยสู่ น.ร.ทุนพระราชทาน

ในโอกาส 30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา นอกจากมีการเปิดตัวหนังสือที่นำเสนอ “30 ปี 30 เรื่องราว” อันซีนการถวายงานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ก็ยังนำเสนอผู้คนที่เป็นแรงบันดาลใจแห่งชัยชนะ และวิถีแห่งชัยชนะ ซึ่งต่างมีเรื่องราวน่าสนใจ

พญ.มัลลิกา วิศาล ชาวจังหวัดพังงา ผู้ประสบภัยสึนามิถล่มทะเลฝั่งอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ที่พบว่าหลากความช่วยเหลือและฟื้นฟูของภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าไปในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือทางเงินที่ให้แล้ว ใช้แล้ว ก็หมดไป “ต่างจากสิ่งที่มูลนิธิชัยพัฒนาทำ ที่ช่วยชาวบ้านแบบยั่งยืน ให้ที่อยู่ ให้อาชีพ ให้ประชาชนยังคงดำรงชีพต่อไปได้”

ด้วยเป็นภัยพิบัติที่มีคนเจ็บจำนวนมาก ทำให้เห็นถึงสภาพความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะเชิงกายภาพที่ทรุดโทรมมาก มูลนิธิจึงทุ่มพัฒนาไปที่การพัฒนาตัวโรงพยาบาลใน 5 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์, โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์, โรงพยาบาลกะปงชัยพัฒน์, โรงพยาบาลท้ายเหมืองชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งรักชัยพัฒน์ ให้มีความพร้อม

ทว่ากลับพบปัญหาต่อมาคือ ความขาดแคลนทางบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่าย จัดโครงการให้ทุนการศึกษาพระราชทานแพทย์และพยาบาล ภายใต้หลักคิดว่า “ให้เด็กในพื้นที่มาเรียนในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อทำงานในพื้นที่ตลอดไป” โดยปีแรกเปิดให้ทุนการศึกษาแพทย์ 1 ทุน ทุนพยาบาล 6 ทุน

จากการสมัครและคัดเลือก พญ.มัลลิกาทำได้สำเร็จ เธอได้เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทุกปี กรมสมเด็จพระเทพฯ จะพระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนทุนพระราชทานเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานผลการเรียนอย่างใกล้ชิด

พญ.มัลลิกาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “หมอได้เข้าเฝ้าฯ ทุกปีเลย บางปีก็มีโอกาสเข้าเฝ้าฯถึง 2 ครั้ง พร้อมนักเรียนทุนพยาบาล”

“ตอนเข้าเฝ้าฯปีแรก หมอกลัวมาก เพราะไม่เคยเข้าเฝ้าฯเลย ส่วนผลการเรียนปีแรกก็ไม่ใช่จะสวยหรูนัก แต่พอพระองค์ทอดพระเนตรผลการเรียน ทรงไม่ตำหนิเลย มูลนิธิก็เช่นกัน ทรงมีรับสั่งว่า ‘เหนื่อยไหม สู้ๆ นะ ดีแล้ว ทำต่อ’ เป็นรับสั่งที่ทำให้หมอโล่งและมีพลัง เวลาเหนื่อยหรือท้อ ก็จะนึกถึงวันที่พระองค์พระราชทานกำลังใจนี้” พญ.มัลลิกาเล่าด้วยน้ำเสียงปลื้มใจ

ปัจจุบัน แพทย์หญิงวัย 28 ปี ได้สำเร็จหลักสูตรแพทย์ 6 ปี และกำลังศึกษาหลักสูตรแพทย์ฉุกเฉิน 3 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ชั้นปีที่ 2 หลังเรียนจบเธอตั้งใจว่าจะกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พังงา เพื่อช่วยเหลือคนไข้คนไทยและต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง

“จากรับสั่งกรมสมเด็จพระเทพฯ ข้างต้น รับรู้ได้ว่าพระองค์ทรงรักและห่วงใยประชาชนของพระองค์มาก ทรงเห็นว่ามูลนิธิชัยพัฒนาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนของพระองค์ดีขึ้นจริงๆ ทรงอยากให้สืบต่อเพื่อความเป็นอยู่ของคนไทย ดิฉันรู้สึกโชคดีมากๆ ที่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในมูลนิธิชัยพัฒนา มีโอกาสทำประโยชน์ คืนประโยชน์” พญ.มัลลิกากล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

พญ.มัลลิกา วิศาล

ศาสตร์พระราชาฟื้นพิษต้มยำกุ้ง

200 กว่าโครงการในมูลนิธิชัยพัฒนา มีครอบคลุมทั่วประเทศ และพัฒนาหลายประเด็น เช่น ดิน น้ำ เกษตร พืช สัตว์ ข้าว สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เหล่านี้เป็นองค์

ความรู้ที่ประชาชนเข้าไปศึกษาได้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง สังคม กระทั่งสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีของ นายกรทัศน์ คุณาวุฒิ เจ้าของกิจการปั๊มน้ำมัน (สมศักดิ์แกลงเซอร์วิส) บ้านตากาแฟ อ.แกลง จ.ระยอง ที่ธุรกิจเกือบเจ๊ง เพราะพิษเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้ง

ในความหมดสิ้นหนทาง ระหว่างเปิดดูโทรทัศน์ได้เห็นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเล่าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาเกิดความสนใจและเริ่มนำไปประยุกต์ปฏิบัติ จนบัดนี้เป็นธุรกิจปั๊มน้ำมันครบวงจร ที่นักท่องเที่ยวต้องเข้าไปเช็กอินให้ได้ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ

นายกรทัศน์เล่าทั้งรอยยิ้มว่า เดิมปั๊มน้ำมันของผม ก็เปรียบเหมือนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ขายน้ำมันอย่างเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ยิ่งพอระยะหลังมีปั๊มน้ำมันเปิดใหม่ ให้ราคาน้ำมันถูกกว่า ลูกค้าก็หนีหมด กิจการก็ย่ำแย่ ทั้งนี้ หลังศึกษาจนเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็เริ่มปรับกิจการให้บริการลูกค้าครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่ทำร้านข้าวแกง ทำห้องน้ำให้ถูกสุขลักษณะ เพียงพอ เปิดร้านกาแฟและคิดค้นสูตรเอง รับผลิตภัณฑ์ชาวชุมชนมาวางขายช่วยชาวบ้าน

“สิ่งที่ทดลองทำ มันทำให้ธุรกิจดีขึ้น ช่วงแรกลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่เห็นตัวเงินเข้ามา เท่านี้ผมก็เริ่มมีความสุขแล้ว และเมื่อทำมันต่อด้วยความสุขเรื่อยๆ หลังจากนั้นเงินก็เข้ามาเอง”

หลังจากมีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามา สิ่งที่กรทัศน์ต้องเจอคือ ปัญหาขยะล้นและน้ำเสีย เขาจึงไปศึกษาที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี หนึ่งในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และตัดสินใจใช้วิธีธรรมชาติบำบัด ผ่านการขุดบ่อบำบัดน้ำเสีย บำบัดให้เป็นน้ำใส อีกทั้งนำเศษผักจากร้านข้าวแกงมาหมักน้ำจุลินทรีย์ ทดลองทำในพื้นที่หลังปั๊มจนเกิดสภาพเขียวชอุ่ม และลดต้นทุนไปได้มาก

“เมื่อลูกค้าบอกว่าอยากได้อะไร กินอะไร ผมจะค่อยๆ ไปศึกษาหาความรู้ แล้วนำเข้ามาปฏิบัติเรื่อยๆ อาศัยการพึ่งตนเอง ที่ปั๊มจะเป็นลักษณะค่อยๆ ทำ ทำเอง ไม่ได้ซื้อแฟรนไชส์ใครมาลง ก็อยากให้ผู้ประกอบการทุกระดับ หันมามองการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะทำให้พนักงานมีสุขภาพดี ลูกค้าเข้ามาใช้บริการก็มีความสุข หากทำได้อย่างนี้ รับรองว่ากิจการของท่านจะไม่ขาดลูกค้าแน่นอน ทำเถอะครับ”

“ภูมิใจที่เกิดในแผ่นดินไทย มีพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” กรทัศน์เล่าทั้งรอยยิ้ม

กรทัศน์ คุณาวุฒิ

พระราชทานความหมาย ‘ซีเอสอาร์’ที่แท้จริง

สิ่งที่หล่อเลี้ยงมูลนิธิชัยพัฒนา ให้สามารถดำเนินงานได้ถึงปัจจุบัน นอกจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก็มี “เงินบริจาค” ที่หลั่งไหลเข้ามาจากด้วยความสมัครใจ อย่าง บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ที่ทุ่มเทสนับสนุนมูลนิธิชัยพัฒนามาตลอด 30 ปี และสนับสนุนโครงการในพระราชดำริต่างๆ ทั้งแรงทุน รถจักรยานยนต์ กำลังคน กำลังสมอง ช่วยเท่าที่จะทำได้

นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหารและรักษาการผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เล่าด้วยแววตามีเมตตาว่า เรามีนโยบายทำเพื่อสังคมอยู่แล้ว แต่จากการทำด้วยตัวเองพบว่า บางครั้งเราไปช่วยแก้ปัญหาสังคมไม่ตรงจุด หรือไม่ตรงความต้องการของประชาชนจริงๆ แต่สิ่งที่มูลนิธิทำ คือการลงพื้นที่ไปเห็นปัญหาความยากลำบากของประชาชนจริงๆ และมีโครงการอยู่ทั่วประเทศ

“ตอนผมเป็นนักเรียนนอก ได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ในฐานะคนไทยดีใจมาก ก็ไปหาซื้อมาอ่าน ได้เห็นบทสัมภาษณ์ที่ฝรั่งถามพระองค์ ถึงโครงการพัฒนาที่ทรงทำเพื่อประชาชนมากมาย เป็นพันกว่าโครงการ ว่าทำแล้วสำเร็จหรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทาย ก็ประทับใจมากกับคำตอบของพระองค์ว่า ‘มันสำคัญหรือเปล่า คำตอบที่คุณอยากได้’ ”

“เพราะเราก็รู้ว่ามีปัญหาสังคม พระองค์ทรงยื่นกำลังเข้ามาช่วย ช่วยคิดพัฒนา ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตรงนั้นสำคัญกว่าผลลัพธ์ที่ได้ถามหา ว่าทำโครงการไปแล้ว ‘รีเทิร์น ออน อินเวสเมนต์ โปรเจ็กต์’ จะได้เท่าไหร่ หรือว่าใส่เงินไปแล้ว รีเทิร์นจะได้กลับมากี่ล้านบาท เหมือนที่เวิลด์แบงก์ทำโปรเจ็กต์เมเนจเมนต์ ฉะนั้นเมื่อได้เห็นสิ่งที่พระองค์ทรงทำมาตลอด ผมจึงมีจิตศรัทธาว่า ไม่ว่าพระองค์จะทรงทำอะไร ด้วยกำลังและทรัพยากรที่เรามี ก็ควรช่วยให้เต็มที่ ที่เหลือค่อยว่ากัน ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็ให้เป็นเรื่องรอง”

พงศธรเข้าเฝ้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 น้อมเกล้าฯถวาย รถวีลแชร์

พงศธรมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรถเข็นไฟฟ้าที่บังคับเคลื่อนด้วยจอยสติ๊ก เทคโนโลยีใหม่ ด้วยความห่วงใยและคิดว่าทรงชอบเรื่องเทคโนโลยี เขายังจำวันนั้นได้แม่น และเชื่อว่าวันนั้นเป็นวันที่โชคดีที่สุดในชีวิต

“ผมเป็นผู้บริหารภาคเอกชน คำว่าซีเอสอาร์ (corporate social responsibility) สำคัญ เอกชนส่วนใหญ่อาจทำซีเอสอาร์เพื่อสร้างภาพ แต่เราไม่สนใจเท่าไหร่ เพราะเน้นมุ่งหวังผลงานเป็นหลัก พอเข้าเฝ้าฯในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยมี ดร.สุเมธนำเข้าเฝ้าฯ และอธิบายโครงการต่างๆ ที่ไทยยามาฮ่าเข้าช่วยเหลือ ก็มีช่วงเวลาที่พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาตรัสว่า ‘ขอบใจนะที่ช่วยเหลือประชาชน ทำให้บริษัทกับประชาชนเป็นเพื่อนกัน’ ก็ได้เรียนรู้ว่าที่สุดของความหมายคำว่าซีเอสอาร์ จากพระองค์โดยตรง” พงศธรเล่าทั้งรอยยิ้ม

พงศธรตั้งใจว่า “ตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้ จะสนับสนุนมูลนิธิชัยพัฒนาต่อไปให้ตลอดรอดฝั่ง” ตามพระราชดำรัสกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาต้องทำต่อเนื่องต่อไป พร้อม “ถ่ายทอดความคิดให้น้องๆ ทำซีเอสอาร์ต่อไป”

พงศธร เอื้อมงคลชัย

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image