สรุปข่าวมหามงคล 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศานุวงศ์

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกรัชสมัย จะมีพระราชพิธีรองที่ราษฎรต่างให้ความสนใจอย่างมาก คือ “พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์” เพราะจะประกาศพระนามใหม่ของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์
คราพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 4 และ 5 พฤษภาคม 2562 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายในพระบรมมหาราชวัง ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงพระองค์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของบรรดาพสกนิกรและนานาอารยประเทศ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริระลึกถึงพระเดชพระคุณ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันได้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง และพสกนิกรเป็นอเนกปริยาย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณ เสด็จออกสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั่วทุกแห่งหน แม้ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ด้วยพระวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด โดยทรงดำเนินพระราชจริยวัตรด้วยพระราชปณิธานแห่งธรรมราชินี
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายหลังพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) ทรงรับน้ำอภิเษก ทรงรับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัตราวุธ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
เมื่อนั้น ทรงดำรงพระบรมราชอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราช
วรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

Advertisement

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ภายหลัง ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการสถาปนา สมเด็จพระราชินีสุทิดา ที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ราชประเพณี และสถาปนา ณ ห้อง วปร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ให้ทรงดำรงราชฐานันดรศักดิ์ เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) เป็นพระโสทรกนิษฐภคินี ที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) เป็นพระโสทรกนิษฐภคินี อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ แบ่งเบาพระราชภาระ ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยเฉพาะการทรงงานทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านการแพทย์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ เป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศ
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี”

Advertisement

พระเจ้าวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (พระอิสริยยศขณะนั้น) เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระอิสริยยศขณะนั้น) เป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี” ต่อมาเมื่อทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ในหลายวาระ แบ่งเบาพระราชภาระได้เป็นอันมาก จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2562

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) เป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณ
วรี นารีรัตนราชกัญญา”

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (พระอิสริยยศขณะนั้น) เป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร”

พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำนำพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์”

พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำนำพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ พระธิดาพระองค์รองในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ”

ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน-สิริกิติยา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ แก่ คุณพลอยไพลิน และคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็น ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ถวายพระราชสมัญญา ร.4
พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงเป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร ทรงค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนาให้ดำรงบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย ทรงวางวิถีพระบรมราโชบายพระราชทานให้สมเด็จพระบรมราชปิโยรส บังเกิดปฐมบทสู่การสืบสาน รักษา และต่อยอดตลอดไป ปรารภเหตุดังนี้ รัชสมัยของพระองค์ตลอดจนถึงมหามกุฏราชสันตติวงศ์สืบมา จึงยิ่งยงวัฒนา รุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความผาสุกผ่องพ้นไพรี ประหนึ่งมีพระสยามเทวาธิราชคอยเฝ้าอารักขา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image