ในหลวง ทรงชื่นชมเจ้าหน้าที่-ประชาชนร่วมแก้โควิด ทรงยินดีโลกชมเชยไทย

ในหลวง ทรงชื่นชมเจ้าหน้าที่-ประชาชนร่วมแก้โควิด ทรงยินดีโลกชมเชยไทย

เมื่อเวลา 11.01 น. วันที่ 6 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เฝ้าฯ รับพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1-12 ทั่วประเทศ และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงสาธารณสุข ดูแลรับผิดชอบ

เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 เชิงรุก ในโรงเรียน วัด ชุมชนแออัดและกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะให้ประเทศชาติมั่นคง และประชาชนมีความสุข ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด และทรงห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จัดทำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย

Advertisement

ซึ่งอุปกรณ์ภายในรถมีประสิทธิภาพในการตรวจโรค และมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อ ระดับ 1000 ประกอบด้วยระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอกเพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอดมือผ่านหน้าต่างและถุงมือยางที่ติดตั้งไว้ มีระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถหลังปฏิบัติงานรายวันด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว

ในการนี้ มีพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า “มอบ เรียกว่ามอบเสริมให้ ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในครั้งนี้ ซึ่งมีคนถวายรถต้นแบบมา ก็ได้รับการปรับปรุงทดสอบ แล้วก็ดูความเหมาะสม หลังจากปรับปรุงทดสอบแล้วก็ทราบว่า มีความเหมาะสมและเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้ ที่จะช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา จึงได้จัดรถเพิ่มเติมให้

ก็รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาให้กับงานของท่าน เครื่องมือที่ใช้ต่างๆ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แต่หลักๆ ก็มาจากคน อะไรที่สำคัญในคนก็คือทัศนคติที่ดี เข้าใจปัญหา มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด เมื่อมีเครื่องมือเครื่องใช้มาสนับสนุน ก็ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกจุด ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะเสริมในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”

Advertisement

“ตอนนี้ ประเทศไทยเราก็เป็นที่น่ายินดี ที่ว่าได้รับการชมเชย และการกล่าวขวัญในทางที่ดี จากประชาคมโลก เพราะว่าเราก็มีดี เรามีความมุ่งมั่น เรามีความตั้งใจ ก็คิดว่าเพราะสุขภาพที่ดี หรือการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ กับอุปสรรคต่างๆ นี้ ถ้าเรามีทัศนคติที่ดี มีความตั้งใจ ก็ได้กับประชาชนส่วนรวม อย่างที่บอกว่าประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาต้องมี อุปสรรคต้องมีเสมอ แต่ถ้าเรามีความมั่นคง มีความอยากให้ประชาชนมีความสุข มีทัศนคติที่ดี ประชาชนก็มีความสุข พวกเราก็มีความสุข เพราะพวกเราก็คือประชาชน”

“ขอเป็นกำลังใจและขอชมเชยเจ้าหน้าที่ที่ทำงานมา และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อย่างเดียว ประชาชนร่วมมือ คนมีทัศนคติที่ดี ซึ่งนี่คือนิสัยของคนไทย มีน้ำใจ มีความนุ่มนวล มีคุณธรรม ช่วยกันไป อะไรหนักๆ ก็เบาลง ตอนนี้ก็ภูมิใจที่บ้านเราได้รับการชมเชย และบ้านเราก็ไม่ด้อยกว่าใคร”

ซึ่งรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ได้ทดลองให้บริการไปแล้วครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 12,094 ราย ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมีความปลอดภัย ได้อย่างดียิ่ง

สำหรับรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการปรับปรุงรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยจำนวน 1 คัน เพื่อให้รถต้นแบบมีความสมบูรณ์และเป็นต้นแบบในการผลิตรถคันต่อไป

โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานกับบริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด เพื่อปรับปรุงรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย โดยมีบริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จากัด เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มอีก 12 คัน รวมเป็น 13 คัน ซึ่งอุปกรณ์ภายในรถมีประสิทธิภาพในการตรวจโรค และมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อ ระดับ 1,000 ประกอบด้วยระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอกเพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอดมือผ่านหน้าต่างและถุงมือยางที่ติดตั้งไว้ มีระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถหลังปฏิบัติงานรายวันด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟน

เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ได้ทดลองให้บริการไปแล้วครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 12,094 ราย ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมีความปลอดภัยได้อย่างดียิ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image