ก้าวต่อไป วง ‘ประวัติศาสตร์’ หลังโควิด ในมุมมอง ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ก้าวต่อไป วง ‘ประวัติศาสตร์’ หลังโควิด ในมุมมอง ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน – นับตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตราชการ ในกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม “ท่านผู้หญิงใหม่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ก็ได้ใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ จากการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมถึงการทำงานกับพิพิธภัณฑ์ชื่อดัง และแบรนด์ดังระดับโลก มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแวดวงประวัติศาสตร์ไม่น้อย

ก่อนจะบรรจุเป็นข้าราชการระดับ 3 กลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ท่านผู้หญิงใหม่ก็ได้ฝึกงานที่หน่วยงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโบราณสถาน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นระยะ และยังได้ร่วมสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์อยู่เสมอ

ในปี 2561 ท่านผู้หญิงใหม่รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการวังหน้า เปิดนิทรรศการ “วังน่านิมิต” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอข้อมูล ประเด็น เรื่องราว ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 โดยมีการเปิดเว็บไซต์ให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยช่วงปีที่แล้ว ท่านผู้หญิงใหม่ได้จัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกครั้ง เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจในประวัติศาสตร์มากขึ้น ก่อนต่อยอดนำนิทรรศการชิ้นนี้ สู่สายตาของชาวโลก ด้วยการนำเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลบนเว็บไซต์ กูเกิล อาร์ต แอนด์ คัลเจอร์ ที่เปิดให้คนทั่วทั้งโลกเข้าชมได้ทั้งจากคอมพิวเตอร์ หรือ แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน

ถือเป็นก้าวสำคัญของการนำประวัติศาสตร์ไทย สู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้เข้าถึงเข้าใจมากขึ้น

Advertisement
ถวายรายงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในนิทรรศการ
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซ่น เปิดงาน“หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี”

จากสถานการณ์โควิด ทำให้แวดวงประวัติศาสตร์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อพิพิธภัณฑ์ อุทยานประวัติศาสตร์ต่างๆ ไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปหาความรู้ได้เช่นเดิม ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบกับทั้งโลก หลายแห่งลุกขึ้นมาปรับรูปแบบให้ชมผ่านระบบเสมือนจริง นับเป็นความท้าทายของคนในวงการ โดยยูเนสโก ไทยแลนด์ ได้จัดงานสัมมนาผ่านแอพพลิเคชั่นซูม เรื่อง “ความท้าทาย ของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม สาขาพิพิธภัณฑ์และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ผลกระทบจากโรคระบาด โควิด-19 ที่มีต่อทุกภาคส่วน การจัดลำดับความสำคัญและแผนการปรับตัวเพื่อการเดินต่อไปในอนาคต” โดยท่านผู้หญิงใหม่เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วม ในฐานะนักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับตัวแทนภาคต่างๆ

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เริ่มบทสนทนาด้วยการพูดถึงการทำงานและความสนใจว่า ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนที่ได้เข้ามาทำงานที่กรมศิลป์ใหม่ๆ ด้วยเติบโตที่ต่างประเทศ ไม่เชี่ยวชาญภาษาไทยมากนัก ยังอ่านได้ไม่คล่องมาก ทำให้เกิดปัญหาว่าจะเข้าถึงชุดข้อมูลที่มีอยู่มากนี้ได้อย่างไร จนพบว่า จริงๆ แล้วที่กรมศิลป์มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้อยู่เยอะมาก ที่หากได้นั่งคุยกันจะได้ความรู้เยอะมาก ในช่วงปีแรกจึงเป็นช่วงที่เพิ่มพูนความรู้ สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มากเป็นพิเศษ และเพราะได้คุยกับคนเยอะ ก็ทำให้เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความรู้ที่มีอยู่มากและกระจัดกระจายนี้ ได้เผยแพร่ไปสู่คนอื่นได้ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องการจัดการความรู้ เป็นพิเศษ

“ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องภาษาไทย ก็เข้าถึงข้อมูลไม่ค่อยได้ ก็ใช้วิธีต้องการรู้เรื่องอะไร เข้าไปที่สถานที่นั้น หาความรู้ คุยกับผู้เชี่ยวชาญ”

Advertisement

กรมศิลปากรจะเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านการเปิดพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ ให้คนเข้ามาเสาะหาความรู้ มีงานสัมมนาวิชาการต่างๆ การอภิปราย ซึ่งก็ถือได้ว่าจำกัดเฉพาะกลุ่ม การจะไปหาความรู้ถึงอยุธยาก็อาจทำได้ยาก ทำให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์เข้าถึงคนรุ่นใหม่ และนำไปต่อยอดได้ ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยปีก่อน

สิ่งนี้ นับเป็นความท้าทายของโลกประวัติศาสตร์ แม้จะไม่มีโควิด-19 ก็ตามแต่

เป็นเหตุผลให้ท่านผู้หญิง จัดนิทรรศการต่างๆ และนำเข้าสู่โลกออนไลน์ ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมสอดแทรกมุมมองความคิดด้านประวัติศาสตร์ของท่านผู้หญิงเอง ที่มองว่าประวัติศาสตร์ คือเรื่องของผู้คนที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากตัวคนเดียว แต่เกิดขึ้นจากบริบทโดยรอบ วัฒนธรรมต่างๆ และคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้เกิดบทสนทนา และเรื่องเล่าขึ้นได้ และการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ก็ต้องนำเอาบทสนทนานี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ให้ง่ายขึ้นนั่นเอง

และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ทั้งหลายไม่สามารถเข้าถึง จากที่เคยใช้วิธีมีผู้นำชม ให้ข้อมูลต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นโอกาสอันดีให้กรมศิลปากรเผยแพร่ช่องทางใหม่ๆ อย่างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง ที่มีให้เข้าชมทั่วทั้งประเทศไทย แต่ละแห่งมีให้ชมภาพเสมือนจริง รวมถึงภาพโบราณวัตถุแบบ 360 องศา ไปจนถึงนิทรรศการต่างๆ ขณะที่อุทยานประวัติศาสตร์ ก็เปิดบริการให้ชมผ่านออนไลน์ทั่วประเทศ ให้มุมมองการเข้าชมที่หลากหลาย และมีคำบรรยายภาษาต่างๆ ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และจีน

ภาพการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง
ภาพการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง
เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เสมือนจริง

นอกจากจะเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริงแล้ว ท่านผู้หญิงใหม่กล่าวว่า กรมศิลปากรได้เปิดช่องทางใหม่คือการไลฟ์สตรีม ในหัวข้อต่างๆ ที่ทำเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถนำประวัติศาสตร์ไปเล่าได้ผ่านการบรรยาย ไม่ต้องรอคนเข้ามาหา และสามารถสอบถามได้หากไม่เข้าใจ

“หลังโควิดมา ก็มีโรงเรียนหนึ่งได้มาเชิญให้ไปบรรยายในการสัมมนาผ่านโปรแกรมซูม ตอนแรกเราก็กลัวมากว่าจะเป็นอย่างไร เพราะการมองกันไม่เห็นอาจทำให้สื่อสารกันไม่ได้ ก็คิดว่าจะคุยกับเด็กๆ อย่างไร แต่เมื่อได้ทำจริงๆ ก็พบว่านี่เป็นช่องทางที่ดี เด็กๆ ที่เชียงใหม่ หรือที่ไหนที่ห่างกัน สามารถเข้ามาชมได้ หรือเข้าไปสอบถามข้อสงสัยได้เลย ซึ่งแต่ก่อนต้องไปขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ที่เป็นไปได้ยากที่จะเจอ หรือได้พูดคุยด้วย เมื่อเขาได้ฟัง เขานำไปต่อยอดได้ ไปเผยแพร่ต่อได้ ประวัติศาสตร์ได้มีชีวิต เกิดความตระหนักรู้”

“เรียกว่า ไลฟ์สตรีม ได้สร้างโอกาส เป็นสะพานพิเศษ เป็นสิ่งดีๆ ที่เห็นในช่วงที่เราเจอสถานการณ์ที่หนัก”

“การเข้ามาของโลกออนไลน์จะเป็นตัวชี้วัดที่ดี ปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เข้ามา ทั้งคอมเมนต์ ยอดคลิก ยอดชมในไลฟ์สตรีม ทำให้รู้ได้ว่าสิ่งที่ทำนั้น เขาชอบที่เราทำหรือไม่ สนใจในประเด็นนี้หรือเปล่า จะทำให้นำข้อมูลนี้ไปต่อยอดได้” ท่านผู้หญิงกล่าว

ทั้งยังมองว่านี่คือสิ่งที่ดีที่ควรจะทำต่อไป แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแล้วก็ตาม

การสัมมนาผ่านโปรแกรมซูม

วงสัมมนา ได้ตั้งคำถามต่อ ถึงการต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรม การต่อยอดการเข้าถึงของคน ภายหลังโควิด ในมุมมองของแต่ละคนต่อไป ซึ่งท่านผู้หญิงใหม่ยอมรับว่า ในแง่ของภาคราชการ อาจจะขยับได้ยากกว่าภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมอื่นๆ ด้วยติดในกฎระเบียบต่างๆ แต่สิ่งที่คิดว่าจะทำได้ ก็คือการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้

“จากที่ได้ทำงานร่วมกับกูเกิล อาร์ต แอนด์ คัลเจอร์ ทำให้เรามองว่านี่เป็นช่องทางอันดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น กรมศิลปากรอาจจะไม่มีงบประมาณ หรือความสามารถในการจัดการเรื่องเทคโนโลยี แต่องค์กรอื่นมีความรู้ด้านเทคโนโลยี และมีความพร้อมด้านอื่น ที่หากได้มาทำงานร่วมกัน จะสามารถต่อยอด นำข้อมูลไปแชร์ออกไปได้มากขึ้น เดินไปพร้อมๆ กันได้

“ข้อที่สองก็คือ empathy (การเอาใจใส่, การมีความรู้สึกร่วม) นี่เป็นเรื่องที่พูดซ้ำๆ ตั้งแต่กลับมาเมืองไทย เพราะเรื่องของประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้มีมุมมองเดียว ประสบการณ์ของแต่ละคน วิธีคิดแต่ละคน รวมถึงภูมิหลังของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน การทำงานร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องทำงานโดยคิดถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ในการทำงานเรื่องหนึ่ง แม้จะมีความคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็นำมารวมกัน เป็นสิ่งๆ เดียวกันได้ เช่นการจัดการพื้นที่ ก็อาจมีนักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ภัณฑารักษ์ คนในชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ก็จะทำให้โตไปด้วยกันอย่างเข้าใจ”

และได้ย้ำว่า การทำงานกับเมืองเก่า ชุมชน หรือผู้คนนั้น นับเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ และแม้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียน ประชาชนก็สามารถเข้ามาขอความรู้กับกรมศิลปากรได้เสมอ

วงล้อประวัติศาสตร์ หลังโควิด

เล่าเรื่อง รัตนโกสินทร์ ผ่านภาพถ่ายฟิล์มกระจก

มิใช่เพียงแต่นิทรรศการประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “วังหน้า” เท่านั้น แต่ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ยังสนใจในเรื่องของภาพถ่ายต่างๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ วิถีชีวิต และมักบันทึกภาพในส่วนที่ประชาชนไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น

โดยท่านผู้หญิงใหม่มองว่า ภาพถ่ายนั้นไม่ใช่แค่บันทึกเหตุการณ์ สถานการณ์ในตอนนั้น แต่คือมุมมองและความคิดของช่างภาพ ที่บันทึกวิถีชีวิต มุมมอง อารมณ์ ที่สะท้อนผ่านภาพถ่าย ที่แต่ละคนก็เห็นไม่เหมือนกัน ภาพถ่ายฟิล์มกระจกแต่ละใบ มีชีวิต เรื่องราว ซ่อนอยู่ แสดงออกถึงวัฒนธรรมได้ดี

ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ท่านผู้หญิงใหม่ได้นำภาพชุด “การเดินทางเยือนรัฐฉาน สหภาพพม่า” ไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ท่านผู้หญิงยังได้จัดนิทรรศการภาพถ่าย “Hundred Years Between” ที่ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) ย่านเจริญกรุง หนึ่งในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ที่ท่านผู้หญิงใหม่นำเรื่องราวจากการตัดสินใจออกเดินทางตามรอยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสราชอาณาจักรนอร์เวย์

โดยในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ได้จัดแสดงนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” ขึ้น โดยจัดงานแถลงข่าว ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่านผู้หญิงสิริกิติยาก็มีโอกาสได้ร่วมจัดแสดงงานในครั้งนี้ด้วย

ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้ย้อนเล่าที่มาของนิทรรศการนี้ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากงานด้านอนุรักษ์ ที่นำเอาภาพถ่ายฟิล์มกระจกมาทำให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เพื่อลดการสัมผัสฟิล์มต้นฉบับ โดยเริ่มต้นจาก หอสมุดพระวชิรญาณ ที่มีทั้งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนนาง และช่างภาพ บอกเล่าเรื่องราวสยามในรัชกาลที่ 4-7 จำนวน 35,427 ภาพ โดยได้เลือก 1,000 ภาพ จัดพิมพ์หนังสือ ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์เล่ม 1 ทั้งนี้ภายหลังจากที่ยูเนสโกได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกชุดนี้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ก็ได้จัดนิทรรศการขึ้น โดยได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ในปีนี้ กรมศิลปากรจึงได้เลือกอีก 1,000 ภาพ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำคำบรรยาย และเลือก 205 ภาพ จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มที่ 2 และได้เลือก 102 ภาพจัดทำนิทรรศการครั้งนี้

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เผยว่า ด้วยความที่ไม่ได้เป็นภัณฑารักษ์ แต่รู้สึกว่าเป็นแค่คนเล่าเรื่อง จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่จะนำภาพที่มีจำกัดมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ จากปกติที่เขียนเล่าเรื่องราวก่อนค่อยนำรูปมาใส่ โดยแต่ละภาพก็มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน มองจากมุมมองได้หลากหลาย อย่างคนมีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมอาจจะมองแบบนี้ เรามองแบบนี้ นี่คือพลังของรูป ถือเป็นเรื่องสนุก

“พอได้มาทำงานนิทรรศการนี้ ก็ยกวิธีการตอนที่ทำนิทรรศการ 100 years between มา คือ จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจ คือต้องทำให้คนมีอารมณ์ร่วม มีความรู้สึก เขาก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ เขียนเรื่องราว ก่อนจะค่อยๆ จัดกรุ๊ปภาพถ่าย จนเหลือ 102 ภาพ”

ท่านผู้หญิงสิริกิติยากล่าวต่อว่า นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง เริ่มจาก ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้ใกล้ชิดประชาชน ภาพในช่วงเวลานี้ ได้เห็นถึงความเรียบง่ายในการเสด็จประพาสต้น ทั้งยังได้เห็นช่วงเวลาส่วนพระองค์กับพระบรมวงศานุวงศ์, ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดา เป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ, ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวสยาม และจตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า สะท้อนให้เห็นการรับอิทธิพลของชาติตะวันตก ทำให้สยามพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น รถไฟที่เชื่อมหัวเมืองต่างๆ โรงภาพยนตร์ บอกว่าประเทศกำลังพัฒนาไปอย่างมาก

ทั้งนี้ นิทรรศการ ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม-20 กันยายน เวลา 10.00-18.30 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยได้จัดนิทรรศการเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยีวีอาร์ ให้ชมแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.nat.go.th

รูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เปิดนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา รูปแบบดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image