ความรักและความสุข พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ ‘สมเด็จกรมพระศรีฯ’ ศิลปินนักวิทยาศาสตร์

ความรักและความสุข พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ ‘สมเด็จกรมพระศรีฯ’ ศิลปินนักวิทยาศาสตร์

“งานศิลป์ทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย”

พระดำรัสใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่เชิญมาไว้ในหนังสือนิทรรศการดุษฎีบัณฑิตนิพนธ์ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2” (Various Patterns; Diversity of Life 2) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า “ทรงรัก” ในงานศิลปะ และด้วยพระหฤทัยรักในด้านนี้ ทำให้ทรงมีพระวิริยอุตสาหะในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านศิลปะ แม้จะทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์มาแล้วหลายสาขา แต่ยังทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา อีกทั้งยังทรงไม่ย่อท้อต่อเวลา แม้จะมีพระกรณียกิจนานัปการ รวมถึงอุปสรรคต่างๆ และพระสุขภาพส่วนพระองค์

ด้วยพระหฤทัยรักและความสุขจากการที่ทรงสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Advertisement

โดยในการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ครั้งสุดท้าย เพื่อจบการศึกษา ที่หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการสอบปากเปล่าประมาณ 1 ชั่วโมงนั้น คณะกรรมการสอบได้ลงมติให้การสอบปากเปล่าครั้งนี้ “ผ่าน” เป็นเอกฉันท์ ในคะแนนระดับ “ดีมาก”

นับเป็นปริญญาเอกด้านศิลปะ “ใบแรก” ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นอกเหนือจากปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 4 ใบ

แรงดลใจให้สนพระทัยในการวาดรูป

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 นับเป็นรุ่นที่ 5 โดยทรงมีพระประสงค์ที่จะทรงศึกษาในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเช่นนักศึกษาทั่วไป จึงทรงมีพระนามปรากฏอยู่ในทะเบียนรายชื่อนักศึกษา ปีการศึกษา 1/2560 เลขที่ 1 รหัสประจำตัว 60007806 ร่วมกับพระสหายร่วมรุ่นอีก 5 คน

Advertisement

ในแบบเสนอหัวข้อเรื่องและโครงการวิทยานิพนธ์โดยย่อ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี รับสั่งถึงประสบการณ์เริ่มต้นที่สนพระทัยในงานศิลปะ และแรงดลใจให้สนพระทัยในการวาดรูป ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าสนใจเขียนภาพมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ด้วยภารกิจในหน้าที่ของครอบครัว ทำให้ไม่มีโอกาส เนื่องจากต้องศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาช่วยเหลือประเทศชาติ ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงหวัง ตลอดระยะเวลา 40 ปี ของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาขาแพทยศาสตร์ และสาขาชีวภาพทางสัตวแพทย์ ล้วนทำให้ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติงานอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลาที่มาผ่านมา ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทชีวิตในการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ เพื่อนำความรู้ ความสามารถ มาพัฒนาประเทศชาติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย เพื่อบำบัดทุกข์ให้แก่ประชาชนได้มีความสุข”

“แต่เมื่อข้าพเจ้ามาทบทวนถึงการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองว่า ยังมีสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และมีความสุขเมื่อได้คิดถึงและมีโอกาสได้ทำสิ่งนั้นคือ การทำงานศิลปะ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีเวลาเหลือจากการปฏิบัติพระราชภาระ (ซึ่งเป็นงานที่เสมือนการถูกบังคับอย่างเคร่งเครียด ด้วยเกี่ยวพันกับชีวิตและความทุกข์ของผู้อื่น) ข้าพเจ้ามีความสุขมากเมื่อได้ทำงานที่อยู่กับตัวเองและรู้สึกถึงโลกของตัวเอง มีอิสรภาพ ได้คิดฝัน จินตนาการได้ตามใจไม่มีขีดจำกัด ความรู้สึกขณะนั้นทำให้เข้าใจและตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งนี้อาจเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง”

“ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้การทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ให้กับตัวเอง ซึ่งดูเสมือนว่า ชีวิตของสังคมที่เร่งรีบในแต่ละวันผันแปรไปตามกระแสโลก อาจจะมีคนจำนวนไม่มากที่ได้มีโอกาสเข้าถึงความสุขเช่นนี้”

“การทำงานของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าข้าพเจ้าเขียนภาพจากสัญชาตญาณ เรียนรู้เองด้วยความต้องการของตนเอง เรียนรู้จากธรรมชาติ จากประสบการณ์ตรงที่สนใจ และได้เห็นการทรงงานวาดภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยแต่วัยเยาว์อีกทั้งสังเกตเห็นสมเด็จแม่ ถึงความเป็นผู้มีรสนิยมทางสุนทรียภาพจากงานหัตถศิลป์ ประสบการณ์ส่วนนี้ ได้ปลูกฝังด้านสุนทรียรสให้ข้าพเจ้าได้เห็น ได้เรียนรู้จากชีวิตประจำวันมาตั้งแต่เด็ก และความเชื่อของข้าพเจ้าอีกอย่างหนึ่ง คือการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าฝึกฝนอย่างต่อเนื่องตลอดมา”

“เป็นการศึกษาและปฏิบัติด้วยการเขียนภาพจากสัญชาตญาณ เรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ตรงตามความต้องการที่มีอยู่ในส่วนลึกในจิตใจของข้าพเจ้า ทั้งหมดได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาในผลงานศิลปะตามลำดับ ทั้งทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ หล่อหลอมให้เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ของข้าพเจ้า ภายใต้ชื่อ หลากลาย หลายชีวิต”

“เสือใจดี”สัญลักษณ์แทน”รัชกาลที่ 9”

การสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ ใช้สัญลักษณ์และความหมายการแสดงออกจากสิ่งที่ทรงมีความประทับใจ นั่นคือ “เสือเจ้าป่า” อันหมายถึง “พระราชบิดา” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี รับสั่งถึงเนื้อหาและแนวคิดว่า การสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์ จะให้ความสำคัญกับการสื่อแสดงแนวความคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน เป็นเรื่องที่มีแต่ความรู้สึกด้านบวก มีพลังแห่งความดีงามอยู่ภายในจิตใจเสมอ

“เสือที่ข้าพเจ้าใช้แสดงออกในผลงานของข้าพเจ้า จึงมิใช่จะบอกเล่ากล่าวถึงเรื่องราวของเสือโดยตรง หากแต่มีความหมายที่สัมพันธ์และผูกพันกับข้าพเจ้าอยู่ลึกซึ้ง ทั้งความใกล้ชิดความผูกพันทางสายเลือด และความเป็นต้นแบบของผู้นำของอาณาจักร ซึ่งหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

 

 

พระองค์แรกใช้เทคนิค “ปากกาเมจิกสีน้ำ”

นับเป็นครั้งแรกในการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานจาก “สีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป” หรือ “สีเมจิก” พระองค์รับสั่งถึงเทคนิคและวิธีการในการสร้างสรรค์งานว่า “ด้วยข้าพเจ้าทำงานด้านการออกแบบคือ งานออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ ข้าพเจ้าจึงใช้เทคนิควิธีการออกแบบเดียวกัน คือใช้สีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่น และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ข้าพเจ้าถนัด เป็นงานจิตรกรรมที่ระบายด้วยเทคนิคปากกาเมจิกสีน้ำ เพื่อให้สีสว่างสดใสและระบายทับเพื่อให้สีมีความเข้มข้นและหนักแน่น และใช้ดินสอดำและปากกาหมึกซึม เน้นเส้นโดยการเขียนบนกระดาษ ซึ่งเป็นกระบวนการเทคนิคอันเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แสดงออกได้โดยตรง เพื่อเน้นความคิดจากจินตนาการและเนื้อหาเป็นสำคัญ อันบ่งบอกถึงบุคลิกภาพและลักษณะเฉพาะตนให้ได้มากที่สุด งานจิตรกรรมสีเมจิกจึงเป็นงานต้นแบบ หรือออริจินัล ที่อาจนำไปเปลี่ยนสภาพเป็นงานพิมพ์ ในเทคนิคต่างๆ และสื่อผสม”

ศิลปะที่ซื่อตรงและบริสุทธิ์ใจ

ลักษณะการสร้างสรรค์ผลงานในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นแบบ “ศิลปะนาอีฟ” หรือ “นาอีฟอาร์ต” (Naive Art) โดยทรงทำการศึกษาผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้คือ อองรี รุสโซ จิตรกรชาวฝรั่งเศส และ ยะโยะอิ คุสะมะ จิตรกรหญิงชาวญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน

ทั้งนี้ ภาพเสือในภาพเขียนแต่ละตัว มีสรีระ ขนาดของรูปร่าง ท่าทาง และลวดลายที่ปรากฏล้วนแตกต่าง มีทั้งความน่าเกรงขาม น่าสะพรึงกลัว นุ่มนวลอ่อนหวาน หรือมีดวงตาใสซื่อบริสุทธิ์ โดยผลงานชุดนี้มิได้เน้นถึงความเหมือนจริงของเสือ แต่ทดลองให้เสือปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นการใช้ทัศนธาตุในรูปแบบของการจัดวาง ที่จะทำให้ผู้ชมมองเห็นได้ทั้งในความเป็นรูปธรรมและนามธรรม

และเป็นที่ทราบกันว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ในผลงานชุดนี้จึงเป็นงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในกระบวนการสมองซีกขวา ด้านจินตนาการ การสร้างมโนภาพ และการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จึงเป็นการผสมผสานกับการทำงานของสมองซีกซ้าย ด้านการใช้ความรู้ ตรรกะและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

พระองค์ทรงผสมผสานด้วยการนำสัญลักษณ์ของโครโมโซม โครงสร้างของ DNA สูตรเคมีต่างๆ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว รูปสัตว์ และรูปอักษรภาษาต่างๆ ลงไปในเสือ ทำให้เกิดลวดลายที่แปลกตา เป็นงานสร้างสรรค์แบบใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ อีกทั้งยังทรงสร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับโลก อวกาศ ดวงดาว และจักรวาลอีกด้วย

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี รับสั่งว่า “รูปแบบการแสดงออกทางศิลปะในผลงานชุดนี้ จะหยิบยืมสัญลักษณ์ที่มีความหมายในความทรงจำจากประสบการณ์ส่วนตน อาทิ สัญลักษณ์สูตรเคมี รูปทรงโมเลกุล การประกอบตัวของพันธะเคมีในโมเลกุล ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ตัวเลข รูปหัวใจ ดอกไม้ ทิวทัศน์ธรรมชาติ ฯลฯ”

“โดยเสนอผลงานในรูปแบบกึ่งแฟนตาซี กึ่งเหนือจริงผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ใจ โดยไม่ยึดถือแนวทางตามหลักวิชาการ แต่จะขยายขอบเขตของการสร้างสรรค์ออกไปตามสัญชาตญาณและความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกส่วนตน”

ไม่เพียง “เสือเจ้าป่า” เท่านั้น ผลงานชุดนี้ยังมี “นกฮูก” และ “สัตว์ปีกต่างๆ” ที่ทรงรังสรรค์ขึ้น โดยเป็นที่น่าสนใจว่า เสืออาจเป็นเจ้าป่าในเวลากลางวัน แต่นกฮูกมีโลกของตนเองในเวลากลางคืน กลางวันจะหยุดนิ่ง น่ารัก แต่จะเคลื่อนไหวโหดร้ายเวลากลางคืน นกฮูกเป็นเจ้าเวหา เป็นเจ้าป่าในความมืด นกฮูกและสัตว์มีปีกอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและเสรีภาพ

“ข้าพเจ้าสร้างสรรค์งานศิลปะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านรูปทรงและความหมายของพื้นที่ต่างๆ ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคย ผลงานสามารถส่งต่อความฝัน ความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อตนเอง ครอบครัว ประชาชน ชาวไทยไปจนกระทั่งผู้คนในโลกนี้ได้อย่างเต็มที่”

ความรักและความสุขที่ทรงมีพระประสงค์แบ่งปันให้แก่ปวงชนชาวไทย


 

จากใจพระอาจารย์ “ทรงเป็นศิลปินอาชีพ”

คณาจารย์ผู้ถวายการสอน

ศ.เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร คณะกรรมการสอบจบวิทยานิพนธ์ กล่าวว่า ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ เป็นระยะเวลา 3 ปี

“ผลงานศิลปะของพระองค์เป็นผลงานแบบนาอีฟ เป็นงานที่ไม่ต้องเรียน แต่เขียนได้ ไม่ได้เขียนตามทฤษฎี ไม่ต้องเรียนอนาโตมี ไม่ต้องเรียนทฤษฎีสี แต่เขียนจากใจ ซึ่งมีศิลปินระดับโลกมีผลงานในลักษณะนี้จำนวนมาก นอกจากนี้ ผลงานยังแสดงออกถึงความเบิกบาน แต่มีความลี้ลับอยู่ด้วย นี่เป็นมิติของศิลปินเท่านั้นที่จะถ่ายทอดได้”

ทั้งนี้ หลักสูตรสาขาวิชาทัศนศิลป์ เป็นหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนเพื่อให้เป็น “ศิลปินอาชีพ” ผู้เรียนต้องพัฒนาทักษะจากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาตามหลักสูตร ด้วยการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติตามกฎของการทำวิทยานิพนธ์ด้วยการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน 2 ครั้ง ในครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และในครั้งที่ 2 จัดนิทรรศการวิทยานิพนธ์ เพื่อการสอบจบการศึกษา ชุดหลากลาย หลายชีวิต ครั้งที่ 2 ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ จ.นครราชสีมา

“วิทยานิพนธ์ของพระองค์ ถ้าพูดตามจริงแล้ว ไม่ต้องถวายการสอน เพียงแต่ให้พระองค์ทรงอยู่ในแนวคิดส่วนพระองค์ ถวายคำแนะนำ พระองค์ทรงมีพระวิริยอุตสาหะในการเรียนมาก ทรงศึกษาและปฏิบัติพระองค์เช่นนักศึกษาปกติทั่วไป ทรงนำผลงานจำนวนมากมาให้คณาจารย์ผู้ถวายการสอนได้แนะนำและวิจารณ์ เมื่อถวายการสอนแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่พระตำหนัก หรือคณะจิตรกรรมฯ ทรงมีผลงานมานำเสนอมากมาย ทรงเขียนรูปได้ตลอดเวลา ทั้งในพระตำหนัก ทั้งช่วงเวลาที่เสด็จต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด เป็นที่มหัศจรรย์ใจ ที่ทรงวาดรูปได้แม้ขณะประทับอยู่ในรถยนต์พระที่นั่ง และบนเครื่องบิน ทรงไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งทางด้านสถานที่ เวลา และพระสุขภาพ”

“พระองค์ทรงเป็นศิลปินอาชีพ ผลงานแต่ละชิ้น มีความละเอียด ประณีต เป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่มีทฤษฎีกำกับ ทรงเก่งเรื่องสีมาก โดยเฉพาะเรื่องคู่สีตรงข้าม นอกจากนี้ยังทรงเก่งเรื่องการเลือกสัตว์สัญลักษณ์ที่โปรด ซึ่งอยู่ในแนวความคิดของพระองค์ ทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องความมุ่งมั่น ทรงเป็นลูกศิษย์ที่ขยันที่สุด และทรงเขียนรูปด้วยความเพลิดเพลินสุขใจ พระองค์ทรงมีความสุขกับการทรงงานศิลปะ”

“จากผลงานวิทยานิพนธ์ ทรงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในทางศิลปะยิ่งกว่านักศึกษาทั่วไป และทรงเทียบเท่าศิลปินสากลในระดับอาชีพ ยิ่งกว่านั้น ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์นี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุขในด้านจิตใจ เช่นเดียวกับที่ทรงค้นคว้าในด้านวิทยาศาสตร์เพื่อความสุขทางกายภาพแก่ปวงชน” ศ.เกียรติคุณพิษณุกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม นิทรรศการวิทยานิพนธ์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2” เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์พระองค์นี้ ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เวลา 08.00-16.00 น. ทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ ค่าเข้าชม 150 บาท โดยได้รับแก้วเซรามิกเป็นของที่ระลึก

ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม สมทบทุนมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ภายในนิทรรศการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image